มะหวด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะหวด งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะหวด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หวดลาว, หวดเหล้า, สีฮอกน้อย (ภาคเหนือ), สีหวด, หวดคา, หวดค่า, มะหวดป่า (ภาคอีสาน), กำซำ, กำซ่ำ (ภาคกลาง), มะจำ, กำจำ, นำซำ (ภาคใต้), มะหวดบาท, มะหวดลิง, ชันรู (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus rubiginosus Roxb.
วงศ์ SAPINDACEAE


ถิ่นกำเนิดมะหวด

มะหวด จัดเป็นพันธุ์พืชวงศ์เงาะ (Sapindaceae) ที่เป็นพืชท้องถิ่นของไทยอีกชนิดหนึ่งโดยมีถิ่นกำเนิดกระจายเป็นวงศ์กว้าง ตั้งแต่ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ทวีปออสเตรเลีย และในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ริมลำธาร ป่าเต็งรัง และพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 300-1,200 เมตร แต่จะพบได้มากตามภาคเหนือ และภาคอีสาน


ประโยชน์และสรรพคุณมะหวด

  • แก้อาการไข้
  • แก้ปวดศีรษ
  • แก้พิษร้อน
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้งูสวัด
  • แก้พิษฝีภายใน
  • รักษาวัณโรค
  • แก้กษัยเส้นเอ็น
  • แก้เบื่อเมา
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้ซาง (โรคของเด็กเล็ก มีอาการเบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า)
  • รักษาผิวหนังผื่นคัน
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • รักษาแผลในช่องปาก
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้บิด
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ไข้
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้ท้องร่วง
  • บำรุงเส้นเอ็น
  • แก้ไข้ซาง
  • แก้ไอเรื้อรัง
  • แก้ไอกรน
  • แก้ไอหอบในเด็ก
  • ช่วยให้แผลแห้ง
  • ช่วยลดน้ำเหลืองไหลของแผล
  • แก้ปัสสาวะขุ่น

           มีการนำมะหวด มาใช้ใช้รับประทานเป็นอาหาร โดยนำใบอ่อน และยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักได้ โดยใช้เป็นผักสด หรือ นำมาต้ม หรือ ลวกกับน้ำพริก หรือ ใช้ใส่ในแกงผัก อีกทั้งยังนำมารองพื้น หรือ คลุมข้าวที่จะใช้ขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดอีกด้วย ส่วนผลสุกที่มีสีดำอมม่วง ซึ่งมีรสหวานฝาดเล็กน้อย เนื้อผลหนา และนุ่ม มาใช้รับประทานเป็นผลไม้ ยังมีการนำผลสุกมาหมักทำไวน์ ซึ่งจะได้ไวน์สีม่วง รสหวานเป็นไวน์มะหวด ในส่วนของเปลือกลำต้นนำมาใช้ต้มย้อมผ้า โดยให้สีดำม่วง ส่วนใบจะให้สีเขียวขี้ม้า และยังมีการนำเนื้อไม้ ซึ่งมีความแข็งปานกลาง สามารถนำมาเป็นเครื่องไม้ใช้สอยต่างๆ เช่น เสารั้ว เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน และใช้ทำไม้ฟืนก็ได้

มะหวด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงเส้นเอ็นแก้ไอเรื้อรัง ขับพยาธิ แก้ปัสสาวะขุ่น แก้โรคหอบหืด แก้ไอกรน ไอหอบ แก้ซางในเด็ก โดยใช้เมล็ดมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยสมานแผล อาการแสบของแผล รักษาแผลในช่องปาก แก้ท้องร่วง โดยนำผลสุกมารับประทานสด เป็นผลไม้ส่วนผลดิบมะหวด นำมาบดทาแผล ช่วยรักษาแผลให้หายเร็ว ใช้แก้ไข้แก้ซาง แก้ปัสสาวะขุ่นโดยนำใบ 5-10 ใบ มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ผดผื่นคัน โรคผิวหนังโดยนำใบมาต้มอาบ ใช้บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้บิดโดยนำเปลือกสับเป็นชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคผิวหนัง สมานแผล ช่วยให้แผลแห้ง ลดน้ำเหลืองไหล โดยนำเปลือกต้นแห้งมาบดโรยแผล หรือ ประคบ ใช้แก้กษัยเส้นเอ็น แก้เบื่อเมา แก้ฝีภายในแก้ซางในเด็ก โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ แก้อาการไข้ปวดศีรษะ ผิวหนังผื่นคัน แก้พิษร้อน โดยนำรากมาตำพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของมะหวด

มะหวด จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบ หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มกลมโปร่งแตกกิ่งก้านไม่มากมีความสูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นแตกเป็นร่องตามยาวสีน้ำตาล ส่วนกิ่งแขนงรูปทรงกระบอกเป็นร่อง มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนสั้น และมีเนื้อไม้สีเหลืองอมน้ำตาล

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเยื้องกันตามยาวของก้านใบหลักโดยมีก้านใบหลัก ยาว 10-40 เซนติเมตร แทงออกบริเวณปลายกิ่งแขนง ก้านใบมีขนปกคลุม และบนก้านใบมีใบย่อย 4-6 คู่ ใบย่อยเป็นรูปไข่ รูปรี ยาวขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร โคนใบสอบมนปลายใบแหลม ขอบใบเรียบไม่เป็นหยัก แผ่นใบเรียบเหนียวสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างจางกว่า มีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงมองเห็นชัดเจน ส่วนใบอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว

           ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง จากปลายยอด หรือ ซอกใบใกล้ปลายยอด โดยช่อดอกจะตั้งขึ้นช่อดอกจะมีความยาว 30-50 เซนติเมตร และมีดอกย่อยขนาดเล็กแบบแยกเพศจำนวนมาก 20-30 ดอก ดอกย่อยมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และมีกลีบดอก 4-5 กลีบ กลีบดอกมีสีขาว หรือ เหลืองอ่อนอาจเกลี้ยงหรือมีขน โคนกลีบแคบ มีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ด มีสันนูน 2 สัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งกลีบนอก 2 กลีบ จะเล็กกว่ากลีบใน และมีขนที่ด้านนอก และมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาว และไม่มีขน

           ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อ รูปรีเว้าเป็นพู  2 พู ผิวเกลี้ยงเปลือกบาง กว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดงจนผลแก่จัดมีสีม่วงดำ ผลสุก มีเนื้อผลฉ่ำน้ำ รสหวาน ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน

มะหวด

มะหวด

การขยายพันธุ์มะหวด

มะหวด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดนั้น ทำได้โดยเลือกผลที่สุกจัดที่มีขนาดใหญ่ และมีสีดำมาเอาเนื้อออกให้หมดให้เหลือแต่เมล็ด จากนั้นนำเมล็ดมาตากแดดให้แห้ง 7-10 วัน ก่อนนำไปเพาะในถุงเพาะชำ ที่เตรียมวัสดุไว้ ซึ่งเมล็ดจะงอกภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้เมล็ดมะหวดมีอัตราการงอกต่ำ จึงควรเพาะจำนวนหลายเมล็ด หลังจากที่ต้นงอก และเติบโตสูงได้ 30-40 เซนติเมตร จึงสามารถนำลงไปปลูกต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดมะหวด จากส่วนต่างๆ และน้ำมันหอมระเหยจากใบ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ในสารสกัดจากส่วน ลำต้นเปลือกผลและใบพบ สารกลุ่ม Flavonoid เช่น Rutin, Quercetin-3-sulphate,Buddlenoid A สารกลุ่ม Isoflavone เช่น Genistein-7,4-di-o-B-D-glucoside

           สารกลุ่ม Anthocyanin เช่น Luteolinidine
           สารกลุ่ม Tannin เช่น Procyanidin B2, Arecatannin A1, 1,2,6-tri-o-galloyl-B-D-glucopyranoside
           สารกลุ่ม Flavonol เช่น Gallocatechin, Epicatechin
           สารกลุ่ม Flavanonol เช่น Dihydrokaempferol-5-o-B-D-glucopyranoside,Neoastilbin เป็นต้น
           ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบพบสาร α-cadinol, safrole, α-amoephene, E-isofrole, cadinene, t-muurolol เป็นต้น

โครงสร้างมะหวด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะหวด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมะหวดระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้  ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ทั้งหมดของสาร สกัดจากส่วนราก ลำต้น และใบของมะหวด (สกัดด้วยเฮกเซน เอทิลอะซีเตต และเมทานอล) สารสกัด ทั้งหมดนำมาศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และวิธี FRAP พบว่าสารสกัด Methanol ของลำต้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่สุดในวิธี DPPH (EC50= 35.02±0.53 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) และวิธี FRAP สารสกัด Methanol ของลำต้นให้ผลดีที่สุด (2.31 ± 0.02 มิลลิกรัม วิตามินซี สมมูลต่อกรัมสารสกัด) สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลจากใบของมะหวดในต่างประเทศที่ระบุว่า สารสกัดจากใบเอทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มากกว่าวิตามินซี  โดยมีค่า IC50 =31.62 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซี ที่มีค่า IC50 =12.02 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และยังมีการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบของมะหวดระบุว่า เมื่อป้อนสารละลายกลูโคสในช่องปากเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหนูขาว จากนั้นป้อนสารสกัดเอทานอล 250 และ 500 มก./กก. BW พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวได้โดยการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดมีลักษณะที่ขึ้นกับขนาดยา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารสกัดเอทานอล และเมทานอลจากต้น ใบ เปลือก ของมะหวดยังมีฤทธิ์ แก้ปวด และแก้ท้องเสียอีกด้วย ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านมาลาเรีย

 

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะหวด

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้มะหวดเป็นสมุนไพร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายงานถึงความเป็นพิษในการใช้อย่างไรก็ตามก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดนควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ โดยไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับการรับประทานผลสุกเป็นผลไม้นั้นก็ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เนื่องจากผลสุกมะหวด มีสารกลุ่ม tannin ที่มีรสฝาด อยู่ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้

เอกสารอ้างอิง มะหวด
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. มะหวด. หนังสือสมุนไพรอุทธยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 125.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 13.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. มะหวด . หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 239.
  4. รัฐศาสตร์ เด่นชัย และคณะ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ ทั้งหมดในสารสกัดมะหวด (Lepisanthes rubiginosa). วารสารวิทยาศาสตร์คชสาส์น ปีที่ 43. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2564. หน้า 1-9.
  5. สราวุธ สังข์แก้ว. 2562. รุกขวิทยาภาคสนาม Field Dendrology. ภาพพิมพ์ กรุงเทพฯ.
  6. วิชนี มัธยม และคณะ. การศึกษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์การยับยั้งอนุมูลอิสระของน้ำมะหวด. วารสารวิชาการมทร. สุวรรณภูมิ ปีที่ 8. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2563. หน้า 187-198.
  7. มะหวด. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?Action=vieepage&pid=266.
  8. มะหวด สรรพคุณและการปลูกมะหวด. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. Widyawaruyanti, A.; Puspita Devi, A.; Fatria, N.; Tumewu, L.; Tantular, I.S.; Fuad Hafid, A. In Vitro Antimalarial Activity Screening of Several Indonesian Plants Using HRP2 Assay. Int. J. Pharm. Pharm. Sci. 2014, 6, 125–128.
  10. Hasan, M, Hossain, A, Shamim, A, Rahman, MM. Phytochemical and pharmacological evaluation of ethanolic extract of Lepisanthes rubiginosa L. leaves. BMC Complement Altern Med 2017;17:496–507.
  11. Hasan, M.M.; Hossain, A.; Shamim, A.; Rahman, M.M. Phytochemical and Pharmacological Evaluation of Ethanolic Extract of Lepisanthes Rubiginosa, L. Leaves. BMC Complement. Altern. Med. 2017, 17, 496.
  12. Zulkifli, SZ, Ghani, NA, Ismail, NH, Bihud, NV, Rasol, NE. Phytochemistry and pharmacological activities of Lepisanthes genus: a review. Trop J Nat Prod Res 2021;5:994–1005.
  13. Barua, S.; Naim, Z.; Sarwar, G. Pharmacological, Phytochemical and Physicochemical Properties of Methanol Extracts of Erioglossum Rubiginosum Barks. J. Health Sci. 2013, 3, 51–62.