คำรอก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คำรอก งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ


ชื่อสมุนไพร คำรอก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตานกกด, ประดงเสีอด, จันนกกด, กะโรงแดง, หำฟาน, อุ่นขี้ไก่ (ภาคเหนือ), หมาตายกากลาก (ภาคตะวันออก), ตานกกดน้อย, ตานกกดตัวเมีย, จับนกกด, ช้างน้าว, คีรีนกกรด (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ellipanthus tomentosus Kurz.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ellipanthus burebidensis Elmer, E. cinereus Pierre, E. curtisii King, E. gibbosus King, E. griffithii Hook.f., E. helferi Kurz, E. luzoniensis S.Vidal, E. mindanaensis Merr., E. neglectus Gamble, E. sarawakensis Schellenb., E. longifolius Merr., E. subrufus Pierre, E. urdanetensis (Elmer) Merr., E. vidalii, Connarus urdanetensis Elmer.
วงศ์ CONNARACEAE


ถิ่นกำเนิดคำรอก

คำรอก จัดเป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย และลาว จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ศรีลังกา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงในฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้บริเวณป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าพรุ ที่มีความสูงในระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร ทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้มากในภาคเหนือ


ประโยชน์และสรรพคุณคำรอก

  • ใช้บำรุงกำลัง
  • แก้ปวดเมื่อย
  • ช่วยถ่ายพิษเสมหะ
  • ช่วยถ่ายโลหิต
  • แก้กษัย
  • ช่วยถ่ายพิษตับ
  • แก้ตับทรุด
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง
  • แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ไตพิการ
  • แก้ท้องผูก
  • ช่วยเรียกน้ำย่อย
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • รักษาอาการบีบเกร็งของช่องท้อง
  • ช่วยป้องกันอาการท้องอืด
  • แก้หอบหืด
  • ช่วยรักษาการทำงานที่ผิดปกติของไต
  • ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
  • เป็นยาบำรุงร่างกาย
  • บำรุงเลือด
  • ยาบำรุงหลังคลอด
  • รักษาประดงที่มีอาการปวดวิ่งตามตัว

           ในอดีตมีการนำส่วนต่างๆ ของคำรอก มาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น เนื้อไม้นำมาใช้ทำอุปกรณ์ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตร และเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงนำมาใช้ในการก่อสร้างต่างๆ และใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ในส่วนอื่นๆ ของคำรอก เช่น กิ่งก้าน ใบ ราก ลำต้น เปลือกต้น ยังมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรอีกด้วย

คำรอก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงกำลัง ถ่ายพิษ โลหิต และเสมหะ แก้กษัย แก้ปวดท้อง ลดอาการเกร็งช่องท้อง ขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตพิการ แก้ตับทรุด ถ่ายพิษตับ แก้ปวดเมื่อย โดยใช้เนื้อไม้คำรอก มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้หอบหืด โดยนำกิ่งก้านและต้นผสมกับต้นพลองเหมือด ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา และแก่นพลับพลา นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ท้องอืดช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยเจริญอาหาร โดยนำกิ่งก้าน และต้นต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงหลังคลอดบุตรของสตรีโดยนำรากมาต้มกับน้ำกินต่างน้ำ
  • ใช้แก้อาการประดงที่มีอาหารปวดวิ่งทั้งตัวโดยนำรากผสมกับแก่นจวง อ้อยดำ นมวัวทั้งห้าข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต โดยน้ำรากคำรอกผสมกับรากตาไก้ และรากตากวง นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้ท้องผูก โดยนำเนื้อไม้มาเข้ากับต้นไก้ และขับทองพยาบาท ต้มน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของคำรอก

คำรอก จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้น ขนาดกลาง ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน เรือนยอดเป็นพุ่มแคบ สูงได้ถึง 12 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนาตามความยาวของลำต้น กิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปรียาว หรือ รูปใบหอก โคนใบสอบกลม ปลายใบมนหรือเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ขนาดของใบกว้าง 3.5-8 เซนติเมตร และยาว 8-18 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ ส่วนด้านล่างมีขนสั้นๆ ละเอียดสีน้ำตาลแดง มีก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และมีเส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง บริเวณตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 3 ซม. มีขนหนาแน่น ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายทู่ หรือ อาจแหลม กว้าง 1 มม. ยาว 2 มม. ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนยาว ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว หรือ สีครีม กว้าง 1 มม. ยาว 4 มม. ด้านในมีขนสั้นหนา ด้านนอกมีขนยาว เกสรเพศผู้มี 10 อัน เป็นหมัน 5 อัน ผลเป็นผลแห้ง ค่อนข้างกลม ปลายผลแหลม ยาว 2-4 เซนติเมตร ผิวผลมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม เปลือกผลบาง ไม่มีเนื้อผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ด้านในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด  เมล็ดเป็นมันสีดำรูปไข่หรือรูปรี ยาว 1-2 เซนติเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มแดงคล้ายกับตาของนกกรด จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ตานกกรด (ตานกกด)

คำรอก

คำรอก

การขยายพันธุ์คำรอก

คำรอกสารมารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้

           เริ่มจากเก็บผลตานกกดที่สุก และแก่เต็มที่ ที่มีลักษณะผลสีส้ม อมแดง เมล็ดสีดำมาล้างน้ำให้สะอาด และนำมาตากแดดให้แห้ง ประมาณ 2-3 แดด จากนั้น เตรียมกระบะเพาะ โดยภายในกระบะเพาะจะประกอบวัสดุเพาะที่ประกอบด้วยแกลบสุก ดินร่วนปนทราย ขุยมะพร้าว เศษซากใบไม้ที่เน่าเปื่อยได้ง่าย นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงนำเมล็ดคำรอก ที่ตากแห้งแล้ว นำมาหว่านบนวัสดุเพาะภายในกระบะเพาะ และนำเศษซากใบไม้แห้ง สับเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาคลุมทับเมล็ดคำรอกบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นควรรดน้ำทุกครั้งที่สังเกตเห็นว่าวัสดุเพาะแห้ง แต่ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน เพราะจะทำให้เมล็ดเน่า แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30-60 วัน เมล็ดก็จะเริ่มงอก และเมื่อต้นกล้ามีการเจริญเติบโต มีความสูงของลำต้นประมาณ 5 เซนติเมตร หรือ มีใบจริง 2-3 ใบ จึงจะทำการย้ายต้นกล้าใส่ถุงเพาะชำและเลี้ยงต่อไป จนกว่าต้นกล้าจะเจริญเติบโตแข็งแรง จึงนำไปปลูกในแปลงหรือสถานที่ที่เตรียมไว้ได้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดคำรอก จากลำต้นและราก ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น ส่วนสกัดหยาบอะซีโตนจากลำต้นคำรอก สามารถแยกสารในกลุ่มไตรเทอร์พีน ได้แก่ lupeol กลุ่ม ไบฟลาโวนอยด์ ได้แก่ lophirone C และ กลุ่มไอโซฟลาโวน ได้แก่ greontoisoflavone  ส่วนสารสกัดหยาบเมทิลีนคลอไรด์จากรากของต้นคำรอกสามารถแยกสารได้ 12 สาร ซึ่งเป็นสารในกลุ่มชาลโคน 1 สาร คือ flavokawain A กลุ่ม ฟลาโวน 4 สาร คือ 5-o-desmethyl nobiletin (3’,4’,5,6,7,8-hexamethoxyflavone), 4’,5,6,7,8-pentamethoxyflavone และ 5,7,8,3’,4’- pentamethoxyflavone สารกลุ่มฟอรูริกแอซิดเอสเทอร์ 1 สาร คือ (E)-ferulic acid fetracosyl ester (สารกลุ่มไอโซฟลาโวน 2 สาร คือ 5,4’-dimethoxy-6,7-methylenedioxyisoflavone , 5,3’,4’-trimethoxy-6,7-methylenedioxyisoflavone สารกลุ่มผสมกลุ่มสเตอรอยด์ 2 สาร คือ β-sitosterol และ stigmasterol สารกลุ่มอนุพันธุ์ของกรดเบนโซอิก 2 สาร คือ vanillin และ 4-hydroxybenzaldehyde นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าส่วนสักหยาบอะซีโตน จากราดของคำรอก สามารถแยกสารกลุ่มไบฟลาโวนอยด์ 4 สาร คือ lophirone A, calodenin B และ calodenone, 6”-hydroxylophirone B และ รวมทั้งสารประเภทฟลาโวน 1 สาร คือ (2R,3R)-2,3-trans-4’,5,7-trimethoxydihydroflavonol อีกด้วย

โครงสร้างคำรอก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของคำรอก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเอทิลอะซิเตตและเมทานอลจากลำต้นของคำรอก ระบุว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Pseudomonas aeruginosa โดยมีค่าเฉลี่ยของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของพื้นที่ที่เกิดการยับยั้งเชื้อเท่ากับ 12.20±0.80 และ 11.30±1.50 มิลลิเมตร ตามลำดับ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของคำรอก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้คำรอกเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้คำรอก เป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง คำรอก
  1. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2544 หน้า 97
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.  “คำรอก (Kham Rok)”.  หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 81.
  3. จรินทร ศรประสิทธิ์. องค์ประกอบทางเคมีจากลำต้น และรากของตานกกด. วิทยานิพนธ์. วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปีการศกึษา 2554. 177 หน้า
  4. สมฤดี ศรีทับทิม, สุมลรัตน์ กระพี้แดง, นิคมวงศา, ฤทธิ์ทางชีวภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดพืชสมุนไพรที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย. วารสารวิจัย มสด สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 7. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2557. หน้า 21-39
  5. ตานกกด. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargaeden.com/main.php?action=viewpage&pid=169
  6. Smitinand, T.2004. Thai plant names. Bangkok: The Forest Herbarium, Royal Forest Department, p 810.
  7. Chuakul, W. (1999). Medicinal plants in UbonRatchathani Province (4). Thai J. Phytopharm,6(1), 17-33. (in Thai).