แมงลัก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

แมงลัก งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แมงลัก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ก้อมก้อขาว (ภาคเหนือ), อีตู่ (ภาคอีสาน), มังลัก (ภาคกลาง), ผักอีตู่ (ลาว), Ci Rohae Chi Kra Chi (กัมพูชา), Cein Thue, Cay Hal-Khong (เวียดนาม)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum L. f.var. citratum Back
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum africanum Lour., Ocimum citriodorum, Ocimum americanum var. pilosum (Willd.) A.J.Paton, Ocimum citratum Rumph., Ocimum minimum sensu  Burm.f.
ชื่อสามัญ Hoary basil, Hairy basil, American basil, Lemon basil, Thai Lemon Basil.
วงศ์ Labiatae

ถิ่นกำเนิดแมงลัก

แมงลักเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีเอเชีย เช่น อินเดีย, มังคลาเทศ, เนปาล, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม แล้วได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนตามทวีปต่างๆ ของโลก เช่น แอฟริกา และอเมริกา รวมถึงอเมริกาใต้ด้วย นอกจากนี้แมงลัก ยังเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีหลายสายพันธุ์ แต่ในประเทศไทยนั้นแมงลักจะมีสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียวนั่นก็ คือ “ศรแดง” ที่เหลือก็จะเป็นพันธุ์ผสม หรือ พันทาง 

ประโยชน์และสรรพคุณแมงลัก 

  1. ช่วยขับลม
  2. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  3. แก้ลมตานซาง
  4. แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อในเด็ก
  5. ช่วยสมานแผล ล้างแผลทุกชนิด
  6. แก้จุดเสียด
  7. ขับลมในลำไส้
  8. แก้พิษ
  9. แก้ตานซาง
  10. แก้ไอ
  11. แก้หวัด
  12. แก้หลอดลมอักเสบ
  13. แก้โรคผิวหนัง
  14. ช่วยขับเสมหะ
  15. แก้กลากแก้เกลื้อน
  16. แก้ลม
  17. แก้วิงเวียน
  18. แก้ไอเรื้อรัง
  19. แก้ปวดท้อง
  20. รักษาโรคเกลื้อนน้ำนม
  21. แก้อาการเกร็งของหลอดลมช่วยย่อย
  22. แก้สะอึก
  23. ใช้บดเอาน้ำหยอดหูแก้ปวด แก้หูตึง
  24. ช่วยทำให้ประจำเดือนเป็นปกติ
  25. แก้อาเจียน
  26. ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน
  27. ใช้เป็นยาระบาย
  28. ช่วยขับเหงื่อ
  29. บรรเทาอาการหวัด
  30. แก้อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
  31. ใช้ลดความอ้วน 
  32. บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรือ อาการคันจากเชื้อรา
  33. รักษาโรคกลากเกลื้อน

           แมงลัก สามารถใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น ห่อหมก แกงเลียง อ่อม แกงคั่ว ขนมจีนน้ำยา แกงหน่อไม้ มักจะพบมากในอาหารอีสาน โดยส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็ คือ ใบแมงลัก ซึ่งในส่วนของใบนั้นเรานิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร หรือ ใส่เครื่องแกงต่างๆ ส่วนเมล็ดก็นำมาใช้ทำเป็นขนมอื่นๆ ได้ หรือ นำไปผสมกับเครื่องดื่มก็ได้ เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง หรือ น้ำใบเตย โดยสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยังมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
           นอกจากนี้ผลแมงลัก ซึ่งมักเรียกว่า “เม็ดแมงลัก” ยังสามารถใช้เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกาก เนื่องจากเปลือกผลมีสารเมือก ซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหาร ที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชา แช่น้ำ 1 แก้ว จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนนอน ถ้าผลแมงลักพองตัวไม่เต็มที่จะทำให้ท้องอืด และอุจจาระแข็ง จากการทดลองพบว่า แมงลักทำให้จำนวนครั้งในการถ่าย และปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติและยังสามารถนำใบมาตากแห้ง 5-7 แดด แล้วนำมาชงเป็นชาดื่ม หรือ ใช้ใบแมงลักนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และน้ำหอม รวมถึงใช้ในด้านความงามต่างๆ ได้อีกด้วย 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้แมงลัก

ใช้ขับลมในลำไส้ อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ช่วยขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบายให้ นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม บรรเทาอาการหวัด อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น แก้ท้องร่วงท้องเสีย ใบแมงลัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชา แช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก สามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมได้ 
           ใช้ลดความอ้วน เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชา แช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวและเพิ่ม จำนวนครั้งในการขับถ่าย และปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น และยังสามารถลดอาการท้องผูกด้วย บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออา การคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ รักษาโรคกลากเกลื้อนด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น

แมงลัก

ลักษณะทั่วไปของแมงลัก

แมงลัก จัดเป็นไม้ล้มลุกชนิดพืชปีเดียว หรือ หลายปีขนาดเล็ก สูง 10-30 ซม. มีกลิ่นหอม ลำต้น กลมเป็นสี่เหลี่ยม ขนสั้น นุ่ม มีขนกาง และหันลงยาวที่ข้อ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีรูปใบหอก รูปในหอกแกมรูปไข่ หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 0.5-2 ซม.ยาว 0.5 -3.5 ซม.ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม หรือ รูปมนขอบใบเรียบ หรือ จักฟันเลื่อยแคบบ้าง มีต่อมแทรกขน ผิวด้านบนเกลี้ยง ผิวด้านล่างมีขนนุ่ม หรือ มีขนทั้งสองด้าน มีขนยาวที่เส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว 0.2-2 ซม. บางมีขนนุ่ม ซึ่งยาวกาง ข่อดอกโปร่งเป็นวงรอบได้ถึง 1 ซม. แกนมีขนนุ่มหนาแน่นหันลง ใบประดับรูปไข่ยาวได้ถึง 0.5 ซม. ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลมโคนใบสอบเรียว ขอบใบมีขนยาวห่าง มีต่อมแทรกขน ก้านดอกย่อยโค้งลง ยาว 0.1-0.25 ซม. สั้นกว่าวงกลีบเลี้ยงที่ติดผล มีขนนุ่มกาง ละเอียดวงกลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 0.15-0.25 ซม. ระหว่างอยู่ในระยะออกดอกจะยาว 0.4-0.55 ซม. เมื่อติดผล กลีบปากหลังกลม หลอดดอกเป็นครีบขยายออกเล็กน้อย และคงอยู่เป็นติ่งแหลมอ่อนที่ปลาย กลีบปากหน้ามีสองแฉก รูปใบหอกหยักแหลมยาวมากกว่ากลีบปากหลัง หยักแหลมข้างรูปคล้ายสามเหลี่ยมกว้าง ปลายแหลม ขนาดเกือบเท่ากับกลีบปากหลัง คอหลอดดอกเป็นหลอด ดอกมี หรือ ไม่มีต่อมด้านนอก มีวงแหวนของขนอุยหนาแน่นที่คอหลอดดอก และโคนกลีบเกลี้ยงด้านใน วงกลีบดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อนยาว 0.4-0.55 ซม. แฉกเกลี้ยง มีขนอุยด้านหลังหลอดดอก มี หรือ ไม่มีต่อมด้านนอก กลีบปากหน้ามีสองแฉก รูปของขนานกลาง กลีบ และรูปขอบขนานแกม รูปไข่กลับที่ขอบกลีบหลังรูปเรือ รูปขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ที่ผิวด้านนอก หลอดดอกตรงและเกลี้ยงทั้งสองด้าน เกสรเพศผู้ ด้านหลังเกลี้ยงถึงเกือบโคน กลุ่มผลเปลือกแข็ง เมล็ดเดียวสีดำ รูปขอบขนานแคบ ยาว 0.1-0.15 ซม. มีปุ่มเล็กน้อย มีเมือกเมื่อเปียก

โหระพา

แมงลัก

การขยายพันธุ์แมงลัก

แมงลัก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้กิ่งชำหรือใช้เมล็ดเพาะเป็นต้นกล้าแล้วย้ายปลูก (เมื่อเมล็ดงอกขึ้นมาและมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน) ลงแปลงที่เตรียมดินไว้ ซึ่งก่อนนำไปปลูกลงดิน ต้องตัดยอดทิ้งก่อน หรือ อาจตัดออกครึ่งต้นก็ได้ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรตัดแต่งรากด้วย เพราะแมงลัก ที่ตัดแต่ง รากจะงอกงามกว่า โดยจัดให้มีระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว 40x40 เซนติเมตร ใช้ปลูก หลุมละ 2-3 ต้น เมื่อต้นแมงลักเติบโต กิ่งก้านใบก็จะคลุมถึงกันหมด

           ทั้งนี้แมงลักเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเฉลี่ย 1-2 ปี การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นที่ดอน แต่ต้องให้น้ำบ้าง ปกติสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่แมงลักจะชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายน้ำดี และปลอดจากลมแรงง


องค์ประกอบทางเคมี

จากส่วนตางๆ ของแมงลักพบสาร cirsilineol, cirsimaritin, isothymusin, isothymonin, apigenin, rosmarinic acid, eugenol ส่วนใบ พบสารน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย borneol L-B-cadinene, 1-8-cineol, B-caryophyllene, eugenol และยังพบสาร Limonene, Linalool, Camphene เมือกจากเมล็ด พบสาร D-xylos, D-glucose, D-galactose, D-mannose, L-arabinose, L-rhamnose, uronic acid, oil, polysaccharide และ mucilage

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของแมงลัก

     โครงสร้างแมงลัก

ที่มา : Wikipedia

            นอกจากนี้ส่วนต่างๆของแมงลัก ที่ใช้เป็นอาหารยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของใบแมงลัก 100 กรัม มีสารอาหารสำคัญดังนี้

แคลเซียม                                    350                  มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส                                   86                    มิลลิกรัม

เหล็ก                                             4.9                   มิลลิกรัม

วิตามินเอ                                     10,666             มิลลิกรัม

ไทอามีน (วิตามินบี1                  0.30                 มิลลิกรัม

ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2)            0.14                 มิลลิกรัม

ไนอาซิน (วิตามินบี 3)                 1.0                    มิลลิกรัม

วิตามินซี                                      78                    มิลลิกรัม

เส้นใยอาหาร                                2.6                   กรัม

คาร์โบไฮเดรต                              11.1                 กรัม

ไขมัน                                            0.8                   กรัม

โปรตีน                                          2.9                   กรัม

พลังงาน                                        32                   แคลอรี

           คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดแมงลัก (%)

ความชื้น              :           10.3-14.1%
โปรตีน                 :           15.5-17.87%
คาร์โบไฮเดรต     :           55.66%
ไขมัน                   :           18.3-19.60%
ใยอาหาร             :           80%
เถ้า                      :           4.4-6.87%

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแมงลัก

           ฤทธิ์เป็นยาระบาย เมล็ดแมงลักช่วยการขับถ่ายเพราะเปลือกด้านนอกสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า โดยไม่ถูกย่อย ทำให้เพิ่มกากและช่วยหล่อลื่น ทำให้ขับถ่ายสะดวกขึ้น จากการศึกษาในอาสาสมัครโดยให้รับประทานเมล็ดแมงลัก ผสมน้ำ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณอุจจาระและจำนวนครั้งในการถ่าย และทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติ เช่นเดียวกับการรับประทาน psyllium เมื่อป้อนเมล็ดแมงลัก ขนาด 37.5 มก./กก. ละลายน้ำให้พองตัว ให้หนูขาวและหนูถีบจักร จะมีผลทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเทียบเท่ากับการให้หนูกินยาถ่าย metamucil ขนาด 300 มก./กก. 

           นอกจากนี้ ยังมีการทดลองกับผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากและนิ่วในไต โดยให้กินยาระบายเมล็ดแมงลัก (เมล็ดแมงลักบดเป็นผง) ขนาดครึ่งถึง 1 ช้อนชา และ 1 ช้อนชาครึ่ง ในน้ำ 150 มิลลิลิตร 3 ครั้งหลังอาหาร/วัน และหลังการผ่าตัด เป็นเวลา 3-8 วัน และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเมล็ดแมงลัก พบว่าสัดส่วนอาการท้องผูกหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับ เมล็ดแมงลักเท่ากับร้อยละ 80.6 ขณะที่กลุ่มที่ได้รับเมล็ดแมงลักมีสัดส่วนของอาการท้องผูกเท่ากับร้อยละ 13.3, 31.6 และ 10.5 ตามลำดับ จากการทดลองจะเห็นว่าเมล็ดแมงลักสามารถลดอาการท้องผูกของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้ 

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ นำสารสกัดเอทิลอะซีเตท เฮกเซน หรือ เมทานอลจากใบ มาทาภายนอก ในขนาด 20 มคก./ตัว ให้กับหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย tetradeconoyl phorbol acetate พบว่าสารสกัดเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ การใช้น้ำมันจากเมล็ดทาภายนอก ขนาด 3 มล./กก. กับหนูขาวที่โตเต็มที่ พบว่ามีฤทธิ์ นอกจากนี้การทดลองทาน้ำมันจากเมล็ดนี้ ในขนาด 2 มล./กก. ให้กับหนูขาวที่โตเต็มที่ และถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย arachidonic acid พบว่ามีฤทธิ์ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ในขนาด 3 มล./กก. กับหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย histamine, serotonin, prostaglandin, hyaluronidase หรือ LTB4 methyl ester พบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีฤทธิ์ มีการศึกษาหาสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากใบสดและลำต้น ซึ่งพบสารสำคัญ 6 ชนิด คือ 1) cirsilineol 2) cirsimaritin 3) isothymusin 4) isothymonin 5) apigenin และ 6) rosmarinic acid นอกจากนี้ยังพบ eugenol ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย จากการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารเหล่านี้ พบว่า eugenol ความเข้มข้น 100 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 (COX-1) ในขณะที่สารสำคัญ 1), 2), 4), 5), 6) ในขนาดเดียวกันนี้ มีฤทธิ์ยับยั้ง COX-1 37, 50, 37, 65, 58% ตามลำดับ และเมื่อทดสอบกับ COX-2 พบว่า eugenol และสารสำคัญ 1), 2), 5) และ 6) ขนาด 1,000 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์นี้ได้ดี ซึ่งในการทดลองนี้ ทำการทดสอบสารสำคัญทั้ง 6 ชนิด เทียบกับ ibuprofen 10 ไมโครโมลาร์, naproxen 10 ไมโครโมลาร์ และ aspirin 1,000 ไมโครโมลาร์ ซึ่งจากการทดลองในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่สารสกัดจากแมงลัก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบจริง การศึกษาน้ำมันไม่ระเหย (fixed oil) และ linolenic acid ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan, PGE2, leukotriene และ arachidonic acid พบว่าน้ำมันไม่ระเหยที่มี linolenic acid เป็นส่วนประกอบสูงสุด จะให้ผลต้านการอักเสบสูงและกลไกต้านการอักเสบเกิดจากการยับยั้ง COX และ lipoxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เกิดสารก่อการอักเสบ โดยเชื่อว่า linolenic acid เป็นสารสำคัญในน้ำมันไม่ระเหยที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยกลไกดังกล่าว จากการวิเคราะห์น้ำมันแมงลัก โดยวิธี Gas liquid chromatography พบกรดไขมัน 5 ชนิด คือ stearic, palmitic, oleic, linoleic และ linolenic acids และจากการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของหนูขาวและหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan และ acetic acid พบว่า triglyceride ที่แยกออกมา มีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูงกว่าน้ำมัน ดังนั้นฤทธิ์ต้านการอักเสบในน้ำมันแมงลัก น่าจะเกิดจาก triglyceride และกรดไขมัน

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการทดสอบน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของแมงลักกับ S. aureus ในจานเพาะเชื้อหลายการทดลอง สรุปได้ดังนี้ การทดสอบน้ำมันหอมระเหยจากแมงลัก (ไม่เจือจาง) หรือ น้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดิน พบว่ามีฤทธิ์ แต่ถ้าใช้น้ำมันหอมระเหยจากใบมาทดสอบ กลับไม่มีฤทธิ์ และอีกการทดลองหนึ่งใช้น้ำมันหอมระเหยจากใบเช่นกัน โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1,250 มคก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ ส่วนอีกการทดลองหนึ่งเมื่อทดสอบน้ำมันหอมระเหย (ไม่ระบุส่วนของพืช) กับเชื้อดังกล่าว โดยมีค่า MIC เท่ากับ 10 มก./มล. กลับให้ฤทธิ์อ่อนๆ นอกจากนี้มีการทดสอบน้ำมันหอมระเหย (ไม่เจือจาง) กับเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวกหลายชนิด พบว่ามีฤทธิ์ การทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์มจากทั้งต้นแมงลักแห้ง โดยมีค่า MIC เท่ากับ 450.4 ก./ล. พบว่ามีฤทธิ์ และเมื่อทดลองใช้สารสกัดดังกล่าวความเข้มข้น 1 ก./มล. ก็พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน การทดสอบสารสกัดเมทานอลจากทั้งต้นแห้งความเข้มข้น 1 ก./ล.หรือ 0.6 มก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ แต่ถ้าใช้สารสกัดนี้ที่ความเข้มข้น 1 ก./มล. พบว่ามีฤทธิ์ การทดสอบน้ำสกัดจากทั้งต้นสด ความเข้มข้น 0.3 มล./หลุม หรือ การทดสอบน้ำต้มจากใบแห้ง ความเข้มข้น 62.5 มก./มล. พบว่าสารสกัดทั้ง 2 แบบ ไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้มีการทดสอบสารสกัดอะซีโตน เอ-ทานอล (95%) หรือ เฮกเซนจากใบแห้ง ความเข้มข้น 50 มก./แผ่น พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้าน Streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง

           ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน งานวิจัยจากอินเดีย ปี พ.ศ.2551 รายงานการพบสารโพลีฟีนอลหลายชนิดในใบแมงลัก สารดังกล่าว คือ กรดโรสมารินิก กรดลิโทสเปอมิก กรดวานิลิก กรดคูมาริก กรดไฮดรอกซีเบนโซอิก กรดซีริงจิก กรดกาเฟอิก กรดเฟอรูลิก กรดซินามิก กรดไฮดรอกซีฟีนิลแล็กติก และกรดซินาปิก

          ฤทธิ์ต้านการเกิดแผล เมื่อฉีดน้ำสกัดจากส่วนเหนือดินแห้ง ขนาด 4 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ และสารสกัดนี้จากใบแห้งในขนาดเดิม ยังมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย aspirin ในหนูขาวอีกด้วย แต่มีฤทธิ์อ่อนต่อแผลที่เกิดจาก acetic acid และเมื่อฉีดน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินแห้ง ขนาด 4 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว พบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีฤทธิ์ และเมื่อทดลองฉีดส่วนสกัดของน้ำมันจากเมล็ดขนาด 1 มล./กก. เข้าทางช่องท้องหนูตะเภาที่โตเต็มที่ และถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วย histamine พบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีฤทธิ์เช่นกัน เมื่อทดลองฉีดน้ำมันจากเมล็ดขนาด 1 มล./กก. เข้าทางช่องท้องหนูตะเภาที่โตเต็มที่และถูกเหนี่ยวให้เกิดแผลด้วย aspirin, indomethacin, HCl/ethanol, serotonin, stress หรือ reserpine พบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผล กลไกการรักษาแผลในกระเพาะอาหารน่าจะเกิดจากการยับยั้งเอนไซม์ lipooxygenase, histamine antagonist และยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นกระบวนการรักษาแผลในกระเพาะอาหารของน้ำมันจากเมล็ดแมงลัก มีทั้งการต้านการอักเสบและต้านการเกิดแผล เมื่อทดลองฉีดสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินแห้ง ขนาด 4 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ และเมื่อทดสอบสารสกัดนี้กับหนูขาวที่เกิดแผลด้วย aspirin ก็พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน และเมื่อเปลี่ยนมาใช้สารสกัดนี้จากใบแห้ง ขนาดเท่าเดิม ก็พบว่าให้ผลเหมือนกัน มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดแผลของแมงลักโดยใช้ส่วนเหนือดินผง น้ำสกัด และสารสกัดเมทานอลของส่วนเหนือดิน ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับ cimetidine ซึ่งเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ผลการทดสอบพบว่าส่วนของพืช และสารสกัดจากแมงลักดังกล่าวมี ฤทธิ์ต้านการเกิดแผล โดยสารสกัดเมทานอลมีผลลดการหลั่งกรด ดังนั้นกลไกการรักษาแผลของแมงลักน่าจะเกิดจากการลดการหลั่งกรด และ pepsin รวมทั้งเพิ่มความแข็งแรงในชั้น mucosal ในกระเพาะอาหาร


การศึกษาทางพิษวิทยาของแมงลัก

           การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน โดยป้อนเมล็ดแมงลักให้หนูแรทในขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว ไม่พบว่ามีพิษใดๆ หลังจากนั้น 7 วัน ในการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังโดยป้อนเมล็ดแมงลักให้หนู กระต่าย และแมว ในขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ไม่พบว่ามีพิษต่ออวัยวะต่างๆ และ การทดสอบพิษเรื้อรังโดยการป้อนเมล็ดแมงลักให้หนูแรท ขนาด 0.25, 0.5, 1 และ 2 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของตับ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (6) การศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และพิษเรื้อรัง ของเมล็ดแมงลัก โดยป้อนเมล็ดแมงลัก ที่ละลายน้ำให้พองตัว ในขนาด 0.3, 0.5 และ 1 กรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรท เป็นเวลา 1 วัน 1 สัปดาห์  และ 1 ปี ก็ไม่พบความเป็นพิษใดๆ เมื่อฉีดสารสกัดเมทานอล (80%) จากส่วนเหนือดินสด ขนาด 2 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารของหนูถีบจักร (23) หรือ ฉีดผงจากส่วนเหนือดินแห้ง ขนาด 6 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว (24) พบว่าสารสกัดและส่วนของพืชที่ใช้ทดสอบไม่มีพิษต่อสัตว์ทดลอง

           พิษต่อเซลล์ เมื่อทดสอบสารสกัดเอทานอล (70%) จากใบแห้ง หรือ จากส่วนเหนือดินแห้งกับ cells-MT-4 โดยมีค่า IC50 มากกว่า 1,000 มคก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ การทดสอบสารสกัดเมทานอลจากใบสดกับ Macropharge cell line raw 264.7 โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 200 มคก./มล. หรือ เมื่อใช้สารสกัดนี้ทดสอบกับ cells-Raji โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 20 มคก./มล. พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีผลต่อเซลล์ทั้ง 2 ชนิด ส่วนการทดสอบน้ำสกัดจากใบแห้ง ซึ่งมี IC50 เท่ากับ 125 มคก./มล. หรือ สารสกัดนี้จากส่วนเหนือดินแห้ง ซึ่งมี IC50 กับ cells-MT-4 พบว่าผลการทดสอบไม่แน่นอนทั้ง 2 แบบ นอกจากนี้การใช้สารสกัดเอทิลอะซีเตทจากส่วนเหนือดิน ซึ่งมี IC50 เท่ากับ 100 มคก./มล. กับ Hela-S3 cells ก็ให้ผลการทดสอบไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน

            ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีการทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์ม:เมทานอล (2:1) จากส่วนเหนือดิน โดยใช้ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อ กับ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 ในจานเพาะเชื้อ พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีฤทธิ์ และเมื่อเปลี่ยนมาใช้สารสกัดเมทานอล (80%) จากส่วนเหนือดินสดกับ S. typhimurium TM677 ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีฤทธิ์เช่นกัน เมื่อทดสอบน้ำสกัดจากส่วนเหนือดิน ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อ กับ cells-Pig-Kidney-LLC-PK-1 และ cells-trophoblastic-placenta ในจานเพาะเชื้อ พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีผลต่อเซลล์ดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อใช้น้ำสกัดจากใบสด หรือการใช้น้ำต้มจากใบสด ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น ทดสอบกับ Bacillus subtilis (Rec+) และ H-45 (Rec-) พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ และเมื่อเปลี่ยนมาใช้น้ำคั้นจากใบสด ทดสอบกับเซลล์ดังกล่าวโดยใช้ความเข้มข้นต่างๆ กัน พบว่าให้ผลการทดสอบเช่นเดิม

           พิษต่อตัวอ่อน เมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล (100%) จากใบแห้ง ขนาด 200 มก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาวท้อง พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ทำให้แท้ง และเมื่อฉีดสารสกัดนี้ในขนาดเท่าเดิม เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาวเพศเมีย พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้มีการทดลองให้สารสกัดเอทานอล (50%) และสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบแห้ง โดยใช้ความเข้มข้น 150 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ ทางกระเพาะอาหารหนูขาวที่ท้อง พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ไม่มีพิษต่อตัวอ่อน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ถ้าใช้เมล็ดแมงลักที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ จะทำให้มีการดูดน้ำจากลำไส้เกิดอาการขาดน้ำ และอาจเกิดอาการลำไส้อุดตันได้ (โดยเฉพาะแมงลักที่บดเป็นผง)
  2. ไม่ควรรับประทานเม็ดแมงลักในปริมาณมากๆ เพราะอาจจะเกิดอาการอึดอัดแน่นท้องและรู้สึกไม่สบายตัวได้
  3. ไม่ควรรับประทานเม็ดแมงลัก พร้อมกับกับยา เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้ไม่ดี
  4. สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักการรับประทานเม็ดแมงลัก แทนมื้ออาหารควรรับประทานเป็นบางมื้อ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

 

เอกสารอ้างอิง แมงลัก
  1. พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะ สมุนไพรไทย ใน:พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะ บรรณาธิการ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 กรุงเทพมหานคร. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนท์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).2543. 220 หน้า
  2. วงศ์สถิต ฉั่วกุล.แมงลักและแมงกะแซง.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 25 ฉบับที่ 1.ตุลาคม 2550.หน้า 18-20
  3. แมงลัก, ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุข โชคชัยเจริญพร บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน.กรุงเทพ:ประชาชน จำกัด .2524:823 หน้า.
  5. แมงลัก, ฐานข้อมูลสมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. รศ.ดร.สุธาทิพย ภมรประวัติ.แมงลัก คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 357.มกราคม 2552
  7. แมงลัก/ใบแมงลัก (Hairy Basil) สรรพคุณและการปลูกแมงลัก. พืชเกษตรดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. แมงลัก. กลุ่มยาถ่าย. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็กพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs_05_8.htm
  9. ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาส ชวลิต วิเชียร จีรวงส์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. กรุงเทพ:อมรินทร์พริ้นติ้งเอนท์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).2544: 777 หน้า
  10.  บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.
  11. Recio MC, Rios JL, Villar A. Antimicrobial activity of selected plants employed in the Spanish mediterranean area. Part II. Phytother Res 1989;3(3):77-80.
  12. Ndounga M, Ouamba JM. Antibacterial and antifungal activities of essential oils of Ocimum gratissimum and O. basilicum from Congo. Fitoterapia 1997;68(2):190-1.
  13. Hussain RA, Poveda LJ, Pezzuto JM, Soejarto DD, Kinghorn AD. Sweetening agents of plant origin: phenylpropanoid constituents of seven sweet-tasting plants. Econ Bot 1990;44(2):174-82.  
  14. Singh S, Majumdar DK, Yadav MR. Chemical and pharmacological studies on fixed oil of Ocimum sanctum. Indian J Exp Biol 1996;34(12):1212-5.    
  15. Murakami A, Kondo A, Nakamura Y, Ohigashi H, Koshimizu K. Possible anti-tumor promoting properties of edible plants from Thailand, and identification of an active constituent, cardamonin, of Boesenbergia pandurata. Biosci Biotech Biochem 1993;57(11):1971-3.  
  16. Ross SA, El-Keltawi NE, Megalla SE. Antimicrobial activity of some Egyptian aromatic plants. Fitoterapia 1980;51:201-5.
  17. Farouk A, Bashir AK, Salih AKM. Antimicrobial activity of certain Sudanese plants used in folkloric medicine. Screening for antibacterial activity (I). Fitoterapia 1983; 54(1):3-7.
  18. Singh S. Mechanism of action of antiinflammatory effect of fixed oil of Ocimum basilicum Linn. Indian J Exp Biol 1999;37(3):248-52.
  19.  Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future Aspects in Contraception. Part 2. Female Contraception. Boston:MTP Press, Ltd., 1984:115-28.
  20. Singh S. Evaluation of gastric anti-ulcer activity of fixed oil of Ocimum basilicum Linn. and its possible mechanism of action. Indian J Exp Biol 1999;36(3):253-7.
  21. Ela MAA, El-Shaer NS, Ghanem NB. Antimicrobial evaluation and chromatographic analysis of some essential and fixed oils.  Pharmazie 1996; 51(12):993-4.  
  22. Kim OK, Murakami A, Nakamura Y, Ohigashi H. Screening of edible Japanese plants for nitric oxide generation inhibitory activities in raw 264.7 cells. Cancer Lett 1998;125(1/2):199-207.
  23.   Okuyama T, Matsuda M, Masuda Y, et al. Studies on cancer bio-chemoprevention of natural resources. X. Inhibitory effect of spices on TPA-enhanced 3H-choline incorporation in phospholipid of C3h10t1/2cells and on TPA-induced ear edema.  Zhonghua Yaoxue Zazhi 1995;47(5):421-30. 
  24.  Muangman V, Siripraiwan S, Ratanaolarn K, Rojanaphanthu P, Shaipanich C. A clinical trial of Ocimum canum Sims seeds as a bulk laxative in elderly post- operative patients. Ramathibodi Med J 1985;8(4):154-8.
  25.  Prasad G, Kumar A, Singh AK, Bhattacharya AK, Singh K, Sharma VD. Antimicrobial activity of essential oils of some Ocimum species and clove oil. Fitoterapia 1986; 57(6):429-32.
  26. Rockwell P, Raw I. A mutagenic screening of various herbs, spices, and food additives. Nutr Cancer 1979;1:10-5.
  27.  Ross SA, El-Keltawi NE, Megalla SE. Antimicrobial activity of some Egyptian aromatic plants. Fitoterapia 1980;51:201-5.
  28.  Caceres A, Figueroa L, Taracena AM, Samayoa B.  Plants used in Guatemala for the treatment of respiratory diseases 2: evaluation of activity of 16 plants against gram-positive bacteria. J Ethnopharmacol 1993;39(1):77-82.  
  29. Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Chem Toxicol 1982;20:527-30.  
  30. Yamasaki K, Nakano M, Kawathata T, et al. Anti-HIV-1 activity of herbs in Labiatae. Biol Pharm Bull 1998; 21(8):829-33.   
  31. Srinivasan D, Nathan S, Suresh T, Perumalsamy PL. Antimicrobial activity of certain Indian medicinal plants used in folkloric medicine. J Ethnopharmacol 2001;74:217-20.
  32. Takatsuki S, Narui T, Ekimoto H, Abuki H, Niijima K, Okuyama T.  Studies on cytotoxic activity of animal and plant crude drugs.  Natural Med 1996;50(2):145-57.
  33. Akhtar MS, Munir M. Evaluation of the gastric antilucerogenic effects of Solanum nigrum, Brassica oleracea and Ocimum basilicum in rats. J Ethnopharmacol 1989; 27(1/2): 163-76.  
  34. Kelm MA, Nair MG, Strasburg GM, Dewitt DL. Antioxidant and cyclooxygenase inhibitory phenolic compounds from Ocimum sanctum Linn. Phytomedicine 2000; 7(1):7-13.
  35. Utaipath A, Salaya A, Shaipanich C, Siripraiwan S, Rojanapandh P. Toxicity study of Ocimum canum Sims seeds. Symposium on the Development of Medicinal Plants for Tropical Diseases, 26-27 February, Bangkok, Thailand, 1987. p.51.
  36. Kocharatana P, et al. Clinical trial of maeng-lak seeds using as a bulk laxative. Maharaj Nakornratchasima Hospital Medical Bull 1985;9(2):120-36.
  37. Taesotikul W, Smitasiri Y, Pootakham K. Studies of hairy basil seeds as bulk laxative II: Laxative activity and toxicity studies. The Fourth Princess Chulabhorn International Science Congress Chemicals in the 21st century, 28 November-2 December, Bangkok, Thailand, 1999.
  38. Sriratanaban A, Poshyachinda M, Tankeyoon M, Ratanavararak M. Ocimum americanum Linn., study of its laxative properties. Chula Med J 1992;36(3):201-6.