ตะไคร้ต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ตะไคร้ต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะไคร้ต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะไคร้ดอย, สะไค้ (ทั่วไป), จ๊ะไคต้น (ภาคเหนือ), เกล๋อ (ลั๊วะ, ฉือจือ (มูเชอ), กวางจา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea cubeba (Lour.) Pers.
ชื่อสามัญ Pheant pepper tree
วงศ์ LAURACEAE
ถิ่นกำเนิดของตะไคร้ต้น
ตะไคร้ต้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณประเทศจีน ไต้หวัน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมักจะพบตามพื้นที่ป่าที่ระดับความสูง 500-3,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น ในบริเวณป่าโปร่งที่มีความชื้นในดินสูงและแสงแดดปานกลาง สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่พบตามภาคเหนือบริเวณป่าดิบเขาทั่วไปที่ระดับความสูง 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และมีรายงานว่า พบตะไคร้ต้นได้ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย มาเลเซีย ไต้หวัน ที่ระดับความสูง 500-2,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้ต้น
- ช่วยเจริญอาหาร
- บำรุงประสาทและสมอง
- บำรุงสตรีหลังคลอด
- ช่วยลดไข้
- ช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยขับลม
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ท้องเสีย
- ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ
- ช่วยให้ผ่อนคลาย
- ช่วยลดอาการเครียด ทำให้ผ่อนคลาย และสงบ
- ป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ป้องกันโรคหอบหืด
- ป้องกันโรคลมบ้าหมู
- ช่วยลดอาการเกร็งชักของกล้ามเนื้อ
- บรรเทาอาการปวดเมื่อย
- รักษาโรคอุจจาระร่วง
- รักษาโรคบิด
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
- ใช้ถอนพิษ
- รักษาสิว
- ใช้แก้โรคเกี่ยวกับมดลูก
- บรรเทาอาการปวดหลัง
- แก้ปวดตามกระดูก
- แก้ปวดตามข้อ
- ช่วยระงับประสาท
- ช่วยต้านเชื้อโรคต่างๆ
- ช่วยต้านอักเสบ
- ช่วยขยายหลอดเลือด
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
ตะไคร้ต้นถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเทศของชนเผ่าต่างๆ บนที่สูงมาเป็นเวลานานแล้วโดยมีการนำส่วนผลมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร เนื่องจากผลแห้งมีกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้ผสมมะนาว และมีรสเผ็ดซ่าจึงสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ และยังช่วยเพิ่มความหอม รวมถึงยังช่วยปรุงรสให้อร่อยขึ้น
อีกทั้งในปัจจุบันมีการนำราก กิ่งแก่นลำต้น ดอก และผลแห้ง มาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะได้น้ำมันสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาวหรือตะไคร้ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสำหรับแต่งกลิ่นอาหารใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ครีมบำรุงผิว แซมพูสระผม และน้ำหอม เป็นต้นใช้ทานวดเพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้าใช้ฉีดพ่นป้องกัน และไล่ยุง หรือใช้เป็นส่วนผสมของโลชั่น สำหรับทาป้องกันยุง เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตะไคร้ต้น
สำหรับรูปแบบการใช้และขนาดวิธีใช้ตะไคร้ต้นในด้านสมุนไพรตามตำรายาพื้นบ้านนั้น ได้ระบุถึงการใช้โดยหากเป็นการใช้ผลหรือเมล็ด (ทั้งแห้ง และสด) จะเป็นการนำมาปรุงอาหาร หรือใช้ดอกกับน้ำผึ้งป่ากิน หากเป็นการใช้เนื้อไม้ รากกิ่ง จะใช้ต้นกับน้ำดื่ม หรือนำมาต้มอาบ ตามสรรพคุณต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้
ลักษณะทั่วไปของตะไคร้ต้น
ตะไคร้ต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ Litsea cubeba var. cubeba และ Litsea cubeba var. formosana ซึ่งมีลักษณะดังนี้
Litsea cubeba var. cubeba จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน สูง 10-15 เมตร ลำต้นตอนยังอ่อนมีเปลือกสีเขียวแต่เมื่อต้นแก่จะมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวกิ่งย่อยเรียบ ใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับ (alternate) ก้านใบเรียบ รูปร่างใบเป็นแบบ elliptic , oblong หรือ lanceolate ฐานใบเป็นแบบ cuneate ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ผิวใบทั้งสองด้านเรียบ ดอกออกเป็นช่อ บริเวณซอกใบและปลายยอด เป็นแบบแยกเพศและแยกต้น (dioecious) มีช่อดอกแบบ umbelliform raceme ดอกไม่มีขนและมี 4-6 ดอกย่อยต่อช่อดอก ส่วนผลเป็นแบบ berry ผลดิบสีเขียว ผลสุกมีสีดำ มีต่อมน้ำมันจำนวนมากในชั้น mesocarp มีเมล็ด 1 เมล็ดต่อผล
ส่วนสายพันธุ์ Litsea cubeba var.formosana จัดเป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อน ขนาดเล็กสูง 2-5 เมตร ผลัดใบ ลำต้น เมื่อยังอ่อนมีเปลือกสีเขียว แต่เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลปนเหลือง บริเวณผิวกิ่งย่อย ตา และผิวใบด้านบนมีขนอ่อนนุ่มขนาดเล็กปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ (alternate) รูปร่างเป็นแบบ ovale ฐานใบเป็นแบบ cuneate ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ผิวใบด้านล่างมีขนอ่อนนุ่มขนาดเล็กปกคลุมจำนวนมาก ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบและปลายยอดเป็นแบบแยกเพศและแยกต้น (dioecious) มีช่อดอกเป็นแบบ umbelliform raceme มีดอกย่อย 4-6 ดอกต่อช่อ ผลเป็นแบบ berry พบดิบสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีดำ พบต่อมน้ำมันจำนวนมากในชั้น mesocarp มีเมล็ด 1 เมล็ดต่อผล
การขยายพันธุ์ตะไคร้ต้น
ตะไคร้ต้นสามารถขยายพันธุ์ได้ ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ส่วนมากจะนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าแล้วจึงนำไปปลูก เพราะเป็นวิธีที่ง่าย และสะดวกกว่าวิธีอื่น โดยหลังจากการเพาะ เมล็ดจะงอก ประมาณ 30-60 วัน จากนั้น และดูแลจนกว่าต้นกล้าจะอายุ 6-8 เดือน ซึ่งนำลงปลูกในแปลง หรือ ตามที่ที่ต้องการต่อไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของตะไคร้ต้นพบว่า มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ ส่วนผลพบสาร coumarin, camphor, cineole, liralool, murcenol, β-pinene และ eugenol และในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากส่วนผล จะได้น้ำมันสีเหลืองมีกลิ่นคล้ายตะไคร้ มีองค์ประกอบทางเคมีหลักได้แก่ geranial, cis-citral และ limonene ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบของตะไคร้ต้น พบสารประเภท terpene เช่น α-thujene, myrcene, α-pinene, β-pinene, β-phellandrene, sabinene, γ-terpinene, trans-sabinene hydrate และ cis-sabinene hydrate นอกจากนี้ยังมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มี oxide เป็นองค์ประกอบ เช่น 1,8-cineole, α-terpineol และ terpinen-4-ol
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะไคร้ต้น
มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตะไคร้ต้น ระบุถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้นเอาไว้ว่า องค์ประกอบทางเคมีที่มีผลต่อการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากตะไคร้ต้น คือ citral, limonene, α-terpinene, α-terpinolene, citonellal, linalool, 1,8-cineole, sabinene และ geraniol และมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่าสารสกัดเมธานอล คลอโรฟอร์ม บิวทานอล์ และน้ำ ของส่วนเปลือกต้น (bark) ของตะไคร้ต้น มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูงใกล้เคียง หรือ มากกว่าคุณสมบัติดังกล่าวใน α-tocopherol และ ascorbic acid เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, peroxidase guaiacol assay และ TBA method นอกจากนี้ยับพบว่าไม่มีความเป็นพิษ (cytotoxic) ต่อเซลล์เนื้อเยื่อของสัตว์ทดลอง และยังมีผลในการลดปริมาณของสารที่มีคุณสมบัติชักนำให้เกิดอาการอักเสบ (inflammatory mediator) ได้แก่ NO, PGE2 และ ROS ซึ่งผลิตโดย macrophage ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสารก่ออาการแพ้ โดยสารสกัดที่ให้ผลการทดลองดีที่สุดคือสารสกัดเมธานอล
อีกทั้งยังมีการทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้นมาใช้ไล่ยุงโดยนำมาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ในความเข้มข้น 15 % พบว่าสามารถให้ผลในการไล่ยุง Cx. Quinquefasciatus ได้ 48.1- 76.2 % ขณะที่ให้ผลในการไล่ยุง Ae. Aegypti ได้ 20.5- 28.9 % ซึ่งให้ผลดีพอๆ กับน้ำมันตะไคร้หอม แต่เป็นที่พึงพอใจมากกว่าเนื่องจากกลิ่นที่ดีกว่า จึงมีการศึกษาวิจัยต่อโดยทีมวิจัย ได้เลือกน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 5 %, 10 % และ 1 5 % มาเตรียมผลิตภัณฑ์ 4 รูปแบบ ได้แก่ ครีม โลชัน เจล และสเปรย์ และจากการศึกษาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงทั้ง 4 ชนิด พบว่า ผลิตภัณฑ์เจล 15 % สเปรย์ 10 % และเจล 10 % มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดดีที่สุด และมีความแตกต่างทางสถิติกับทุกผลิตภัณฑ์ ( p > 0.05) โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัด ดังนี้ 5.87 ± 0.47 ชั่วโมง, 5.37 ± 0.72 ชั่วโมง และ 4.62 ± 0.87 ชั่วโมง ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอื่นๆ พบว่าน้ำมันตะไคร้ต้นยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ช่วยลดจุดด่างดำบนใบหน้า ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว และยังมีฤทธิ์ในการควบคุมความมันบนใบหน้าซึ่งจะช่วยลดอาการเกิดสิวได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรา Malassezia furfur สาเหตุรังแคอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะไคร้ต้น
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ตะไคร้ต้นเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกทั้งเด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ตะไคร้ต้นเป็นสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยรวมถึงขนาดและปริมาณในการใช้ที่ปลอดภัย
เอกสารอ้างอิง ตะไคร้ต้น
- ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล.2541.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขม ชาวลัวะ และชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่าน.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ 242 น.
- ชูศรี ไตรสนธิ และ ปริทรรศน์ ไตรสนธิ,2543.หน้า 161-168.รายงานการประชุมวิชาการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง.พืชอาหาร และสมุนไพรบนดอยอ่างขาง.พิมพ์ครั้งที่ 1. ฝ่ายวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง.เชียงใหม่.
- สำนักวิชาการป่าไม้ 2531.คุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ต้น กรมป่าไม้ 21 หน้า
- เยาวนิต พลพิมพ์.2539.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวเขาเผ่าต่างๆ ในเขตศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย และหนองเขียว, จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ 258.น.
- ปิยาภัทร ไตรสนธิ.ผลของความสูงพื้นที่และสายพันธุ์ต่อกิจกรรมในการต้านอนุมูลอิสระของตะไคร้ต้น.วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัยหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชสวน มหาวิทยาเชียงใหม่. สิงหาคม 2550. 139 หน้า
- พฤษภา ภู่ปาน.2546.การเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาค และนิเวศวิทยาของตะไคร้ต้น (Litsea cubeba Pers.) จากแหล่งต่างๆ ในจังหวัดน่านและจังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,เชียงใหม่.134 หน้า.
- สสี ปันยารชุน และปราณี นันทศรี.2524.น้ำมันหอมระเหยจาก Litsea cubeba Pers.ในประเทศไทย.วารสารเภสัชศาสตร์ 8(3):65.70.
- สุพรรณ สารภี, พิทยา สงบศิริ.การขยายพันธุ์ตะไคร้ต้นในสภาพปลอดเชื้อ:ผลของความชื้นและวัสดุปลูกต่อการรอดตายของต้นกล้า.วารสารเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีที่ 17 ฉบับที่ 2.พฤษภาคม 2544.หน้า 92-99.
- มทินา แก้วกันใจ, 2547,การศึกษาปริมาณและองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ต้น (Litsea cubeba Pers. Var.cubeba). ปัญหาพิเศษ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.28หน้า.
- เบญจวรรณ ซื่อสัตย์. 2542.น้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรที่ปลูกในภาคเหนือของไทย.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,เชียงใหม่,49น.
- ตะไคร้ต้น ประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้ต้น.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Hwang,J.K., E.M. Choi and J.H. Lee. 2005. Antioxidant activity of Litsea cubeba, Fitoterapia 76:684-686,
- Choi, E.M. and J.K. Hwang, 2004. Effect of methanolic extract and fractions from Litsea cubeba bark on the prodyction of inflammatory mediators in RAW264.7 cells. Fitoterapia 75:141-148.