คอนดรอยตินซัลเฟต

คอนดรอยตินซัลเฟต

ชื่อสามัญ Chondroitin sulfate

ประเภทและข้อแตกต่างคอนดรอยตินซัลเฟต

คอนดรอยตินซัลเฟต เป็นสารที่อยู่ในและรอบๆ เซลล์กระดูกอ่อน มีลักษณะเป็นองค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex carbohydrate) ที่ช่วยให้กระดูกอ่อนอุ้มน้ำ และช่วยรักษาสมดุลในการสร้าง และสลายกระดูกอ่อน ซึ่งคอนดรอยตินซัลเฟลเป็นสารหลักในกลุ่มโคสมิโนไกลแคนนอกเหนือไปจากเดอร์มาแตน (dermtan) เคอราแตน (keratin) และเฮปปาแรน (heparan) ซัลเฟต คอนดรอยตินซัลเฟตมีลักษณะเป็นสายเฮเทอโรพอลิแซ็กคาไรด์ที่ไม่แตกกิ่งก้าน (unbranched) ประกอบด้วยไดแซ็กคาไรด์ของ N-acetyl-D-galactosamine และ D-glucoronic acid เรียงต่อกันด้วยพันธะ β(1-3) และ β(1-4) สลับกัน (Figure6) เป็นสายยาวที่มีน้ำหนักโมเลกุลในช่วงกว้าง ขนาดโมเลกุลของมิวโคพอลิแซ็คคาร์ไรด์ หรือ ไกลโคสมิโนไกลแคนของสัตว์อยู่ในช่วง 30-800 KDa ในขณะที่ขนาดโมเลกุลของคอนดรอยดินซัลเฟตของผลิตภัณฑ์ทางการค้าอยู่ในช่วง 5-40  KDa(Petito และ Petito, 2002; Bioiberica,2008) และโมเลกุลของคอนดรอยตินซัลเฟตยังมีความเป็นประจุลบสูงเนื่องจากมีหมู่ซัลเฟตมาก จึงทำให้อุ้มน้ำได้ดี

            สำหรับประเภทของคอนดรอยตินซัลเฟตนั้น มีหลายชนิดโดยจะมีความแตกต่างกันที่ตำแหน่งของหมู่ซัลเฟต โดยปกติแล้วคอนดรอยตินซัลเฟต ทั่วไปจะมีหมู่ซัลเฟต 1 หมู่ เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต  A มีหมู่ซัลเฟตจับกับ  R-group ที่ C -4 ของ N-acetyl-D-galactosamine และคอนดรอยตินซัลเฟต C มีหมู่ซัลเฟตจับกับ R-group ที่ C-6 ของ N-acetyl-D-galactosamine  แต่ยังมีคอนดรอยตินซัลเฟตอีกประเภทหนึ่ง ที่มีหมูซัลเฟตมากกว่าหนึ่ง แต่มักพบในปริมาณน้อย เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต D และ E ที่ประกอบด้วย 2 หมู่ ซัลเฟตโดยคอนดรอยตินซัลเฟต D มีหมู่ซัลเฟตจับกับ R-group ที่ C-6 ของ N-acetyl-D-galactosamine และที่ C-2 ของ D-glucoronic acid ในขณะที่คอนดรอยตินซัลเฟต E จะมีหมู่ซัลเฟตจับกับ R-group ที่ C-4 และ C-6 ของ N- acetyl-D-galactosamine เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาคอนดรอยตินซัลเฟต 

คอนดรอยตินซัลเฟต เป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อกระดูกอ่อนผิวข้อ ที่พบได้ในร่างกาย โดยถูกสร้างขึ้นโดยเซลล์กระดูกอ่อน (chondrocyte) ซึ่งตามปกติกระดูกอ่อนผิวข้อจะมีขบวนการสร้าง และสลายสารเหล่านี้อย่างสมดุล แต่เมื่อใดที่เกิดพยาธิสภาพใดๆ ก็ตามที่ทำให้กระดูดอ่อนถูกทำลาย ก็จะมีการสลายคอนดรอยตินซัลเฟตนี้ออกมาอยู่ในน้ำไขข้อมากกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม ปวดข้อ ข้ออักเสบ เป็นต้น

            ดังนั้นร่างกายจึงต้องการคอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อเข้าไปเสริมมากขึ้น ดังนั้น จึงมีการสกัดสารคอนดรอยตินซัลเฟตในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้รับประทานเสริมจากอาหารมื้อหลัก สำหรับแหล่งที่พบคอนดรอยตินซัลเฟตที่มีการนำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีทั้งที่ผลิตจากกระดูกอ่อนของปลาฉลาม หลอดลมของโค หู และจมูกของสุกร แต่อย่างไรก็ตามปัญหาในเรื่องโรคต่างๆ ในโคทำให้เกิดความกังวลในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากโค รวมถึงการใช้กระดูกอ่อนจากสุกรก็เป็นข้อจำกัดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ในปัจจุบัน จึงมีการนำวัตถุดิบชนิดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งของคอนดรอยตินซัลเฟต มาเป็นทางเลือด หรือ ใช้ทดแทน เช่น กระดูกอ่อนจระเข้ ปลากระเบน หน้าอกไก่ และเกล็ดปลา เป็นต้น

           นอกจากนี้สัดส่วนองค์ประกอบของ Disaccharides ของคอนดรอยตินซัลเฟต แต่ละชนิดจะแตกต่างกันตามสายพันธุ์และแหล่งเนื้อเยื่อของสัตว์ ดังนั้น จึงมีการศึกษาวิจัยพบว่าโครงสร้างของคอนดรอยตินซัลเฟต ที่มาจากสัตว์บก เช่น โค และสุกร จะมี disaccharide ของ chondroitin-4-sulfate มากกว่า disaccharideของchondroitin-6-sulfate ในขณะที่โครงสร้างของคอนดรอยตินซัลเฟตที่มาจากปลาฉลามมีลักษณะตรงข้าม ซึ่งจากการศึกษาค่าดังกล่าวของคอนดรอยตินซัลเฟตที่สกัดจากแหล่งต่างๆ พบว่า คอนดรอยตินซัลเฟต จากกระดูกอ่อนฉลามมีค่า sulfate ion /GaIN  มากกว่า 1 แต่หากเป็นคอนดรอยตินซัลเฟตจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีค่าน้อยกว่า 1 ปัจจุบันมีการผลิตคอนดรอยตินซัลเฟตในรูปแบบอาหารเสริมมากมาย โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นกระดูกอ่อนของสัตว์ เช่น ครีบปลาฉลาม หลอดลมวัว หู และจมูกสุกร เป็นวัตถุดิบ โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาจอยู่ในรูปกระดูกอ่อนบดละเอียด หรือ สารสกัดคอนดรอยตินซัลเฟต แต่ในกรณีผลิตภัณฑ์จากครีบปลาฉลาม มักเป็นการนำกระดูกอ่อนครีบปลาฉลามมาบดละเอียดได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่อุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส สารไกลโคสมิโนไกลแคน และสารมิวโคพอลิแซคคาไรด์ ที่ใช้เป็นอาหาเสริมทั้งในแบบแคปซูลที่เคลือบด้วยเลจาติน หรือ อัดเป็นเม็ดและในลักษณะของเหลวเป็นต้น

คอนดรอยตินซัลเฟต

ปริมาณที่ควรได้รับคอนดรอยตินซัลเฟต 

สำหรับขนาดประมาณการรับประทานคอนดรอยตินซัลเฟต นั้น สามารถแยกได้เป็นการรับประทานเพื่อการรักษาโรคต่างๆ และการรับประทานเป็นอาหารเสริม เช่น ในผู้ป่วย โรคข้อเข้าเสื่อม ข้อเข่าอักเสบมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุแนะนำให้รับประทาน 600-1200 มิลลิกรัม/วัน ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน-กระดูกเปราะ แนะนำให้รับประทาน 600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งเป็น 3 มื้อ และอาจใช้ร่วมกับ glucosamine ผลของการรักษาอาการจะเห็นได้หลังจากรับประทานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ส่วนผู้ที่ต้องการรับประทานเป็นอาหารเสริมแนะนำให้รบประทาน 600 มิลลิกรัม/วัน หรือ รับประทานตามแพทย์/ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

ประโยชน์และโทษคอนดรอยตินซัลเฟต 

ประโยชน์ของคอนดรอยตินซัลเฟตจากการรวบรวมผลการศึกษาวิจัยจากแหล่งต่างๆ นั้น โดยส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับภาวการณ์เสื่อม หรือ การอักเสบของกระดูกอ่อน โดยมีสรรถคุณที่ช่วยในภาวะดังกล่าว คือ ลดอาการบวมแดง ลดปริมาณของเหลวในข้อกระดูก ทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการใช้ยา NSAID หรือ ยาแก้ปวดอื่นๆ ลงได้ ให้ผลต่อการลดอาการปวดยาวนานถึง 3 เดือน หลังได้รับยา ทำให้ป่วยเดิน หรือ เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น ทำให้พัฒนาการของโรคช้าลง แต่ก็มีผลการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับที่มีผลขัดแย้ง เช่น จากการศึกษาทบทวนงานวิจัย (systematic review) ที่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลต่างๆ เช่น Medline, EMBASE, CINAHL และอื่นๆ งานวิจัยประเภท randomized และ quasi-randomized controlled trials ที่ศึกษาการรักษาผู้ป่วยข้อเข่า หรือ ข้อสะโพกอักเสบด้วยคอนดรอยตินซัลเฟต chondroitin. และมีตัวชี้วัดผล คือ การลดอาการปวดข้อ และตัวชี้วัดรองคือช่องว่างในข้อเพิ่มขึ้น หรือ ไม่.

           พบว่าผลการรวบรวมจากงานวิจัย 20 ชิ้น จากผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,856 คน พบว่าผลการศึกษาของรายงานต่างๆ มีความขัดแย้งกันมาก จึงเลือกวิเคราะห์ผลสรุปจากการศึกษาที่มีคุณภาพสูง 3 รายงาน ซึ่งโดยรวมพบว่าสรุปว่าการใช้คอนดรอยตินซัลเฟต ร่วมกับกลูโคซามีนในขนาดสูง คือ ใช้กลูโคซามีน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ คอนดรอยติน 800 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่า ได้ผลดีเหนือยาหลอก ลดอาการปวด ทำให้ข้อทำหน้าที่ได้ดีขึ้น เทียบเท่ากับยา Celecoxib การวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) อื่นๆ ก็เสนอแนะว่าสารทั้งสองหากกินในขนาดสูงนาน 2-3 ปี อาจจะมีผลเล็กๆ ในการลดความก้าวหน้าของโรคเข่าเสื่อมแต่ก็ไม่ช่วยให้อาการปวดข้อดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบว่ายานี้มีอาการข้างเคียงที่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมการใช้ยา chondroitin ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่มีประสิทธิผล ส่วนการที่ใช้ยานี้ร่วมกับ glucosamine ก็ไม่ได้มีผลดีแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้ยาอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีข้อดี คือ โดยที่ยาเหล่านี้ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องคอนดรอยตินซัลเฟต

มีการศึกษาวิจัยในการใช้คอนดรอยตินซัลเฟตในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมพบว่าช่วยลดอาการเจ็บข้อ และสามารถชะลอการแคบลงของช่องว่างระหว่างข้อ โดยการศึกษานี้ คือ The Study on Osteoarthritis Progression Prevention (STOPP) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 622 คน จากยุโรป และอเมริกา ผู้เข้าร่วมการศึกษามีอายุระหว่าง 45-80 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมบริเวณ medial tibiofemoral โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาถูกสุ่มให้ได้รับคอนดรอยตินซัลเฟตในขนาด 800 มิลลิกรัม วันละครั้ง (309 คน) หรือ ได้รับยาหลอก (313 คน) เป็นระยะเวลา 24 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับคอนดรอยตินซัลเฟต chondroitin มีการแคบลงของข้อ 0.07 มิลลิเมตร กลุ่มควบคุมมีการแคบลงของข้อ 0.31 มิลลิเมตร โดยกลุ่มที่ได้รับคอนดรอยตินซัลเฟต มีการแคบลงของข้อน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.0001) โดยพบว่าผู้ที่ได้รับคอนดรอยตินซัลเฟตช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการแคบลงของข้อได้ร้อยละ 33 นอกจากนั้นผู้ที่ได้รับ คอนดรอยตินซัลเฟตมีความปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมโดยพบผลลดปวดตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนที่ 9 ของการศึกษา และผู้ป่วยร้อยละ 90 ทนต่อการใช้ยาได้ดี โดยไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยา อย่างไรก็ตามขนาดของคอนดรอยตินซัลเฟตที่ใช้เป็นขนาดที่ใช้เพื่อการรักษาไม่ควรนำขนาดยา

           และยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของสารคอนดรอยตินซัลเฟต ซึ่งมีการถกเถียงกันมาเป็นเวลานานว่า มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการ และรักษาโรคข้อเสื่อมได้จริง หรือไม่ โดยมีอาสาสมัครซึ่งได้รับการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมเข้าร่วมในการศึกษานี้รวม 194 ราย แบ่งสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสาร คอนดรอยตินซัลเฟต ในขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยา celecoxib ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวัน และมีเกณฑ์การวัดผล คือ อาการปวดที่วัดจาก visual analogue scale (VAS) และการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อน และน้ำไขข้อภายในข้อเข่าซึ่งตรวจด้วยการถ่ายภาพ MRI

         เมื่อสิ้นสุดการศึกษาวิจัยที่ 2 ปี ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับ คอนดรอยตินซัลเฟต มีการเสื่อมของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน และน้ำในข้อเข่าน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยา celecoxib ค่อนข้างชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการชะลอความเสื่อมของข้อนั้น สามารถเห็นได้จากการตรวจ MRI ตั้งแต่ 12 เดือนของการรักษา ส่วนในแง่ของการบรรเทาอาการปวดข้อนั้น พบว่า คอนดรอยตินซัลเฟตสามารถบรรเทาอาการปวดได้ดีพอๆ กับยา celecoxib

            ได้มีการศึกษาปริมารของคอนดรอยตินซัลเฟต ในวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการแปรรูปสัตว์น้ำ พบว่าประเทศไทยมีกระดูกอ่อนครีบปลาฉลาม กระดูกอ่อนปลาฉลาม และปลากระเบน รวมทั้งกระดูกอ่อนจากซากจระเข้ในปริมาณมาก ซึ่งอาจใช้เป็นแหล่งของสารคอนดรอยตินซัลเฟต การศึกษาปริมาณแผลกระดูกอ่อนจากตัวอย่างปลาฉลาม (โรนัน) พบว่ามีกระดูกอ่อนเท่ากับร้อยละ 12.2 ต่อน้ำหนักปลาทั้งตัว ในส่วนครีบปลาฉลามโรนันมีกระดูกอ่อนเท่ากับ 21.6-23 กรัม ต่อครีบ 100 กรัม สำหรับปลากระบาง หรือ ปลากระเบนปากแหลมพบว่ามีกระดูกอ่อนเฉลี่ยร้อยละ 10.2 ของน้ำหนักปลาสดทั้งตัว นอกจากนั้นยังพบว่าโครงกระดูกจระเข้ที่มีน้ำหนัก 20-25 กิโลกรัม ประกอบด้วยกระดูกเชิงกราน และกระดูกซี่โครง หลอดลม โคนลิ้น และส่วนปลายข้อต่อรวมทั้งส่วนปลายกระดูกเชิงกราน และกระดูกซี่โครง เป็นสัดส่วนร้อยละ 0.6 ของน้ำหนักจระเข้ทั้งตัว โดยแยกเป็นกระดุกอ่อนจากสันอก และซี่โครงเท่ากับ 0.47 กระดูกอ่อนจากหลอดลม และกระดูกอ่อนโคนลิ้นเท่ากับ 0.13

            จากนั้นได้ศึกษาปริมาณของคอนดรอยตินซัลเฟตจากกระดูกอ่อนครีบฉลาม กระดูกอ่อนกระเทบ และจระเข้ส่วนสันอก โคนลิ้น หลอดลม และซี่โครงอ่อนที่สกัดโดยเอนไซมืปาเปน และตรวจวิเคราะห์ปริมาณโรย sulfated GAG assay ผลการทดลองพบว่าปริมาณคอนดรอยตินซัลเฟตในสารสกัดที่วิเคราะห์โดยใช้ Chondroitin-4-sulgate และ Chondroitin-6-sulfate เป็นสารมาตรฐาน มีค่าน้อยกว่าน้ำหนักของคอนดรอยตินซัลเฟตที่สกัดได้ ซึ่งอาจเกิดจากยังมีไกลโคสอะมิโนไกลแคนชนิดอื่นๆ หรือ คอนดรอยตินชนิดอื่นปนอยู่ด้วย หรือไกลโคสอะมิโนไกลแคนต่างชนิดกันมีความสามารถในการเกิดปฏิกิริยากับสีย้อม Dimethylmethylene blue ได้ไม่เท่ากัน และไกลโคสอะมิโนไกลแคนชนิดที่ไม่มีหมู่ซัลเฟต หรือ กรดไฮยาลูโรนิกที่อาจละลายออกไปกับสารละลายโซเดียมคลอไรด์ความเข้มข้น 00.4 ทำให้ปริมาณคอนดรอยตินซัลเฟตมีปริมาณน้อยกว่าของแข็งในสารสกัด อย่างไรก็ตามจากปริมาณคอนดรอยตินซัลเฟตในกระดูกอ่อนที่วิเคราะห์ได้ มีปริมาณ เรียงลำดับจากมากไปน้อยดังนี้ คือ กระดูกอ่อนจระเข้ส่วนโคนลิ้น สันอก ครีบฉลาม กระดูกอ่อนจระเข้ส่วนหลอดลม และซี่โครงอ่อน กระดูกอ่อนกระเบนตามลำดับ

โครงสร้างคอนดรอยตินซัลเฟต

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

เนื่องจากมีผลงานวิจัยที่ยังขัดแย้งกันในเรื่องสรรพคุณของสารคอนดรอยตินซัลเฟต ดังนั้นในการเลือดที่จะนำมารับประทานเพื่อรักษาโรค หรือ รับประทานเป็นอาหารเสริมปรึกษาแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมออีกทั้ง สารสกัดคอนดรอยตินซัลเฟต ยังเป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งในการใช้อาจต้องเสียเงินเพิ่มในราคาสูง ส่วนที่มีขายในท้องตลาดในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมก็มีราคาแพงเช่นกัน ดังนั้นควรใช้ในกรณีที่จำเป็น และได้รับคำแนะนำจากแพทย์เภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง คอนดรอยตินซัลเฟล
  1. รศ.นพ.วิจัย เอกพลากร. Chondroitin ลดการปวดข้อได้ หรือ ไม่. คอลัมน์เก็บสาระจากวารสารต่างประเทศ. วารสารคลินิกเล่มที่ 251. พฤษภาคม 2551
  2. วรรณวิบูลย์ กาญจนกุญชรและอรุณี อิงคากุล. 2548. การใช้ประโยชน์ จากกระดูกอ่อนซึ่งเป็นเศษ เหลือจากอุตสาหกรรม:สกัด และการวิเคราะห์ chondroitin sulfateใ นกระดูกอ่อน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 78 หน้า
  1. ประโยชน์ของ Chondroitin ในโรคข้อเข่าเสื่อม. ข่าวยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phamacy.mahidol.ac.th/sic/news.week_full.php?id=481
  2. Carney, S. L. and Muir, H. 1988. The structure and function of cartilage proteoglycan. Physiol.Rev. 68: 858-900.
  3. Todhunter PG, Kammermann JR, Wright JM. Immunohistochemical analysis of an equine model of synovitis-induced arthritis. Am J Vet Res 1996;57:1080-93
  4. Lou, X. M., Fosmire, G. J., and Leach, R.M. 2002. Chicken keel cartilage as a source of chondroitin sulfate. Poult. Sci. 81: 1086-1089.
  5. Lillich JD, Weisbrode SE. Biochemical, histo chemical, and immunohistochemical characterization of distal tibial osteochondrosis in horses. Am J Vet Res 1997;58:89-98.
  6. Clegg DO, Reda DJ, Harris CL, et al. Glucosamine, chondroitin sulfate, and the two in combination for painful knee osteoarthritis. N Engl J Med 2006; 354:795
  7. Pearson, A. M. and Young, R. B. 1989. Muscle and Meat Biochemistry. Academic Press Inc. San Diego.
  8. Hazell PK, Dent C, Fairclough JA, Bayliss MT, Hardingham TE. Changes in glycosaminoglycan epitope levels in knee joint fluid following injury. Arth Rheum 1995;38:1-7
  9. Reichenbach S, Sterchi R, Scherer M, et al. Meta-analysis: chondroitin for osteoarthritis of the knee or hip. Ann Intern Med 2007; 146:580
  10. Hochberg MC. Structure-modifying effects of chondroitin sulfate in knee osteoarthritis: an updated meta-analysis of randomized placebo-controlled trials of 2-year duration. Osteoarthritis Cartilage 2010; 18 Suppl 1:S28.
  11. Muccia, A., Schenettia, L. and Volpi, N. 2000. 1H and 13C nuclear magnetic resonance identification and characterization of components of chondroitin sulfates of various origin. Carbohydr. Polym. 41: 37–45.
  12. Lagocka, J., Sadowska, M. and Synowiecki, J. 1996. Separation and characteristics of different mucopolysaccharides from bovine trachea cartilage. Food Chem. 60: 533-536.