มะละกอ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะละกอ งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะละกอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะก๊วยเต๊ด (ภาคเหนือ), บักหุ่ง (ภาคอีสาน), ลอกอ (ภาคใต้), กล้วยลา (ยะลา), มะเต๊ะ (ปัตตานี), แตงต้น (สตูล), หมากซางพ่อ (ไทยใหญ่), สะกุยเส่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L
ชื่อสามัญ Papaya
วงศ์ CARICACEAE
ถิ่นกำเนิดมะละกอ
มะละกอเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกากลาง โดยมีการสันนิษฐานกันว่าได้กระจายพันธุ์เข้ามาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และทวีปเอเชียราวปลายศตวรรษที่ 10 ประเทศ ที่ฟิลิปปินส์เป็นที่แรก สำหรับประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่า มะละกอถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรก ตั้งแต่เริ่มติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จากนั้นจึงกระจายพันธุ์โดยการถูกนำไปปลูกในทุกภาคของประเทศไทย และในปัจจุบันก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกหมู่บ้านทุกภาคของประเทศไทยจนกลายเป็น “ผักผลไม้” ยอดนิยมชนิดหนึ่งของไทยไปแล้ว
ประโยชน์และสรรพคุณมะละกอ
- บำรุงหัวใจ
- รักษาผดผื่นคัน
- รักษาแผลพุพอง
- รักษาแผลอักเสบ
- แก้ขัดเบา
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยป้องกันนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- แก้ปวดกล้ามเนื้อ
- รักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ช่วยขับถ่ายพยาธิ
- แก้กระหายน้ำ
- ใช่เป็นยาระบายอ่อนๆ
- รักษาแผลไฟไหม้
- รักษาแผลน้ำร้อนลวก
- ใช่บำรุงธาตุ
- ช่วยบำรุงประสาท และสมอง
- แก้ธาตุไม่ปกติ
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้กระเพาะอาหารอักเสบ
- แก้ลักปิดลักเปิด
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- แก้ปวดฟัน
- ถ่ายพยาธิไส้เดือน
- รักษาโรคกัดหูด
- ใช้ลบรอยฝ้าบนใบหน้า
- รักษากลากเกลื้อน
มะละกอถูกนำมาใช้บริโภคเป็นผักได้หลายส่วนด้วยกัน เช่น ผล(ดิบ) ยอด และใบ แต่ส่วนที่ใช้มากที่สุด คือ ผล ซึ่งอาจนำผลดิบมาใช้บริโภคดิบ นำมาปรุงอาหาร นอกจากนี้ยังมีการนำเนื้อมะละกอดิบมาดองเป็นผักดอง หรือ นำมาดองเกลือ ตากแห้ง เป็นตังฉ่าย ใช้ปรุงอาหารจีนก็ได้ ส่วนยอดอ่อนก็สามารถนำมาดองรับประทานได้เช่นกัน อีกทั้งผลสุกก็นิยมนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ซึ่งมีรสหวานหอมอร่อย และมีคุณค่าคุณประโยชน์มากอีกด้วย
นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีการนำเอนไซม์ปาเปน (papain) ที่พบในยางมะละกอ มาใช้ในกระบวนการหมัก เบียร์ไวน์ และน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่ม เพื่อทำให้ใส เนื่องจากเอนไซม์ปาเปนจะทำหน้าที่ย่อยโปรตีนโมเลกุลใหญ่ที่แขวนลอยในสารละลาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดตะกอนขุ่น ให้มีโมเลกุลเล็กลงส่งผลให้ได้สารละลายที่ใสไม่ขุ่นเมื่อเก็บรักษาไว้นาน หรือ ในอุณหภูมิต่ำ และนำมาผลิตผงหมักเนื้อสำเร็จรูปที่ทำให้เนื้อนุ่ม (meat tenderizer) โดยใช้เอนไซม์ปาเปนนำมาคลุกเคล้ากับเนื้อสัตว์เพื่อย่อยเนื้อสัตว์ที่เหนียวให้นุ่ม และเปื่อยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง จะผสมเอนไซม์ปาเปนในน้ำยาแช่หนังเอนไซม์ปาเปนจะทำให้หนังเรียบ และนุ่มส่วนอุตสาหกรรมทอผ้ามีการใช้เอนไซม์ปาเปนในการฟอกไหมโดยมีผลทำให้ไหมหมดเมือก และในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางก็มีการใช้เอนไซม์ปาเปนเป็นส่วนผสมเช่นกันเนื่องจากเอนไซม์ปาเปน มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดรอยแผลได้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะละกอ
ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ, แก้ธาตุไม่ปกติ, เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร แก้กระเพาะอักเสบ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ลักปิดลักเปิด โดยใช้ผลสุก รับประทานเป็นผลไม้ ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ โดยใช้เนื้อมะละกอดิบ ประกอบอาหาร (ทั้งแบบปรุงสุก หรือ ปรุงแบบดิบ) แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ ป้องกันนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ รากแห้งอีกครึ่งกำมือ หั่นแล้วนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหาร
- ใช้รักษาเท้าบวม โดยนำใบมะละกอสดๆ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก โดยใช้รากมะละกอนำมาตำให้แหลกแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาทาบริเวณที่เป็น
- ใช้ลดอาการปวดบวม โดยนำใบมะละกอสดๆ ไปย่างไฟ หรือ ใช้น้ำร้อนลวก แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ
- ใช้รักษาแผลพุพอง อักเสบ โดยใช้ใบมะละกอที่แห้งกรอบมาบดให้เป็นผง นำไปผสมกับน้ำกะทิผสมให้พอเหนียว แล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง
- ใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง โดยใช้รากมะละกอตัวผู้นำมาแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำมาทาบริเวณที่กล้ามเนื้อ หรือ บริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาโรคกลาก เกลื้อน เท้าเปื่อย โดยใช้ยางมะละกอดิบมาทาวันละ 3 ครั้ง
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้เนื้อมะละกอดิบๆ ต้มจนเปื่อย นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของมะละกอ
มะละกอไม้ล้มลุก เนื้ออ่อน อายุหลายปี ลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้าน สูง 3-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ (แต่มีร่องรอยของใบที่หลุดร่วงไปเลย ทำให้ดูเหมือนลำต้นขรุขระ) สีน้ำตาลออกขาว ไม่มีแก่น มียางขาวข้น ใบเป็นใบเดี่ยวมีแฉกลึก 5-9 แฉก ก้านใบยาว ออกแบบเรียงสลับรอบต้น โดยจะเกาะกลุ่มอยู่ด้านบนสุดของลำต้น ใบเป็นรูปฝ่ามือมีขอบเว้าแฉกลึกลงถึงด้านใบ ซึ่งใบจะมีขนาด 80-120 เซนติเมตร ส่วนก้านใบเป็นหลอดกลวงยาว 25-100 เซนติเมตร โดยทั้งภายในก้านใบ และใบมียางเหนียวสีขาว ดอก เป็นดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวห้อยลง มีก้านดอกยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยวก้านดอกสั้นหรือไม่มีก้านดอกเลย กลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ ทั้งนี้มะละกอบางต้นอาจมีดอกเพียงเพศเดียว แต่บางต้นอาจมีดอกทั้งสองเพศก็ได้ ผล เป็นแบบผลเนื้อมีหลายขนาดรูปทรงตั้งแต่กลม รี และยาว แบบกระสวย ขนาดของผล มีหลายขนาดแล้วแต่สายพันธุ์ ผลดิบมีเปลือกสีเขียวและมียางสีขาวจำนวนมาก และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงแสดเมื่อสุก เนื้อในผลเมื่อดิบมีสีขาวรสจืดเมื่อสุกมีสีเหลืองถึงแสดแดงรสชาติหอมหวาน เมล็ดมีลักษณะกลม เมื่อยังอ่อนมีสีขาวผิวขรุชระ เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวใส
การขยายพันธุ์มะละกอ
มะละกอสามารถขยายพันธุ์ได้ หลายวิธี เช่น การเพาะด้วยเมล็ด การปักชำ การติดตา การตอนกิ่ง แต่ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด เพราะทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และขยายพันธุ์ได้ครั้งละจำนวนมาก แต่จะต้องใช้เมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น และสมบูรณ์ที่สุด โดยมีวิธีการดังนี้
เริ่มจากคัดเอาเมล็ดแก่ของมะละกอที่ตัดไว้ ตากให้แห้งแล้วจึงนำไปเพาะกับวัสดุเพาะชำโดยสามารถทำได้ 3 แบบ คือ
1. การเพาะเมล็ดใส่ถุง
2. การเพาะเมล็ดลงแปลงเพาะแล้วย้ายใส่ถุง
3. การเพาะเมล็ดลงกระบะพลาสติก
จากนั้นรดน้ำดูแลจนต้นกล้ามีอายุ 1 เดือน หรือ มีใบแท้ 5-6 คู่ ขั้นตอนต่อไป คือ การเตรียมหลุมปลูก โดยทำการขุดหลุม กว้าง ยาว ลึก อย่างละประมาณ 40-50 เซนติเมตร และปล่อยตากแดดประมาณ 4-7 วัน ก่อนปลูกให้รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักหรือมูลสัตว์ ส่วนระยะปลูกควรมีระยะปลูกที่ 3×3 เมตร หรือ 2.5×3เมตร ต่อต้น ทั้งนี้การปลูกมะละกอนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน หรือ กลางฤดูฝนเพื่อให้ต้นกล้ามะละกอตั้งตัวได้เร็ว ในพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะละกอ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิดดังนี้ ส่วนของเนื้อมะละกอ β-carotene, lutene, kryptoxanthin, violaxanthin, zeaxanthin, malic acid, Tartaric acid, citric acid และ pectin ในยางมะละกอ พบเอนไซม์ thiol protease หลายชนิดเช่น papain (โดยพบมากที่สุดผลดิบอายุ 70-100 วัน) chymopapain A, B, glycyl endopeptidase และ caricain เป็นต้น ส่วนในใบพบสาร glycoside ที่ชื่อ carposide และสาร alkaloid ที่ชื่อ capaine และในเมล็ดยังพบสาร benzy l isothiocyanate อีกด้วย
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะละกอ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมะละกอหลายฉบับดังนี้
มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในมะละกอ พบว่ามะละกอมีสารต้านอนุมูลอิสระ สูงสุดเมื่อสุกงอม เนื่องจากคลอโรฟิลล์สีเขียวเปลี่ยนเป็นสารไม่มีสีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างดีเยี่ยมชนิดหนึ่งที่ เรียกว่า NCCs (nonfluorescing chlorophyll catabolytes) ซึ่งพบสะสมบริเวณเปลือกผลและใต้ผิวเปลือก และยังมีการศึกษาวิจัย โดยนำสารละลายมะละกอหมัก (fermented papaya preperation ; FPP) ที่ความเข้มข้น 0 -10 มก./มล. มาทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์อิสระ และในเซลล์เลือดของผู้ป่วยที่เป็นธัลลัสซีเมีย โดยใช้ 2′-7′-dichlorofluorescin-diacetate (DCF) พบว่า สารกสัดมะละกอสามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์อิสระทั้งใน DCF ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดออกซิเดชันด้วย hydrogen peroxide และใน spontaneous DCF oxidation และในเซลล์เลือดของผู้ป่วยที่เป็นธัลลัสซีเมีย สารสกัดสามารถเพิ่มปริมาณ glutatione ในเซลล์เม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว polymorphonuclear leukocytes (PMN) และลดการเกิดอนุมูลอิสระ reactive oxygen species, lipid peroxidation และ externalization phospatidylserine ซึ่งการออกฤทธิ์เหล่านี้จะมีผลในการลดการแตกของเม็ดเลือดแดงที่เป็นธัลลัสซีเมีย ลดการจับกินของ macrophage ทำให้ PMN สามารถเกิด oxidation burst ซึ่งเป็นกลไกในการทำลายแบคทีเรียภายในเซลล์ และทำให้เกร็ดเลือดทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อทดลองให้ผู้ป่วยที่เป็นเบต้า-ธัลลัสซีเมีย จำนวน 11 คน (เป็น β-thalassemia intermedia 8 คน และเป็น β-thalassemia major 3 คน) กิน FPP ขนาด 3 ก. วันละ 3 ครั้ง นาน 3 เดือน พบว่า FPP สามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระ reactive oxygen species และ lipid peroxidation และเพิ่มระดับ glutathione ทั้งในเม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และ PMN ได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมะละกอ (Carica papaya Linn.) พบว่าสารเคมีหลัก คือ benzyl isothiocyanate ซึ่งพบได้ถึง 99.36% และเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา พบว่าสามารถต้านเชื้อรา Candida ได้แก่ C. albicans, C. glabrata, C. krusei, C. parapsilosis และ C. tropical และเมื่อทดสอบด้วยวิธี disc diffusion และ broth dilution โดยพบว่ามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ inhibition zone อยู่ในช่วง 14.2-33.2 มม. สาร benzyl isothiocyanate สามารถยับยั้ง C. albicans ซึ่งดื้อต่อ fluconazole ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อ (minimal inhibitory concentrations) อยู่ในช่วง 4-16 มคก./มล. และค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อ (minimum fungicidal concentrations) อยู่ในช่วง 16-64 มคก./มล.
ฤทธิ์ขับปัสสาวะ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ขับปัสสาวะของสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ สับปะรด ( Ananas comosus (L.) Merr. ) มะละกอ ( Carica papaya Linn. ) หญ้าคา ( Imperata cylindrica (L.) Raeusch.) มะเฟือง ( Averrhoa carambola Linn. ) หญ้าแห้วหมู ( Cyperus rotundus Linn. ) โดยให้หนูทดลองพบว่า เมื่อให้กินสารสกัดน้ำจากรากสับปะรด และมะละกอในขนาดเทียบเท่ากับสมุนไพรแห้ง 10 g/kg จะทำให้ปริมาณปัสสาวะขึ้น 79% และ 74% ตามลำดับเมื่อเทียบกับยา hydrochlorothiazide ในขนาด 10mg/kg โดยปริมาณอิเลคโทรไลต์ในปัสสาวะเหมือนกับเมื่อได้รับยา hydrochlorothiazide โดยคาดว่ากลไกในการออกฤทธิ์ของมะละกออาจเป็นผลจากปริมาณเกลือที่พบมากในสารสกัด
ฤทธิ์ป้องกันระบบประสาท มีผลการศึกษาวิจัยของฤทธิ์ป้องกันระบบประสาทจากสารสกัดน้ำของมะละกอสุก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์แขกดำ พันธุ์ฮอลแลนด์ และมะละกอดิบพันธุ์แขกดำ ต่อการปลดปล่อย sAPP จากเซลล์สมองของมนุษย์ (SH-SY5Y neuroblastoma cell) และผลต่อฤทธิ์ของ acetylcholine esterase (AChE) ในเซลล์สมอง พบว่า สารสกัดจากมะละกอสุกพันธุ์แขกดำสามารถลดการปลดปล่อย sAPP, sAPPα และ sAPPβ ได้มากที่สุด ส่วนสารสกัดจากมะละกอดิบพันธุ์แขกดำ และสารสกัดจากมะละกอสุกพันธุ์ฮอลแลนด์ ก็สามารถลดการปลดปล่อย sAPP และ sAPPα ได้เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพน้อยกว่า และผลต่อการปลอดปล่อย sAPPβ ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม สารสกัดของมะละกอสุกทั้ง 2 พันธุ์สามารถยับยั้งการทำงานของ AChE ในเซลล์สมองแบบขึ้นกับขนาดที่ให้ ในขณะที่สารสกัดจากมะละกอดิบพันธุ์แขกดำสามารถยับยั้งการทำงานของ AChE ในเซลล์สมองเมื่อให้ในขนาดความเข้มข้นสูงเท่านั้น (5มก./มล.) จากผลการวิจัยทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า สารสกัดน้ำของมะละกอสุกโดยเฉพาะพันธุ์แขกดำ มีฤทธิ์ในการป้องกันระบบประสาทด้วยกลไกในการยับยั้งการทำงานของ AChE และยับยั้งกระบวนการเกิด APP ซึ่งมีผลลดการสร้าง Aβ
ฤทธิ์ป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันเกล็ดเลือดต่ำของใบมะละกอ (Carica papaya L.) ในหนูแรทที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenic) จากการได้รับยาบูซัลแฟน (Busulfan) พบว่าเมื่อป้อนส่วนสกัดอัลคาลอยด์ด้วยปีโตรเลียมอีเธอร์ หรือ ส่วนสกัดอัลคาลอยด์ด้วยเอธิลอะซีเตทจากใบมะละกอ ขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว หรือ สาร carpaine ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ที่แยกได้จากสารสกัดใบมะละกอ ขนาด 20 มก./กก.น้ำหนักตัว ติดต่อกัน 20 วัน สามารถป้องกันการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำในหนูแรทที่ได้รับยาบูซัลแฟนได้ โดยหนูแรทที่ได้รับสารสกัดจากมะละกอทั้ง 3 รูปแบบ จะคงปริมาณเกร็ดเลือดให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปกติ คือ 662.25±33.12x109/ล., 584.02±29.20x109/ล., 555.5±27.77x109/ล. ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ได้ยาบูซัลแฟนจะเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (78.00x109/ล.) โดยไม่พบรายงานการเกิดพิษหรือความผิดปกติในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดมะละกอ
ฤทธิ์คุมกำเนิดเพศชาย มีการศึกษาวิจัยโดยนำสารสกัดเมทานอลจากรากมะละกอ มาแยกต่อด้วยเทคนิคทางโครมาโตกราฟี ทำให้ได้ส่วนสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ (petroleum ether fraction) ซึ่งการทดสอบเบื้องต้นพบว่ามีผลต่ออสุจิมากที่สุด และเมื่อนำมาแยกต่อจนได้ส่วนสกัดจำนวน 3 ชนิด คือ CPFE1, CPFE2 และ CPFM1 จึงนำไปทดสอบฤทธิ์คุมกำเนิดในหนูแรทเพศผู้ โดยให้หนูกินส่วนสกัดดังกล่าวในขนาด 75 มก./กก./วัน ติดต่อกันนาน 28 วัน จากนั้นจึงทำการเก็บตัวอย่างเลือด อสุจิ และชำแหละซากหนูในวันที่ 60 ของการศึกษา โดยเปรียบเทียบผลกับหนูกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำเปล่า ผลการตรวจวิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือดพบว่า CPFE1 และ CPFM1 ทำให้ระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) และ CPFE1 ทำให้ระดับ blood urea nitrogen (BUN) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) แต่ไม่มีผลต่อระดับของผลรวม bilirubin, alkaline phosphatase, alkaline amino transferase, gamma glutamyl transferase และ triglycerides อย่างชัดเจน (p>0.05) ผลการวิเคราะห์ลักษณะของอสุจิพบว่า CPFE1 และ CPFM1 ทำให้ปริมาณของอสุจิ อสุจิที่มีการเคลื่อนไหวปกติ และอสุจิที่มีรูปร่างปกติ มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) รวมทั้งเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของอัณฑะ (testiscular inflammation) ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อจากอวัยวะภายในพบว่า CPFE1 และ CPFM1 ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง (hyperaemia) ในไต และหัวใจเล็กน้อย และทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ตับบางส่วน นอกจากนี้ CPFE1 ยังทำให้เกิดการตายของเซลล์บริเวณเยื่อบุผิว (germinal epithelium) ในอัณฑะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อสุจิมีจำนวนลดลง และอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งได้ทดลองให้หนูขาวเพศผู้กินเบนซีนแฟรกชั่นของสารสกัดคลอโรฟอร์มจากเมล็ดมะละกอ (Carica papaya L.) ขนาด 5 และ 10 มก./ วัน นาน 150 วัน พบว่ามีผลลดจำนวน และลดการเคลื่อนที่ของสเปิร์มใน cauda epididymis นอกจากนั้นยังลดจำนวนสเปิร์มที่มีชีวิต และเพิ่มจำนวนสเปิร์มที่มีลักษณะผิดปกติ โดยเริ่มเห็นผลเหล่านี้ภายหลังให้สารสกัดนาน 60 วัน แต่หลังจากหยุดให้สารสกัดแล้ว 60 วัน ผลต่างๆ ต่อสเปิร์มจึงมีค่ากลับเป็นปกติ
ฤทธิ์รักษาแผลไฟไหม้ มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของเจลยางมะละกอในการรักษาแผลไฟไหม้ในหนูถีบจักรเพศผู้ โดยแบ่งการทดลองเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (negative control) ไม่ต้องทายาชนิดใด กลุ่มที่ 2 ทา Carbopol 974P NF gel กลุ่มที่ 3 และ 4 ทา Carbopol gel ซึ่งประกอบด้วยยางมะละกอแห้งเข้มข้น 1.0 % และ 2.5 % ตามลำดับ กลุ่มที่ 5 (positive control) ทายามาตรฐานครีมที่มี silver sulphadiazine ผสมกับ chlorhexidine gluconate ซึ่งขนาดของยาที่ใช้ในกลุ่มที่ 2 – 5 เท่ากับ 100 มิลลิกรัม/1 ตัว โดยทาวันละ 1 ครั้ง บริเวณแผลไฟไหม้จนกระทั่งแผลหาย ในวันที่ 11 ของการรักษาทำการวัดหาปริมาณ hydroxyproline ในเนื้อเยื่อแผล พบว่ากลุ่มที่ 3 ปริมาณ hydroxyproline เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 1 วัดขนาดของแผลทุกๆ 4 วัน เพื่อหาค่า การหดตัวของแผลพบว่าในวันที่ 12 กลุ่มที่ 4 และในวันที่ 20 กลุ่มที่ 3, 4 และ 5 มีการหดตัวของแผลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้เมื่อวัดค่าการเกิดผิวหนังคลุมบริเวณแผล พบว่า ในกลุ่มที่ 4 ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะละกอ
มีการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัด 80% เมทานอลจากรากมะละกอ (Carica papaya) โดยป้อนหนูแรทในขนาด 500 1,000 1,500 และ 2,000 มก./กก. เพียงครั้งเดียว จากนั้นเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลานาน 24 และ 48 ชม. พบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้หนูตายแต่มีผลต่อพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า การเคลื่อนไหวช้าลง มีอาการเดินเซ และปัสสาวะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเป็นพิษต่ออสุจิของสารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอ (Carica papaya) โดยเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิจากอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดีจำนวน 35 คน จากนั้นนำมาบ่มในหลอดทดลองร่วมกับอาหารเลี้ยง human tubular fluid และ 1% bovine serum albumin ซึ่งมีสารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอความเข้มข้น 0, 0.025, 0.25, 2.5, 25, 250 และ 2,500 มคก./มล. ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง พบว่า สารสกัดทำให้ค่าศักย์ไฟฟ้าบริเวณเยื่อหุ้มไมโตคอนเดรีย (mitochodria membrane potential; MMP) ของอสุจิลดลง, เซลล์อสุจิที่มีการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ภายในเซลล์ (intracellular ROS production) มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเซลล์อสุจิที่ดีเอ็นเอเกิดความเสียหาย (DNA-fragmentation) มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล่านี้บ่งชี้ถึงการเกิดการตายของเซลล์ โดยความรุนแรงจะขึ้นกับขนาดที่ให้ โดยคาดว่าสารที่เป็นพิษต่ออสุจิคือสาร benzyl isothiocyanate
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ผู้ที่รับประทานมะละกอสุกติดต่อกันเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานาน อาจทำให้สารมีสีพวก carotenoid ไปสะสมในร่างกายมากเกินไป ทำให้ผิวมีสีเหลืองแต่จะกลับเป็นปกติ เมื่อหยุดทานสักระยะ ส่วนข้อควรระวังในการใช้เอนไซม์ papain คือ เมื่อนำมาใช้รับประทานในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกที่ผิดปกติ (bleeding disorders) และผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเอนไซม์ปาเปน นอกจากนี้การสัมผัสกับเอนไซม์ปาเปนจากมะละกอดิบโดยตรงอาจจะทำให้เกิดระคายเคือง โดยเฉพาะผิวหนังที่บอบบาง และเยื่อบุเมือก (mucus membrane)
เอกสารอ้างอิง มะละกอ
- เดชา ศิริภัทร.มะละกอผักผลยอดนิยม สารพัดประโยชน์.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 179.มีนาคม 2537
- ยางมะละกอรักษาแผลไฟไหม้.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สมชาย ประภาวัต. ปาเปน เอนไซม์ในอุตสาหกรรมอาหาร.เทคโนโลยี. สิงหาคม-กันยายน 2535. ปีที่19 ฉบับที่ 104 หน้า 42-49
- ฤทธิ์ขับปัสสาวะของสมุนไพรต่างๆ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำของใบมะละกอ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอก่อให้เกิดความเป็นพิษต่ออสุจิ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.มะละกอต้านอนุมูลอิสระ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida ของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมะละกอ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สารสกัดเมล็ดมะละกอมีผลคุมกำเนิดเพศชาย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ผลของมะละกอหมักต่อการลดอนุมูลอิสระในเซลล์เลือดที่เป็นธาลัสซีเมีย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ความเป็นพิษและฤทธิ์คุมกำเนิดเพศชายของรากมะละกอ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- มะละกอ.กลุ่มยาหรือแก้เลือดออกตามไรฟัน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs/_15_4.htm
- การปลูกมะละกออาชีพเงินล้าน.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Ball,A.K.,Thomson,R.R. and Jones,W.W.(1940) Crude papain preparation and properties, Ind. Eng. Chem. 32:1144-1147.
- Chen YY, Lu YH, Ma CH, Tao WW, Zhu JJ, Zhang X. A novel elastic liposome for skin delivery of papain and its application on hypertrophic scar. Biomed Pharmacother. 2017 Mar;87:82-91. doi: 10.1016/j.biopha.2016.12.076. Epub 2016 Dec 29. PMID: 28040601.
- O’ Hara,B,P., Hemmings, A.M., Buttle ,D.J. and Peart ,L., H. (1995) Crystal structure of glycyl endoptidase from carica papaya :A cysteine endopeptidase of unusual substrate specificity Biochemistry 34:13190-13195.
- Rawlings, N.D., Barrett, A.J., Thomas, P.D., Huang, X., Bateman, A. & Finn, R.D. (2018) The MEROPS database of proteolytic enzymes, their substrates and inhibitors in 2017 and a comparison with peptidases in the PANTHER database. Nucleic Acids Res 46, D624-D632.
- Mardihal L., Ortiz,A.,Cook,R.D. and Femandez,R.,(1995) The dependence papain yields on different collection (“tapping”) procedures for papaya Iatex,J.Sci. Food Agric 31:279-285.