ครามใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ครามใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ครามใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ครามป่า, ครามผี, ครามเถื่อน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Indigofera suffruticosa Mill.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Indigofera anil Linn.
ชื่อสามัญ Anil, Westindian indigo, Wild indigo
วงศ์ LEGUMINOSAE
ถิ่นกำเนิดครามใหญ่
ครามใหญ่ จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGOMINOSAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปแอฟริกาต่อเนื่องมาจนถึงเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศเนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย และลาว เป็นต้น จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทยพบครามใหญ่ ได้มากในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมักจะพบตามบ้านเรือน หรือ ตามไร่ตามสวน ที่มีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 35 เมตรขึ้นไป
ประโยชน์และสรรพคุณครามใหญ่
- ใช้เป็นยาดับพิษ
- แก้ไขหวัด
- แก้ไข้ตัวร้อน
- แก้ปวดศีรษะ
- ช่วยบำรุงเส้นผม ป้องกันผมหงอก
- ใช้เป็นยาแก้โลหิต
- แก้หอบหืด
- ช่วยฆ่าพยาธิ
- แก้พิษฝีหนอง
- แก้พิษงู
- ใช้แก้บวมน้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้นิ่ว
ในภาคเหนือมีการนำต้นครามใหญ่ทั้งต้นมาหมักแช่ในน้ำปูนขาวทิ้งไว้ 3 วัน จากนั้นนำผงครามที่ตกตะกอนอยู่ก้นถังมากรองแล้วทำให้แห้ง เพื่อใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำเงิน น้ำเงินแก่ หรือ กรมท่า โดยสีที่ได้จะไม่ตก นอกจากนี้ยังมีการนำต้นครามใหญ่ มาใช้เป็นอาหารตามธรรมชาติของสัตว์แทะเล็มอย่าง โค กระบือ แพะ และแกะ เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ดับพิษ แก้ไข้ตัวร้อน แก้หวัด แก้ปวดศีรษะ โดยนำใบครามใหญ่มาตำพอกกระหม่อม หรือ พันรอบๆ ศีรษะ และต้มกับน้ำดื่มด้วย
- ใช้บำรุงเส้นผม ป้องกันผมหงอก โดยนำใบครามใหญ่สดมาตำพอกให้ทั้งศีรษะ
- ใช้แก้โลหิต แก้หอบหืด ฆ่าพยาธิ โดยนำเปลือกต้นครามใหญ่มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้พิษฝีหนอง แก้พิษงู โดยนำเปลือกต้นครามใหญ่ มาทุบให้แหลกพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้บวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว โดยนำทั้งต้นครามใหญ่มาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของครามใหญ่
ครามใหญ่ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กอายุหลายปี มีความสูงของต้น 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบตั้งแต่โคนต้น ลำต้น เป็นสีน้ำตาลอมม่วง และจะมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมบางๆ
ใบครามใหญ่ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร มี 9-12 ใบ เป็นรูปรี โคนใบรีกลมปลายใบกลมมีติ่งเล็กน้อย ขอบใบค่อนข้างเรียบ หรือ อาจหยักแบบ มีขนครุยขนสีขาวสั้นๆ แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หน้าใบมีขนสีขาวสั้นๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนหลังใบมีขนสีขาวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ขึ้นปกคลุม แผ่นใบนุ่มมีก้านใบย่อยยาว 0.5-1 เซนติเมตร และมีก้านใบรวมยาว 6-9 เซนติเมตร
ดอกครามใหญ่ ออกเป็นดอกเดี่ยวแต่จะบริเวณที่ตาข้างลำต้นจำนวนมาก ช่อดอกยาว 4-10.5 เซนติเมตร โดยใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยประมาณ 10-30 ดอก ลักษณะของดอกย่อยเหมือนดอกทั่วๆ ไป แต่จะมีสีชมพู กลีบดอกมี 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน และมีก้านดอกยาว ประมาณ 1 มิลลิเมตร
ผลครามใหญ่ ออกเป็นฝักเดี่ยวแต่จะออกรวมกันเป็นช่อ มีลักษณะเป็นรูปกลมโค้งงอ มีรอยคอดตื้นๆ ระหว่างข้อ ปลายฝักชี้ลงโดยใน 1 ช่อ จะมีฝักประมาณ 12-34 ฝัก ซึ่งฝักจะมีสีเขียวมีขนาดกว้าง 0.2-0.3 เซนติเมตร ยาว 0.2-1.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จะมีสีดำและจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักเมล็ดสีน้ำตาล รูปทรงกระบอกปลายตัดขนาดกว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร ยาว 2-2.5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลประมาณ 3-4 เมล็ด
การขยายพันธุ์ครามใหญ่
ครามใหญ่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดโดยเริ่มจากการเลือกพื้นที่ปลูกต้องเป็นที่ดอนโล่ง น้ำไม่ท่วมขัง มีแสงแดดเพียงพอ จากนั้นไถพรวน เก็บเศษวัสดุ และวัชพืชออกให้หมด จากนั้นหว่านเมล็ด และเกลี่ยดินกลบบางๆ เพื่อป้องกันมด หรือ แมลง หรือ อาจจะปลูกโดยวิธีหยอดหลุมก็ได้โดยหยอดให้เป็นแถวหลุมละ 3-4 เมล็ด แต่ละแถวห่างกันประมาณ 40-60 เซนติเมตร เมื่อต้นครามใหญ่ งอกเป็นต้นอ่อนเล็กๆ ต้องถอนต้นครามที่ไม่แข็งแรงและที่อยู่ใกล้กันเกินไป อีกทั้งควรดายหญ้าสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีวัชพืชบดบังแสงแดด เนื่องจากครามใหญ่เป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัดไม่ชอบน้ำท่วมขัง
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของครามใหญ่ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ทั้งต้น rutin, epicatechin, gallic acid, quercetin และ indigotin สารสกัดใบครามใหญ่ พบสาร p-coumaricacid, Quercetin, Vanillin, Syringicacid, Syringaldehyde, Salicylicacid, Isoliquiritigenin และ Formononetin ส่วนสารสกัดจากเมล็ดครามใหญ่ ยังพบสาร indigo และ indirubin อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของครามใหญ่
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดครามใหญ่ จากส่วนต่างๆ ของครามใหญ่ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัย โดยการทดสอบฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารของส่วนสกัดเอธิล อะซิเตท (Ethyl acetate fraction; AcF) ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเมธานอลของใบครามใหญ่ (Indigoferasuffruticosa) และครามย้อม (Indigofera tinctoria Linn.) ในหนูแรทเพศผู้ โดยให้หนูกินสารสกัด AcF ทั้ง 2 ชนิด ในขนาด 20, 25 และ 100 มก./กก เปรียบเทียบกับการได้รับยา lansoprazole ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารขนาด 30 มก./กก หลังจากนั้น 1 ชม. จึงเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการกิน 99.5% เอธานอล 1 มล. และหลังจากนั้นอีก 1 ชม. จึงฆ่าหนูเพื่อวิเคราะห์ผล พบว่าสารสกัด AcF ที่ทั้ง 2 ชนิด ขนาด 100 มก./กก สามารถยับยั้งการถูกทำลายที่บริเวณชั้นเยื่อบุผนังของกระเพาะอาหารซึ่งเกิดจาก 99.5% เอธานอล ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบผลกับการที่หนูได้รับเพียงน้ำกระสายยาอีกทั้งสารสกัด AcF ยังไม่มีผลกับการหลั่งกรด แต่เพิ่มการสร้าง prostaglandin E2 (PGE2) และสารเมือกในกระเพาอาหาร โดยที่กลไกการออกฤทธิ์ของ AcF จะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการสร้างเซลล์ (proliferating cell nuclear antigen; PCNA) และ heat shock protein (HSP 70) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีผลในการปกป้องกระเพาะอาหาร และยังมีการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดใบครามใหญ่ด้วยวิธี DPPH assay, ABTS assay และ FRAP assay พบว่าสารสกัดใบครามใหญ่ ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95% มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีเมื่อเทียบกับสารสกัดใบครามใหญ่ ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% และน้ำครามโดยจากการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay และ ABTS assay พบว่าสารสกัดใบครามใหญ่ ที่สกัดด้วย 95% แอลกอฮอล์ มีค่า IC50 เท่ากับ 26.14±0.29 และ 19.88±0.93 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัมตามลำดับ และการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี FRAP assay มีค่าการต้านอนุมูลอิสระ เท่ากับ 239.73±0.17 mg FeSO4 equivalent/g extract ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า สารสกัดครามใหญ่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง เนื่องจากมีสารประกอบหลัก เช่น Gallic acid, Quercetin, Epicatecin, Rutin เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบได้ดี นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดทั้งต้นของครามใหญ่ ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของครามใหญ่
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ครามใหญ่เป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ครามใหญ่
- เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) กรุงเทพ. ห้างหุ้นส่นจำกัดฟันนี่พับบลิชชิง, 2523.
- นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร.(2539) สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (1). กรุงเทพฯประชาชนจำกัด
- สะอาด บุญเกิด, จเร สดากร และพิทย์พรรณ สดากร ชื่อพรรณไม้ในประเทศ กรุงเทพ . พ.จิระการพิมพ์,2525
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. คราม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 167-168.
- ประทีป มีศิลป์ ไม้ย้อมสีสีที่มีคุณค่าของไทย เอกสารเผยแพร่ งานสัปดาห์หนังสือการเกษตรแห่งชาต. ศูนย์วิจัยหม่อนไหมศรีสะเกษ สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร, 2530
- บุญญา อนุสรณ์รัชดา.(2540). การศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และระยะการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของครามในการสกัดสีธรรมชาติ. เชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
- พัตต์วราภรณ์ อุดรสรรพ์ และคณะ.องค์ประกอบทางพฤกษเคมี และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดครามใหญ่ที่สกัดด้วยแอลกอฮอลล์และน้ำ. วารสารเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 1 ฉบับที่ 1. มกราคม-เมษายน 2563. หน้า 38-49.
- ฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารของครามใหญ่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Moshki M., Zamani-Alavijeh F. and Mojadam M. (2017).Efficacy of peer education for adopting preventive behaviors against head lice infestation in female elementary school students: A Randomised Controlled Trial.PLOS One. 12(9): 1-12.
- ChouisudsakunchaiP.,PhothikanithA. and SaithongA.(2010). The study of underarm bacterial inhibition properties of indigo dyed textiles. Sakon Nakhon graduate studies journal. 29: 57-66.
- Singh R., Shushni M.A. and Belkheir A. (2015). Antibacterial and antioxidant activities of Mentha piperitaL. 8(3):322-328.
- ChenT.Y., SunH.L., Yao H.T., Lii C.K., Chen H.W., Chen P.Y.,Li C.C.andLiu K.L. (2013). Suppressive effects of Indigofera suffruticosaMill extracts on lipopolysaccharide-induced inflammatory responses in murine RAW 264.7 macrophages. Food and Chemical Toxicology.55:257–264.