พันงูน้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พันงูน้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พันงูน้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พันงูเล็ก, หญ้าพันงูเล็ก, หญ้าพันงูน้อย, ควยงูเล็ก (ทั่วไป), ห่วยหงูฉิก, หงู่ฉิก, หนิวซี่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Achyranthes bidentata Blume
ชื่อสามัญ Oxknee
วงศ์ Amaranthaceae
ถิ่นกำเนิดพันงูน้อย
พันงูน้อย เป็นพืชในวงศ์บานไม่รู้โรย (Amaranthaceae) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเอเชียเขตร้อน และเขตอบอุ่น โดยมีการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้าง อาทิเช่น ในอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบพันงูน้อย ได้ตามที่รกร้างว่างเปล่า สองข้างถนนบริเวณชายป่า ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณพันงูน้อย
- ใช้บำรุงตับ
- ใช้บำรุงไต
- แก้ปวด
- ช่วยลดอาการบวม
- ช่วยบำรุงสตรี
- ช่วยขับเลือดลม
- แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับประจำเดือน
- ช่วยลดการมีเลือดคั่งในมดลูก
- แก้ปวดฟัน
- ใช้ขับปัสสาวะ
- ใช้รักษาการถูกหากกัด เพื่อให้เลือดหยุดไหล และรักษาอาการปวดบวม
- แก้เจ็บคอ
- แก้คอบวม
- แก้คอตีบ
- แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้อาการปวดตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว
- แก้มือเท้าเป็นเหน็บชา
- แก้อาการปวดท้องน้อยหลังการคลอดบุตรของสตรี
- ช่วยลดความดันโลหิต
- แก้ฝีบวม
- แก้อาการฟกช้ำ
- รักษาโรคกระดูกพรุน
- รักษาโรคข้ออักเสบ
พันงูน้อย ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการรักษาโรคต่างๆ โดยจัดเป็นยาสมุนไพรในหลายๆ ประเทศอาทิ เช่น ในประเทศจีนใช้ ในเนปาล และในอินเดีย นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการนำพันงูน้อย มาใช้เพื่อรักษาโรคต่างๆ อีกเช่น โรคกระดูกพรุน และโรคข้ออักเสบอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงตับ ไต ช่วยกระจายโลหิต ลดความดันโลหิต แก้ปวดท้องน้อยในสตรีหลังคลอด ขับปัสสาวะเป็นเลือด แก้เจ็บคอ คอบวม แก้เหน็บชา โดยนำรากพันงูน้อย 10-20 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการปวดขา ปวดหัวเข่า โดยนำพันงูน้อยทั้งต้น 20 กรัม หลักหัง 12 กรัม มะละกอจีน 12 กรัม นำมาทำยาลูกกลอนรับประทาน ใช้แก้อาการปวดหลังปวดเอว ปวดตามร่างกายโดยใช้รากพันงูน้อย หรือ รากพันงูขาว กับรากพันงูแดง และรากเดือยหิน มาต้มกับน้ำดื่ม
พันงูน้อย ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการรักษาโรคต่างๆ โดยจัดเป็นยาสมุนไพรในหลายๆ ประเทศอาทิ เช่น ในประเทศจีนใช้รากทำยาบำรุงตับ และไต แก้ปวด ลดอาการบวม ส่วนต่างสดใช้เป็นยาบำรุงสตรีช่วยขับเลือดลม แก้อาการ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับประจำเดือน ลดการมีเลือดคั่งในมดลูก สำหรับในเนปาลใช้น้ำคั่นจากรากแก้ปวดฟัน และในอินเดียใช้เป็นยาต้นขับปัสสาวะ และใช้รักษาการถูกหากกัด เพื่อให้เลือดหยุดไหล และรักษาอาการปวดบวม
ลักษณะทั่วไปของพันงูน้อย
พันงูน้อย จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีรากขนาดเล็กและยาวอยู่ใต้ดิน ลำต้นมีสีเขียว หรือ น้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นจะเป็นสันมีข้อโป่งพอง กิ่งก้านค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม และมีสีน้ำตาลเหลืองมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม
ใบพันงูน้อย เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง มีขนาดกว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร โคนใบ และปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบมีสีเขียว และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนก้านใบจะยาว
ดอกพันงูน้อย ออกเป็นช่อขนาดเล็กออกที่ง่ามใบ และปลายกิ่ง ช่อดอกมีสีเขียว หรือ สีขาวปนแดง โดยก้านช่อดอกมีลักษณะกลมและตั้งตรงยาว 15-20 เซนติเมตร กลีบดอกมีกลีบ 5 กลีบ เป็นรูปไข่ปลายเรียวแหลม ยาว 3-5 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ ลักษณะเป็นรูปแหลม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีรังไข่ 2 อัน
ผลพันงูน้อย เป็นผลแห้งแบบกระเปาะแตกได้ มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีมีขนาดเล็ก ยาว 2-5 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบมัน ภายในมีเมล็ดรูปทรงกระบอก 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์พันงูน้อย
พันงูน้อยสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ สามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี แต่ไม่นิยมนำมาปลูกเนื่องจากเป็นพืชที่มีการขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนในหลายๆ ประเทศจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง รวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งการขยายพันธุ์ของพันงูน้อย ในปัจจุบันจึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเท่านั้น
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของพันงูน้อย ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น betaine, emodin, physcion, fructan, inokosterone, ecdysterone, rubrosterone, peptide-polysaccharide, Oleanolic acid-α-L-rhamnopyranosyl-β-D-galactopyranoside
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพันงูน้อย
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดพันงูน้อย จากส่วนต่างๆ ของพันงูน้อยระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
สารสกัดทั้งต้นพันงูน้อยมีฤทธิ์ในการหดเกร็งตัวของมดลูกของกระต่าย แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นการหดเกร็งตัวของมดลูกของแมวน้อยกว่า และยังมีการนำน้ำที่ต้มจากพันงูน้อย มาฉีดเข้าทางท้องน้อยของสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธิ์แก้ปวด (แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีนมาก) ส่วนอีกการศึกษาวิจัยมีการนำสารที่สกัดจากพันงูน้อยมาฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำของสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และทำให้การหายใจถี่ขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากพันงูน้อย ยังมีผลต่อแอแนบอลิซึมของโปรตีน ออกฤทธิ์ผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์แก้ปวดอีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของพันงูน้อย
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสาระสำคัญ 2 ชนิด ที่ได้จากสารสกัดจากส่วนราก และเมล็ดของพันงูน้อย ระบุว่ามีค่าความเป็นพิษดังนี้
ค่า LD50 ของสาร Ecdysterone และ Innokosterone เมื่อทำการฉีดให้กับหนูทดลองทางเยื่อบุช่องท้อง เท่ากับ 6.4 และ 7.8 กรัม/กก. ตามลำดับ ส่วนค่า LD50 ของสารทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าว เมื่อให้ทางปากมีค่า > 9 กรัม/กก.
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เนื่องจากพันงูน้อย มีสรรพคุณขับประจำเดือน ขับเลือดคั่งในมดลูก ออกฤทธิ์ต่อตับ และไต ดังนั้นในการแพทย์แผนจีนจึงมีข้อห้ามใช้โดยระบุว่า สตรีมีครรภ์ หรือ สตรีที่ประจำเดือนมามากเกินไปและผู้ที่มีพลังหย่อน หรือ พร่อง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
เอกสารอ้างอิง พันงูน้อย
- พันธุ์งูเล็ก หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา.ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 31.
- ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน.กทม. ทองเกษม.2555
- วิทยา บุญวรพัฒน์. หญ้าพันงูน้อย. หนังสือสารานุกำรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 598.
- Sharma, Hemanta Kumar; Chhangte, Lalrampari; Dolui, Ashoke Kumar (2001). "Traditional medicinal plants in Mizoram, India". Fitoterapia. 72 (2): 146-161.
- Hyun SW, Lee TG, Song SJ, Kim CS (28 June 2021). "Evaluation of oral toxicity and genotoxicity of Achyranthis Radix extract". J Ethnopharmacol. 274: 113944.
- Rodriguez, Sarah Mellors (2023). Reproductive realities in modern China : birth control and abortion, 1911-2021. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press. p. 60.