สารภี ประโยชน์ดีๆสรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
สารภี งานวิจัยและสรรพคุณ 19ข้อ
ชื่อสมุนไพร สารภี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สารภีแนน,สารปี (ภาคเหนือ),สร้อยภี(ภาคใต้),ทรพี(ภาคตะวันออก,จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis (Miq.) T. Anderson
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calysaccion siamense Miq.
ชื่อสามัญ Negkassar
วงศ์ CALOPHYLLACEAE
ถิ่นกำเนิดสารภี
สารภีจัดเป็นไม้ประจำถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศต่างๆในแถบนี้ เช่น พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมักพบได้ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศแต่ส่วนมาก มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามป่าดงดิบทางภาคเหนือ ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง ทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้มักจะพบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20-400 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณสารภี
- บำรุงหัวใจ
- บำรุงกำลัง
- บำรุงเส้นประสาท
- แก้โลหิตพิการ
- แก้ไข้มีพิษร้อน
- ช่วยขับลม
- ทำให้เจริญอาหาร
- บำรุงหัวใจ
- เป็นยาชูกำลัง
- มีฤทธิ์ขับลมและฝาดสมาน
- รักษาธาตุไม่ปกติ
- ช่วยทำให้ชื่นใจ
- ช่วยบำรุงครรภ์
- เป็นยาแก้ไข้
- ช่วยขยายหลอดเลือก
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
- แก้อาการแพ้คันจากพิษของต้นหมามุ่ย
- แก้อาการหน้ามืดตาลาย
ส่วนต่างๆ ของสารภีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายประการ เช่น เนื้อไม้ มีความแข็งแรงและค่อนข้างทนทาน สารมารถนำมาใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เช่น การทำเสา ฝา รอด กระดานพื้น รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ฯลฯ ดอกตูม ใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง ดอกสด สามารถนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอางต่างๆได้ ดอกแห้ง ใช้ทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา นำมาแช่ในน้ำจะได้น้ำหอมสำหรับไว้ใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์ ผลมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ทำน้ำผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปสารภี
สารภีจัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบแผ่กว้าง เปลือกสีเทาหรือเทาปนน้ำตาล แตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกชั้นในสีแดงเข้ม มีน้ำยางสีคล้ายน้ำนม เมื่อทิ้งให้สัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-6.5 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบแคบหรือสอบเรียว ปลายใบมนหรือสอบทู่ๆ อาจมีติ่งสั้นๆ หรือหยักเว้าตื้นๆ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้งสองด้าน สีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นแขนงใบจำนวนมาก ไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 0.5-1 ซม. เกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อ ช่อเดียวหรือหลายช่อตามกิ่ง สีขาว กลิ่นหอมมาก เมื่อใกล้โรยดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านดอกยาว 0.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ เกือบกลม โค้งเป็นแอ่ง โคนเชื่อมติดกัน ติดทน และขยายโตตามผล กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 7-8 มม. มีเส้นตามยาว เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปขอบขนาน สีเหลืองเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมีย เป็น 3 แฉก ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือรูปกระสวย กว้าง 0.8-2.5 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม มีเนื้อสีเหลืองหรือสีแสดหุ้มเมล็ด ก้านผลยาว 1.4-1.6 ซม. ผลแก่แตกออกได้ ส่วนเมล็ดมี 1 เมล็ด ขนาดใหญ่ แข็ง
การขยายพันธุ์สารภี
สารภีสามารถขยายพันธ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งสามารถทำได้เหมือนการเพาะเมล็ดและตอนกิ่งพืชทั่วๆไป เมื่อได้ต้นกล้าหรือกิ่งตอนที่พร้อมปลูกแล้วให้ปลูกในขนาดระยะ 50x50x50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ดินร่วน ในอัตรา 1:3 ผสมดินปลูก ทั้งนี้สารภีเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินร่วนซุยและต้องการปริมาณน้ำปานกลาง และต้องการแสงแดดอ่อนๆ ดังนั้นควรให้น้ำ 4-5 วัน/ครั้ง และควรปลูกในที่ร่มรำไร หรือที่ๆ แดดไม่จัดมาก
องค์ประกอบทางเคมี
การศึกษาพฤกษเคมีของดอกสารภีพบสาร กลุ่มฟีนิลคูมาริน (phenylcoumarin) 2 ชนิด คือ 6-butyryl-5-hydroxy-4-phenylsesrlin และ 6-butyryl-5,7-dihydroxy-8-(3,3-dimethlallyl)-4-phenylcoumarin นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มโพรแทนโทไซยานิดินส์ (proanthocyanidins) ซึ่งแสดงฤทธิ์ฆ่าปลา และหอย ส่วนใบสารภีพบสารอาเมนโตผลาโวน (amenntoflavone) อันเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบสาร 1,2-dimethoxy-5-hydroxyanthone อันเป็นสารกลุ่มแซนโทน จากส่วนกิ่งสารภี และมีรายงานการศึกษาวิจัยในไทยยังพบสาร Mammeacetamide ในผลดิบอีกด้วย
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสารภี
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้สารกลุ่ม 4-alkylcoumarin, 4-phenyl-coumarin หลายชนิด, สารกลุ่ม triterpenoid เช่น friedelin และสาร ß-sitosterol, stigmasterol, campesterol และ C-glucosyl flavone เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
สารภีมีการใช้เป็นสมุนไพรทั้งแบบยาเดี่ยวและแบบจัดเข้าในตำรับยาและพิกัดยาต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะถูกจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของตำรับยาต่างๆมากกว่า ดังนั้นขนาดและวิธีการใช้จึงต้องใช้ตามตำรับยาชนิดนั้นๆ เช่น ยาเขียวหอม ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 กรัมทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเป็นต้น หรือตามตำรายาไทยมีการใช้ดอกสารภี (ไม่ระบุขนาด) ผสมยาหอม ใช้ แก้ลม เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โลหิตพิการ แก้ไข้ มีพิษร้อน
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารภียังมีไม่มากแต่มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารภีมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว การศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งเลือดขาวจากดอกสารภี โดยการทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งที่แยกได้จากสมองมนุษย์ ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ยับยั้ง P-glycoprotein ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยับยั้งการขนส่งยาเคมีบำบัดผ่านไปยังเนื้องอกที่สมอง ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดดอกสารภีด้วยเฮกเซน ที่ความเข้มข้น 10 μg/ml สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด leukemia ได้ 99±0.8% และยับยั้ง P-glycoprotein โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 0.3 ±0.3 μg/ml ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ของสารกลุ่มคูมาริน ที่แยกได้จากดอกสารภี พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (MDA-MB-231) เนื้องอกที่สมอง (U-251) เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HCT-116) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (CCRF-CEM) ได้ โดยสารส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน vincristine ค่า% การยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิด ของสารคูมาริน mammea A/AA เท่ากับ 58.9±0.8, 27.7±3.2, 73.5±4.9, 78.1±0.8 สาร MSH1 เท่ากับ 82.4.±0.9, 78.8±1.6, 97.6±0.6, 96.0±1.1 และสารมาตรฐาน vincristine เท่ากับ 51.5±12.9, 71.0±2.5, 54.8±9.4, 44.2±8.5 ตามลำดับ
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการใช้ยาในตำรับที่มีดอกสารภีเป็นส่วนประกอบผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรหลีกเลี่ยงการใช้
- ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาของสารภีแต่ในการใช้ควรคำนึงถึงความปลอดภัย คือ ไม่ควรใช้ในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป
- สำหรับการใช้ดอกสารภีเพื่อต้องการสรรพคุณทางยา ควรเลือกใช้ให้ถูกชนิดเพราะมีพืชอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกันที่เรียกกันว่าสารภีดอกใหญ่
เอกสารอ้างอิง
- ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์.สารภี.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอขาวบ้าน.เล่มที่361.พฤษภาคม.2552
- เสงี่ยม พงษ์บุญรอด.2522.ไม้เทศเมืองไทย.พระนคร:เกษมบรรณกิจ.
- คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “สารภี“. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้าที่ 181.
- ศุภชัย ติยวรนันท์ และคณะ.สารเซทาไมค์ชนิดใหม่จากสารภี.A New Acetamide from Mammea Siamensis Kosterm.วารสารวิจัย มข.ปีที่8 ฉบับที่ 2.หน้า18-22
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “สารภี (Saraphi)“. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้าที่ 301.
- ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: ส านักงานหอพรรณไม้ ส านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.https://medthai.com/สารภี/
- สารภี,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage=292
- สารภี.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=165
- Noysang C, Mahringer A, Zeino M, Saeed M, Luanratana O, Fricker G, et al. Cytotoxicity and inhibition of P-glycoprotein by selected medicinal plants from Thailand. J Ethnopharmacology. 2014;155:633–641.