จันทนา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จันทนา งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จันทนา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จันทน์ขาว (ทั่วไป), จันทน์หอม (ระยอง), จันทน์ใบเล็ก (ประจวบคีรีขันธ์), จันทน์ตะเนี้ย, จันทน์ตะเบี้ย (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tarenna hoaensis Pitard.
วงศ์ RUBIACEAE

ถิ่นกำเนิดจันทนา

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของต้นจันทนา นั้น มีการระบุไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกเชื่อกันว่าจันทนามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียบังคลาเทศ และประเทศพม่า ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และติมอร์ ส่วนในประเทศไทยนั้นได้มีการนำพืชชนิดนี้เข้ามาปลูกเพื่อใช้เครื่องยาในภายหลัง โดยจะสามารถพบต้นจันทนาได้บริเวณป่าดิบแล้งทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 400 เมตร และพบได้มากทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน

ประโยชน์และสรรพคุณจันทนา

  1. ใช้บำรุงหัวใจ
  2. ช่วยบำรุงประสาท
  3. ช่วยบำรุงธาตุไฟ
  4. ใช้บำรุงเลือดลม
  5. ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น
  6. ช่วยบำรุงดวงจิตมิให้ขุ่นมัว
  7. แก้ร้อนใน
  8. แก้กระหายน้ำ
  9. แก้เหงื่อตกหนัก
  10. แก้ตับพิการ
  11. แก้ปอดพิการ
  12. แก้ดีพิการ
  13. แก้ไข้ร้อนใน
  14. ช่วยขับพยาธิ
  15. แก้ไข้ที่เกิดจากตับ และดี
  16. แก้อ่อนเพลีย
  17. แก้ไข้กำเดา
  18. แก้ลม
  19. แก้ริดตะปิดตะโรค
  20. แก้ลมวิงเวียน
  21. แก้ไข้เพ้อโลหิต และดี
  22. แก้พยาธิบาดแผล   
  23. แก้พิษหัด
  24. แก้พิษสุกใส

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงเลือดลม บำรุงธาตุไฟ บำรุงประสาท แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปอด ตับ และดีพิการ แก้ไข้ร้อน แก้ไข้กำเดา แก้อ่อนเพลีย โดยใช้แก่นของจันทนา ต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคเลือดลมให้ใช้แก่นจันทร์ขาว (จันทนา) ร่วมกับแก่นจันทน์แดง รากชุมเห็ดเทศ รากหญ้าขัด รากชะเอม รกมะลืมดำ รากมะลืมแคบ รากมะกอกเผือก รากมะกอกฟาน รากผักหวานบ้าน เหง้าถั่วพู และกระดูกหมาดำ โดยนำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้าใช้รับประทาน

ลักษณะทั่วไปของจันทนา

จันทนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นตั้งตรงเรือนยอดเป็นทรงพุ่มยาวรีมีกิ่งแขนงแตกเป็นพุ่ม เปลือกต้น ผิวเรียบบาง มีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้ และแก่นมีสีเหลืองขาวนวล หรือ ออกน้ำตาลอ่อนๆ มีกลิ่นหอม และมีรสขม หวาน หรือ ขมเย็น ใบออกเป็นแบบใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม รูปรีมีลักษณะป้อมมน หรือ รูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 4-9 ซม. ยาว 12-20 ซม. โคนใบมนปลายใบสอบ เนื้อใบ เกลี้ยง หนาเป็นมัน ก้านใบแบน ยาวประมาณ 2 ซม. ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง โดยในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 8-15 ดอก มีกลีบเกลี้ยง และกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ ซึ่งกลีบดอกจะเป็นสีขาว โดยดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ส่วนปลายจะแยกเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ และมีเกสรตัวผู้เรียงสลับกับกลีบดอก ผลเป็นรูปกลมรี เมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียวเข้ม และฉ่ำน้ำ ส่วนผลสุกจะเป็นสีแดง ในผลมีเมล็ด

จันทนา

การขยายพันธุ์จันทนา

จันทนาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง ซึ่งในอดีตการขยายพันธุ์จันทนา จะเป็นการขยายพันธ์ทางธรรมชาติมากกว่าการนำมาเพาะปลูก หรือ ขยายพันธุ์โดยมนุษย์ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำจันทนามาทำการปลูกมากขึ้น โดยวิธีการที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการตอนกิ่งเพราะสะดวก และประหยัดเวลามากกว่าการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการตอนกิ่งจันทนา นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อไม้ จันทนา ที่นำไปใช้เป็นเครื่องยาพบว่ามีสารสำคัญๆ เช่น genipo sidic acid, α-santalol, tannin ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม flavonoids, pherolic compounds และ terpenoids เป็นต้น

โครงสร้างจันทนา

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของจันทนา

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก มีการศึกษาวิจัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของสารประกอบฟีนอล สารประกอบฟลาโวนอยด์ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสารสกัดเอทานอลของ แก่นจันทน์ขาวพบว่าสารสกัดจากแก่นจันทน์ขาวมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 1.41 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (สารมาตรฐาน ascorbic acid มีค่า IC50 เท่ากับ 0.04มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กมีค่า IC50 (ความเข้มข้นของสารสกัดสมุนไพรที่เกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กได้ร้อยละ 50) เท่ากับ 21.10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (สารมาตรฐาน EDTA มีค่า IC50 เท่ากับ 0.04มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) (เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ คือ อนุมูลไฮดรอกซิล (OH•) จาก ซูเปอร์ออกไซด์ (O2•-) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide, H2O2) ในปฎิกิริยา Fenton ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ oxidative stress ตามมา) ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพรจันทนา มีความสัมพันธ์กับปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวม แต่ความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสารสกัดสมุนไพรไม่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพร ปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวม

การศึกษาทางพิษวิทยาของจันทนา

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้จันทนา เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้จันทนาเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง จันทนา
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “จันทนา ”. หน้า 88.
  2. ธวัชชัย นาใจคง, อาซีด หวันยาวา, กฤตพงษ์ เก้าเอี้ยน, จตุพร คงสุขนิรันดร์, สนั่น ศุภธีรสกุล, มาลินี วงศ์นาวา และคณะ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสมุนไพรไทยบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2557;42(1):149-158.
  3. สุนันทา ศรีโสภณ. จันคนา บูรณะโอสถ, อุทัย โสธนะพันธุ์. การพิสูจน์ชนิดทางพฤกษศาสตร์ ของเครื่องยาจันทน์ขาว และจันทนาด้วยวิธีโครมาโพราฟีชนิดแผ่นบาง. วารสารไทย เภสัชศาสตร์ และวิทยาสุขภาพ ปีที่10 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2558. หน้า 19-24
  4. Picheansoonthon C, Chavalit M, Jeerawong W. The explanation of royal medicine from Narayana textbook (King Bhumibol Adulyadej’s Golden Jubilee 72 Years of Reign edition). Bangkok. Amarin and Wisdom Foundation, 2001. (in Thai)
  5. Thamawech W. Scripture of medicine’s Ratanakosin. Bangkok. Silpa Siam Packaging and Publishing, 2004. (in Thai)
  6. จันทน์ขาว. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudcdrug.com/main.php?action=viewpage&pid=48
  7. Eastern Botanical Garden (Khao Hin Son), the Center for Education of Khao-hin-son under the Royal Development Project, Herbal plants in forestry herbal plantation of Khao-hin-son. Chachoengsao. 2007. (in Thai)