กรดกาโนเดริค

กรดกาโนเดริค

ชื่อสามัญ Ganoderic acid

ประเภทและข้อแตกต่างกรดกาโนเดริค

กรดกาโนเดริคเป็นสารประกอบที่ได้จากธรรมชาติโดยเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ ซึ่งเป็นสารที่ให้รสขมและนับเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่ง สาร triterpenoids นั้นเป็นกลุ่มของสารประกอบที่ประกอบด้วยสารที่แตกต่างกันประมาณ 100 ชนิด ที่มีความสำคัญในการป้องกันและรักษาโรค ส่วนประเภทของกรดกาโนเดริค นั้นจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีหลายชนิด เช่น ganoderic acid A, AM1, B, B8, C1, C2, D, DM, E, F, G, K, H, K, LM2, S, SZ, T-Q, Y, R-Z, และ ME เป็นต้น แต่ชนิดที่สำคัญที่มีการศึกษาวิจัยพบว่าสามารถมีฤทธิ์ป้องกันและรักษาโรคได้ คือ ganoderic acids (A, B, C1, C2, D-K, R-Z, DM)

แหล่งที่พบและแหล่งที่มากรดกาโนเดริค

สำหรับแหล่งของกรดกาโนเดริคนั้นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าสามารถพบได้จากธรรมชาติโดยจะพบได้ตามส่วนต่างๆ ของเห็ดหลินจือ อาทิเช่น ส่วนของใบเห็ด ฐานเห็ด และสปอร์ของเห็ด เป็นต้น ซึ่งในแต่ละส่วนก็อาจจะพบสารต่างชนิดกันได้ เช่น ใบเห็ดจะพบกรดกาโนเดริค ชนิด ganoderic A, K, G, D, DM, LM2 ฯลฯ ส่วนสปอร์ของเห็ดจะพบ gonoderic acid A, B, C1, C2, F, G, H, α, ϒ, ϴ, ƞ,และɛ เป็นต้น

กรดกาโนเดริค

ปริมาณที่ควรได้รับกรดกาโนเดริค

สำหรับการนำกรดกาโนเดริคมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันนั้น จะเป็นการนำมาใช้งานในรูปแบบของสารสกัดเห็ดหลินจือ( ซึ่งมีสารต่างๆ หลายชนิดรวมถึง ganoderic acid ชนิดต่างๆ) มากกว่าจะเป็นการสกัดสาร ganoderic acid เดี่ยวๆ (ซึ่งจะพบการสกัดแยกสารเดี่ยวๆ นี้ เฉพาะการศึกษาวิจัยและการใช้เป็นส่วนผสมของยาในทางการแพทย์ (เท่านั้น) ดังนั้น สำหรับปริมาณและขนาดที่ใช้ของกรดกาโนเดริค จึงยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้สำหรับขนาดและปริมาณ การใช้สารสกัดเห็ดหลินจือ นั้นได้มีการเกณฑ์กำหนดการใช้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ระบุว่า อนุญาตให้ใช้ส่วนของดอกเห็ดมาสกัดด้วยวิธีบดผง สกัดด้วยน้ำ สกัดด้วยน้ำและเอทานอล โดยมีเงื่อนไขให้มีขนาดการใช้สำหรับวิธีบดผงไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน (ปริมาณสารสกัดต่อวันคำนวณเป็นปริมาณบดผง) และให้มีปริมาณสารกลุ่มไตรเทอร์พีน ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน

ประโยชน์และโทษกรดกาโนเดริค

ประโยชน์ของกรดกาโนเดริคนั้นจากที่มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา พบว่า กลุ่มของสาร ganoderic acid จะออกฤทธิ์เป็นตัวยับยั้งการหลั่งของ histamines (Histamine-Release inhibition activity) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดหนึ่งช่วยป้องกันกระดูกพรุนช่วยลดความดันโลหิต (ACE-inhibitory activity) ช่วยลดไขมันในเลือด (hypercholesterolemic activity) ซึ่งการลดไขมันนี้จะมีผลทั้งด้านการป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด (antiartherogenic) และบำบัดรักษาหลังจากเกิดการอุดตันแล้ว (antiartherosclerotic) ช่วยต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ในการยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับได้อีกด้วย ส่วนในด้านความปลอดภัยของกรดกาโนเดริค นั้นมีการศึกษาวิจัยเพื่อ หาข้อมูลความปลอดภัยของสารสกัดเห็ดหลินจือ (ที่มี ganoderic acid เป็นสารประกอบในสารสกัดดังกล่าว) ในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 16 คน พบว่าเมื่อทดสอบให้อาสาสมัครจำนวน 16 คน รับประทานเห็ดหลินจือจำนวน 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เปรียบเทียบกับยาหลอกนาน 10 วัน พบว่าไม่พบอาการข้างเคียงเกิดขึ้นในอาสาสมัครและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับ CD4, CD8 และ CD19 หลังจากได้รับสารสกัด แต่ระดับ CD56 มีการเพิ่มสูงขึ้นระหว่างการศึกษาและกลับลดลง เมื่อสิ้นสุดการศึกษาวิจัย และอีกงานวิจัยหนึ่งได้ ให้สารสกัดเห็ดหลินจือด้วยแอลกอฮอล์แก่หนูทดลองทางกระเพาะอาหาร (intragastric) ขนาด 1.2 และ 12 กรัม/กิโลกรัม ทุกวันนาน 30 วัน พบว่า ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของหนูทดลอง นอกจากนี้ยังไม่มีความผิดปกติของหน้าที่ของตับ ECG หรืออวัยวะอื่นๆ และเมื่อทดลองในสุนัขโดยให้สารสกัดเห็ดหลินจือที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์เย็น ขนาด 12 กรัม/กิโลกรัม นาน 15 วัน และสารสกัดเห็ดด้วยแอลกอฮอล์ที่ให้ความร้อนขนาด 24 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน นาน 13 วัน โดยทดลองหาค่า LD50 ในหนูทดลองเมื่อให้ทางช่องท้อง (interperitoneal) (ไม่ระบุรูปแบบของเห็ดหลินจือ) พบว่าค่า LD50 เท่ากับ 38.3≠1.048กรัม/กิโลกรัม และไม่มีความผิดปกติของอวัยวะภายในเช่นเดียวกับการทดลองกับหนู

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกรดกาโนเดริค

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรดกาโนเดริค ในเห็ดหลินจือหลายฉบับ ดังนี้

           ฤทธิ์ปกป้องตับและต้านออกซิเดชัน มีผลการศึกษาแบบสุ่มปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย และ ข้ามกลุ่ม (double blind placebo-controlled crossover study) ในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 42 คน แบ่งเป็นชาย 22 คน หญิง 20 คน ที่มีอายุระหว่าง 40-54 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานเห็ดหลินจือชนิดแคปซูลวันละ 1 แคปซูล (ขนาด 225 มก. ประกอบด้วย สารไตรเทอร์พีนอยด์ (triterpenoids) 7% ได้แก่ ganoderic acids A-G และ โพลีแซคคาไรด์ 6%) หลังอาหารกลางวันและอาหารเย็น กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอกในขนาดที่เท่ากัน นาน 6 เดือน จากนั้นทำการสลับกลุ่ม โดยมีช่วงหยุดพักระหว่างการสลับกลุ่ม 1 เดือน หลังสิ้นสุดการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก กลุ่มที่ได้รับแคปซูลเห็ดหลินจือมีสารต้านออกซิเดชัน เช่น สาร thiols, glutathione และเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน เช่น superoxide dismutase (SOD), glutathione peroxidase (GPx), glucose-6-phosphate dehydrogenase (G-6-PDH), glutathione reductase (GR) ในพลาสมาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สารบ่งชี้การเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ลดลง ได้แก่ thiobarbituric acid reactive substances (TBARS) และ 8-hydroxy-deoxy-guanosine (8-OH-dG) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันและการทำลาย ดีเอ็นเอ ตามลำดับ นอกจากนี้เอนไซม์ที่บ่งชี้การทำงานของตับได้แก่ glutamic-oxaloacetic transaminase (GOT) และ glutamic-pyruvic transaminase (GPT) ลดลง 42% และ 27% ตามลำดับ จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานเห็ดหลินจือที่มีสารไตรเทอร์พีนอยด์ และโพลีแซคคาไรด์ มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและปกป้องตับ โดยการเพิ่มระดับสารและเอนไซม์ต้านออกซิเดชัน ลดการสร้างอนุมูลอิสระ และลดเอนไซม์ที่บ่งชี้การทำงานของตับ

           ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยสารสกัดจากเห็ดหลินจือ และกรดอินทรีย์ในกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์ หลายชนิดแสดงฤทธิ์ต้านมะเร็งที่เด่นชัด โดยพบผลการศึกษาเกี่ยวกับมะเร็ง ดังนี้ สาร ganoderic acid U, V, W, X, Yและ Z ทั้ง 6 ชนิด มีฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งที่เกิดในตับอย่างแรง สาร ganoderic acid Me มีฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งปอด สาร ganoderic D มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งปากมดลูก สาร ganoderic acid A, F และ H มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม และ สาร ganoderic acid T มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด เป็นต้น ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าสาร ganoderic acid จากเห็ดหลินจือในรูปของไอโซเมอร์ ได้แก่ ganoderic acid Mf (GA-Mf) และ ganoderic acid S (GA-S) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์หลายชนิดทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ได้แก่ normal liver cell line LO2, human dermal fibroblast HF, เซลล์มะเร็งปอด 95-D, เซลล์มะเร็งรังไข่ HO-8910PM, เซลล์มะเร็งตับอ่อน SW1990 และ เซลล์มะเร็ง HeLa โดย GA-Mf จะมีการคัดเลือก (selectivity) ระหว่างเซลล์ปกติ และเซลล์มะเร็งได้ดีกว่า ขณะที่ GA-S มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งแรงกว่า เมื่อนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็ง HeLa พบว่าสารทั้ง 2 ที่ความเข้มข้น 19.5, 39.1 และ 97.7 ไมโครโมล มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ใกล้เคียงกับยา hydroxycamptothecin (ความเข้มข้น 13.7, 27.4, 54.9 และ 109.8 ไมโครโมล) ที่ใช้รักษามะเร็ง โดยจะหยุดวัฏจักรของเซลล์ในระยะที่แตกต่างกัน คือ GA-S จะหยุดวัฏจักรของเซลล์ในระยะ S ขณะที่ GA-Mf จะหยุดวัฏจักรของเซลล์ในระยะ G1 สารทั้ง 2 ทำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis โดยมีกลไกผ่านขบวนการของไมโตคอนเดรีย คือ ลดศักย์ไฟฟ้าของเยื่อหุ้มไมโตคอนเดรีย (mitochondria membrane potential) ทำให้เกิดปลดปล่อยไซโตโครม ซี เข้าสู่ไซโตโซล กระตุ้นการทำงานของ caspase-3 และ caspase-9 และเพิ่มอัตราส่วนของ Bax/Bcl-2 ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์ แสดงว่าสาร ganoderic acid จากเห็ดหลินจือมีศักยภาพในการที่จะนำมาใช้เป็นสารต้านมะเร็งได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1Protease จากสารในกลุ่ม triterpenes ที่สกัดได้จากเห็ดหลินจือด้วย MeOH พบว่า สาร ganoderic acid β,  lucidumol B, garnodermanondial, ganodermanontriol และganolucidic acid A  มีฤทธิ์ anti-human immunodeficiency virus (anti-HIV-1) protease activity  ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 20-90 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร 

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ได้มีการศึกษาวิจัยทำการสกัดสารในกลุ่ม triterpenes และ sterois จากเห็ดหลินจือ แล้วทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดดังกล่าว พบว่า สารสกัดกลุ่ม  triterpenes ที่ชื่อว่า lucidenic acid และ ganoderic acid สามารถต้านการอักเสบในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของใบหูด้วยสาร 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate ด้วยความเข้มข้น 1 ไมโครกรัม/หู 1 ข้าง มีค่า ID50 เท่ากับ 0.07-0.39 มิลลิกรัม/หู 1 ข้าง

           ฤทธิ์ป้องกันกระดูกพรุน มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์ และสาร ganoderic acid DM มีฤทธิ์ป้องกันกระดูกพรุนในหนูที่ตัดมดลูก นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารสกัดจากเห็ดหลินจือส่วนของ triterpenoids ได้แก่  ganoderic acid A, B, C และ D, lucidenic acid B และ ganodermanotriol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงทีสุดเมื่อทดสอบโดยใช้วิธี pyrogallol induced oxidation on erythrocyte membrane และ Fe(II)-ascorbic acid induced lipid peroxidation in liver mitochondria อีกด้วย

โครงสร้างกรดกาโนเดริค

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้กรดกาโนเดริค ในรูปของสารสกัดเห็ดหลินจือนั้น ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ระบุผลว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูงหากใช้ในปริมาณและขนาด ที่กำหนดไว้ แต่ในการใช้ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณ ที่เหมาะสมและไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งยังมีรายงานก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด ดังนี้ มีรายงานว่าผืป่วยโรคหอบหืดจำนวน 115 คน เมื่อทดสอบตรวจภูมิแพ้โดยวิธีสะกิดผิวหนัง (skin prick test) สำหรับทดสอบการแพ้สปอร์เห็ดหลินจือพบว่า ผู้ป่วย 16% เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการทดสอบ รวมถึงได้มีการทดสอบตรวจภูมิแพ้โดยวิธีสะกิดผิวหนัง (skin prick test) และ intradermal test ในอาสาสมัครจำนวน 172 คน โดยใช้สปอร์เห็ดหลินจือและสารสกัดดอกเห็ด พบว่า ผู้ป่วยจำนวน 28.48% และ 17.44% เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการทดสอบของสปอร์เห็ดหลินจือ และสารสกัดดอกเห็ด ตามลำดับ  ดังนั้นผู้ที่เคยมีประวัติเคยแพ้เชื้อราหรือเห็ดมาก่อนและผู้ป่วยโรคหอบหืดควรระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ และเนื่องจากเห็ดหลินจือมีรายงานว่าสามารถออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด และยับยั้งการแข็งตัวของเลือด เพราะฉะนั้นควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเห็ดหลินจือก่อนการเข้ารับการผ่าตัด นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase เพราะฉะนั้นเห็ดหลินจืออาจเสริมฤทธิ์ยา lovastatin หรือยาลดโคเลสเตอรอลตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่ม statin และ อาจต้านฤทธิ์กับยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่านอวัยวะ เนื่องจากเห็ดหลินจือมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

เอกสารอ้างอิง กรดกาโนเดริค
  1. เห็ดหลินจือ…จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข พิมพ์ครั้งที่ 1 : สิงหาคม 2553. พุ่มทองการพิมพ์ กรุงเทพฯ. 90 หน้า
  2. ฤทธิ์ปกป้องตับและต้านออกซิเดชันของเห็ดหลินจือในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  4. ฤทธิ์ทำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งของสาร ganoderic acid จากเห็ดหลินจือ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. Yue QX, Cao ZW, Guan SH, Liu XH, Tao L, Wu WY, Li YX, Yang PY, Liu X, Gua DA. Proteomic characterization of the cytotoxic mechanism of ganoderic acid D and computer automated estimation of the possible drug-target network. Mol Cell Proteomics 2008;7(5):949-61.
  6. Gao JJ, Nakamura N, Min BS, Hirakawa A, Zuo F, Hattori M. Quantitative determination of bitter principles in specimens of Ganoderma lucidum using high-performance liquid chromatography and its application to the evaluation of ganoderma products. Charm Phram Bull 2004;52(6):688-95.
  7. Tang W, Liu JW, Zhao WM, Wei DZ, Zhong JJ. Ganoderic acid T from Ganoderma lucidum mycelia induces mitochondria mediated apoptosis in lung cancer cells. Life Sei 2006; 80(3):205-11.
  8. ชยันต์ พิเชียรสุนทร. เห็ดหลินจือกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา. ใน: การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์สุขภาพ; ครั้งที่ 15. 17 กรกฎาคม 2540; ห้องประชุมอาคารกลาง อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่:สถาบัน;2540.
  9. Antonio GG, Francisco L, Augusto R, Claudia MM, Jaima B. Lanostanoid triterpenes from Ganoderma lucidum. J Nat Prod 1999;62:1700-1.
  10. Zhang XQ, Pang GL, Cheng Y, Wang Y, Ye WC. Chemical constituents of the spores of Ganoderma lucidum. Zhong Yao Cai 2008;31(1):41-4.
  11. Miyamoto I, Liu J, Shimizu K, Sato M, Kukita A, Kukita T, Kondo R. Regulation of osteoclastogenesis by ganoderic acid DM  isolated from Ganoderma lucidum. Eur J Pharmacol. 2009;602(1):1-7.
  12. Chen NH, Liu JW, Zhong JJ. Ganoderic acid Me inhibits lumor invasion through down-regulating matrix metallproteinases 2/9 gene expression. J Pharmacol Sei 2008;108(2):212-6.
  13. Miyamoto I, Liu J, Shimizu K, Sato M, Kukita A, Kukita T, Kondo R. Regulation of osteoclastogenesis by ganoderic acid DM  isolated from Ganoderma lucidum. Eur J Pharmacol. 2009;602(1):1-7.
  14. สุรพล รักปทุม, นพชัย แดงดีเลิศ, บรรณาธิการ. สู้มะเร็งด้วยเห็ดหลินจือ. ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์,2550.
  15. Jiang J, Grieb B, Thyagarajan A, Sliva D. Ganoderic acids suppress growth and invasive behavior of breast cancer cell by modulating AP-I and NF-kappaB signaling. Int J Mol Med 2008;21(5):577-84.