จามจุรี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จามจุรี งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จามจุรี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ก้ามปู, ก้ามกุ้ง (ภาคกลาง), ฉำฉา, สำสา, ตุ๊กตู่, ลัง (ภาคเหนือ), เส่ดู่, เส่คุ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Albzia saman (Jacq.) Merr.
ชื่อสามัญ Rain tree, Cow tamarind
วงศ์ FABACEAE


ถิ่นกำเนิดจามจุรี

จามจุรี มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยเป็นพืชพื้นถิ่นของเมกซิโก เปรู และบราซิล ต่อมาจึงมีการนำไปปลูกในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ป่าเขตร้อนทั้งทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ประปรายในที่โล่งแจ้ง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบจามจุรี ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักนิยมปลูกทั่วไปตามสองข้างถนน และปลูกให้ร่มเงาตามหมู่บ้าน หรือ สถานที่ต่างๆ มีประวัติบันทึกไว้ว่า นายเฮนรี สเลด (Mr. Henry Slade) ได้นำพันธุ์ไม้จากพม่า มาปลูกครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ.2443


ประโยชน์และสรรพคุณจามจุรี

  1. แก้ท้องร่วง
  2. รักษาริดสีดวงทวาร
  3. เป็นยาสมานแผลในปาก
  4. แก้เหงือกบวม
  5. แก้ปวดฟัน
  6. ช่วยเจริญอาหาร
  7. แก้ท้องเสีย
  8. แก้อาการท้องผูก
  9. แก้กระหายน้ำ
  10. แก้ปวดแสบปวดร้อน
  11. ช่วยดับพิษ
  12. แก้โรคผิวหนัง
  13. แก้โรคเรื้อน กลากเกลื้อน
  14. ใช้แก้หอบหืด
  15. ใช้แก้อาการปวดศีรษะ
  16. แก้ไข้หวัด
  17. แก้ปวดท้อง
  18. แก้โรคลำไส้
  19. แก้เจ็บคอ
  20. รักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
  21. แก้ผดผื่นคัน
  22. รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย

           จามจุรีถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้านอาทิเช่น มีการปลูกจามจุรีเป็นไม้ประดับ เพื่อให้ร่มเงากันอย่างแพร่หลาย เพราะมีลำต้นที่สูงโปร่งในร่มเงาได้เป็นบริเวณกว้าง ส่วนทางภาคเหนือมีการปลูกจามจุรี เพื่อใช้เลี้ยงครั่ง และนำใบใช้ทำปุ๋ย ฝักใช้เลี้ยงวัว ควาย เนื้อไม้ใช้แกะสลักเป็นเครื่องเรือน

จามจุรี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่ม
  • แต่หากใช้เพื่อแก้ปวดฟัน เหงือกบวม ให้นำน้ำต้มมาบ้วนปาก
  • ใช้ช่วยเจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ท้องเสีย ช่วยดับพิษโดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบจามจุรี สดมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน โดยนำเมล็ดมาทุบให้แตกบีบเอาน้ำมันมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้หอบหืดโดยนำแก่นจามจุรี ใบหนาดใหญ่ ลำต้นข่อย พิมเสน และการบูร มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ในต่างประเทศใช้ส่วนต่างๆ ของจามจุรีเป็นยาพื้นบ้านที่ใช้แก้อาการปวดศีรษะ ไข้หวัด ท้องเสีย ปวดท้อง โรคลำไส้ เจ็บคอ และมะเร็งกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องผูก เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของจามจุรี

จามจุรี จัดเป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 20-40 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างคล้ายร่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก บริเวณโคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา ผิวขรุขระไม่เป็นระเบียนและแตกเป็นร่องเล็กตามยาว เปลือกต้นค่อนข้างหนาและยืดหยุ่น เปลือกชั้นในสีน้ำตาลอ่อนถึงสีชมพู กิ่งอ่อนมีขนละเอียดปกคลุม ส่วนกิ่งแก่ผิวเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงตรงข้าม โดยช่อใบยาว 10-20 เซนติเมตร

           ใบจามจุรี ประกอบเป็นแบบแยกแขนง ตรงข้ามเป็นคู่ 2-5 คู่ ยาว 1.5-6 เซนติเมตร บนแขนงมีใบย่อยรูปขนมเปียกปูน หรือ รูปไข่ หรือ รูปรี โคนใบเบี้ยว ปลายใบมนเว้าตื้น หรือ มีติ่งสั้นๆ ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขนนุ่มออกเรียงตรงข้ามกัน 2-10 คู่ คู่ที่อยู่ปลายมีขนาดใหญ่ที่สุด และลดหลั่นลงไปจนถึงคู่ล่างมีขนาดเล็กสุด

           ดอกจามจุรี ออกเป็นช่อกระจุกแน่นแบบช่อเชิงหลั่น ออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือ ยอดช่อดอกมี 2-5 ช่อ แต่ละช่อยาว 3 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็กมีจำนวนมาก ซึ่งจะเรียงเป็นชั้นๆ มีกลีบเลี้ยง 7-8 กลีบ ส่วนกลีบดอกโคนเชื่อมติดเป็นถ้วย ปลายเป็นรูปแตรแยก 5 แฉก มีเกสรเพศผู้สีชมพู จำนวนมากยาวโผล่พ้นกลีบดอก

           ผลจามจุรี เป็นฝักแบบยาวรูปขอบขนาน ตรง หรือ โค้งงอเล็กน้อย ผิวเกลี้ยงและคอดเล็กน้อยในระหว่างเมล็ด ฝักแก่สีน้ำตาลดำ ฝักขนาดกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร เปลือกหนาและแข็ง ไม่แตกออกผนังชั้นกลางมีเนื้อนิ่ม เมล็ดรูปทรงแบนรี สีน้ำตาลปนดำผิวเป็นมัน โค้งออกทั้งสองด้าน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ใน 1 ฝักจะมีเมล็ด 15-25 เมล็ด เรียงเป็นแถวตามความยาวของฝัก

จามจุรี

จามจุรี


การขยายพันธุ์จามจุรี

จามจุรี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งจามจุรีนั้นเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก และยังสามารถเพาะเมล็ดและปลูกได้ง่าย เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสงแดด สามารถขึ้นได้ดี ในดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทราย ทนทานต่อสภาพอาการร้อน สำหรับการเพาะเมล็ดและการปลูกจามจุรี นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของฝักจามจุรี ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาทิเช่น lupeol, epilupeol, nerolidol, geranylacetone, cyperene, α-pinene, pentadecane, hexadecane, spathulenol, heptadecane, α-bisabolol, β-cargaphylene และ nerolidol เป็นต้น สารสกัดจากเปลือกต้นพบสาร gallic acid, octacosanoic acid, lupeol, α-spinasterol, α-spinasterone และ lupenon สารสกัดจากใบพบสาร palmitic acid, Stearic acid, α-spinasterol เป็นต้น

โครงสร้างจามจุรี

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของจามจุรี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจามจุรี จากส่วนต่างๆ ในต่างประเทศระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานระบุว่าสารสกัดน้ำ ของส่วนเหนือดินของจามจุรีมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพเมื่อทดสอบกับสิ่งมีชีวิต เช่น Escherichia coli, Staphylococcus aureus, Candida albicans, S.aureus., E. coli และ C.albicans ส่วนรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก แกรมลบและเชื้อรา หลายชนิดอาทิเช่น Bacillus cereus, Bacillus megaterium, Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Sarcina lutea, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Salmonella paratyphi, Salmonella typhi, Shigella boydii, Shigella dysenteriae, Vibrio mimicus, Vibrio parahemolyticus, Candida albicans, Aspergillus niger และ Sacharomyces cerevacae เป็นต้น

           กิจกรรมต้านเบาหวาน มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากใบจามจุรี พบว่าฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้ง เอนไซม์อะไมเลสจากสารสกัดเมทานอลจากใบที่ความเข้มข้น 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว

           ฤทธิ์ต้านอักเสบ มีรายงานว่าสารสกัดเมทานอลจากเปลือกจามจุรี มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีผลการวิจัยพบว่าสารสกัดมีความเข้มข้น 0.25, 0.5, 1,2.4 มก. มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง 51% ที่ความเข้มข้นสูงสุด เมื่อเทียบกับยาไดโคลฟีแนคโซเดียม ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้ง 29%

           ฤทธิ์ป้องกันตับ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลของจามจุรีในขนาด 400 มก./กก. มีฤทิ์ปกป้องตับในหนูเผือกที่ถูกชักนำให้ตับถูกทำลายจากคาร์บอนเตตระคลอไรด์ โดยสารสกัดเมธานอลจะช่วยลดระดับซีรั่มของ ALT, AST และคอเลสเตอรอล

           กิจกรรมต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดเมธานอล 70% ของจามจุรี มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระวัดได้ใน diphenyl 1-picrylhydrazyl (DPPH)


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของจามจุรี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้จามจุรี เป็นสมุนไพรนั้น ควรใช้ความระมัดระวังเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง จามจุรี
  1. เต็ม สมิตินันท์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 115.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. (2538). อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  4. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
  5. สุธรรม อารีกุล. (2552). องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. เชียงใหม่ : มูลนิธิโครงการหลวง.
  6. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. (2548). สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน. หน้า 15.
  7. ราชันย์ภู่มา. (2559). สารานุกรมพืชในประเทศ (ฉบับย่อ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  8. Isika Ogunwande A, Tameka Walker M, William Setzer N. Nat Prod Communication. 2007;2:1314.
  9. Prabhu S, Vinodhini S, Elanchezhiyan C, Rajeswari D. Evaluation of anti-diabetic activity of biologically synthesized silver nanoparticles using Pouteria sapota in streptozotocin-induced diabetic rats. J Diabetes; 2017. DOI: 10.1111/1753- 0407.12554
  10. Kohler K, et al. In vitro anti-plasmodial investigation of medicinal plants from El Salvador Z. Naturforschung C. 2002;57(3-4):277-81.
  11. Anonymous, 1945. Pharmacopoeia of India. Government of India, New Delhi, Ministry of Health and Family Welfare
  12. James-Duke A. Handbook of Energy Crops. 1993;2:677-9.
  13. Jagessar RC, Mars A, Gomathinayagam S. Selective Antimicrobial properties of Leaf extract of Samanea Saman against Candida albicans, Staphylococcus aureus and Escherichia coli using several microbial methods. Am. J Sci. 2011;7(3):108-19
  14. Sindhan V, Velan SS, Rakesh Joshi. Hepatoprotective Activity of Samanea Saman (Jacq) Merr Bark against Ccl4 Induced Hepatic Damage in Albino Rats. Inter J Institutional Pharm Life Sci. 2012;2:2249-6807
  15. Duke, J.A. and Warin, K.K. 1981. Medicinal plants of the world. Computer index with more than 85000 entries.
  16. Isika Ogunwande A, Tameka Walker M, William Setzer N, Emmanuel Essien. Volatile constituents from Samanea Saman (Jacq.) Merr. African J. of Biotechnology. 2006;5(20):1890-3
  17. Girish Gulab Meshram, Anil Kumar, Waseem Rizvi, Tripathi CD, Khan RK. Evaluation of the anti-inflammatory activity of the aqueous and ethanolic extracts of the leaves of Albizzia lebbeck in rats. J Traditional. Complementary. Med. 2016;6(2):172-5.