กกลังกา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กกลังกา งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กกลังกา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กกรังกา, หญ้ารังกา, หญ้ากก (ทั่วไป), กกดอกแดง, กกขนาก, กกต้นกลม, หญ้าลังกา, หญ้าสเล็ม (ภาคกลาง), เฟิงเช่อเฉ่า, จิ่วหลงทู่จู (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus alternifolius Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cyperus althernifolius supsp. Flabe;;iformis Kuk
ชื่อสามัญ Umbrella plant, Flastsedge
วงศ์ CYPERACEAE


ถิ่นกำเนิดกกลังกา

กกลังกา จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในหมู่เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งอยู่ในทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก และในปัจจุบันมีมากกว่า 4000 สายพันธุ์ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่มีน้ำขัง เช่น ตามบึง หนองน้ำ หรือ ตามแม่น้ำลำคลอง และที่ชื้นแฉะทั่วไปที่เป็นดินเหนียว และมีอินทรียวัตถุสูง

ประโยชน์และสรรพคุณกกลังกา

  • แก้ตกเลือดในสตรีหลังคลอด
  • ใช้ขับโลหิตเนื่องจากช้ำใน
  • แก้ธาตุพิการ
  • ช่วยขับน้ำดี ให้ตกในลำไส้
  • ช่วยขับน้ำลาย
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้เสมหะ
  • แก้ไข้มีพิษร้อน
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ใช้ฟอกเลือด
  • ช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดี
  • แก้ท่อน้ำดีอักเสบ
  • แก้ดีซ่าน
  • แก้ตัวเหลืองตาเหลือง
  • แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
  • ใช้แก้ตกเลือดภายใน
  • ช่วยขับเลือดเน่าเสีย
  • แก้โรคทางปาก เช่น ปากเปื่อย แผลในปาก รำมะนาด
  • ใช้ฆ่าเชื้อโรคในพยาธิ
  • ใช้ฆ่าเชื้อโรคที่บาดแผล

           ในปัจจุบันมีการนำกกลังกา มาใช้ประโยชน์ต่างๆ หลากหลายด้านอาทิเช่น มีการนำกกลังกามาใช้บำบัดน้ำเสีย ในรูปแบบบึงประดิษฐ์ในแหล่งที่มีการถ่ายเทน้ำเสียต่างๆ และยังมีการนำเส้นใยจากส่วนของลำต้นกกลังกามาใช้เป็นเครื่องจักรสานในงานหัตถกรรมต่างๆ รวมถึงมีการนำกกลังกา มาปลูกเป็นไม้ประดับตามสระน้ำ สวนน้ำ หรือ ตามบึงสวนสาธารณะต่างๆ เพื่อความสวยงามอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ขับโลหิต ขับน้ำดี แก้ไข้พิษร้อน ขับน้ำลาย แก้เสมหะ แก้เสมหะเฟื่อง ช่วยย่อยอาหารโดยการนำเหง้า และรากสด 50-60 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มหากเป็นแบบแห้งใช้ 20-30 กรัม ใช้แก้ท่อน้ำดีอักเสบ ช่วยขับน้ำดีให้ตกลำไส้ แก้ดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง โดยใช้ลำต้นกกลังกา สด 50-60 กรัม หรือ ลำต้นแห้ง 20-30 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย ปากเป็นแผล รำมะนาด โดยใช้ดอกใช้ต้มกับน้ำดื่ม หรือ อมกลั้วคอ ใช้ฆ่าพยาธิ ฆ่าเชื้อโรคภายใน โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ช้ำใน และอาการตกเลือดจากอวัยวะภายใน ช่วยขับเลือดเน่าเสีย โดยใช้รากสด 50-60 กรัม หรือ รากแห้ง 20-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ฆ่าเชื้อโรคที่บาดแผลโดยใช้ใบใช้ตำพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของกกลังกา

กกลังกาจัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวอยู่ใต้ดิน มีลักษณะเป็นแง่งสั้นคล้ายพืชตระกูลขิงส่วนลำต้นอยู่เหนือดิน และแตกเป็นกอ ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสีเขียว ไม่มีก้าน ลำต้นเป็นเหลี่ยมค่อนข้างกลมมน มีความสูงได้ประมาณ 100-150 เซนติเมตร

           ใบ เป็นใบเดี่ยว แผ่นใบบางแต่จะออกแผ่ซ้อนๆ กัน บริเวณปลายยอดของลำต้นคล้ายซี่ร่ม ลักษณะของใบยาวเรียวสีเขียว กว้าง 1 ซม. และยาว 18-19 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ด้านบนใบเห็นเส้นของใบตามยาวได้ชัดเจน ส่วนใต้ท้องใบสาก ในต้นหนึ่งๆ โดยใน 1 ลำต้น จะมีใบประมาณ 18-25 ใบ

           ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่มย่อยบริเวณปลายยอดโดยใน 1 ช่อดอก จะแตกแขนง 20-25 แขนง ซึ่งในแต่ละแขนงจะมีขนาดกว้าง 12-20 เซนติเมตร และแต่ละแขนงจะมีดอกย่อยขนาดเล็กช่อละ 8-20 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวแกมเขียวแต่เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ดอกย่อยมีกาบหุ้ม ขนาดกว้าง 1 มิลลิเมตร และยาว 1-2 มิลลิเมตร ก้านดอกเป็นเส้นเล็กๆ สีเขียวอ่อน ยาวได้ 6-7 เซนติเมตร

           ผล ของกกลังกา เป็นผลแห้งมีสีน้ำตาลเปลือกแข็ง และลักษณะรูปรี หรือ รูปไข่ กว้าง 0.4-0.5 มิลลิเมตร และยาว 1 มิลลิเมตร ด้านในผลมีเมล็ดอยู่เมล็ดเดียว

กกลังกา

การขยายพันธุ์กกลังกา

กกลังกาเป็นพืชล้มลุกที่มีความชื้นสูง หรือ น้ำขังเล็กน้อย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการแยกหน่อ และการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของกกลังกานั้นส่วยใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์อีกทั้งกกลังกา ยังเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กกลังกาเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งตามนาข้าว หรือ ตามที่ราบลุ่มที่มีน้ำขัง ส่วนวิธีการขยายพันธุ์กกลังกานั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด และการแยกหน่อพืชล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกกลังการะบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญที่สำคัญเช่น Imperatorin, psoralen, xanthotoxin, umbelliferon, Quercetin, gallic acid, Quercetin-3-o-rutin-oside, Thiodiglycol, Erythritol, Benzeneethanamine, Ascaridole cpoxide, Phthalic acid, butyl undecyl ester, Diqitoxin, Phytol, 4a-acetoxy-5,5,8a-trimethyl,Neocurdione, Ethyl iso-allocholate นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอกของกกลังกา ยังพบสาระสำคัญเช่น Beta-selinene, Beta-pinene, α-perone, caryophyllene oxide, cyperenr, geraniol, α-pinene, patchemol, myrtenol, oplopenone

โครงสร้างกกลังกา

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกกลังกา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนหัวของลำต้น และดอกของกกลังการะบุว่า สารสกัดจากส่วนหัว หรือ เหง้าของกกลังกาสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ E. faecalis ที่ความเข้มข้น 62.5 mg/ml ส่วนผลการทดสอบพฤกษเคมีของกกลังกาพบว่ามีสารกลุ่ม เทอร์พีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านเชื้อราที่ก่อโรคมนุษย์ มีการศึกษาฤทธิ์การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย 3 ชนิด ของสารสกัดต้นกกลังกา โดยตัวทำละลาย คือ เอทานอล ไดคลอโรมีเทน และเฮกเซน โดยวิธี disdiffution techniques พบว่าสารสกัดต้นกกลังกาด้วยสารสกัดเอทานอล มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีดรีย bacillus subtilis ได้ดีที่สุด รองลมา คือ staphylococcus aureus โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งเฉลี่ยเท่ากับ 9.3,8.0 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่วนสารสกัดต้นกกที่สกัดด้วยเอทานอล ไดคลอมีเทน และเฮกเซน ไม่มีฤทธิ์ยับยังการเจริญของแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด ส่วนการศึกษาสารสกัดจากราก และใบของกกลังกา พบว่ามีฤทธิ์ปานกลางต่อยีสต์ในขณะที่สารสกัดจากรากพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดจากส่วนเหง้า และรากของกกลังกาในต่างประเทศยังระบุว่ามีฤทธิ์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการอักเสบ ขับพยาธิ ต้านอาหารแพ้ ต้านมาลาเรีย ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม และต้านอาการท้องเสีย เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกกลังกา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กกลังกาเป็นสมุนไพร ควรระมันระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาด และปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้กกลังกา เป็นสมุนไพร และมีสรรพคุณขับโลหิตซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้


เอกสารอ้างอิง กกลังกา
  1. ดร.นิจศิริเรืองรังสี ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. กกลังกา (kok rang ka). หน้า 14.
  2. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ดร.นิจศิริ เรืองรังสี กัญจนา ดีวิเศษ. กกรังกา. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 54.
  3. เจมส์ พึ่งผล และคณะ. การศึกษาพฤกษเคมีเบื้องต้น และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะของสมุนไพรในเบญจผลธาตุ. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 17. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2562. หน้า 85-94.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. กกรังกา. หนังพจนานุกรมไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 1-2.
  5. อมรรัตน์ สีสุกอง กัลยาภรณ์ จันตรี ศรีสุดา หาญภาคภูมิ. การศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากวัชพืชบางชนิด. วารสารวิจัย และพัฒนาวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 11. ฉบับที่ 1 มกราคม-พฤษภาคม 2559. หน้า 69-82.
  6. วิทยา บุญวรพัฒน์. กกลังกา. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 16.
  7. I. H. Hameed, I. A. Ibraheam and H. J. Kadhim .Gas chromatography mass spectrum and fouriertransform,infrared spectroscopy analysis of methanolic extract of Rosmarinus oficinalis leaves. Journal of Pharmacognosy and Phytotherapy , (2015). 7(6), 90-106.
  8. R.M. Pererz, H.H. Luna and S.H. Garrido, J. Chil. Chem. Soc., 151, 883 (2006).
  9. Burkill, H.M.( 1985). The useful plants of west tropical Africa, Vol. 1.p478-480.
  10. Bunyapraphatsara N, Chokchaichareonporn O, editors. Herbs: folk herbs (1). Bangkok: Faculty of Pharmacy, Mahidol University; 1996. 895 p
  11. M. T. Ghaneian1 , M. H. Ehrampoush, A. Jebali , S. Hekmatimoghaddam and M.Mahmoudi.Antimicrobial activity, toxicity and stability of phytol as a novel surface disinfectant Environmental Health Engineering and Management Journal( 2015), 2(1), 13–16
  12. W.W. Jennings and I.I. Shibamito, Qualitative Analysis of Flavour Volatiles by Gas Capillary Chromatography. Academic Press, New York (1980).
  13. A. F. Al-Rubaye, M. J. Kadhim,and I.H. Hameed . Determination of Bioactive Chemical Composition of Methanolic Leaves Extract of Sinapis arvensis Using GC-MS Technique ,IJTPR, (2017); 9(2); 163-178.
  14. F. Shahidi .Antioxidant factors in plant foods and selected oilseeds, , BioFactors(2000),13(1-4):179-85·
  15. I. H. Hameed, H. J. Altameme, and S. A. Idan. Artemisia annua: Biochemical products analysis of methanolic aerial parts extract and anti-microbial capacity . RJPBCS , (2016),7(2) ,1843.
  16. Lawal OA, Oyedeji AO. Chemical composition of the essential oils of Cyperus rotundus L. from South Africa. Molecules. 2009;14(8):2909-17.
  17. H.J. Al Tameme, I. H. Hameed and N. A.Abu-Sserag . analysis of bioactive phytochemical compounds of two medicinal plants ,Equisetum arvense and Alchemila valgaris seeds using gas chromatography-mass spectrometry and fouriertransform infrared spectroscopy, Malays. Appl. Biol. (2015) 44(4): 47–58.
  18. G.G. John, J. Ecol., 67, 953 (1978).
  19. R. El Mokni , Hammami S. , Dall’Acqua S. , Peron G. , Faidi K. , Braude J.P. , Sebei H and El Aouni M.H. Chemical Composition, Antioxidant and Cytotoxic Activities of Essential Oil of the Inflorescence of Anacamptis coriophora subsp. fragrans (Orchidaceae) from Tunisia. Natural Product Communications (2016), 11(6):857-860.
  20. Singh G, Kapoor IPS, Singh OD, Rao GP, Prasad YR, Leclercq PA, Klinkby N. Studies on essential oils, part 28: Chemical composition, antifungal and insecticidal activities of rhizome volatile oil of Homalomena aromatica Schott. Flavour and fragrance journal. 2000;15(4):278-80.