กระบก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กระบก งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระบก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะมื่น (ภาคเหนือ), หมากบก, หมากกระบก (ภาคอีสาน), จะบก, ตระบก (ภาคกลาง), มะลื่น (สุโขทัย), ซะยัง (ตราด), หลักกาย (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Irvingia malayana Oliv.ex.A.W.Ben
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Irvingella harmandiana Tiegh., I. malayana (Oliv. ex A.W.Benn.) Tiegh., I. oliveri (Pierre) Tiegh., I. oliveri
ชื่อสามัญ Wild almond,Barking deer’s mango
วงศ์ IRVINGIACEAE
ถิ่นกำเนิดกระบก
กระบก จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย กัมพูชา และลาว ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ โดยผ่านทางพม่า บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล และศรีลังกา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 100-300 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณกระบก
- ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
- ช่วยบำรุงไขข้อ
- แก้ข้อขัด
- ช่วยบำรุงไต
- ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง
- แก้ผื่นคัน
- แก้ไอ
- รักษาโรคปอดพิการ
- แก้ไอเป็นเลือด
- แก้เคล็ดยอก
- ช่วยรักษาโรคหนองใน
- แก้ปวด
- ใช้เป็นยาระบาย
- ช่วยเจริญอาหาร
- ช่วยขับพยาธิในเด็ก
- แก้คันผิวหนัง
- ช่วยบำรุงไต
- บำรุงไขข้อในกระดูก
- แก้ข้อขัด
- แก้เส้นเอ็นพิการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
มีการนำส่วนต่างๆ ของกระบก มาใช้ประโยชน์หลายประการ เช่น กระบกเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีน้ำหนัก เลื่อยตกแต่งได้ง่าย และเนื้อไม้มีลวดลาย มีสีพื้นเป็นสีเทาปนเหลืองอมขาว นิยมแปรรูปเป็นไม้สำหรับก่อสร้างบ้าน เช่น วงกบ หน้าต่าง ไม้ปูพื้น หรือ นำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน หรือ นำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือกสิกรรมในครัวเรือนต่างๆ เช่น ครก สาก เครื่องสีข้าว รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม ส่วนของเนื้อในเมล็ดมีรสหวานมัน มีการนำมาคั่วรับประทานเป็นของว่าง โดยจะมีรสคล้ายกับถั่วลิสง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าเนื้อของเมล็ดกระบกเป็นแหล่งอุดมของแคลเซียม และธาตุเหล็ก ชั้นดี ที่สามารถช่วยบำรุงกระดูก และฟันได้เป็นอย่างดี นอกจากจะนำมาเคี้ยวกินเล่นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้พัฒนาเป็นเครื่องสำอางต่างๆ และยาเหน็บทวารได้อีกด้วย ส่วนในภาคอุตสาหกรรมมีการนำไขกระบกมาพัฒนาเป็นอาหารที่ช่วยเพิ่มคุณค่า และนำน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดกระบกมาใช้ทำสบู่ เทียนไข และยังสามารถนำไปทำน้ำมันเมล็ดกระบกได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิในเด็กโดยใช้เนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยขับพยาธิในเด็ก โดยใช้ผลกระบก (ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป) 3 ลูก ตำผสมกับน้ำซาวข้าว 1 ถ้วยขนาดกลาง แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มกินก่อนนอนวันละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
- ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้ผลกระบก อ่อน 1 กำมือ นำมาต้มผสมกับพริกเกลือ รับประทานสัปดาห์ละครั้ง
- ใช้บำรุงไต บำรุงไขข้อ และกระดูก บำรุงเส้นเอ็น แก้ข้อขัดโดยนำเนื้อในเมล็ดมารับประทานสด หรือ คั่วรับประทานก็ได้
- ใช้รักษาโรคหนองใน โดยนำเปลือกต้นกระบก ผสมเหง้าสับปะรด งวงตาล รากไผ่รวก นมควาย ทั้งต้น และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม
- ใช้แก้เคล็ดขัดยอกรักษาโรคปอดพิการ แก้ไอเป็นเลือด โดยนำลำต้นกระบก ผสมเหง้าขมิ้นอ้อย รากทองแมง เมล็ดงา ครึ่ง มดแดง และเกลือ ต้มน้ำดื่ม
- ใช้แก้ไอโดยนำแก่นกระบกมาผสมแก่นพันจำ และแก่นมะป่วย หรือ ผสมแก่นมะเดื่อปล้อง แก่นพันจำ แก่นปีบ และแก่นมะพอก ต้มน้ำ หรือ แช่น้ำดื่ม ใช้แก้ผื่นคันโดยนำแก่นกระบกผสมลำต้นต่อไส้ และแก่นกันแสง แช่น้ำอาบ
- ใช้แก้ปวด เคล็ดขัดยอก โดยนำเปลือกต้นกระบกผสมลำต้นเหมือดโลด ใบหวดหม่อน ลำต้นเม่าหลวง และเปลือกต้นมะรุม ตำพอกบริเวณที่ปวด
ลักษณะทั่วไปของกระบก
กระบก จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ โคนลำต้นมีพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาต้น เปลือกต้นเรียบ หรือ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ มีสีเทาอ่อนปนสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ เปลือกต้นด้านในมีสีส้มอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับมีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-9 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร โคนสอบมน ปลายเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบน และด้านล่างเกลี้ย หรือ อาจมีขนประปราย ใบด้านบนมีลักษณะเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวเทามีนวล และมีเส้นแขนงใบ ข้างละ 8-10 เส้น ส่วนก้านใบ ยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณซอกใบ และปลายกิ่งโดยช่อดอกจะมีความยาว 5-10 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวอมเขียว หรือ สีเหลืองอ่อน มีขนาดกว้าง 1.5 มิลลิเมตร และยาว 2-3 มิลลิเมตร แต่ละดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน ส่วนเกสรตัวเมียก็ขึ้นอยู่กลางดอกเช่นกัน ผลเป็นผลสดรูปกลมรี หรือ รูปไข่ แบนเล็กน้อย คล้ายกับมะม่วง ขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาว 4-5 เซนติเมตร ผลเมื่อยังอ่อยจะมีสีเขียว มีนวลเล็กน้อยแต่เมื่อแก่แล้วจะมีเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในผลมีเนื้อสีส้มมีเมล็ด 1 เมล็ด และมีเนื้อหุ้มเมล็ดเละๆ เหมือนมะม่วง เมล็ดเป็นรูปไข่แบน มีเปลือกแข็งหุ้มอยู่ภายในเมล็ดมีเนื้อเมล็ดสีขาวมีรสมัน และมีน้ำมัน
การขยายพันธุ์กระบก
กระบกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งเปลือกน้องเมล็กกระบก มีความแข็ง และหนาหากใช้วิธีเพาะตามธรรมชาติจะงอกช้า จึงต้องตัดเปลือกนอกบางส่วนของด้านหัว และด้านท้อยออกก่อนเพาะ อีกทั้งยังมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะเช่น ดินควรเป็นดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี และมีสภาพเป็นกรด ควรมีความชื้นปานกลางถึงมาก และควรได้รับแสงจัดพอประมาณ เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้า และต้นกล้าสูง 20-30 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายกล้าลงปลูกตามจุดที่ต้องการ
สำหรับพื้นที่ปลูกไม่ควรเป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง ดินเป็นดินร่วน-ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี และมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000 มิลลิเมตร ส่วนวิธีการปลูก และระยะปลูกที่เหมาะสมนั้น ควรมีขนาดของหลุมที่ขุดปลูก 30x30x30 ถึง 50x50x50 เซนติเมตร จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์รองก้นหลุมก่อนปลูกสำหรับระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 4x4, 4x6, 6x6 และ 8x8 เมตร
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ด และสารสกัดน้ำมันจากเมล็ดของกระบก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น กรดไขมันต่างๆ ได้แก่ Lauric acid, Myristic acid, Caproic acid, Oleic acid, Linoleic acid, Stearic acid, Palmitoleic acid, Palmitic acid, Campesterol, stigmasterol, β-sitosterol, α-tocopherol, γ-tocopherol, aspartic acid, glutamic acid, serine, glycine ,histidine, arginine, threonine, alanine, proline, tyrosine, valine, methionine, cystine, isoleucine, leucine, phenylalanine และ lysine เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระบก
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเมล็ดของกระบก ในต่างประเทศระบุว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากส่วนเมล็ดกระบกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดการออกซิเดชันของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนได้ และยังมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน และต้านมาลาเรียได้อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระบก
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้เนื้อในของเมล็ดกระบก มารับประทานมีความปลอดภัยสูง ส่วนในการนำส่วนต่างๆ ของกระบกมาใช้เป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง กระบก
- นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์,กระบก ในผลไม้ 111 ชนิด. คุณค่าอาหารและการกิน.กทม.แสงแดด.2550.หน้า 295.
- มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล.(2548).สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน.หน้า 97.
- ศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคเหนือ.2555.พรรณไม้ในกระถางศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคเหนือ. สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้. กรุงเทพฯ
- กระบก. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phagarden.com/main.php?action=viewpage&pid=199
- กระบก อัลมอนด์ไทย ประโยชน์ น้ำมันกระบก และไม้ลีลากระบก. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Jacquat, C. Plants from the Markets of Thailand; Duang Kamol: Bangkok, Thailand, 1990; p 74.
- Ayudhaya, T. D.; Nutakul, W.; Khunanek, U.; Bhunsith, J.; Chawaritthumrong, P.; Jewawechdumrongkul, Y.; Pawanunth, K.; Yongwaichjit, K.; Webster, H. K. Study on the vitro antimalarial activity os some medecinal plants against Plasmodium falciparum. Bull. Dept. Med. Sci. 1987, 29, 22-38.
- Laohawinit, S. Nutritional evaluation of IrVingia malayana seed. Ph.D. Thesis abstracts, Chulalongkorn University, Bangkok Thailand, 1989.
- Adamson, I.; Okafor, C.; Abu-Bakare, A. A supplement of Dikanut (IrVingia gabonesis) improves treatment of type II diabetics. W. Afr. J. Med. 1990, 9 (5), 108-115.