ผักกาดหอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักกาดหอม งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักกาดหอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สลัด, ผักสลัด (ภาคกลาง, ทั่วไป), ผักกาดยี, ผักกาดปี (ภาคเหนือ), พังฉ่าย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lettuce sativa Linn.
ชื่อสามัญ Lettuce, Leaf lettuce, Head lettuce, Stem lettuce
วงศ์ ASTERACEAE
ถิ่นกำเนิดผักกาดหอม
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผักกาดหอม มีหลายชนิด แต่จะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน คือ Lactuca sativa Linn. ในปัจจุบันผักกาดหอม ที่นิยมปลูก และใช้ในการบริโภคจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce), ผักกาดหอมห่อ (Head lettuce) และผักกาดหอมต้น (Stem lettuce) สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักกาดหอมนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า ผักกาดหอม ถูกปลูกครั้งแรกโดยชาวอียิปต์ ในช่วงศตวรรษที่ 16 พอถึงศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปได้พบผักกาดหอมจึงได้นำไปปลูก และปรับปรุงพันธุ์ได้หลายสายพันธุ์ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการนำไปปลูกในอเมริกาเหนือ และจึงได้แพร่กระจายไปทั่วโลก อย่างเช่นปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยพบว่าปลูกกันมากในภาคเหนือ และภาคกลาง
ประโยชน์และสรรพคุณผักกาดหอม
- ใช้ขับลม
- ใช้เป็นยาระบาย
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้กระหายน้ำ
- แก้พิษ
- ใช้แก้ไข้
- แก้ไอ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ขับเหงื่อ
- ช่วยทำให้หลับง่าย
- ช่วยขับเสมหะ
- รักษาโรคตับ
- ช่วยขับน้ำนม
- แก้ปวดเอว
- ช่วยระงับปวดต่างๆ
- รักษาโรคริดสีดวงทวาร
- ใช้ป้องกันอาการท้องผูก
- ช่วยขับลมในลำไส้
ประโยชน์หลักของผักกาดหอม คือ นำมารับประทานโดย ผักกาดหอมเป็นผักที่มีแคลอรีต่ำ จึงเหมาะอย่างมากสำหรับทุกเพศทุกวัย และยังเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นผักที่นิยมบริโภคมากในปัจจุบันสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู หรือ ยำต่างๆ แต่ทั้งนี้ผักกาดหอม เหมาะที่จะใช้รับประทานสด ใช้ทำสลัด ใช้เป็นผักสดสำหรับอาหารไทย ใช้เป็นเครื่องเคียง อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการใช้ยา (Latex) ที่สกัดจากผักกาดหอมออกมาจำหน่ายในรูปแบบยา มีทั้งชนิดน้ำ และแบบชนิดเม็ดอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ไอ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ โดยนำใบมาคั้นเอาน้ำรับประทาน
- ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้เป็นยาระบายขับลมในลำไส้ ทำให้หลับสบาย โดยนำทั้งต้นมารับประทาน
- ใช้รักษาโรคตับ ขับปัสสาวะ ขับน้ำนม แก้ปวดเอว ระงับอาการปวดต่างๆ แก้ริดสีดวงทวาร ทำให้หลับสบาย โดยนำทั้งต้นมารับประทาน
- ใช้รักษาโรคตับ ขับปัสสาวะ ขับน้ำนม แก้ปวดเอว ระงับอาการปวดต่างๆ แก้ริดสีดวงทวาร โดยนำเมล็ดทุบพบแตกแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ขับเสมหะ และแก้อาการไอ โดยนำเมล็ดผักกาดหอม มาประมาณ 5 กรัม แล้วตากแห้ง นำมาชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น แต่หากใช้ต้นให้ใช้เพียงครึ่งต้นเท่านั้น
ลักษณะทั่วไปของผักกาดหอม
ผักกาดหอม จัดเป็นพืชล้มลุกอายุสั้นลักษณะของลำต้นจะเห็นได้ชัดเมื่อถึงระยะแทงช่อดอก ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น ตั้งตรงและค่อนข้างอวบอ้วนเปราะหักง่าย มีสีเขียวอมเหลือง หากปลูกในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ อาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 2 นิ้ว
ใบผักกาดหอม จะแตกออกมาจากรองลำต้น มีเนื้อใบอ่อนนุ่ม อมน้ำใบมีสีตั้งแต่สีเขียวเข้ม เขียวอ่อน สีเขียวอมเหลือง ใบบางสายพันธุ์จะมีสีแดง หรือ มีสีน้ำตาลปนอยู่ สามารถเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ใบห่อหัวอัดกันแน่น ขอบใบมีลักษณะเป็นหยัก ใบที่ห่ออยู่ข้างในจะเป็นมัน ส่วนบางชนิดจะเป็นใบม้วนงอเปราะ โดยขนาดและรูปร่างของใบนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิด
ดอกผักกาดหอม ออกเป็นช่อดอกรวม โดยช่อดอกอันแรกจะเกิดบริเวณยอดอ่อน หลังจากนั้นจะเกิดบริเวณมุมใบ ช่อดอกจะออกกระจุกตรงส่วนยอด ซึ่งในแต่ละกระจุกจะประกอบไปด้วยดอกย่อย 15-25 ดอก ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 2 ฟุต เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีสีเหลือง ตรงโคนเชื่อมติดกันมีเกสรตัวผู้จะมี 5 ก้าน อยู่รวมกันเป็นยอดยาวหุ้มเกสรตัวเมีย ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน และมีรังไข่ 1 ห้อง
เมล็ดผักกาดหอมมีลักษณะแบนยาว มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร มีสีเทาปนสีครีม เป็นชนิดเมล็ดเดียวที่เจริญมาจากรังไข่อันเดียว หัวและท้ายแหลม มีรองเล็กๆ ลากยาวไปตามด้านยาวของเมล็ด ส่วนเปลือกหุ้มเมล็ด มีลักษณะบาง เมื่อเมล็ดแห้งเปลือกจะไม่แตก รากผักกาดหอมเป็นระบบรากแก้ว มีลักษณะอวบอ้วน รากแก้วสามารถหยั่งลึกลงดินได้ถึง 5 ฟุต ส่วนรากที่เหลือจะเป็นรากแขนง หรือ รากฝอยแผ่กระจายเป็นกลุ่มหนาแน่นอยู่ใต้ดินประมาณ 1-2 ฟุต
การขยายพันธุ์ผักกาดหอม
ผักกาดหอม จัดเป็นพืชในเขตหนาว ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อุณหภูมิช่วงกลางวันอยู่ระหว่าง 18-25 องศาเซลเซียส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่สามารถปลูกได้ผลดีที่สุดในดินร่วน ซึ่งมีการระบายน้ำและระบายอากาศดี มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ราวๆ 6.5-7.2 และมีความชื้นในดินพอสมควร โดยพื้นที่ปลูกผักกาดหอมควรให้ได้รับแสงเต็มที่ตลอดวัน ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ผักกาดหอมสามารถทำได้โดยวิธีการใช้เมล็ดปลูก โดยมีวิธีการดังนี้
เริ่มจากการเตรียมดินโดยควรไถดิน ตากแดดประมาณ 7 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ ไถพรวน ชักร่อง และรดน้ำให้ชุ่ม วิธีการปลูกทำได้โดยหยอดเมล็ดลงไปบนร่องหลุมละ 2-5 เมล็ด เป็นแถวโดยเว้นระยะ ระหว่างต้นxระหว่างแถว ประมาณ 30x40 เซนติเมตร พอต้นขึ้นมามีใบจริง 2-3 ใบ ควรถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากปลูกหน้าร้อนควรคลุมด้วยฟางข้าว สำหรับการใส่ปุ๋ยนิยมใส่ปุ๋ยคอกก่อนปลูก โดยคลุกกับดิน และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 เมื่อผักกาดหอม อายุได้ 15-20 วัน ให้หมั่นสังเกตหากผักกาดหอมเจริญเติบโตไม่ค่อยดีก็ทำการใส่ปุ๋ยซ้ำ และรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อผักกาดหอม อายุประมาณ 40-50 วัน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ โดยควรเด็ดใบสีเหลืองทิ้งแล้วล้างยางสีขาวออกก่อนใส่ถุงเพื่อป้องกันการเน่าเสีย
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบและลำต้นของผักกาดหอมรวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินของผักกาดหอม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ ส่วนใบและลำต้นพบสาร β-carotene, lutein, lactucaxanthin, neoxanthin, violaxanthin, quercetin, Myristic acid, Palmitoleic acid, Arachidic acid, Behenic acid, Stearic acid, Oleic acid, Linoleic acid, α-Linolenic acid, Pentadecylic acid และ Lignoceric acid สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินของผักกาดหอม นั้นพบสารสำคัญดังนี้ α-Pinene, Linalool, β-Pinene, α-Terpinolene, p-Cymene, α-Terpinene, 3-Octanone, 4-Terpineol, O- Methylthymol, Thymol, α-Terpineol, Durenol, Camphene, Thymol acetate, Caryophyllene, L-Alloaromadendrene และ Limonene
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักกาดหอม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเมล็ดผักกาดหอม สารสกัดผักกาดหอม จากเมล็ด และน้ำมันหอมระเหยจากผักกาดหอมระบุว่ามีฤทธิ์พบเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์แก้ปวดและลดการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดด้วยเมทานอล/ปิโตรเลียม อีเทอร์ (70:30) จากเมล็ดผักกาดหอม พบว่ามีฤทธิ์แก้ปวดในหนูขาว โดยเมื่อทดลองด้วยวิธี formalin test โดยขนาดที่ให้ผลสูงสุด คือ 2 ก./กก. ที่เวลา 0.5 ชม. หลังจากให้สารสกัด แต่ไม่มีผลแก้ปวดในหนูถีบจักร เมื่อทดลองด้วยวิธี tail-flick test แม้ทดลองในขนาดสูงถึง 6 ก./กก. นอกจากนี้สารสกัด ขนาด 0.5, 2, 4 ก./กก. มีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย 1% carragenan แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ายา piroxicam
ฤทธิ์บรรเทาอาการนอนไม่หลับ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในการศึกษาทางคลินิก แบบปกปิดสองฝ่าย แบบ prospective randomized เพื่อประเมินฤทธิ์ของเมล็ดผักกาดหอม ในการรักษาโรคนอนไม่หลับของหญิงตั้งครรภ์ โดยทดลองในหญิงตั้งครรภ์เดี่ยว (singleton pregnancy) อายุ 20-40 ปี มีอายุครรภ์ในช่วง 12-36 สัปดาห์ และมีปัญหานอนไม่หลับ จำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 50 คน ให้รับประทานแคปซูลเมล็ดผักกาดหอมบด (ขนาดวันละ 1,000 มก. หรือ ยาหลอก ก่อนนอนทุกคืน ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ประเมินคุณภาพการนอนหลับก่อนเริ่มทดลอง และหลังได้รับเมล็ดผักกาดหอมครบ 2 สัปดาห์ ด้วยแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ Pittsburg Sleep Quality Index (PSQI) พบว่าค่าคุณภาพการนอนหลับของกลุ่มที่ได้รับแคปซูลเมล็ดผักกาดหอมดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งค่าเฉลี่ยคะแนนของการนอนหลับ (average sleep score) ของกลุ่มที่ได้รับแคปซูลเมล็ดผักกาดหอมน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากรับประทานเมล็ดผักกาดหอม อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเมล็ดของผักกาดหอมในต่างประเทศระบุว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อรา และต้านเชื้อจุลชีพอีกด้วย
การศึกษาพิษวิทยาของผักกาดหอม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพิษวิทยาของสารสกัดจากเมล็ดผักกาดหอมระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเมล็ดผักกาดหอม จากเมทานอลและปิโตรเลียมอีเทอร์ในอัตราส่วน 70:30 พบว่าสารสกัดไม่มีผลต่อพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของหนู และไม่ทำให้หนูตาย แม้ทดลองในขนาดสูง 6 ก./กก.
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการรับประทานผักกาดหอม ควรระมัดระวังในการนำมาบริโภค โดยควรล้างให้สะอาดและควรบริโภคแต่พอดี เนื่องจากผักกาดหอมจัดเป็นพืชที่มีการสะสมของไนเตรทสูงชนิดหนึ่ง ซึ่งหากรับประทานไปในปริมาณที่มากจนเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยอาจจะมีอาการตัวเขียว อ่อนเพลีย หายใจหอบถี่ ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นแรง ซึ่งจังหวะการเต้นจะเร็วกว่าปกติ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง ผักกาดหอม
- ดำเกิง ป้องพาล.ผักกาดหอม...สวยกินได้. วารสารแม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ 11.ฉบับที่ 3 พฤษภาคม-มิถุนายน 2553.หน้า 9-12.
- สำอาง จิราภณ์อนงค์.(2552.).ผลของปุ๋ยอินทรีย์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตผักกาดหอมใบพันธุ์แกรนด์ เรปิด.เชียงใหม่: ปัญหาพิเศษปริญญาตรีมหาวิทยาลัยแม่โจ้.
- ฤทธิ์แก้ปวดและลดอักเสบของสารสกัดจากเมล็ดผักกาดหอม.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- ฤทธิ์บรรเทาอาการนอนไม่หลับของเมล็ดผักกาดหอม.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Morrison, W.R.; Smith, L.M. Preparation of fatty acid methyl esters and dimethylacetals from lipids. J. Lipid Res. 1964, 5, 600–608.
- Altunkaya A, Becker EM, Gökmen V. Antioxidant activity of lettuce extract (Lactuca sativa) and synergism with added phenolic antioxidants. Food Chem. 2009;115:163–168.
- Kim, M.J.; Moon, Y.; Tou, J.C.; Mou, B.; Waterland, N.L. Nutritional value, bioactive compounds and health benefits of lettuce (Lactuca sativa L.). J. Food Compos. Anal. 2016, 49, 19–34
- C.R. Caldwell et al.Effect of supplemental ultraviolet radiation on the carotenoid and chlorophyll composition of green house-grown leaf lettuce (Lactuca sativa L.) cultivarsJournal of Food Composition and Analysis(2006)
- Smoleń, S.; Kowalska, I.; Czernicka, M.; Halka, M.; Kęska, K.; Sady, W. Iodine and selenium biofortification with additional application of salicylic acid affects yield, selected molecular parameters and chemical composition of lettuce plants (Lactuca sativa L. var. capitata). Front. Plant Sci. 2016, 7, 1–16
- Gülten TG, Brendan AN, Sahika AG, Mehmet K. Antimicrobial activity of oregano oil on Iceberg lettuce with different attachment conditions. J Food Sci. 2012;77(7):412–415.