ถั่วดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ถั่วดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ถั่วดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ ถั่วกระด้าง, ถั่วไร่, ถั่วมะถิม, ถั่วมะแป (ภาคกลาง), ถั่วนั่ง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna mungo (L.) Hepper
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vigna unguiculata (L.) Walp., Phaseolus mungo Linn.
ชื่อสามัญ Black bean, Black gram, Cow pea
วงศ์ FABACEAE


ถิ่นกำเนิดถั่วดำ

มีหลักฐานการค้นพบว่า ถั่วดำ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียกลาง เช่น ในอินเดีย, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และทางตอนเหนือของปากีสถาน เป็นต้น จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบปลูกในทุกภาคของประเทศแต่จะพบปลูกกันมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยพันธุ์ที่ปลูกมากเป็นพันธุ์พื้นเมือง


ประโยชน์และสรรพคุณถั่วดำ

  • ช่วยบำรุงไต
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • ช่วยบำรุงสายตา
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยขับของเหลวในร่างกาย
  • ช่วยขจัดพิษ
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • แก้เหน็บชา
  • แก้ปวดลำไส้
  • ช่วยขับสารพิษ
  • ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
  • แก้ดีซ่าน
  • แก้ร้อนใน
  • แก้ไตเสื่อม
  • แก้ปวดเอว
  • ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง (เนื่องจากในถั่วดำมีโปรตีน และไฟเบอร์สูง นอกจากนี้ยังมี ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, แมกนีเซียม  แมงกานีส, ทองแดง และสังกะสี)
  • ช่วยในการป้องกันมะเร็ง (เพราะในถั่วดำมีโฟเลตสูง มีบทบาทในการสังเคราะห์ และซ่อมแซมดีเอ็นเอจึงป้องกันการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง)
  • ช่วยในการย่อยอาหาร (เพราะถั่วดำช่วยป้องกันอาการท้องผูก และส่งเสริมความสม่ำเสมอของระบบทางเดินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ)
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลดลง (โดยจะช่วยสร้างสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้เพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็ว)
  • ช่วยลดน้ำหนัก (เนื่องจากถั่วดำ มีเส้นใยสูงช่วย เพิ่มความรู้สึกอิ่มหลังรับประทานอาหาร และลดความอยากอาหาร)
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ (โดยจะช่วยลดจำนวนของคอเลสเตอรอลในเลือด และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ)
  • ช่วยลดความดันโลหิต (เพราะถั่วดำมีโซเดียมต่ำตามธรรมชาติ จึงพบว่ามีส่วนช่วยในเรื่องของการลดความดันโลหิตได้ตามธรรมชาติ)
  • ช่วยล้างพิษช่วยขับพิษ และบำรุงไต (เพราะถั่วดำจะมีประสิทธิภาพในการดีท็อกซ์สารพิษในร่างกายได้ถึง 10 เท่า)

           ถั่วดำ ถูกนำมาใช้เป็นอาหารต่างๆ ทั้งคาว-หวาน โดยฝักอ่อนถั่วดำมีความกรอบ จึงมีการนำมาใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงใช้ฝักสดรับประทานลวกจิ้มเป็นผักกับน้ำพริก เมล็ดนำมาหมักทำซีอิ้ว หรือ เต้าเจี้ยว ได้ หรือ นำมาทำเป็นขนมหวานรับประทาน ได้หลายชนิด เช่น ถั่วดำ ต้มน้ำตาล ถั่วดำกวน ข้าวเหนียวถั่วดำ ขนมสาคู ถั่วดำต้ม หรือ ใช้ใส่ทำข้าวหลาม และใส่เป็นไส้ซาลาเปาก็ได้  ส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ดมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ให้สีม่วงดำสามารถนำมาใช้แต่งสีขนมต่างๆ ได้ เช่น ขนมถั่วแปป แป้งจี่ เป็นต้น


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้ถั่วดำเป็นสมุนไพรนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ารูปแบบการใช้จะเป็นการใช้ในรูปแบบอาหารต่างจากการใช้ในรูปแบบยาสมุนไพรอื่นๆ กล่าว คือ การใช้ถั่วดำ เป็นสมุนไพรก็เพียงนำเมล็ดถั่วดำไปแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่างๆ ก็สามารถช่วยรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณได้แล้วนั่นเอง

ลักษณะทั่วไปของถั่วดำ

ถั่วดำ จัดเป็นพืชล้มลุกเช่นเดียวกับถั่วเขียว ลำต้นตั้งตรงเป็นพุ่มรูปสามเหลี่ยมแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น มีความสูงของต้น 30-50 เซนติเมตร แต่บางสายพันธุ์เป็นลำต้นแบบกึ่งเลื้อย ลำต้นค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ผิวลำต้นหยาบ มีขนปกคลุม และมีระบบรากเป็นแบบรากแก้ว และรากแขนง ใบเป็นใบเดี่ยวออกรวมที่รวมอยู่ก้านใบเดียวกัน ประกอบด้วยใบย่อย จำนวน 3 ใบ มี 2 ใบย่อย อยู่ตรงข้ามกัน ถัดมาเป็นใบเดี่ยวที่อยู่ตรงกลาง และใบเป็นรูปไข่ โคนใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นใบ ซึ่งเส้นก้านใบตรงกลางใหญ่สุด ใบอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีก้านใบหลัก ยาว 5-20 เซนติเมตร มีลักษณะเรียว แข็ง และเหนียว ดอกออกเป็นช่อ เกิดเป็นกลุ่มที่ปลาย ยอดบริเวณมุมใบ ในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยขนาดเล็กประมาณ 2-6 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 18 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีสีเหลือง หรือ สีเขียวอ่อน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ปลายมีลักษณะคล้ายปากแตร ดอกมีกลีบ 5 กลีบ ประกอบไปด้วย กลีบใหญ่ 1 กลีบ กลีบข้าง 2 กลีบ และกลีบหุ้มเกสร 2 กลีบ โดยกลีบหุ้มเกสรจะมีลักษณะม้วนเป็นเกลียว มีทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน ฝัก เป็นทรงกระบอกยาว คล้ายถั่วฝักยาว แต่จะสั้นกว่า มีลักษณะ ฝักสั้นตรง มีขนขึ้นปกคลุม ฝักอ่อนมีสีเขียวสด เมื่อแก่อาจมีสีขาวนวล น้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม หรือ สีดำ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ในฝักจะมีเมล็ดอยู่ 8-20 เมล็ด  เมล็ดมีลักษณะเป็นทรงกระบอก เรียงยาวเล็กน้อยปลายงอนตัดเป็นเหลี่ยม เปลือกเมล็ดบางมีตาสีขาวคล้ายรอยแผลเป็นอยู่ทางด้านเว้าของเมล็ดถั่ว เมล็ดมีสีดำด้าน

ถั่วดำ

ถั่วดำ

การขยายพันธุ์ถั่วดำ

ถั่วดำ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และเป็นถั่วที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้วได้ดี ปลูกได้ทั้งพื้นที่ไร่ และแปลงนา แต่ส่วนใหญ่นิยมปลูกในแปลงนาโดยมีวิธีการปลูกดังนี้ เริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ทำพันธุ์จะต้องแช่น้ำไว้ 1 คืน ก่อนนำปลูกลงแปลงเพื่อเมล็ดจะงอกอย่างรวดเร็ว


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดถั่วดำ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญเช่น cyanidin-3-0-glucoside, delphinidin-3-0-glucoside, genistein, kievitone, dalbergiodin, isoferreirin, eurenol, glycinol และ arbutin เป็นต้น

           นอกจากนี้เมล็ดถั่วดำยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการถั่วดำ (เมล็ดดิบ 100 กรัม)

พลังงาน 357 กิโลแคลอรี่

โปรตีน 23.3 กรัม

ไขมัน 1.6 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 61.8 กรัม

เส้นใย 4.6 กรัม

แคลเซียม 57 มิลลิกรัม

เหล็ก 16.5 มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส 479 มิลลิกรัม

วิตามิน B1  0.19 มิลลิกรัม

วิตามิน B2  0.12 มิลลิกรัม

วิตามิน B3  1.5 มิลลิกรัม

           อีกทั้งยังพบกรดอะมิโนอีกหลายชนิดเช่น Tryptophan, Methionine, Cystine, Valine เป็นต้น ซึ่งในเมล็ดถั่วดำ 100 กรัม พบว่ามีสาร Anthocyanin สูงถึง 24.1–44.5 กรัม เลยทีเดียว

โครงสร้างถั่วดำ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วดำ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดถั่วดำ จากเมล็ดระบุเอาไว้ดังนี้

            มีการศึกษาวิจัยทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด HCT-116 และ HT-29 ของสารสกัด*จากพืชที่มีสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูงจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ องุ่นแดง, องุ่นม่วง, มันม่วง, แครอทม่วง, ถั่วดำ, ถั่วแขกม่วง, ถั่วเลนทิลดำ, ถั่วลิสงดำ, ข้าวฟ่าง, ข้าวดำ และ ข้าวสาลีสีฟ้า พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-116 และ HT-29 ได้ดี โดยความสามารถในการออกฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับผลรวมของสารฟีนอลิกในพืช โดยสาร delphinidin-3-O-glucoside (เป็นสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน) สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ HT-29 ได้ดีมาก โดยค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งทั้ง 2 ชนิด ได้ร้อยละ 50 (IC50) ของสารสกัดอยู่ในช่วง 0.9–2.0 มก./มล. (ยา oxaliplatin ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีค่า IC50 ต่อเซลล์ HCT-116 และ HT-29 เท่ากับ 13.5±0.7 และ 18.4±2.3 มคก./มล. ตามลำดับ) กลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดดังกล่าว คือ ลดการแสดงออกของโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส (anti-apoptotic proteins) ได้แก่ survivin, cIAP-2, XIAP และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส รวมทั้งขัดขวางกระบวนการแบ่งเซลล์ในระยะ G1 นอกจากนี้การทดสอบแบบ in silico ยังพบว่าสารแอนโทไซยานินมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ tyrosine kinase (เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์) โดยสาร cyanidin-3-O-glucoside สามารถจับกับ tyrosine kinase ทุกชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับชนิด Abelson tyrosine-protein kinase 1; ABL1 นอกจากนี้ สาร cyanidin-3-O-glucoside และ delphinidin-3-O-glucoside ยังสามารถยับยั้งการทำงานของ epidermal growth factor receptor; EGFR (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเซลล์) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.10 และ 2.37 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า สารแอนโทไซยานินโดยเฉพาะ cyanidin-3-O-glucoside และ delphinidin-3-O-glucoside ซึ่งพบได้มากในพืชที่มีสีม่วงแดง มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากเมล็ดถั่วดำ ยังมีฤทธิ์ลดอาการปวด และอักเสบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบได้ ส่วนสารสกัดจากส่วนใบของถั่วดำมีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ระงับปวดได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยพบพิษวิทยาของถั่วดำ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ผู้ที่ป่วยเป็นโรค G6PD ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วดำเพราะอาจทำให้อาการป่วยแย่ลง ส่วนบุคคลาทั่วไปที่จะนำถั่วดำ มารับประทานควรทำให้สุกก่อนรับประทาน เพราะหากรับประทานถั่วที่ดิบ หรือ สุกไม่ทั่วถึง อาจทำให้เกิดอาการแน่นท้อง จุกเสียด และปวดท้อง เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง ถั่วดำ
  1. วันดี กฤษณพันธุ์. สมุนไพร สารพัดประโยชน์. กทม. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2535
  2. กลไกการออกฤทธิ์ของสารแอนโทไซยานินในพืชที่มีสีม่วงแดงในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ถั่วดำ ประโยชน์สรรพคุณ และการปลูกถั่วดำ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. Chatterjee A, Pakrashi SC. The Treatise on Indian Medicinal Plants : Vol: II (Revised). New Delhi: National Institute Of Science Communication And Information resources ;  1992.
  5. Prajapati N Das, Kumar U. Agro’s Dictionary of Medicinal Plants. Jodhpur: Agrobios (India); 2005. 
  6. Patel D V, Sawant MG, Kaur G. Evaluation of anti-osteoarthritic activity of Vigna mungo in papain induced osteoarthritis model. Indian J Pharmacol. 2015; 47(1):59–65. DOI: 10.4103/0253-7613.150340 
  1. Usman MRM, Barhate SD. Anti-Inflammatory, Analgesic, And Ulcerogenic Activity Of Vigna Mungo Linn. Leaves. Int J Phytopharm. 2011; 1(2):55-60 DOI: https://doi.org/10.7439/ijpp.v1i2.206
  2. Anonymous. The Wealth Of India - A Dictionary of Indian Raw Materials & Industrial Products (Second Supplement Series, Raw Materials) (Vol.3 : Pi - Z). New Delhi: National Institute of Science Communication and Information Resources, Council of Scientific & Industrial Research; 2009.