มะกล่ำเผือก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะกล่ำเผือก งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะกล่ำเผือก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะก่ำตาหนู, แปปฝาง (ภาคเหนือ), มะขามย่าน (ภาคใต้), คอกิ่ว, มะขามป่า (ภาคตะวันออก), จีกู่เฉ่า, โกยกุกเฉ่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus pulchellus Well.ex Thwaites supsp. Pulchellus
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abrus pulchellus Thwaites, Abrus fruticulosus auct. non wight & Arn.
ชื่อสามัญ Licorice root
วงศ์ FABACEAE - PAPILIONACEAE


ถิ่นกำเนิดมะกล่ำเผือก

มะกล่ำเผือก จัดเป็นพืชในวงศ์ถั่วที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับในไทยพบมะกล่ำเผือก ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณมะกล่ำเผือก

  1. แก้หืด
  2. แก้ไอแห้ง
  3. แก้เจ็บคอ
  4. แก้หลอดลมอักเสบ
  5. ช่วยขับเสมหะ กัดเสมหะ
  6. แก้อาเจียน
  7. ช่วยขับปัสสาวะ
  8. ใช้เป็นยาแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้
  9. แก้อาการร้อนใน
  10. ช่วยลดความดันโลหิต
  11. แก้ปวดกระเพาะ
  12. ใช้เป็นยากล่อมตับอักเสบ
  13. ใช้เป็นยากล่อมตับแข็ง
  14. ใช้เป็นยากล่อมท้องมาน
  15. ช่วยคลาย และกระจายการคั่งของตับ
  16. รักษาดีซ่าน
  17. ใช้ขับลมขึ้น
  18. แก้ปวดข้อ ปวดกระดูก
  19. แก้ปวดบวมตามข้อ
  20. แก้ปวดตามแนวเส้นประสาท
  21. แก้อักเสบปวดบวม
  22. ช่วยกระตุ้นน้ำลาย
  23. ช่วยเจริญอาหาร
  24. แก้ปวดท้อง และจุกเสียด

           มีรายงานการนำใบของมะกล่ำเผือก มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารโดยในใบมะกล่ำเผือกมีสาร glycyrrhizin ให้ความหวาน ที่มากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50 เท่า จึงมีการนำมาสกัดเอาสารดังกล่าวมาใช้ และยังมีการนำเมล็ดของมะกล่ำเผือก ซึ่งมีสาร abrin ที่มีความเป็นพิษสูงมาใช้สกัดเป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย

มะกล่ำเผือก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

มะกล่ำเผือกนั้นตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านของไทยได้ระบุสรรพคุณเอาไว้ว่า เถาและราก มีรสเปรี้ยวหวานชุ่ม

  • ใช้กระตุ้นน้ำลาย แก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ตับอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท โดยนำใบมะกล่ำเผือกแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ช่วยลดความดันเลือด ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน แก้ปวดกระเพาะ ขับลมขึ้น แก้ปวด ขับปวดกระดูก โดยทั้งต้นมะกล่ำเผือก (ยกเว้นเมล็ด) 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดท้อง และจุกเสียด แก้ไอแห้ง หลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ ช่วยกัดเสมหะ แก้หืด แก้อาเจียน แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ โดยนำรากและเถามะกล่ำเผือกแบบแห้ง 10-15 กรัม มาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยากล่อมตับ ใช้รักษาตับอักเสบ ตับแข็ง ท้องมาน ช่วยคลาย และกระจายการคั่งของตับ รักษาดีซ่าน โดยใช้ต้นสดของมะกล่ำเผือก 30 กรัม เมล็ดพุดตาน แห้ง 15 กรัม ต้นยินเฉิน 30 กรัม ตี้เอ๋อเฉ่า 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากมีอาการตัวร้อนและอักเสบ ก็ให้เพิ่มต้นตอกสายน้ำผึ้ง 30 กรัม และหมากดิบน้ำค้าง 30 กรัม มาต้มรับประทานด้วย


ลักษณะทั่วไปของมะกล่ำเผือก

มะกล่ำเผือก จัดเป็นไม้เถาแบบเลื้อยบนผิวดิน หรือ ขึ้นพันกับต้นไม้ เถามักจะยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้น หรือ เถามีลักษณะกลมสีเขียว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ โดยขนาดของก้านจะเล็ก และปกคลุมด้วยขนสั้นๆ สีเหลือง ส่วนรากยาวกลมใหญ่มีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร

           ใบมะกล่ำเผือก เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ โดยจะออกแบบเรียงสลับในใบประกอบ 1 ใบ จะมีก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร มีใบย่อย 4-7 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบเป็นดิ่งหนาม ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีขาว ขึ้นปกคลุมประปราย ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น และมีหูใบย่อยเป็นเส้นเรียวยาว ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร

           ดอกมะกล่ำเผือก ออกเป็นช่อกระจะบริเวณซอกใบ ช่อดอกยาว 4-9 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะคล้ายรูปดอกถั่วมีกลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบกลาง 1 กลีบเป็นสีขาว ยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร โคนเป็นรูปลิ่ม ปลายเง้าบุ๋มขอบเรียบ ส่วนกลีบคู่ด้านข้าง 2 กลีบ สีชมพูอ่อน ความยาวรวมก้านกลีบประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียวปลายมน มีรยางค์เป็นดิ่ง ส่วนกลีบคู่ล่าง 2 กลีบมีสีชมพู ลักษณะเป็นรูปเคี่ยว โคนเป็นสีขาว ยาว 1.3-1.5 เซนติเมตร โคนสอบเรียวปลายมน และมีกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวปนสีชมพูอ่อน ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายเว้าเป็นรอยหยักตื้นๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีทั้งแบบสั้น และแบบยาวเรียงสลับกัน แบบสั้นก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนแบบยาวก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ แบนและมีขนขึ้นหนาแน่น

           ผลมะกล่ำเผือก ออกเป็นฝักลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนานกว้าง 0.8-1.5 เซนติเมตร และยาว 4-8 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียว มีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุมและเมื่อฝักแก่จะแห้งแตกออกได้ ด้านในฝักมีเมล็ด 4-5 เมล็ด ลักษณะกลมรี แบนเล็กน้อย ผิวเงาเรียบ เมล็ดอ่อนเป็นสีขาวเมื่อเมล็ดแก่จะเป็นสีดำเข้ม หรือ สีน้ำตาลดำ ผลออกเป็นฝักลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนานกว้าง 0.8-1.5 เซนติเมตร และยาว 4-8 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวมีขนสีเหลืองอ่อน ขึ้นปกคลุม และเมื่อฝักแก่จะแห้งแตกออกได้ ด้านในฝักมีเมล็ด 4-5 เมล็ด ลักษณะกลมรี แบนเล็กน้อย ผิวเงาเรียบ เมล็ดอ่อนเป็นสีขาว เมื่อเมล็ดแก่จะสุกเป็นสีดำเข้ม หรือ สีน้ำตาลดำ

มะกล่ำเผือก
มะกล่ำเผือก

การขยายพันธุ์มะกล่ำเผือก

มะกล่ำเผือก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด เช่น เดียวกันกับมะกล่ำต้น และมะกล่ำตาหนู แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนำมาเพาะปลูก ทำให้การขยายพันธุ์ของมะกล่ำเผือกมักจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกมะกล่ำเผือกนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ แต่ทั้งนี้มะกล่ำเผือก เป็นพืชที่ทนต่อสภาวะอากาศและทนแล้งได้ดี ขึ้นได้ดีในทุกสภาวะดิน อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีความเจริญเติบโตและแพร่กระจายพันธุ์ได้รวดเร็วอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบมะกล่ำเผือกระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้

           มีรายงานพบสาร glycyrrhizin ซึ่งเป็นสารหวานในใบมะกล่ำเผือก และพบสารกลุ่ม triterpene 4 ชนิด คือ abruside A, B, C, D และ E ที่ให้ความหวานเช่นกัน อีกทั้งยังพบสารในกลุ่ม triterpene อื่นๆ ในใบมะกล่ำเผือก อีกเช่น cucurbita-5, 24-diene-26-29-dioic acid, 3β-22β-dihydroxy: 3-O-(6’methyl-β-D-glucuronopyranosyl: methyl ester : sophoradiol, 3-O-β-D-glucuronopyranosyl: methyl ester:sophoradiol กลุ่ม flavanones เช่น hemipholin สารกลุ่ม alkaloids hypaphorine และ percatorine เป็นต้น

โครงสร้างมะกล่ำเผือก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำเผือก

จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำเผือก พบว่ามีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของใบมะกล่ำเผือก ในต่างประเทศไม่กี่ฉบับ โดยพบรายงายผลการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งที่ระบุแต่เพียงว่าสารสกัดมะกล่ำเผือก จากใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งแกรมบวกและแกรมลบได้ในหนูทดลอง


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะกล่ำเผือก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าในส่วนของเมล็ดมะกล่ำเผือกนั้น พบสาร Abrin ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันที่พบในเมล็ดมะกล่ำตาหนู ซึ่งเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง หากรับประทานเข้าไปสามารถทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในส่วนของสารสกัดจากใบมะกล่ำเผือกนั้นมีความปลอดภัยโดยมีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของสารสกัดจากใบมะกล่ำเผือก พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำเข้าช่องท้องหนูขาวเพศผู้และเพศเมีย รวมถึงหนูถีบจักรเพศผู้ และเพศเมียพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 1.2, 1.4, 1.1 ก./กก. ตามลำดับ แต่เมื่อพบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 5 ก./กก. จึงนับว่าปลอดภัย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ห้ามใช้เมล็ดมะกล่ำเผือก เป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะรูปแบบอาหารรับประทานเพราะมีพิษเหมือนเมล็ดมะกล่ำตาหนู ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ในการใช้ส่วนอื่นๆ ของมะกล่ำเผือกเป็นยาสมุนไพร ในรูปแบบการรับประทานก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นกัน โดยก่อนใช้จะต้องเอาเมล็ดออกให้หมดก่อนเพื่อความปลอดภัย


เอกสารอ้างอิง มะกล่ำเผือก
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. มะกล่ำเผือก. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย -จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 422.
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร, ทรงศรี แก้วสุวรรณ. มะกล่ำสมุนไพรที่ใช้แต่งรสหวาน. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 21 ฉบับที่ 4. กรกฎาคม 2547. หน้า 5-7
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. มะกล่ำเผือก. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 145.
  4. มะกล่ำเผือก. หนังสือสมุนไพรสวนสิธีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล) หน้า 30
  5. Kim NC. Kim DSHL. Kinghorn AD. New triterpenoids from the leaves of Abrus precatorius Nat Prod Lett 2002;16(4):261-6.
  6. Tewtrakul S, Subhadhiracakul S, Ratanasuwan P. HIV-1 protease inhibifory effects of some selected plants in Caesapinoaceae and Papillionaceae. Songkianakarin J Sci Technol 2003; 25:509-14.
  7. Fullas F, Choi YH, Kinghorn AD, Bunyapraphatsara N. Sweet-tasting triterpene glycoside constituents of Abrus fruticulosus. Planta Med 1990:56(3):332-3.
  8. Karawaya MS, El-gengaihi S, Wassel G. lbrahim N. Phytochemical studies of Abrus pricatorius alkaloids. Herba Hung 1980.19(3)21-5.
  9. Ammuoypol S. Chaichantypyuth C. Bavovada R, Chemical constituents in the leaves of abrus precatorius L. Thai J Pharm Sci 1986:11(4):197-203.