ขลู่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ขลู่ งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขลู่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขลู่ (ทั่วไป), พื้นฟาน (ภาคอีสาน), ขลู, คลู (ภาคใต้), ขี้ป่าน (แม่ฮ่องสอน), หนาดงัว, หนาดวัว, หนวดงิ้ว, หนวดงั่ว (อุดรธานี), หลานซี (จีนกลาง), หล่วงไข่ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ 
Pluchea indica (L.) Less. 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pluchea foliolosa DC., corymbosa Roxb., Conyza indica Mig., Baccharis indica Linn.
ชื่อสามัญ Indian marsh fleabane
วงศ์ COMPOSITAE

ถิ่นกำเนิดขลู่

ขลู่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมักพบได้ตามป่าชายเลนของประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, อินเดีย, จีน, ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย สำหรับในประเทศพบขลู่ ได้มากตามป่าชายเลนของจังหวัดสมุทรสงคราม, เพชรบุรี, จันทบุรี, ระยอง และยังมีการนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ในจังหวัดนครราชสีมา และอุดรธานี อีกด้วย 


ประโยชน์และสรรพคุณขลู่

  1. เป็นยาขับปัสสาวะ
  2. แก้เบาหวาน
  3. ช่วยขับนิ่ว
  4. แก้กษัย
  5. ยาอายุวัฒนะ
  6. สมานแผลภายนอก และภายใน
  7. แก้ไข้
  8. ช่วยขับเหงื่อ
  9. บรรเทาอาการปวดเมื่อย
  10. แก้ผื่นคัน
  11. บำรุงประสาท
  12. เป็นยาบีบมดลูก
  13. บรรเทาอาการปวดข้อในโรคไขข้ออักเสบ
  14. รักษาประดง เลือดลม
  15. ทาหลังบริเวณเหนือไต
  16. บรรเทาอาการปวดเอว
  17. รักษาหิด ขี้เรื้อน
  18. แก้โพรงจมูกอับเสบ (ไซนัส)
  19. ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา
  20. แก้นิ่วในไต
  21. ช่วยขับปัสสาวะ
  22. รักษาวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง
  23. แก้ริดสีดวงจมูก
  24. แก้ริดสีดวงทวาร
  25. บำรุงผิวพรรณช่วยทำให้ผิวนุ่ม
  26. ช่วยลดความดันโลหิต
  27. ช่วยขับลม
  28. แก้โรคเลือด
  29. แก้มุตกิดระดูขาวในสตรี


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา ใช้ทั้งต้นขลู่ 1 กำมือ (สดหนัก 40- 50 กรัม แห้งหนัก 15- 20 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือ นำ
ใบขลู่แห้ง 5 กรัม ชงในน้ำเดือด 100 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเพื่อช่วยขับปัสสาวะ
           เป็นยาริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำ เอาไอรมทวารหนัก และรับประทาน แก้โรคริดสีดวงทวาร หรือ ใช้เปลือกต้น (ขูดเอาขนออก) แบ่งเป็น 3 ส่วน

                 ส่วนที่ 1 นำมาตากแห้งทำเป็นยาสูบ
                 ส่วนที่ 2  นำมาต้มน้ำรับประทาน
                 ส่วนที่ 3 ต้มน้ำเอาไปรมทวารหนัก

           เปลือกบางของต้นขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง คล้ายเส้นยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูก

           ใบแก่ขลู่ ที่ทำให้แห้งใช้ชงดื่มแทนน้ำเป็นชา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน ขับลม, แก้โรคเลือด, แก้มุตกิดระดูขาวในสตรี. แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ใบและต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาหิด และขี้เรื้อน รักษาประคบ ช่วยแก้ผื่นคัน

           อีกตำราหนึ่งระบุขนาดการใช้ตามสรรพคุณต่างๆ ของขลู่ว่า ยาแห้งให้ใช้ประมาณ 15-20 กรัม หากเป็นต้นสดให้ใช้ประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือ จะใช้ร่วมกับตัวยาหรือ สมุนไพรอื่นๆ ในตำรับยาต่างๆ


ลักษณะทั่วไปของขลู่

ขลู่ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นกลมสีน้ำตาลแดง หรือ เขียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดปกคลุม ใบเดี่ยว ออกแบบสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมน ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือ ตามซอกใบ รูปกลม หลายๆ ช่อมารวมกัน ดอกเป็นฝอยสีขาวนวล หรือ สีขาวอมม่วง กลีบดอกแบ่งออกเป็นวงนอกกับวงใน กลีบดอกวงนอกสั้นกว่าวงใน กลีบดอกวงในเป็นรูปท่อ ดอกวงนอกกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ดอกวงในกลีบดอกจะเป็นรูปท่อมีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟัน ประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก อับเรณูตรงโคนเป็นรูปหัวลูกศรสั้นๆ เกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉกสั้นๆ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ไม่มีก้านดอกย่อย ริ้วประดับมีลักษณะแข็ง สีเขียว และเรียงกันประมาณ 6-7 วง วงนอกเป็นรูปไข่ วงในคล้ายรูปหอกแคบ ปลายแหลม ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก รูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลเป็นสัน มีขนาดเล็กมาก มีเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม ซึ่งเป็นการขยายพันทางธรรมชาติ

ต้นขลู่

ขลู่

การขยายพันธุ์ขลู่

ขลู่เป็นพืชที่ชอบดินเค็มที่มีน้ำขังดังนั้นจึงสามารถเจริญเติบโตได้ ตามที่ที่มีน้ำขังแฉะ หนองน้ำ ที่ลุ่มป่าชายเลน ดินมีความชุ่มชื้น น้ำขังแฉะ และยังสามารถปลูกได้ทุกฤดู โดยเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี
           ขลู่ สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การปลูกโดยใช้เมล็ด และปักชำลำต้น สำหรับการปลูกด้วยเมล็ดให้ปลูกลงในแปลงดินที่เตรียมไว้ โดยนำเมล็ดใส่ลงในลงหลุมปลูก พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 2×2 ม. ส่วนวิธีการปักชำ สามารถทำได้ด้วยการตัดลำต้นชำลงดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งสามารถปลูกขึ้นได้ง่าย และไม่ต้องการการดูแลรักษาแต่อย่างใด


องค์ประกอบทางเคมี

ในใบขลู่ มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ ใบขลู่ 100 กรัม มีกรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic acid) 20 มิลลิกรัม กรดคาเฟอิก (Caffeic acid) 8.65 มิลลิกรัม และเคอร์ซิติน (querce) 5.21 มิลลิกรัม สาร 3-(2,3-diacetoxy-2-methyl butyryl) catechin, stigmasterol, stigmasterol glucoside และยังพบสารอนุพันธ์ของ eudesmane กลุ่ม cauhtemone และพบเกลือแร่ sodium chloride 

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของขลู่
โครงสร้างขลู่ 

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ยอดและใบอ่อนของขลู่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อนลู่( 100 กรัม )

  • พลังงาน                                   42      แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต                         9.4      กรัม
  • โปรตีน                                     1.8      กรัม
  • ไขมัน                                       0.5      กรัม
  • น้ำ                                            86.0    กรัม
  • ใยอาหารแบบละลายน้ำ           0.5      กรัม
  • ใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำ      0.9      กรัม
  • วิตามินเอ                                3,983  หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1                               0.02    มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                                30       มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม                         256     มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                               5.6      มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส                        49       มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน                       1.2       มิลลิกรัม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขลู่

ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่าสามารถใช้ใบขลู่เป็นยาขับปัสสาวะ โดยมีการใช้ชาชงจากใบขลู่ ความเข้มข้น 5% และ 10 % ทดสอบในอาสาสมัครสุขภาพดี มีผลในการเพิ่มปริมาณปัสสาวะ โดยไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันเมื่อรับประทาน และการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นนิ่ว จำนวน 5 คน ให้รับประทาน สารสกัดจากขลู่ 12 แคปซูล (1 แคปซูล เทียบเท่าขลู่สด 1.2 กรัม) เมื่อวัดปริมาตรปัสสาวะหลังรับประทานแคปซูล 6 ชั่วโมง พบอาสาสมัคร 3 คน มีปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนอีก 2 ราย ผลไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามยังไม่พบรายงานการทดสอบความเป็นพิษเมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบจากใบขลู่ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของใบขลู่ (Pluchea indica (L.) Less.) ใน murine macrophage cell line RAW 264.7 และหนูแรทพบว่าเซลล์ RAW 264.7 ที่ได้รับส่วนสกัดเอทิลอะซิเตตที่แยกจากสารสกัดเอทานอล (EFPI) ขนาด 12.5-50 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) และ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เพิ่มขึ้นด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) และลดการสร้าง inducible nitric oxide synthase (iNOS) ทั้งในส่วนของ mRNA และปริมาณของ protein ผ่านการยับยั้ง iNOS promoter และการผ่านเข้านิวเคลียสของ subunit p65 ของ nuclear factor-κB แต่ไม่มีผลในการยับยั้งกระบวนการ phosphorylation ของ mitogen-activated protein kinases (MAPKs) โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ นอกจากนี้ยังพบว่าการทา EFPI ขนาด 3 มก./หู ที่บริเวณหูหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร ethyl phenylpropiolate และการป้อนหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าเกิดการอักเสบด้วยการฉีดสาร carrageenan ด้วย EFPI ในขนาด 150-600 มก./กก. ก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่หนูได้รับ 

           ฤทธิ์ยับยั้งจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยโดยได้ทำการสกัด และประเมินสารประกอบที่พบในขลู่ และความแรงในการต้านเชื้อจุลชีพพบว่า ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (minimum inhibitory concentration: MIC) ของสารสกัดขลู่ต่อเชื้อ Staphylococcus aureus ML 11, S. aureus ML 358, S. aureus NCTC 6571, S. aureus 8530, Salmonella trphi 59, S. typhimurium NCTC 74, Shigella boydii 8 NCTC 254/66, S. dysenteriae 7 NCTC 519/66, Vibrio cholerae 214, Vibrio cholerae 14033, Bacillus lichenniformis, Escherichia coli ATCC 25938, Klebsiella pneumoniae 725, K. pneumoniae 10031 และ Pseudomonas aeruginosa 71 คือ 1500, 2000, > 2000, 1000, 1500, 1500, 1500, 1500, 1000, 1500, > 2000, 1500, > 2000, 2000 และ 2000 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และสาร R/J/3 (2-(prop-1-ynyl)-5(5,6-dihydroxyhexa-1,3-diynl)-thiophene) ที่แยกได้จากสารสกัดด้วยเมทานอลจากรากขลู่ (Pluchea indica) ที่ความเข้มข้น 50 มคก./มล. สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อปรสิต Entamoeba histolytica ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หลังจากเชื้อปรสิตสัมผัสกับสาร R/J/3 นาน 2 ชั่วโมง จะเกิดแกรนูลในเซลล์ปรสิตระยะ tropozoites ตามมาด้วยการแตกของเซลล์ และเซลล์จะแตกเกือบหมดในเวลา 4 ชั่วโมง ในขณะที่ยา metronidazole จะออกฤทธิ์ดีกว่า โดยทำให้เซลล์แตกเกือบหมดในเวลา 2 ชั่วโมง  และยังมีการศึกษาพบว่า สำหรับสารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเมทานอลเข้มข้น 80% เป็นเวลา 7-14 วัน พบว่ามีฤทธิ์ต้านโรควัณโรค

           ฤทธิ์การปกป้องตับ มีการศึกษาวิจัยโดยได้ทำการศึกษาฤทธิ์การปกป้องตับของสารสกัดจากขลู่ ในหนูที่ตับบาดเจ็บเฉียบพลัน (acute liver damage) จากการเหนี่ยวนำของสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (carbontetrachloride:CCl4)พบว่าสามารถลดระดับเอนไซม์ aspartate amino tranferase (AST), alanine aminotranferase (ALT), lactate dehydrogenase (LDH), serum alkaline phosphatase (ALP) และ bilirubin ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สารสกัดจากขลู่ สามารถลดระยะเวลาการนอนหลับของหนูที่ได้รับ pentobarbitone ได้อย่างมีนัยสำคัญ และลด plasma prothrombin time ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ CCl

          ฤทธิ์ต่อระบบประสาท ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากรากขลู่ (Pluchea indica Less root extract: PI-E) ต่อระบบประสาทในหนู พบว่าหนูที่ได้รับ PI-E ขนาด 50-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้โดยการกิน มีการทำงานของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนที่ (locomotor) ทำงานเพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาการนอนหลับของหนูที่ได้รับ pentobarbital ให้สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ และขึ้นกับขนาดที่ได้รับ (dose dependent)

            นอกจากนี้พบว่า ฤทธิ์ของ PI-E ที่ให้ในหนูที่ได้รับ pentobarbital จะลดลงเมื่อได้รับ flumazenil (1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้ทางหลอดเลือดดำ) อย่างมีนัยสำคัญ และ PI-E (50-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และdiazepam (0.5-5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สามารถลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ตามขนาดที่ได้รับ (dose dependent) โดยกลไกการออกฤทธิ์ของ PI-E เกี่ยวข้องกับระบบ GABA system ในสมอง แต่อย่างไรก็ตาม PI-E ไม่มีฤทธิ์ระงับการชักที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ pentyleneterazole

            ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดรากขลู่ การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในพลาสมาของสารสกัดเมธานอลจากรากขลู่ในหนูขาวปกติ และหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน โดยวิธี glucose tolerance test พบว่าสารสกัดขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในพลาสมาของหนูปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่เวลา 90 นาที หลังการป้อนน้ำตาล หรือ 120 นาที หลังการป้อนสารสกัด ส่วนในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin สารสกัดรากขลู่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดในพลาสมาได้ สรุปได้ว่าสารสกัดเมธานอลจากรากขลู่มีฤทธิ์อ่อนในการลดน้ำตาลในพลาสมาในหนูปกติ และไม่มีฤทธิ์ในหนูเบาหวานหลังการป้อนสารสกัดทางปากเพียงครั้งเดียวและเมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานของวิจัย 2 ฉบับ เกี่ยวกับน้ำต้มใบขลู่ที่น่าสนใจมากเป็นการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญขอบเซลล์มะเร็งของสารสกัดที่ได้จากการต้มผงใบขลู่ ในน้ำร้อน (75-90°) แล้วทำให้ส่วนสกัดแห้งด้วยวิธีระเหิดเป็นไอ (freeze dry) พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเตอบโตของเซลล์มะเร็งสมอง และเซลล์มะเร็งปากมดลูกในจานเพาะเลี้ยงเซลล์เมื่อใช้ที่ระดับความเข้มข้น 100-300 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ทั้งนี้ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งคาดว่ามาจากสารกลุ่มฟีโนลิก และฟลาโวนอยด์ที่พบในใบขลู่ เพราะรายงานศึกษาด้านเภสัชวิทยาในอดีต แสดงให้เห็นว่ากรดคลอโรจีนิกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ และตับในสัตว์ทดลองได้ดี ส่วนกรดคาเฟอิกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งปากมดลูกในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ทดลอง


การศึกษาทางพิษวิทยาของขลู่

มีรายงานผลการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากแคลลัสของใบขลู่ ที่ได้จากเลี้ยงในอาหารแข็งด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture) ด้วยเมทานอล ในหนูขาวใหญ่ มีค่า LD50 เท่ากับ 2.825 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัมน้ำหนักตัวหนูทดลอง และเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกจากค่า LD50 หรือ ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายลงครึ่งหนึ่งของจำนวนเริ่มต้น พบว่า จัดอยู่ในระดับอันตรายน้อย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การบริโภคใบขลู่สด หรือ ดื่มชาขลู่ในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายได้เช่นกัน หลักการดื่มชาขลู่เพื่อเสริมสร้างสุขภาพก็คล้ายกับการดื่มชาจีน ชาเขียว และชาสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสมควรต่อวัน (1-2 แก้วต่อวัน) ดื่มระหว่างมื้ออาหาร และไม่ดื่มชาที่เหลือค้างคืน
  2. สำหรับปริมาณการซื้อชะพลู ในแต่ละครั้งควรซื้อในปริมาณที่สามารถบริโภคหมดภายในสี่เดือนเพราะสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเสื่อมสลายได้ตามระยะเวลาการเก็บ สังเกตได้จากสีของชาขลู่จะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลือง
  3. การเตรียมชาขลู่ จากใบชาขลู่สด หรือ แห้งควรเป็นการต้มในน้ำใกล้เดือดและต้มนานอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สามารถสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพให้ได้มากเพียงพอ
  4. ควรเก็บชาขลู่ในภาชนะทึบแสงและปิดสนิทเพื่อกันการสลายตัวของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเนื่องจากแสงและกันการได้รับความชื้นซึ่งอาจทำให้มีการเจริญของเชื้อรา
  5. ใบของต้นขลู่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนอาจมีปริมาณโซเดียมสูงมากเนื่องมาจากต้นขลู่ ได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่มาจากความเค็มของดินดังนั้นผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจไม่ควรรับประทานใบขลู่ในปริมาณมาก

เอกสารอ้างอิง ขลู่
  1. ผศ.อรสา สุริยาพันธุ์. ใบขลู่. คุณค่าทางโภชนาการ ฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์.  หน้า 120. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ขลู่”. 
  3. สำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. พืชในป่าชายเลนของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1.นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2552.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หน้า 93-94.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขลู่”. 
  5. ฤทธิ์ต้านการอักเสบจากใบขลู่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. กลุ่มวิเคราะห์อาหารและโภชนาการ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.พิมพ์ครั้งที่ 1.นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2544.
  7. ฤทธิ์ต้านเชื้อ Entamocba histolytica ของขลู่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หน้า 59. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขลู่ (Khlu)”. 
  9. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดรากขลู่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  10. ขลู่. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=35
  11. ใบขลู่. กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.wedplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5868
  12. ขลู่.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant.data/herbs/herbs_17.htm
  13. สมุนไพรขับปัสสาวะ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จก http://www.med.plant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6122
  14. ขลู่. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid=24
  15. Ahem SA, Kamel EM. Phenolic constituents and biological activity of the genus pluchea. Der Pharma Chemica [Internet] 2013 [cited 2014 Sep 17];5(5):109-114. Available from: http://derpharmachemica.com/vol5-iss5/DPC-2013-5-5-109-114.pdf
  16. Pramanik CH, Biswas R, Mitra A, Bandyopadhyay D, Mishra M, Chatterjee TK. Tissue culture of the plant Pluchea indica (L.) Less. and evaluation of diuretic potential of its leaves. Orient Pharm Exp Med 2007;7(2):197-204.
  17. Mohamad S, Zin NM, Wahab HA, Ibrahim P, Sulaiman SF, Zuhariluddin ASM,et al. Antituberculosis potential of some ethanobotanically selected Malaysian plants. J. Enthamopharmacol 2011;133:1021-1026. doi:10.1016/j.jep.2010.11.037.
  18. Ye JC, Hsiao MW, Hsieh CH, Wu WC, Hung YC, Chang WC. Analysis of caffeic acid extraction from Ocimum gratissimum Linn. by High performance liquid chromatography and its effects on a cervical cancer cell line. Taiwan J Obstet Gynecol 2010;49(3):266-271.
  19. Shannon MC, Grieve CM. Tolerance of vegetable crop to salinity. Sci Hort 1999;78:5-38. doi: 10.1016/S0304-4238(98)00189-7.
  20. U.S. Department of Agriculture: Handbooks 8-1 to 8-21: Composition of food raw, processed, prepared. Washington, DC. 1972-1991. U.S. Government Printing Office.
  21. Mori H, Tanaka T, Shima H, Kuniyasu T, Takahashi. Inhibitory effect of chlorogenic acid on methylazoxymethanol acetate-induced carcinogenesis in large intestine and liver of hamsters. Cancer Lett 1986;30:49-54
  22. Andarwulan N, Kurniasih D, Apriady RA, Rahmat H, Roto AV, Bolling BW. Polyphenols, carotenoids and ascorbic acid in underutilized medicinal vegetables. J Funct Foods 2012;4:339-347. doi:10.1016/j.jff.2012.01.003.