แก่นตะวัน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แก่นตะวัน งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แก่นตะวัน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แห้วบัวตอง, ทานตะวันหัว, มันทานตะวัน, โทปินัมเบอร์ (ฝรั่งเศส), กิราโซล (อิตาลี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus tuberosus L.
ชื่อสามัญ Jerusalem artichoke, Sunchoke, Sunroot
วงศ์ COMPOSITAE
ถิ่นกำเนิดแก่นตะวัน
แก่นตะวัน เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ บริเวณทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา และทางตอนใต้ของแคนาดา ยังถือว่าเป็นพืชท้องถิ่นของแคนาดาอีกด้วย ต่อมาได้มีการกระจายพันธุ์ไปในยุโรป และเอเชีย ปัจจุบันพบปลูกทั่วไปในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน แอฟริกากลาง และออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยแก่นตะวัน ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2515 โดย รศ.ดร.สุรพงษ์ โกสิยะจินดา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นได้ให้ชื่อพืชชนิดนี้ว่า “แห้วบัวตอง” แต่บางคนก็เรียกว่า “ทานตะวันหัว” ต่อมา รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้นำสายพันธุ์แก่นตะวันเข้ามาทดลองปลูกจำนวน 24 สายพันธุ์ ในปี พ.ศ.2539 ทำให้เกิดการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนพบว่า สายพันธุ์ KKU Ac 008 สามารถให้ผลผลิตของหัวสดถึงไร่ละ 2-3 ตัน ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แก่นตะวัน” และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตามลำดับซึ่งช่วงนั้น การปลูกยังไม่ค่อยได้ผลจึงทำให้ยังไม่ได้รับความนิยม
ประโยชน์และสรรพคุณแก่นตะวัน
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
- ช่วยลดไขมันในเลือด
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดคอเรสเตอรอลสูง
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ท้องผูก
- แก้ท้องเสีย
- ช่วยระบบขับถ่าย
- ช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยเจริญอาหาร
- ช่วยขับสารพิษ
- ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย
- ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้
- ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
หัวแก่นตะวัน ใช้รับประทานสดๆ เป็นผัก ซึ่งหัวสดจะมีรสชาติคล้ายๆ กับแห้ว หรือ อาจนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน หรือ คงสามารถนำมาใช้เป็นอาหารแทนมันฝรั่ง ได้ เพราะมีเนื้อสัมผัสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีรสหวานกว่าจึงเหมาะสำหรับใส่ในสลัดผักต่างๆ และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย นอกจากนี้หัวสดของแก่นตะวัน 1 ตัน สามารถใช้ผลิตเป็นเอทานอลบริสุทธ์ 99.5% ได้มากถึง 100 ลิตร และยังสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนด้วยการนำไปใช้ผสมกับน้ำมันเบนซิน ใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้อีกด้วย หัวและใบของแก่นตะวัน ยังสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ด้วย อาทิ สุกร เป็ด โค กระบือ เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก่นตะวันสามารถนำมาบริโภคสดๆ เป็นของว่าง หรือ อาจนำมาใช้ประกอบอาหารคาว-หวาน เพื่อใช้รับประทาน และอาจนำมาฝานเป็นแผ่นตากแห้งเพื่อทำชาแก่นตะวัน หรือ บดเป็นผงชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้ แต่ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นสารสกัด หรือ ผงแป้ง แก่นตะวันเพื่อจำหน่าย เช่นกัน สำหรับรูปแบบ และขนาดวิธีใช้ที่เป็นแผ่นอบนั้นยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจน เพียงแต่มีข้อมูลจาก European Food Safety Authority ระบุว่าขนาดที่แนะนำให้รับประทานแก่นตะวัน เพื่อเพิ่มปริมาณพรีไบโอติคในลำไส้ คือ รับประทานสารสกัด 135 มก./วัน หรือ เทียบเท่าหัวสด 297-594 มก.
ลักษณะทั่วไปของแก่นตะวัน
แก่นตะวัน จัดอยู่ในกลุ่ม Asteraceae เป็นพืชประเภทล้มลุก มีอายุสั้น ประมาณ 120-180 วัน มีลำต้นเหนือดินลักษณะกลม เปลือกลำต้นมีสีม่วงเข้ม มีขนยาวแข็ง ขนาดลำต้นประมาณ 1-3 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.5-2 เมตร ส่วนลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัว เป็นลำต้นสะสมอาหาร หัวมีลักษณะแบ่งเป็นแง่งยาว และเป็นตะปุ่มตะป่ำเป็นแนวยาว ตามความยาวของหัว เปลือกบาง มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาวกรอบ ขนาดหัวประมาณ 2-6 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 6-20 เซนติเมตร ส่วนรากเป็นรากแขนงที่แตกออกบริเวณโคนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามสลับฉากกัน แต่ละใบมีก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก กว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฐานใบรูปสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ เนื้อใบบาง ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบทั้งด้านบน และด้านล่างมีขนสั้นแข็งปกคลุม แผ่นใบมีเส้นแขนงใบ 6-9 เส้น ดอกเป็นช่อ มีก้านช่อดอกหลัก ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากนั้นแตกก้านดอกย่อยออก แต่ละดอกมีขนาด 6-8 เซนติเมตร ลักษณะเป็นทรงกลมแบน ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีสีเหลือง คล้ายกับดอกทานตะวันหรือบัวตองแต่เล็กกว่า ส่วนผลแก่นตะวัน มักเรียกเป็นเมล็ด มีลักษณะมีรูปลิ่มคล้ายเมล็ดดาวเรือง ปลายเรียวยาว เปลือกผลมีสัน 4 สัน สีน้ำตาลอ่อน มีลายสีน้ำตาล และมีขนสั้นแน่นปกคลุม ขนาดผลกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ด้านในเป็นเนื้อเมล็ด 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์แก่นตะวัน
แก่นตะวัน เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้งได้พอประมาณชอบดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี เพราะจะลงหัวได้ง่ายหากมีน้ำขังแฉะจะทำให้หัวเน่า สำหรับการปลูกในพื้นที่ไร่ ไม่มีระบบชลประทานจะนิยมปลูกฤดูฝน ซึ่งจะปลูกเหมือนกับพืชไร่ทั่วไป ส่วนการปลูกในฤดูแล้งจะต้องให้น้ำบ้างทุกๆ อาทิตย์ โดยแปลงดินที่ปลูก ควรเป็นดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก ดินมีความร่วน มีอินทรียวัตถุ และระบายน้ำดี
ส่วนการขยายพันธุ์แก่นตะวันนั้น มีอยู่ 2 วิธี คือ
- การปลูกแบบหยอดหัวพันธุ์ นำหัวพันธุ์มาตัดแบ่งเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วนำหัวพันธุ์ไปแช่กับยากันเชื้อรา นานประมาณ 30 นาที เพื่อป้องกันการเกิดชื้อราบนหัวพันธุ์ จากนั้น หัวพันธุ์ไปหยอดตามร่องที่ เตรียมไว้ ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วเกลี่ยหน้าดินกลบให้ทั่ว จากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม
- การปลูกจากการเพาะกล้าหัว นำหัวที่แตกหน่อแล้วลงปลูกในร่องที่เตรียมไว้
โดยควรมีระยะการปลูกดังนี้ การปลูกในฤดูฝน ให้ปลูกในระยะระหว่างหลุมประมาณ 30-50 เซนติเมตร และ ระยะระหว่างแถวประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนการปลูกในพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง ให้ปลูกในระยะระหว่างหลุมประมาณ 20-40 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวประมาณ 40 เซนติเมตร เนื่องจากการเจริญเติบโตจะช้า และขนาดต้นจะเล็กกว่าการปลูกในฤดูฝน
องค์ประกอบทางเคมี
ส่วนหัวของแก่นตะวัน ประกอบด้วยสารประเภทคาร์โบไฮเดรตประเภทฟรุกแตน (fructan) เช่น สารอินซูลิน (inulin) และ ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (fructooligosaccharide) โดยพบมากถึง 16-20% และ 10-25% ตามลำดับ รวมทั้งมีองค์ประกอบของสารพฤกษเคมี เช่น สารกลุ่ม Flaronoids เช่น quereetin และ สารกลุ่ม Phenolics เช่น gallic acid ฟีนอลิก และ ฟลาโวนอยด์ neo-chlorogenic acid, chlorogenic acid, crypto-chlorogenic acid, 3,5- dicafffeoylquinic acid, 3,4-dicafffeoylquinic acid, 4,5- dicafffeoylquinic acid และ 1,3- dicafffeoylquinic acid fructooligosaccharide
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของแก่นตะวัน
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้ แก่นตะวัน ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คุณค่าทางโภชนาการของแก่นตะวันดิบ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 73 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 17.44 กรัม
- น้ำตาล 9.6 กรัม
- เส้นใย 1.6 กรัม
- ไขมัน 0.01 กรัม
- โปรตีน 2 กรัม
- วิตามินเอ 20 IU
- วิตามินบี 1 0.2 มิลลิกรัม 17%
- วิตามินบี 2 0.06 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 3 1.3 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 5 0.397 มิลลิกรัม 8%
- วิตามินบี 6 0.077 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 9 13 ไมโครกรัม 3%
- วิตามินซี 4 มิลลิกรัม 5%
- วิตามิน ดี 0.19 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 0.1 ไมโครกรัม
- ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 3.4 มิลลิกรัม 26%
- ธาตุแมกนีเซียม 17 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุฟอสฟอรัส 78 มิลลิกรัม 11%
- โซเดียม 4 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.12 มิลลิกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแก่นตะวัน
จากการศึกษาวิจัยพบว่าแก่นตะวัน มีฤทธิ์ลดน้ำตาล และไขมันในเลือดได้ เนื่องจากส่วนหัวของแก่นตะวันมีสาร อินนูลิน (inulin) และฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรค์ (fructooligosaccharides) เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีเส้นใยที่ให้แคลอรี่ต่ำ และในระบบทางเดินอาหารของคนเราไม่มีเอนไซม์ใช้ย่อยได้ ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปจะไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็ก ทำให้ไม่มีการดูดซึม หรือ เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด จึงไม่เป็นปัญหาต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
การศึกษาทางพิษวิทยาของแก่นตะวัน
ในขณะนี้ยังไม่พบรายงานความเป็นพิษ และรายงานการศึกษาในคนยังมีน้อย จึงไม่สามารถระบุได้ว่าหากรับประทานแก่นตะวัน ติดต่อกันนานๆ จะก่อให้เกิดการตกค้างหรือเกิดพิษหรือไม่
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- เนื่องจากแก่นตะวันมีคุณสมบัติของเส้นใยอาหารสูง การรับประทานสารสกัดแก่นตะวันในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีอาการไม่สบายท้อง จุกเสียดแน่นท้อง ท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือ มีอาการคลื่นไส้ได้
- สารอินซูลิน และฟรุกโตโอลิโกเซคคาไรด์ ในแก่นตะวัน อาจเกิดการหมักตัวในลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแก๊สบริเวณดังกล่าว และอาจทำให้เกิดการผายลมเพิ่มขึ้น
- ถึงแม้สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในแก่นตะวันจะมีฤทธิ์ลดน้ำตาล และไขมันในเลือดได้แต่ผู้ป่วย เบาหวานก็ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ ควบคู่ไปกับการใช้สมุนไพรแก่นตะวันด้วย
- สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยรับประทานแก่นตะวัน ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่มากก่อนในช่วงแรก หรือ รับประทานสดครั้งละ 1 ขีด เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพก่อน
เอกสารอ้างอิง แก่นตะวัน
- สุริยา ทุดปอ, จิตรา สิงห์ทอง, สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระของแก่นตะวัน ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวต่างกัน. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.ปีที่ 19 .ฉบับที่ 3.กันยายน-ธันวาคม 2560. หน้า 45-57
- วิรงค์รัตน์ พิมพ์แสน. 2553. ปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับ-สภาพแวดล้อมของลักษณะผลผลิตแก่นตะวัน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
- เอกภพ สินงาม. การศึกษาคุณสมบัติความเป็นพรีไบโอติกของฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่ได้จากแก่นตะวัน.วิทยานิพนธ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยศิลปกร ปีการศึกษา 2555.
- Fratianni, F. et al. 2007. “Polyphenolic composition in different parts of some cultivars of globe artichoke (Cynara cardunculus L. var. scolymus (L.) Fiori)”. Food Chemistry. 104: 1282–1286.
- แก่นตะวัน สรรพคุณและการปลูกแก่ตะวัน.พืชเกษตร ดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- ดีปลีและแก่นตะวัน.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์)เ ข้าถึงได้จาก http://www.medplont.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=7058
- Ireneusz, K. et al. 2013. “Identification and quantification of phenolic compounds from Jerusalem artichoke (Helianthus tuberosus L.) tubers”. Food Agriculture and Environment. 11: 601-606