กระทุ่มนา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระทุ่มนา งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระทุ่มนา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระทุ่มน้ำ, กระทุ่มดง (ภาคกลาง), ตุ้มน้อย, ตุ้มน้ำ, ตุ้มแซะ (ภาคเหนือ), ท่อมนา, ท่อมขี้หมู (ภาคใต้), กุ่มพาย (ภาคอีสาน), กาตูม, ตำ (ส่วย, เขมร)
ขื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna diversifolia (Wall. Ex G.Don) Haril
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mitragyna diversifolia var. microphylla (Kurz) Craib
ชื่อสามัญ Mitragyna Korth
วงศ์ RUBIACEAE


ถิ่นกำเนิดกระทุ่มนา

กระทุ่มนา จัดเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่บริเวณ จีนตอนใต้ พม่า อินเดีย ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย พบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นได้มากในป่าเบญจพรรณชื้นที่ค่อนข้างโปร่ง ป่าดิบ และป่าผลัดใบ บริเวณใกล้กับแหล่งน้ำ และตามที่โล่งทุ่งนา หรือ ป่าบึงน้ำจืด ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณกระทุ่มนา

  • ใช้แก้ท้องร่วง
  • แก้ปวดมวนท้อง
  • แก้บิดมูกเลือด
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ใช้ลดอาการบวมน้ำที่เกิดจากโรคไต
  • แก้มะเร็ง
  • แก้คุดทะราด
  • แก้โลหิตตกทวาร หนักเบา
  • แก้ไข้ในช่วงฤดูฝน
  • แก้ลมอัควารันตวาโย
  • แก้มูกเลือด
  • แก้ท้องมาน
  • ใช้เป็นยาถ่ายยาระบาย
  • ป้องกันทารกสำรอกในระยะ 6 เดือน
  • รักษาโรคผิวหนังทุกชนิด

         มีการนำส่วนต่างๆ ของกระทุ่มนา มาใช้ประโยชน์หลายด้านดังนี้ ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการปลูกกระทุ่มนาเพื่อนำลำต้นมาทำอุตสาหกรรมไม้ซุง รวมถึงมีการนำเนื้อไม้ไปทำเยื่อกระดาษอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำกระทุ่มน้ำมาปลูกเป็นไม้ประดับในที่ลุ่มน้ำท่วมขัง หรือ ใช้ปลูกเป็นไม้ประธานเพื่อการจัดสวน เนื่องจากกระทุ่มนาเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นเปลาตรง เรือนยอดกลมทึบมีดอกสีเหลืองพราวไปทั้งต้นอีกทั้ง ดอกยังมีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางวัน และแรงขึ้นในช่วงพลบค่ำอีกด้วย

กระทุ่มนา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

- ใช้ลดความดันโลหิต แก้ท้องร่วง ปวดมวนท้อง โดยนำใบสดของกระทุ่มนา มาเคี้ยวกินน้ำ หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้

- ใช้ลดอาการบวมน้ำที่เกิดจากโรคไตโดยนำใบกระทุ่มนากับใบโพธิ์ขี้นกมาต้มกับน้ำดื่ม

- ใช้แก้บิดมูกเลือด โดยนำเปลือกลำต้นกระทุ่มนาน้ำมาต้มกับน้ำดื่ม

- ใช้รักษาโรคผิวหนังทุกชนิด แก้มะเร็งคุดทะราด โดยใช้เปลือกลำต้นมาต้มกับน้ำตบหรือใช้ชำระล้างบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของกระทุ่มนา

กระทุ่มนา จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูง 8-15 เมตร เรือนยอดทรงพุ่มเป็นทรงพุ่มกลม แตกกิ่งแขนงต่ำ ลำต้นเปลาตรง หรือ อาจคดเล็กน้อย เปลือกลำต้นด้านนอกเป็นสีเทาอ่อน และมักจะหลุดออกเป็นแผ่นเล็กๆ ทำให้ดูเปลือกขรุขระ และยังมีรูระบายอากาศขนาดใหญ่ทั่วไป ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อนใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปรีกว้างเกือบกลม กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร โคนใบโค้งหรือสอบแคบ ปลายใบโค้งมน ขอบใบเรียบ ส่วนใบบริเวณปลายกิ่งมักเป็นรูปใบหอกหรือใบหอกกว้าง โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลมเรียวขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยง มีเส้นใบเห็นได้เด่นชัด จำนวน 8-12 คู่ มีหูใบระหว่างก้านใบ 1 คู่ รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ยาว 0.5-1.3 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.6-1.3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นซ้อน 3 ชั้น ในระนาบเดียวกันบริเวณซอกใบ หรือ ปลายกิ่งโดยจะออก สลับกับตรงข้าม และมีใบประดับขนาดใหญ่แซมห่างๆ ทุกชั้น บริเวณส่วนล่างของช่อ  ดอกเป็นสีเหลืองแบบกระจุกแน่น กลิ่นหอมแรง เมื่อดูรวมกันแล้วเหมือนดอกกลม มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งในแต่ละช่อจะมีดอกเล็ก ไม่มีก้านดอก แต่มีกลีบรองกลีบดอกเล็กมาก ติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบตัด โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีก้านเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกส่วนก้านช่อดอกมีลักษณะกลมแยกออกทำมุม 45 องศา ที่โคนก้านดอกแต่ละชั้น โดยก้านช่อดอกแต่ละชั้นจะยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตรผล เป็นผลแห้งแตกมีลักษณะรูปไข่ขนาดเล็กแข็ง ผิวขรุขระ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร อัดรวมกันเป็นก้อนกลม เมื่อผลแห้งจะแตก ด้านในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีปีกเป็นแผ่นใส

กระทุ่มนา

กระทุ่มนา

การขยายพันธุ์กระทุ่มนา

กระทุ่มนา สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนดิ่น ซึ่งในปัจจุบันก็นิยมขยายพันธุ์ทั้ง 2 วิธี โดยการเพาะเมล็ดมีข้อดีตรงที่จะได้ระบบรากแก้วที่แข็งแรง และทรงต้นที่สวย ส่วนวิธีการตอนกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ง่าย และมีอัตราการออกรากสูง 80-100% ทั้งนี้กระทุ่มนาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ชายน้ำ ยังจัดเป็นไม้โตเร็วที่ชอบแสงแดดจัด และทนต่อน้ำท่วมขังได้มากกว่า 2 เดือน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกต้นรวมถึงสารสกัดจากเปลือกต้นของกระทุ่มนา ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ สารกลุ่ม Alkaloids ประเภท indole alkaloids เช่น mitraphylline, mitradiver sifoline, isospe cionoxeine, specionoxeine-N(4)-oxide, 7-hydroxyisopaynantheine, 3-dehydropaynantheine, 3- iso paynantheine-N(4)-oxide, 3-isopaynantheine, mitrafoline, mitraciliatine, speciociliatine N(4)-oxide, isocorynoxeine, isorhynchophylline, specionoxeine, rotundifoleine และ corynoxeine

          นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม Triterpenoids จากเปลือกต้นของกระทุ่มนา ได้แก่ 3-oxo-6,19-dihydroxy-urs12-en-28-oic acid, 3α,6β,19α-trihydroxy-urs12-en-28-oic acid, 3β,6β,19α-trihydroxy-urs-12-en-28-oic acid, 3β,6β,19α-trihydroxy-urs-12-en-24,28-dioic acid 24-methyl ester, 23-nor-24-exomethylene3β,6β,19α-trihydroxy-urs-12-en-28-oic acid, 3β,6β,19α,24-tetrahydroxy-urs-12-en-28-oic acid, rotundic acid และ pololic acid เป็นต้น

โครงสร้างกระทุ่มนา

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระทุ่มนา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเปลือกลำต้นของกระทุ่มนาระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง มีการศึกษวิจัยพบว่า สารกลุ่ม Triterpenoids ที่แยกได้จากเปลือกต้นของกระทุ่มนา ได้แก่ สาร 3β,6β,19α,24- tetrahydroxy-urs-12-en-28-oic acid มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง MCF-7 (breast cancer) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 35.4±1.4 µM สาร rotundic acid มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง HT-29 (colon tumor) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 33.3±2.1 µM ใน ขณะที่สาร 23-nor-24-exomethylene-3β,6β,19αtrihydroxy-urs-12-en-28-oic acid มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง MCF-7 และ HT-29 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 24.4± 0.9 และ 24.3±1.7 µM ตามลำดับ เปรียบเทียบกับยา cisplatin ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 18.7± 0.3 และ 6.4±0.2 µM ตามลำดับ

           ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอร์เรส มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารกลุ่ม Indole alkaloids ที่แยกได้จากเปลือกต้นของกระทุ่มนา ได้แก่ 7-hydroxyisopaynan theine, 3-dehydropaynantheine, 3-isopaynantheine-N(4)-oxide, 3-isopaynantheine, mitra ciliatine, speciociliatine N(4)-oxide มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีน เอสเทอร์เรส โดยมีค่า IC50 (half maximal inhibitory concentration) เท่ากับ 10.3±1.3, 4.1±1.0, 55.4±5.8, 120.8±17.1, 5.2±1.2, 10.2±0.5 µM ตามลำดับ เปรียบเทียบกับยา galanthamine ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 1.3± 0.2 µM

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยระบุว่า ใบ เมื่อเคี้ยวมีรสขม ในส่วนของใบกระทุ่มนามีสารอัลคาลอยด์หลายชนิด ที่มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดประสาท และกล้ามเนื้อในสัตว์ทดลองอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระทุ่มนา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระทุ่มนา เป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังในการใช้เนื่องจากกระทุ่มนาเป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระท่อม และส่วนใบก็มีสารออกฤทธิ์คล้ายกับใบกระท่อม แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้เช่นกัน


เอกสารอ้างอิง กระทุ่มนา
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “กระทุ่มนา”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 59.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1, 488 หน้า (43)
  3. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2540. ไม้ดอกหอม เล่ม 1. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. พิมพ์ครั้งที่ 5. 160 หน้า (26)
  4. ราชบัณฑิตยสถาน.หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ห้างจำกัด อรุณการพิมพ์. 2546.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “กระทุ่มนา (Kra Thum Na)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 31.
  6. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ. 336 หน้า (9)
  7. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพรไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.2540.
  8. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001. 810 p. (362)
  9. เดชา ศิริภัทร.กระทุ่ม, ดอกไม้แห่งทรงผมของสาวไทยสมัยก่อน.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 309. มกราคม 2548.
  10. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ:บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). 2552.
  11. นิจศิริ เรืองรังสี, ชัยศักดิ์ จันศรีนิยม, นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน, การศึกษาวิจัยสมุนไพร, กระทุ่มนาเพื่อประเมินคุณค่าและความสำคัญประกอบการพิจารณาในการประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. 28 หน้า
  12. บุษบา ประภาสพงศ์ และคณะ. แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว. 2547.
  13. CAO X-F, WANG J-S, WANG P-R, KONG L-Y. Triterpenes from the stem bark of Mitragyna diversifolia and their cytotoxic activity. Chinese Journal of Natural Medicines.2014;12(8):628–31.
  14. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ), ราชันย์ ภู่มา และคณะ, หน้า 22, พ.ศ.2559, โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรุงเทพฯ
  15. Cao X-F, Wang J-S, Wang X-B, Luo J, Wang H-Y, Kong L-Y. Monoterpene indole alkaloids from the stem bark of Mitragyna diversifolia and their acetylcholine esterase inhibitory effects. Phytochemistry. 2013;96:389–96.