ต้นนมวัว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ต้นนมวัว งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ต้นนมวัว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะไฟแรด, เคาะหนาม, ขี้หนอน (ภาคเหนือ), เหมือดคน (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scleropyrum pentandrum (Dennst.) Mabb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bridelia horrida Dillwyn, Scleropyrum wallichianum Arn., Antidesma parasiticum Dillwyn, Pothos pentandrus Dennst.
วงศ์ Santalaceae
ถิ่นกำเนิดต้นนมวัว
ต้นนมวัว เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตั้งแต่จีนตอนใต้ (มลฑลกวางสี และยูนาน) อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินีตะวันตก โดยในประเทศไทยจะพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะพบได้ในบริเวณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 500-1600 เมตร เช่นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ รวมถึงบริเวณชายหาดทั่วไปด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณต้นนมวัว
- ใช้เป็นยาบำรุงน้ำนม
- ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วในสตรีหลังคลอด
- เป็นยาบำรุงร่างกายหลังเจ็บป่วย
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- แก้ท้องบวม
- แก้กษัย
- แก้ปวดเมื่อยตามตัว
- แก้ปัสสาวะขุ่นข้น
- ช่วยรักษาฝีในท้อง
- แก้ไข้
- ช่วยถอนพิษสำแดง
- ช่วยรักษาไข้ที่ไม่มีเหงื่อออก
- แก้ลมบ้าหมู
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้งูกัด
- กินรักษาโรคตา
- แก้ปวดกระเพาะอาหาร
- แก้แผลอักเสบ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงน้ำนม ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้แก่นต้นนมวัว มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยฟื้นไข้ แก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้กษัย แก้ท้องบวม ปัสสาวะขุ่นข้น แก้ไข้ รักษาฝีในท้อง ถอนพิษสำแดง โดยใช้แก่ต้นนำมาต้มกับตาไก้ ข้างน้าว และตานกกด แล้วใช้ดื่ม ใช้แก้ลมบ้าหมู แก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง โดยใช้ลำต้นต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้ต้มร่วมกับรากน้ำนมราชสีห์ ใหญ่ ช่วยบำรุงน้ำนม ใช้แก้ไข้ แก้ผิดสำแดง ใช้รากต้นนมวัว ต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้รากผสมกับแก่นจันทน์แดง ต้มน้ำดื่มก็ได้
ลักษณะทั่วไปต้นนมวัว
ต้นนมวัว จัดเป็น ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก 2-5 เมตร แต่ก็สามารถสูงได้ถึง 7 เมตร ลำต้น และกิ่งก้าน เมื่อยังอ่อนมีสีเขียว มีขนนุ่ม และยังมีหนามแหลมแข็ง ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มๆ กระจายทั่วลำต้น ส่วนลำต้นเมื่อแก่จะแตกเป็นร่องลึก เปลือกลำต้น และเปลือกในจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ใบเป็นเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ลักษณะรูปรีแกมรูปไข่ หรือ รูปขอบขนานกว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 18 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ใบแก่แผ่นใบหนา หลังใบเรียบ เป็นมัน ท้องใบผิวเกือบเกลี้ยง ที่เส้นกลางใบมีร่องเล็กตามยาว ก้านใบมีขนนุ่ม ดอกออกจากลำต้น และซอกใบออกเป็นช่อเชิงลด มีช่อดอกอัดแน่นรูปทรงกระบอก ช่อดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ร่วมต้น ดอกขนาดเล็ก สีเขียวแกมเหลือง มีกลีบรวม5 กลีบ ซ้อนเหลื่อมกัน ช่อดอกเพศผู้เป็นแบบช่อหางกระรอกออกรวมกันเป็นกลุ่ม มีกลิ่นเหม็น มีก้านดอกย่อยสั้น ส่วนดอกเพศเมีย มีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ เป็นแบบช่อกระจะ รังไข่อยู่ต่ำกว่าวงกลีบ ไม่มีก้านดอก ผลเป็นแบบผลส ทรงลูกแพร์ หรือ รูปไข่ ปลายผลเป็นตุ่มแหลมมี ขนาด 1.3-2.6 เซนติเมตร เมล็ดรูปทรงกลมแข็งมี 1-3 เมล็ดต่อผล
การขยายพันธุ์ต้นนมวัว
ต้นนมวัวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของต้นนมวัว นั้นจะเป็นการขยายพันธุ์โดยอาศัยเมล็ดร่วงหล่นแล้วเกิดต้นขึ้นมาใหม่ ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาปลูกโดยมนุษย์ เพราะต้นนมวัวยังไม่มีการนิยมนำมาใช้ประโยชน์มากเหมือนในอดีต จึงทำให้การใช้ประโยชน์ในปัจจุบันจะเป็นการเก็บส่วนต่างๆ ของต้นนมวัวที่ขึ้นเองในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์มากกว่าการปลูกใช้เอง แต่หากต้องการจะปลูกต้นนมวัว ไว้ใช้ประโยชน์เอง ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นอื่นๆ ให้ได้ต้นกล้าแล้วจึงนำไปปลูกตามปกติ
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจาก ใบ และกิ่ง ของต้นนมวัว พบว่าสามารถตรวจพบสารสำคัญหลายชนิด เช่น isoorientin, potalioside B, vicenin-2, vitexin, isoschaftoside, apigenin.
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของต้นนมวัว
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการทดสอบ และศึกษาวิจัย ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดจากเปลือกผลต้นนมวัว ด้วย น้ำ เอทานอล และอะซิโตน มีฤทธิ์ยับยั้ง angiotensin converting enzyme (ACE) ที่ระดับ 61%, 68% และ 73% ตามลำดับ ซึ่งมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง
การศึกษาทางพิษวิทยาของต้นนมวัว
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ต้นนมวัว เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ต้นนมวัวเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ต้นนมวัว
- สุภาภรณ์.ปิติพร.บันทึกของแผ่นดิน 4 สมุนไพรยากำลัง. พิมพ์ครั้งที่ 2. ปรมัตถ์การพิมพ์:กรุงเทพมหานคร, 2554.
- ผศ.ดร.สุดารัตน์ หอมหวล. สมุนไพรน่ารู้จัก ”นมทั้งห้า”บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอด” คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- สำนักโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษ กรมป่าไม้.พืชสมุนไพรบำรุงสุขภาพแม่ และเด็ก โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. กรุงเทพมหานคร.2555.
- นมวัว.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=231
- Santisuk, T. & Larsen, K. (eds.) (2005). Flora of Thailand 9(1): 1-89. The Forest Herbarium, Royal Forest Department.
- Toyama, H. & al. (2013). Inventory of the woody flora in Permanent plats of Kampong Thom and Kompong Chhnang provinces, Cambodia Acta Phytotaxonomica et Geobotanica 64: 45-105.
- Wu, Z. & Raven, P.H. (eds.) (2003). Flora of China 5: 1-505. Science Press (Beijing) & Missouri Botanical Garden Press (St. Louis).
- Turner, I.M. (1995 publ. 1997). A catalogue of the Vascular Plants of Malaya Gardens' Bulletin Singapore 47(2): 347-655.