หญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่น งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร หญ้าฝรั่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crocus sativus L.
ชื่อสามัญ Saffron, Crocus, True saffron
วงศ์ IRIDACEAE
ถิ่นกำเนิดหญ้าฝรั่น
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของหญ้าฝรั่น นั้นเชื่อกันว่าอยู่ในแถบเอเชียไมเนอร์ และแถบทะเลเมติเตอเรเนียน โดยเป็นพืชที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมาช้านานตั้งแต่สมัยกรีก และโรมัน จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ในปัจจุบันมีการปลูกหญ้าฝรั่นสำหรับการค้าขายเชิงพาณิชย์กันมากในประเทศ อิหร่าน อินเดีย สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมัน ส่วนในประเทศไทยยังไม่สามารถปลูกหญ้าฝรั่นได้ เพราะสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าฝรั่น
ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าฝรั่น
- ใช้แก้ลมวิงเวียน
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยบำรุงโลหิต
- บำรุงธาตุ
- เป็นยาชูกำลัง
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- แก้ไอ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยขับเหงื่อในคนออกหัด
- ช่วยขับระดูในสตรี
- แก้ซางในเด็ก
- แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ใช้ทำเป็นน้ำกระสายยา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ในการใช้หญ้าฝรั่น สำหรับบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณในตำรายาไทย หากใช้เป็นยาเดี่ยวจะใช้ชงกับน้ำร้อน หรือ ต้มน้ำดื่ม แต่โดยมากแล้วจะนำไปใช้เข้าเครื่องยาอื่นๆ เพื่อใช้รักษาอาการต่างๆ ตามสรรพคุณมากกว่า
ลักษณะทั่วไปของหญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่นจัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นจริงอยู่ใต้ดินคล้ายกระเทียม หรือ หอมแดง ลักษณะกลมสีน้ำตาลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร และมีเส้นใยหุ้มหัวอยู่หนาแน่น ส่วนลำต้นเทียมจะโผล่ออกมาจากดินลักษณะเป็นกาบใบหุ้มซ้อนกันขึ้นมา และมีความสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใบมีลักษณะแคบยาวเรียวแหมยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร โดยใบเป็นสีเขียวซึ่งใบบริเวณโคนต้องจะแผ่กว้างลงดินส่วนในอ่อนจะชูตั้งขึ้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวโดย 1 ต้น จะมีดอก 1 ดอกซึ่งก้านดอกจะแทงออกมาจากหัวใต้ดิน ส่วนลักษณะของดอกจะเป็นสีม่วงกลีบดอกลักษณะเรียวยาว รูปไข่ปลายกลีบมน และมีเกสรตัวเมียสีแดงยาวโผล่พ้นเหนือดอก สำหรับดอกหญ้าฝรั่น จะสามารถอยู่ได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์
การขยายพันธุ์หญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้หัวปลูกโดยในอิตาลี จะปลูกโดยการฝั่งหัวลึก 15 ซม. แล้วเว้นระยะห่างแต่ละแถวประมาณ 2-3 ซม. ส่วนในพื้นที่อื่นจะปลูกในความลึก และระยะห่างที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และภูมิประเทศ ทั้งนี้หญ้าฝรั่น จะเจริญเติบโตได้ดีในที่เชิงเขา หรือ ที่ราบที่เอียงเข้าหาแสงแดดที่มีอากาศหนาวจัด และกึ่งแห้งแล้ง โดยสามารถทนความเย็นได้ถึง -10°C นอกจากนี้ยังชอบดินที่มีความร่วนซุยอุ้มน้ำได้ดี และดินเหนียวปนหินปูนที่มีสารอินทรีย์สูง
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของเกสรหญ้าฝรั่นที่ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรพบว่ามีสารสำคัญ ดังนี้
สารกลุ่ม monoterpene aldehyde เช่น picrocrocin,safranal สารกลุ่ม carotenoid เช่น Crocin,crocetin, β-carotene , lycopene, zeaxanthin และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น kaempherol
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในส่วนที่รับประทานได้ของหญ้าฝรั่นระบุว่ามีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าฝรั่น ส่วนที่รับประทานได้ (100 กรัม)
- พลังงาน 310 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 65.37 กรัม
- ใยอาหาร 3.9 กรัม
- ไขมัน 5.85 กรัม
- โปรตีน 11.43 กรัม
- วิตามิน A 530 หน่วยสากล
- วิตามินบ B1 0.115 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.267 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 1.46 มิลลิกรัม
- วิตามิน B6 1.01 มิลลิกรัม
- วิตามิน B9 93 ไมโครกรัม
- วิตามิน C 80.8 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 111 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 11.1 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 264 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 252 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 1,724 มิลลิกรัม
- โซเดียม 148 มิลลิกรัม
- สังกะสี 1.09 มิลลิกรัม
- ซีลีเนียม 5.6 ไมโครกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าฝรั่น
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาผลของสารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น และสารสำคัญสองชนิดในหญ้าฝรั่น ได้แก่ crocin และ safranal ต่อความดันโลหิต โดยทำการทดลองในหนูแรทสองกลุ่ม หนูกลุ่มแรกมีความดันโลหิตเป็นปกติ และหนูกลุ่มที่สองเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วยการฉีด desoxycorticosterone acetate ให้สารสกัดหญ้าฝรั่นแก่หนูแรททั้งสองกลุ่มโดยการสอดท่อเข้าเส้นเลือดดำใหญ่ที่คอด้านขวา (right jugular vein) แล้วทำการวัดความดันโลหิตโดยสอดท่อเข้าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอด้านซ้าย (left carotid artery) และวัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดง วัดค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของหลอดเลือดแดง (mean arterial blood pressure, MABP) และอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate, HR) ก่อนให้สารสกัดหญ้าฝรั่นเพื่อเป็นค่าควบคุมให้สาร crocin 50, 100 และ 200 มก./กก. safranal 0.25, 0.5 และ 1 มก./กก. สารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น 2.5, 5 และ 10 มก./กก. การให้สารสกัดแต่ละครั้งให้ห่างกันครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อรอให้ค่า MABP หลังจากให้สารสกัดแต่ละครั้งกลับมาสู่ภาวะปกติ ผลจากการทดลองพบว่าสารสกัดหญ้าฝรั่น ทั้งสามชนิดมีผลลดค่า MABP ในหนูทั้งสองกลุ่มขึ้นกับปริมาณที่ให้ (dose-dependent manner) โดยสารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น 10 มก./กก. ทำให้ค่า MABP ลดลง 60±8.7 มม.ปรอท, safranal 1 มก./กก. ลดลง 50±5.2 มม.ปรอท และ crocin 200 มก./กก. ลดลง 51±3.8 มม.ปรอท จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดหญ้าฝรั่นมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต (hypotensive) โดยสารสกัด safranal มีบทบาทในการลดความดันโลหิตมากกว่า Crocin
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือดของสาร crocin ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่สอง (ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน) ด้วย streptozotocin (STZ) โดยในการทดลองจะแบ่งหนูทดลองออกเป็น 5 กลุ่ม เหนี่ยวนำให้หนูเป็นเบาหวานโดยการฉีด STZ (90 mg/kg) 3 กลุ่ม และเป็นหนูปกติที่ไม่ถูกฉีดด้วย STZ 2 กลุ่ม และฉีดสาร crocin เข้าทางช่องท้องแก่หนูกลุ่มที่เป็นเบาหวาน 2 กลุ่ม ความเข้มข้น 50 และ 100 mg/kg ตามลำดับ หนูกลุ่มปกติ 1 กลุ่ม ส่วนหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวานที่เหลือไม่ได้รับสาร croton หลังจากนั้น 5 เดือน ประเมินความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาล (โดยวัดระดับน้ำตาลในเลือด สารพิษที่เกิดจากขบวนการไกลเคชั่น (advanced glycation end products [AGEs]) และน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1C [HbA1c]) ประเมินภาวะดื้ออินซูลิน (โดยวัดค่า fasting serum insulin และ homeostasis model assessment for insulin resistance [HOMA-IR] index) และภาวะของไต (โดยวัดระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ) พบว่าหนูกลุ่มเบาหวานกลุ่มที่ได้รับสาร croton มีค่าระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือด, AGEs, HbA1c, fasting insulin, HOMA-IR และระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะลดลง เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวานที่ไม่ได้รับ crocin นอกจากนี้ หนูกลุ่มที่ได้รับ crocin ยังมีระดับ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL ลดลง ส่วน HDL เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าสาร crocin มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความไว
ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีการศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองของสาร safranal จาหญ้าฝรั่น (Crocus sativas) ในหนูแรท โดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 ตัว) กลุ่มที่ 1 ฉีดน้ำเกลือเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มล./กก. จากนั้น 30 นาที ฉีดน้ำเกลือขนาด 1 มคก. เข้าทางสมองส่วน hippocampus (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ฉีดน้ำเกลือเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มล./กก. จากนั้น 30 นาที ฉีดสาร quinolinic acid (QA) ขนาด 300 นาโนโมล/ลิตร เข้าทางสมองส่วน hippocampus เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมอง กลุ่มที่ 3-5 ฉีดสาร safranal เข้าทางช่องท้องขนาด 72.75, 145.5 และ 291 มก./กก ตามลำดับ จากนั้น 30 นาที ฉีดสาร quinolinic acid ขนาด 300 นาโนโมล/ลิตร เข้าทางสมองส่วน hippocampus จากนั้น 24 ชั่วโมง ทำการชำแหละซาก และแยกเก็บสมองส่วน hippocampus เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงการเกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ และความเสียหายของดีเอ็นเอ ด้วยวิธี ferric reducing/antioxidant power (FRAP) assay และ comet assay วิเคราะห์หาค่า total sulfhydryl (thiol) groups ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งถึงการเกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี Ellman method และวิเคราะห์ตัวชี้วัดถึงการเกิดอนุมูลอิสระได้แก่ thiobarbituric acid reactive substance (TBARS) โดยการวัดค่าการเกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation (วัดระดับ malondialdehyde; MDA) ผลจากการทดลองพบว่า หนูที่ได้รับการฉีดสาร safranal จากหญ้าฝรั่นก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองด้วย QA ทุกขนาดมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ โดยมีผลเพิ่มค่า FRAP value, total thiol concentration และลดค่าความเสียหายของดีเอ็นเอ ระดับของ MDA ลงเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ฉีดน้ำเกลือก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองด้วย QA
ฤทธิ์ต้านความวิตกกังวล ทำให้นอนหลับ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านความวิตกกังวล และทำให้นอนหลับของสารสกัดน้ำ สาร crocin และ safranal ที่แยกได้จากหญ้าฝรั่นในหนูเม้าส์ โดยฉีดสารสกัดน้ำ ขนาด 56, 80, 320 และ 560 มก./กก. สาร crocin ขนาด 50, 200 และ 600 มก./กก. และสาร safranal ขนาด 0.05, 0.15 และ 0.35 มล./กก. เข้าทางช่องท้องของหนู เปรียบเทียบกับยา diazepam ขนาด 3 มก./กก. เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านความวิตกกังวลด้วยวิธี Elevated plus maze พบว่าสารสกัดน้ำ ขนาด 56 และ 80 มก./กก. สาร safranal ขนาด 0.15 และ 0.35 มล./กก. และยา diazepam จะให้ผลในการต้านวิตกกังวลในหนู โดย diazepam จะให้ผลดีที่สุด ขณะที่ crocin ไม่มีผล ในการทดสอบการนอนหลับ พบว่าสารสกัดน้ำที่ขนาดสูง 560 มก./กก. สาร safranal ทุกขนาด และ diazepam จะทำให้ระยะเวลาในการนอนหลับของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้นอนหลับด้วย sodium pentobarbital เพิ่มขึ้น ขณะที่ crocin ไม่มีผล นอกจากนี้สารสกัดน้ำ และ diazepam ยังมีผลลดการทรงตัว (motor coordination) และการเคลื่อนไหว (locomotor) ของหนู เมื่อทดสอบด้วยวิธี Rotarod และ Open field และสาร safranal ที่ขนาด 0.05 และ 1.5 มล./กก. มีผลลดบางการเคลื่อนไหวของหนูได้เช่นกัน แต่ไม่มีผลต่อการทรงตัว ขณะที่ crocin ไม่มีผลทั้งต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหว แสดงว่าสารสกัดน้ำ และ safranal จากหญ้าฝรั่นมีผลต้านความวิตกกังวล และทำให้นอนหลับได้
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าฝรั่นอื่นๆ พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ลดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวจากการได้รับอาหารที่มีไขมัน มีฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้า มีฤทธิ์ปกป้องตับ มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและกระตุ้นการย่อย มีฤทธิ์บรรเทาปวด ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์กระตุ้นกำหนัด
การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าฝรั่น
มีการศึกษาความเป็นพิษในหญ้าฝรั่นพบว่ามีความเป็นพิษต่ำ แต่บางรายงานระบุว่าการใช้หญ้าฝรั่น ขนาด >10 ก. อาจเหนี่ยวนำให้เกิดการแห้งได้ โดยมีการศึกษาในหนูเม้าส์เพศเมียที่กำลังตั้งครรภ์ในระยะสามเดือนสุดท้ายพบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก และส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงในการใช้หญ้าฝรั่น เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก มีการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้เกิดการแท้งบุตร และคลอดก่อนกำหนด
- ถึงแม้ว่าการศึกษาความเป็นพิษของหญ้าฝรั่นจะระบุว่ามีความเป็นพิษต่ำแต่ในคนปกติก็ไม่ควรบริโภค หรือ ใช้เป็นสมุนไพรมากเกินไปเพราะอาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ง่วงซึมกล้ามเนื้ออ่อนตัว ตัวสั่น เลือดกำเดาไหลหรือมีเลือดออกบริเวณเปลือกตา และริมฝีปากและในบางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด เลือดออกภายในมดลูก และอาจเสียชีวิตได้
- หญ้าฝรั่นจะเสื่อมสภาพได้ง่ายหากโดนแสงแดดและออกซิเจน ดังนั้นไม่ควรบดเป็นผงเพื่อเก็บไว้ และควรเก็บรักษาไว้ในภาชนะกันแสงและเก็บไว้ให้ห่างจากแสงแดดรวมถึงควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดที่สามารถป้องกันอากาศเข้าได้
เอกสารอ้างอิง หญ้าฝรั่น
- ภก.กฤติยา ไชยนอก.หญ้าฝรั่น .เครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลก!!.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดจากหญ้าฝรั่น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- นันทวัน บุญยะประภัศร,อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ),หญ้าฝรั่น.สมุนไพร...ไม้พื้นบ้าน(5).บริษัทประชาชน จำกัด กรุงเทพฯ,2543;51-8
- ผลของสาร Crocin ในหญ้าฝรั่นต่อภาวะดื้ออินซูลินและระดับไขมันในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย Streptozotocin .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- กนกพร.อะทะวงษา,พิชานันท์ ลีแก้ว.หญ้าฝรั่น.ดอกไม้ในยาไทย.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.หน้า75-80
- ฤทธิ์ปกป้องสมองผ่านกระบวนการต้านอนุมูลอิสระของหญ้าฝรั่น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ต้านความวิตกกังวลและทำให้นอนหลับของสารสกัดจากหญ้าฝรั่น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Maghaddasi Ms.Saffron chemicals and medicine usage.Jounal of Medicinal Plants Researsh 2010;4(1):427.30