ขี้ไก่ย่าน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ขี้ไก่ย่าน งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขี้ไก่ย่าน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้เหล็กย่าน, สาลาปุ๊ตูโง๊ะ (ภาคใต้), หมี่กันเฉา, เจียเจ๋อหลาน (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mikania micrantha Kunth.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mikania cordata (Burm.f.) B.L. Rob
ชื่อสามัญ Chinese creeper, Mile a minute, African mile a minute
วงศ์ ASTERACEAE


ถิ่นกำเนิดขี้ไก่ย่าน

ขี้ไก่ย่านจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ จนในปัจจุบันสามารถพบได้ตามเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบขี้ไก่ย่าน ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณตามที่รกร้าง ริมชายป่าสองข้างทาง และตามขอบรั้วตามบ้านเรือน


ประโยชน์และสรรพคุณขี้ไก่ย่าน

  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยรักษาตับอักเสบ
  • ใช้รักษาแผลสมานแผล ทั้งแผลสด แผลเปื่อย แผลหนอง
  • รักษาอาการบวม ปวด ฟกช้ำ
  • รักษาอาการเจ็บตา ตาอักเสบ ตาบวม
  • รักษาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื่อน น้ำกัดเท้า
  • ช่วยลดอาการปวดจากแมลงกัดต่อย
  • แก้ไอ
  • แก้เจ็บตา
  • แก้โรคที่เกินทางลำไส้
  • แก้คัน
  • ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

           ในประเทศไทยมีการนำขี้ไก่ย่าน มาปลูก หรือ ปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาต เพื่อเป็นพืชคลุมดิน เพื่อช่วยป้องกันวัชพืชอื่นมาขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่า โดยเฉพาะไม้ยืนต้น หรือ ไม้ที่แผ่วถางยาก ส่วนในต่างประเทศมีการนำทั้งต้นของขี้ไก่ย่าน โดยเฉพาะใบมาเป็นอาหารสัตว์ อีกทั้งยังนำมาสุมรมควัน เพื่อไล่ยุง และแมลงให้กับสัตว์เลี้ยง

ขี้ไก่ย่าน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงตับ แก้ตับอักเสบ โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาแผลสดแผลเปื่อยแผลหนอง รักษาอาการปวดบวม ช้ำ รักษาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบมาตำ หรือ ขยี้ขี้ไก่ย่าน ให้ละเอียดแล้ว ใช้พอกบริเวณที่มีอาการ
           ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่า ทางตอนใต้ของไนจีเรียใช้ใบขี้ไก่ย่าน แก้ไอ แก้เจ็บตา ในตองกาใช้ใบแก้โรคที่เกินทางลำไส้ มาเลเซียใช้ใบขี้ไก่ย่านแก้คัน บังคลาเทศใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และในอินเดีย ใช้ใบขี้ไก่ย่านปิดแผล เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของขี้ไก่ย่าน

ขี้ไก่ย่าน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก หรือ ไม้เถาเลื้อย โดยมีเถาหลักแตกเถาย่อยจำนวนมากขึ้นเป็นพุ่มพันกันโดยมักจะขึ้นคลุมพืชอื่น เถา หรือ ลำต้นเกลี้ยง หรือ มีขนนุ่มเล็กน้อย มีลักษณะกลมเป็นโอบล้อมสีเขียวอ่อน มีความสูงได้ประมาณ 7 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับออกตรงข้ามบริเวณข้อเถา ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ มีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร โคนใบเว้า ลึกจนถึงบริเวณโคนใบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ แผ่นใบเป็นร่องตามเส้นใบจนเห็นได้ชัด มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั้งแผ่นใบด้านบน และด้านล่าง มีก้านใบ ยาว 3-5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกบริเวณซอกใบตั้งแต่กลางเถาจนถึงปลายเถา ใน 1 ช่อดอกจะประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก โดยดอกย่อยมีลักษระเป็นริ้วประดับบาง กลีบดอกสีขาวแกมเขียว ยาว 4-5 มิลลิเมตร มีโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมีท่อสีขาว ปลายบิดโค้งแยกเป็น 2 แฉก ผลมีขนาดเล็กเป็นรูปขอบขนานแคบ ยาว 3-3.5 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีขาว ถ้าแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือ สีน้ำตาลเข้ม ผลมีต่อมรยางค์แข็งจำนวนมาก ตรงโคนมีปีกแผ่เป็นพู่จำนวนมาก ซึ่งสามารถทำให้ผลลอยลมได้

ขี้ไก่ย่าน

ขี้ไก่ย่าน

การขยายพันธุ์ขี้ไก่ย่าน

ขี้ไก่ย่าน จัดเป็นวัชพืช ประเภทใบกว้างอายุหลายปี ที่สามารถเจริญเติบโตได้เร็ว มีความทนทานต่อทุกสภาพดิน และทนแล้งได้เป็นอย่างดี โดยจะแย่งธาตุอาหาร และน้ำ ของพืชที่มันปกคลุมจนขาดแสงแดดและตายไป ดังนั้นจึงไม่มีการนำมาขยายพันธุ์แต่อย่างใด สำหรับการขยายพันธุ์ในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ซึ่งจะอาศัยลมพัดเมล็ดซึ่งมีขนเป็นพู่บริเวณขั้วผล ให้ปลิวไปตกลงตามพื้นดินในแหล่งต่างๆ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนใบ และน้ำมันจากดอกของขี้ไก่ย่าน ในต่างประเทศระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น α-cubebene, caryophyllene oxide, α-bisabolol, ƴ-curcumene, β-pinene, copaene, α-cedrene, spathulenol, stigmasterol, beta-sitosterol, mikanolide, dihydromikanolide, scandenolide, Α-cubebene, ƴ-curcumene, caryophyllene, α-bergamotene, β-caryophyllene และ zingiberene เป็นต้น

โครงสร้างขี้ไก่ย่าน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขี้ไก่ย่าน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศของสารสกัดขี้ไก่ย่าน จากส่วนราก ใบ และน้ำมันจากดอกของขี้ไก่ย่าน ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           สารสกัดรากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปกป้องตับ ต้านแบคทีเรีย สมานแผล ต้านการอักเสบ ฆ่าพยาธิ แก้ปวด และสารสกัดจากรากเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ และอาการบวมน้ำ อีกทั้งยังแสดงฤทธิ์ยับยั้งโรคเกาต์ได้อีกด้วย ส่วนสารสกัดเอทานอลจากใบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในความเข้มข้นปานกลาง โดยมีการยับยั้งสูงสุดต่อเชื้อ Shigella flexneri และ Staphylococcus aureus นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหย จากส่วนของดอก มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ และต้านการอักเสบ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของขี้ไก่ย่าน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ขี้ไก่ย่าน เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้ใน รูปแบบการรับประทาน โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ขี้ไก่ย่าน
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ขี้ไก่ย่าน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 136.
  2. เสริมศิริ คงแสงดาว, กลอยใจ คงเจี๊ยง. ศักยภาพของฝอยทองในการควบคุมขี้ไก่ย่าน. รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2554. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. หน้า 699-705
  3. ขี้ไก่ย่าน/ขี้เหล็กย่าน. ประโยชน์ และสรรพคุณน่ารู้พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. Study of chemical constituents of essential oil from flowers of Mikania micrantha H.B.K / Shao H, Nan P, Peng S, Zhang C. / Zhong Yao Cai. 2001 May;24(5):341-2.
  5. Chowdhury JU, Nandi NC, Yusuf M (2007) Aromatic plants of Bangladesh: consituents of the leaves and flowers oils of Midania cordata (Burm.f.) Rob. Indian Perfumer 51: 56-59.
  6. In vitro phytochemical, cytoxicity and mineral composition analyses of Micania Cordata (Bumr.f.) B.L. robinson leaves / Nobel Barua*, Nurul Absar, Sudip Paul, Anik Barua, Md. Yeashin Gazi, Moumoni Saha, Mohammad Shariful Islam, Jannatul Marium Belaly / International Journal of Biosciences, IJB, Vol. 5, No. 8, p. 154-160, 2014
  7. Zhang, L.Y., Y. Wanhui, H. L.Cao and H. L. Feng. 2003. Mikania micrantha H.B.K. in China- an overview. European Weed Research Society Weed Research. Vol, 44, pp. 42-49.
  8. Pharmacological studies of the antiinflammatory profile of Mikania cordata (Burm) B. L. robinson root extract in rodents / S. Bhattacharya, S. Pal and A. K. Nag Chaudhuri* / Phytotherapy Research, Volume 6, Issue 5, pages 255–260, September / October 1992 / DOI: 10.1002/ptr.2650060507