บีทรูท ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บีทรูท งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บีทรูท
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกาดแดง, หัวผักกาดแดง, ผักกาดฝรั่ง (ไทย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Beta vulgaris Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Beta maritima Linn.
ชื่อสามัญ Beetroot, Common beet
วงศ์ AMARANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดบีทรูท

บีทรูท มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ในเขตอบอุ่นในแถบเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรป ต่อมาจึงได้มีการนำไปปลูกยังเขตพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น และอากาศหนาวต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบการปลูกบีทรูท ได้ในภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะตามบนภูเขา หรือ ไหล่เขา เนื่องจากมีอากาศเย็นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของบีทรูท


ประโยชน์และสรรพคุณบีทรูท

  1. ช่วยให้เจริญอาหาร
  2. ช่วยขับปัสสาวะ
  3. ช่วยในการไหลเวียนของโลหิต
  4. ขับลมในลำไส้
  5. ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
  6. แก้ไอ
  7. ช่วยห้ามเลือด
  8. บำรุงไต
  9. บำรุงถุงน้ำดี
  10. แก้เจ็บคอ
  11. ช่วยขับเสมหะ
  12. ช่วยล้างสารพิษ
  13. ลดอาการบวม
  14. ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
  15. ช่วยเสริมสร้างพละกำลัง และความแข็งแรง
  16. ลดอาการเหนื่อยล้าจากการออกกำลัง
  17. ลดการสะสมไขมัน
  18. ลดการอุดตันของหลอดเลือด
  19. บำรุงสุขภาพของหัวใจ
  20. บำรุงหลอดเลือด
  21. ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง
  22. ลดการเจริญเติบโตของเนื้องอก
  23. ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพาต
  24. ช่วยลดความดันเลือด
  25. รักษาอาการท้องผูก

           บีทรูท ถูกนำมาใช้เป็นอาหารมานานมากแล้ว โดยชาวยุโรปเป็นชนชาติแรกๆ ที่นำมาใช้รับประทาน โดยมักจะนำมาทำซุป ทำพาสตา สลัด และสมูทตี้ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยมีการนำบีทรูทมาประยุกต์ทำเป็นอาหารหลายชนิด เช่น สาคูไส้บีทรูท ขนมเค้ก ขนมบีทรูท เยลลี่บีทรูท สลัดน้ำบีทรูท ไอศกรีม น้ำบีทรูทปั่น หรือ อาจนำมารวมกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น แตงโม แอปเปิ้ล องุ่น และ แครอท  เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีการนำหัวบีทรูทที่มีสีสันฉูดฉาดมาแกะสลักตกแต่งจานอาหาร ให้ดูสวยงามน่ารับประทาน และสามารถนำมาดองทำเป็นน้ำส้มสายชูก็ได้เช่นกัน

บีทรูท

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ส่วนทางการแพทย์สมัยใหม่นั้นระบุว่า บีทรูท ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เสริมสร้างพละกำลัง และความแข็งแรง ลดอาการเหนื่อยล้าจากการออกกำลัง ลดการสะสมไขมัน ลดการอุดตันของหลอดเลือด บำรุงสุขภาพของหัวใจ และหลอดเลือด อีกทั้งยับยั้งสารก่อมะเร็ง และลดการเจริญเติบโตของเนื้องอก ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพาต ลดความดันเลือด รักษาอาการท้องผูก สำหรับการใช้บีทรูทในทางสมุนไพร หรือ การใช้เพื่อช่วยเสริมสร้าง และป้องกันปัญหาสุขภาพตามแนวทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น จะเป็นการแนะนำให้นำมารับประทานทั้งในแบบการรับประทาสด หรือ การนำไปประกอบอาหาร หรือ แปรรูปในลักษณะอื่นๆ เกือบทั้งหมด ไม่ค่อยปรากฎการแนะนำให้มีวิธี และแนวทางการใช้ที่เฉพาะตัวเหมือนสมุนไพรชนิดอื่นๆ

ลักษณะทั่วไปของบีทรูท

บีทรูท จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลำต้นสั้นๆ เชื่อมอยู่ระหว่างรากกับใบ รากเป็นระบบรากแก้ว และเป็นรากแก้วที่พองโต ไว้เก็บสะสมอาหาร หรือ ที่เรียกว่าหัว โดยหัวจะมีสี และขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่ ตามสายพันธุ์

  • ลำต้นบีทรูท มีอายุสั้นฤดูเดียว โดยจะเป็นลำต้นเดี่ยวกลมเป็นข้อสั้นๆ สีม่วงอมแดง มีก้านใบแทงออกจากโคนลำต้น
  • รากบีทรูท เป็นระบบรากแก้ว สะสมอาหารที่พองโต หรือ ที่เราเรียกว่าหัว โดยอาจมีลักษณะทรงกลม หรือ รูปไข่รอบๆ มีรากฝอยเล็กๆ ผิวเปลือกเรียบบาง เนื้อแน่นฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานกรอบ มีสีม่วงอมแดง สีแดงเลือกหมู สีเหลือง ตามสายพันธุ์ โดยอาจมีหัวขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่ ตามสายพันธุ์
  • ใบบีทรูท เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ โดยมักจะแทงออกบริเวณตรงโคนของลำต้น ใบมีสีเขียวลักษณะทรงรี โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบมน หรือ อาจแหลม ขอบใบหยัก มีลายเส้นสีแดงอมม่วงเห็นได้ชัดและมีก้านใบสีม่วงยาว
  • ดอกบีทรูท ออกเป็นช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กอยู่ลักษณะดอกย่อย มีขนาดเล็กๆ มีกลีบดอกรูปไข่ ยาว 2-3 มิลลิเมตร สีเขียวอ่อน และมีก้านช่อดอกยาว บริเวณปลายยอด ภายในช่อดอก
  • ผลบีทรูท มีขนาดเล็ก มีลักษระทรงยาวรี ด้านในมีเมล็ดสีเทาจำนวนมาก

บีทรูท

บีทรูท

การขยายพันธุ์บีทรูท

บีทรูทสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด โดยหยอดเมล็ดพันธุ์ ลงในหลุม หรือ กระบะเพาะ ให้มีระยะห่างกันพอประมาณ จากนั้นดูแลรอน้ำจนถึงระยะต้นกล้า หลังต้นกล้างอกให้ถอน ต้นกล้าบางส่วนออกเพื่อไม่ให้แน่นเกินไป เมื่อต้นกล้าสูง 10-15 เซนติเมตร จึงถอนไปปลูกในแปลงต่อไป

          สำหรับวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกหัวผักกาด หรือ การปลูกพืชล้มลุกทั่วไป ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้บีทรูทสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภท แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 5.5-7.0 และมีการระบายน้ำกับอากาศที่ดี โดยมีอุณหภูมิของดินต่อการงอกเมล็ดที่ดีประมาณ 20 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่อการเจริญเติบโตที่ดีประมาณ 15-22 องศาเซลเซียส อีกทั้งบีทรูท ยังเป็นพืชที่ชอบความชื้นและแสงแดดตลอดวันอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนหัวของบีทรูทพบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Betanin, Lycopene, Anthocyanin, Betacyanin, Betalamic acid, Betaxanthin และ Vulgaxanthin เป็นต้น นอกจากนี้หัวบีทรูท ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

         คุณค่าทางโภชนาการของหัวบีทรูทดิบ (100 กรัม)

  • พลังงาน                          43                  กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต                 9.56               กรัม
  • น้ำตาล                             6.76               กรัม
  • เส้นใย                              2.8                 กรัม
  • ไขมัน                               0.17               กรัม
  • โปรตีน                             1.61               กรัม
  • น้ำ                                    87.58             กรัม
  • เบต้าแคโรทีน                20                  ไมโครกรัม
  • วิตามิน A                         2                    ไมโครกรัม
  • วิตามิน B1                       0.031             มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                      0.04               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                       0.334             มิลลิกรัม
  • วิตามิน B5                       0.155             มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6                      0.067             มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9                       109                ไมโครกรัม
  • วิตามิน C                         4.9                 มิลลิกรัม
  • โซเดียม                         78                  มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                       16                   มิลลิกรัม
  • เหล็ก                               0.8                 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                     40                  มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                  325                มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                     23                  มิลลิกรัม
  • แมงกานีส                      0.329             มิลลิกรัม
  • สังกะสี                            0.35               มิลลิกรัม

โครงสร้างบีทรูท

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของบีทรูท

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดบีทรูท และหัวบีทรูท ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ป้องกันมะเร็งตับมีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของบีทรูทในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้ตับถูกทำลายด้วยสารก่อมะเร็ง N-nitrosodiethylamine พบว่าการป้อนน้ำบีทรูทให้หนูแรทวันละ 100 มล. ติดต่อกัน 28 วัน ช่วยลดการทำงานของเอนไซม์ cytochrome P450 (CYP), CYP1A1/1A2 และ CYP2E1 ที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับสารก่อมะเร็ง และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ CYP2B รวมทั้งเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ NAD(P)H: quinone oxidoretuctase-1 (phase II enzyme เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย) นอกจากนี้น้ำบีทรูทยังช่วยลดความเสียหายของ DNA ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่บ่งบอกถึงความเสียหายแก่เซลล์ตับ แสดงให้เห็นว่าบีทรูทสามารถป้องกันการเกิดอันตรายต่อตับจากการได้รับสารก่อมะเร็ง โดยผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกาย

           ฤทธิ์ปกป้องผิวมีรายงานผลการศึกษาทดลองให้หนูเม้าส์พันธุ์ไร้ขน (HR-1 hairless mice) เพศผู้ อายุ 4 สัปดาห์ กินอาหารปกติ อาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากหัวผักกาดแดง (Beta vulgaris) ซึ่งมีสาร glucosylceramide (GlcCer) ขนาด 1% หรือ อาหารพิเศษ (HR-AD) เปรียบเทียบกัน โดยอาหาร 2 ชนิด หลังจะมีแร่ธาตุต่างๆ เช่น Mn Zn Fe Cu Se Ca P Na Mg อยู่ในปริมาณสูง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย (หนูแต่ละกลุ่มมีอัตราการกินอาหารโดยเฉลี่ย 0.12 ก./ก.น้ำหนักตัว/วัน) หลังจากทำการทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าหนูที่ได้รับ HR-AD มีการสูญเสียน้ำบริเวณผิวหนังส่วนหลังเพิ่มขึ้น หนูกินน้ำเพิ่มขึ้น ผิวหนังมีลักษณะแห้ง แดง และหนาขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมการข่วน (scratching behavior) เพิ่มขึ้น ส่วนหนูกลุ่มที่ได้รับ GlcCer กลับไม่พบความผิดปกติดังกล่าวและมีลักษณะใกล้เคียงกับหนูที่กินอาหารปกติ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การกินสารสกัดจากหัวผักกาดแดงของหนูเม้าส์สามารถปกป้องผิวได้

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิตมีรายงานผลการศึกษาในผู้สูงอายุทั้งชาย และหญิงที่มีน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย 25-40 กก./ม.2) จำนวน 21 คน อายุระหว่าง 55-70 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ดื่มน้ำบีทรูทเช้มช้น ขนาด 70 มล. (มีปริมาณไนเตรตประมาณ 300-400 มก.) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมให้ดื่มน้ำแบล็คเคอเร้นท์ ในขนาด 200 มล. (มีปริมาณไนเตรตประมาณ 2.7±0.1 มก.) ในตอนเช้า วันละ 1 ครั้ง นาน 3 สัปดาห์ จากนั้นในช่วงอาทิตย์ที่ 4 ซึ่งถือเป็นช่วงหลังการศึกษา ผู้ป่วยจะไม่ได้รับน้ำบีทรูท หรือ แบล็คเคอเร้นท์ ทั้งนี้ระหว่างการทดลอง ผู้ป่วยจะถูกจำกัดปริมาณไนเตรต ทำการวัดความดันโลหิต 3 แบบ แบบที่ 1 เป็นการวัดความดันโลหิตหลังจากให้ผู้ป่วยนั่งพักก่อน 15 นาที โดยเจ้าหน้าที่ โดยทำการวัดความดันโลหิต 2 ครั้ง และหาค่าเฉลี่ย แบบที่ 2 เป็นการวัดความดันโลหิตใน 24 ชม. โดยวัดความดันโลหิตทุกครึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 8.00-22.00 น. และจากเวลา 22.00 น.-8.00 น. วัดทุก 1 ชม. จากนั้นหาค่าเฉลี่ย แบบที่ 3 เป็นการวัดความดันโลหิตทุกวันที่บ้าน โดยผู้ป่วยวัดเองตอนเช้าและเย็น หาค่าเฉลี่ย โดยแบบที่ 1 และ 2 จะทำการวัดในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา และหลังจากอาทิตย์ที่ 3 และ 4 ส่วนการวัดแบบที่ 3 จะทำการวัดตลอดการศึกษา ผลพบว่า หลังอาทิตย์ที่ 3 การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้นไม่มีผลลดความดันโลหิตที่วัดด้วยแบบที่ 1 และ 2 แต่มีผลลดความดันโลหิต-ขณะบีบตัว (systolic blood pressure) เมื่อวัดด้วยแบบที่ 3 โดยความดันโลหิตขณะบีบตัวจะค่อยๆ ลดลงในสัปดาห์ที่ 3 ในช่วงที่รับประทานน้ำบีทรูทเข้มข้น แต่ความดันโลหิตขณะบีบตัวจะ กลับมาเหมือนเดิมในช่วงอาทิตย์ที่ 4 หลังจากหยุดดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้น ขณะที่กลุ่มที่ดื่มน้ำแบล็คเคอเร้นท์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้น ขนาด 70 มล. ในตอนเช้า วันละ 1 ครั้ง ในผู้สูงอายที่มีน้ำหนักเกิน อาจส่งผลดีในการลดความดันโลหิตขณะบีบตัวได้ 

           และยังมีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 52 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับน้ำคั้นบีทรูท (Beta vulgaris var. esculenta; beetroot) เข้มข้น 12 มล. 2 ครั้ง/วัน และกลุ่มควบคุม ทำการทดสอบเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ทำการประเมินผลในช่วงเริ่มต้นและช่วงสัปดาห์ที่ 12 ด้วยการวัด malondialdehyde (MDA), high sensitive C-reactive protein (hs-CRP), interleukin-6 (IL-6), tumor necrosis factor-α (TNF-α) และ nuclear factor-кB (NF-кB) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำคั้นบีทรูทมีระดับ IL-6 (−0.1 vs. 0.83, P = 0.001), TNF-α (−1.28 vs. 5.51, P = 0.001) และ NF-кB (−0.03 vs. 0.36, P = 0.005) ลดลงหลังจากช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของการทดสอบ ค่า MDA และ hs-CRP ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างกลุ่ม การเปรียบเทียบภายในกลุ่มพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำคั้นบีทรูทไม่มีผลเปลี่ยนแปลงดัชนีชี้วัดการอักเสบและสภาวะเครียดออกซิเดชัน ยกเว้น TNF-α (−1.28 ± 2.31, P = 0.026) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นการทดสอบ แต่ในกลุ่มควบคุม IL-6, TNF-α และ NF-кB เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ 12 เปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นการทดสอบ (19.5%, P = 0.001; 120%, P = 0.001; และ 69%, P = 0.021, ตามลำดับ) จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานบีทรูทมีผลช่วยลดดัชนีชี้วัดการอักเสบบางชนิด ได้แก่ IL-6, TNF-α และ NF-кB ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

           ฤทธิ์เสริมสมรรถภาพทางร่างกาย มีรายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพของอาหารที่มีสารไนเตรตต่อการทำงานของร่างกาย และการออกกำลังกายในนักวิ่งหรือนักไตรกีฬาจำนวน 8 คน โดยให้อาสาสมัครกลุ่มแรกดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้นที่มีสารไนเตรต และอีกกลุ่มดื่มน้ำบีทรูทที่ไม่เติมสารไนเตรต หลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง จึงเริ่มทดสอบประสิทธิภาพการออกกำลังกายจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะประกอบด้วยการอบอุ่นร่างกาย 10 นาที ตามด้วยการวิ่งบนลู่วิ่งระยะทาง 1,500 เมตร หรือ 10,000 เมตร ผลการศึกษาดังกล่าวปรากฏว่า การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้น สามารถเพิ่มสารอินออร์แกนิกไนเตรตในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนค่าความดันโลหิตขณะพักและระหว่างการออกกำลังกายของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้ กลุ่มที่ดื่มบีทรูทเข้มข้นยังมีสมรรถภาพการวิ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการวิ่งบนลู่ระยะ 1,500 เมตร แต่ในระยะ 10,000 เมตร กลับไม่พบความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มอย่างชัดเจน 

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยสาระสำคัญที่ทำให้หัวบีทรูทมีสีแดง คือ เบทานิน (betanin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังมีรายงานว่า เพคติน (pectin) ซึ่งเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต และช่วยเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลชนิด HDL (Hight-density lipoprotein) ด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของบีทรูท

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำข้อควรระวัง

หลังการรับประทานบีทรูทอาจทำให้ปัสสาวะ และอุจจาระเป็นสีแดง หรือ ชมพู โดยเป็นอาการที่เรียกว่าบีทูเรีย (Beeturia) ซึ่งจะไม่มีอันตรายใดๆ ต่อร่างกายและร่างกายจะขับสารสีแดงออกเอง  ในบีทรูทมีสาร betaine ซึ่งอาจทำให้มีอาการอาเจียน ปวดท้องกระเพาะอาหาร หรือ ท้องเสีย ในบางคน และผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค บีทรูท เนื่องจาก betaine ในบีทรูท จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับคอเลสเตอรอล ในร่างกาย บีทรูทมีผลต่อการลดระดับความดันโลหิต ควรระวังหากบริโภค ร่วมกับการรับประทานยาลดความดันโลหิต ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำมากเกินไป

           บีทรูทมีสาร FODMAPs ในรูปของน้ำตาลฟรุกแทน (Fructan) ที่ช่วยให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโต ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย หรือ ความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ในบางคนที่ร่างกายมีการตอบสนองไว เช่น ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น  ในการเลือกซื้อ ควรเลือกหัวบีทรูทที่ผิวไม่เหี่ยว เนื้อแข็งและควรเลือกหัวที่มีขนาดเล็ก เพราะจะมีเนื้อละเอียดและให้รสหวานมากกว่าหัวบีทรูทขนาดใหญ่


เอกสารอ้างอิง บีทรูท
  1. ก่องกานดา ชยามฤต. สมุนไพรไทย ตอนที่ 4.กรุงเทพฯ: หจก.ชุดมาการพิมพ์,2528: หน้า 333-4
  2. กฤติยา ไชยนอก. น้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 28. ฉบับที่ 4 กรกฎาคม 2554. หน้า 9-20.
  3. ฤทธิ์ปกป้องผิวของสารกสัดจากผักกาดแดง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. น้ำบีทรูทช่วยป้องกันมะเร็งตับ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. การศึกษาทางคลินิกผลของการรับประทานน้ำคั้นบีทรูทต่อดัชนีชี้วัดการอักเสบและสภาวะเครียดออกซิเดชั่นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. การรับประทานน้ำบีทรูทมีผลลดความดันโลหิตขณะบีบตัวในผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักเกิน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. บีทรูท กับประโยชน์ต่อสุขภาพ. พบแพทย์ดอทคอมเข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  8. Kapadia GJ, Azuine MA, Sridhar R, et al. Chemoprevention of DMBA-induced UV-B promoted, NOR-1-induced TPA promoted skin carcinogenesis, and DEN-induced Phenobarbital promoted liver tumors in mice by extract of beetroot. Pharmacological Research 2003;47:141-8
  9. Georgiev VG, Weber J, Kneschke EM, Denev PN, Bley T, Pavlov AI. Antioxidant activity and phenolic content of betalain extracts from intact plants and hairy root cultures of the red beetroot Beta vulgaris cv. Detroit dark red. Plant Foods Hum Nutr 2010;65:105-111
  10. Schwab U, Louheranta A, Toerroenen A, et al. lmpact of sugar beet pectin and polydextrose on fasting and postprandial glycemia and fasting concentrations of serum total and lipoprotein lipds in middle-aged subjects with abnormal glucose metaboliam Eur J Clin Nutr 2006;60(9):1073-80. $17149