เกล็ดนาคราช ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เกล็ดนาคราช งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เกล็ดนาคราช

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เบี้ยไม้ , ม้าถีบลม , กีบมะรุม (ภาคเหนือ),เถานาคราช,เถาเกล็ดนาคราช(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์Dischidia imbricata (Blume) Steud.

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Dischidia depressa C.B.Clake ex. King&Gamble , Conchophyllum imbricatum Blume.

วงศ์ASCLEPIADACEAE

ถิ่นกำเนิด เกล็ดนาคราชจัดเป็นพืชในวงศ์นมตำเลีย (ASCLEPIADACAEA) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา จีนตอนใต้ รวมถึงในอินโดนีเซียและฟิลิปปิสส์ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณบนต้นไม้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ทั่วไป

ประโยชน์/สรรพคุณ เกล็ดนาคราชถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยในตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า ทั้งต้นเป็นยาเย็น แก้ไข้ ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ พิษไข้กาฬ พิษตานซาง  แก้อักเสบปวดบวม แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ใบสดใช้แก้แผลพุพอง น้ำคั้นจากใบ ทาแก้กลากเกลื้อน เถาใช้แก้ปวดเอวและสันหลัง แก้เส้นเอ็น แก้ระดูไม่ปกติ ขับระดูในสตรี

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ พิษไข้กาฬ พิษตานซาง แก้ปวดบวมตามร่างกาย โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มและใช้อมควบคู่ไปด้วย
  • ใช้แก้อาการปวดเอว ปวดสันหลัง ปวดเส้นเอ็น แก้เลือดระดูไม่ปกติ ขับเลือดระดูของสตรี โดยนำเอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปคั่วไฟให้เหลือง ใช้ดองกับเหล้าดื่มวันละเป๊ก
  • ใช้รักษาพิษแมงป่อง พิษตะขาบ และพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำเถาสดมาฝนกับเหล้าทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้กลากเกลื้อน โดยนำน้ำคั้นจากใบสดมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้แผลพุพองทั่วไป โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไป เกล็ดนาคราชจัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้เลื้อย อิงอาศัยเกาะได้ไปตามต้นไม้อื่น และจะมีเกล็ดเล็กๆ ลายตลอดเถา เป็นสีด่างๆ เหลืองขาว ลำต้นมีลักษณะเล็กเรียว เป็นข้อๆ และมีรากลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ ออกดอกตามข้อเถาเป็นกระจุก โดยทุกส่วนจะมีน้ำยางสีขาว  ใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกมาตามเถาเป็นตอนๆตรงข้าม ข้อของลำต้นใบเป็นรูปโล่คล้ายกระทะคว่ำ อวบน้ำมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 1.5-4 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมเหลือง สีแดงคล้ำ ขอบใบสีเขียว มักเกยขึ้นเล็กน้อย เนื้อใบมีลักษณะเป็นตุ่ม เหมือนกับมีถุงลมอยู่ข้างใน มีก้านใบยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร อยู่ด้านล่าง ดอกออกเป็นช่อกระจะขนาดเล็ก โดยจะออกบริเวณซอกใบ โดยใน 1 ช่อดอกจะมีก้านช่อดอกยาว 4 เซนติเมตร ปลายก้านเป็นแกนช่อดอกแยกได้ 2-4 แกน ส่วนดอกย่อยจะออกบริเวณปลายสูตรของแกน ประมาณ 1-5 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปโคนโทหรือรูปไข่ กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ปลายแยก 5 แฉก แต่ละแฉกเล็กประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ข้างในกลีบดอกมีขนยาวสีขาว และมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เชื่อมติดกัน รังไข่มี 2 อัน แยกออกจากกัน แต่ติดกันตรงปลาย ส่วนก้านดอกย่อยจะยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ผลออกเป็นฝักลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 2-3 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวเมื่อฝักแก่จะแตกออกแนวเดียว ด้านในฝักจะมีเมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาล จำนวนมาก โดยเมล็ดจะมีขนยาวเป็นพู่สีขาวที่ปลายด้านหนึ่ง

การขยายพันธุ์  เกล็ดนาคราชสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกลำต้น ซึ่งการขยายพันธุ์ของเกล็ดนาคราชนั้น โดยทั้งหมดจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากไม่พบข้อมูลการนำเกล็ดนาคราชมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ และในส่วนที่พบเจอเกล็ดนาคราชทั้งหมดก็จะเป็นการเกิดขึ้นเองบนต้นไม้ในธรรมชาติเท่านั้น สำหรับวิธีการแยกลำต้นเกล็ดนาคราชนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการแยกต้นปลูกของพืชไม้เลื้อย หรือไม้เลื้อยอิงอาศัยชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบของเกล็ดนาคราชระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ß-amyrin , friedelin, lupeol, lupenone , Dischidiol, Disformone, 3α‑hydroxyglutin‑5‑en  , 30-norcyclopterospemol, capnesterone A, B, 4β-hydroxy-24-methylene-5-cholesten-7-one, gorgostan-5, 25-dien-3β-ol  , 3β‑hydroxy-24-methylene-5-cholesten-7-one รวมถึงสารในกลุ่ม Flavonoids เช่น isovitexin และ 2-O-rhamnosyivitexin เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบของเกล็ดนาคราชระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชหลายประการดังนี้

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า สาร isovitexin และ 2-O-rhamnosylvitexin ที่สกัดได้จากส่วนใบของเกล็ดนาคราชแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (free radical scavenging )> 90%โดยเข้าไปช่วยลดการผลิต ROS, TNF‑α, IL‑6, myeloperoxidase, malondialdehyde และยับยั้งเอนไซม์ iNOS/COX‑2 ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในงานวิจัยแบบ in vivo/in vitro ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ยังได้ระบุว่าสารสกัดจากส่วนใบของเกล็ดนาคราชยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย และต้านเชื้อราได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง สตรีมีครรภ์ห้ามใช้เกล็ดนาคราชเป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีสรรพคุณขับระดู ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับการใช้ในบุคคลกลุ่มอื่นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิงเกล็ดนาคราช

  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.เกล็ดนาคราช,หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.ฉบับพิมพ์ครั้งที่5.หน้า74. 
  2. ราชบัณฑิตยสถาน.2538.อนุกรมวิธานพืชอักษรก.กรุงเทพมหานคร.เพื่อนพิมพ์.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.เถาเกล็ดนาคราช,หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.ฉบับพิมพ์ครั้งที่5.หน้า340-341. 
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพรเขตอีสานใต้ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.เกล็ดนาคราช.(ออนไลน์).2025,แหล่งที่มา: https://phar.ubu.ac.th/herb-DetailPhargarden/16.
  5. Krumsri R. et al. (2019). Evaluation of the Allelopathic Potential of Leaf Extracts from Dischidia imbricata… Notulae Botanicae Horti Agrobotanici Cluj‑Napoca, 47(4):1019–1024.
  6.  Chen S. et al. (1993). “Disformone and dischidiol from Dischidia formosana.” Phytochemistry, 34(3), 783–78