L-dopa

L-dopa

 

ชื่อสามัญ L-3, 4- dihydroxyphenyl alanine

ประเภทและข้อแตกต่างสาร L-dopa

สาร L-dopa จัดเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในพืชธรรมชาติ มีสูตรทางเคมี คือ C9 H11 O4 มีมวลโมเลกุล 197.190 g/mol ซึ่งสาร L-dopa นั้น ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1950 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนที่ได้ค้นพบว่าการให้สารตั้งต้นของโดปามีน (dopamine) ซึ่งก็คือสาร L-dopa สามารถรักษาอาการของโรคพาร์กินสันได้ สำหรับประเภทของสาร L-dopa นั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสาร L-dopa

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า L-dopa เป็นกรดอะมิโนที่สามารถพบได้ในพืชธรรมชาติโดยพืชที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าว ได้แก่ หมามุ่ย (Mucuna pruriens (L.) DC), ถั่วปากอ้า (vicia faba Linn.) และพืชตระกูลขี้เหล็ก (cassia) เป็นต้น โดยเฉพาะหมามุ่ยจะพบสาร L-dopa ได้หลายส่วน อาทิเช่น เมล็ด ลำต้น ใบ และราก ฯลฯ ซึ่งในเมล็ดหมามุ่ยจะพบสาร L-dopa ได้ถึง 4-10% และถือเป็นกรดอะมิโนที่พบมากที่สุดประมาณ 50% ของกรดอะมิโนทั้งหมดในเมล็ด เลยทีเดียว

สาร L-DOPA

ปริมาณที่ควรได้รับสาร L-dopa

สำหรับขนาดและปริมาณของสาร L-dopa ที่มีความปลอดภัยเมื่อได้รับต่อวันนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การบริโภคเนื่องจาก ตามกฎหมายในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์จากเมล็ดหมามุ่ย (สาร L-dopa) ในรูปแบบยา ซึ่งการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณได้จะขึ้นอยู่กับการประเมินสูตรตํารับวิธีการผลิต ประกอบกันด้วย และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากเมล็ดหมามุ่ยเดี่ยวนั้น จะต้องมีการประเมินข้อมูลที่น่าเชื่อถือในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก่อน

           นอกจากนี้หมามุ่ยยังปรากฏในรายชื่อของพืชที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตาม ASEAN Guidung Principles for Inlusion in to or Exclusion from the Negative List of Substances for Health Spplements และ European Food Safety Authority Scientific Cooperation Working Group ซึ่งได้จัดรวบรวมขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินความปลอดภัยของอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีพืชเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ แต่ทั้งนี้ในต่างประเทศบางประเทศมีการใช้สาร L-dopa มาใช้เป็นยารักษาโรคพาร์กินสัน (Levodopa) โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทานในผู้ใหญ่โดยมีขนาดรับประทานคือ สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา Levodopa เพียงชนิดเดียว รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 125 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และค่อยๆ เพิ่มปริมาณทุก 3-7 วัน ตามความตอบสนองของร่างกาย ปริมาณสูงสุด 8 กรัม/วัน สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา Levodopa ร่วมกับยาชนิดอื่น เนื่องจากการใช้ยา levodopa ชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงบางอย่างต่อร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่น อย่าง Carbidopa และ Benserazide เพื่อลดอาการข้างเคียงนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ป่วยอาจมีการตอบสนองต่อยาและปริมาณยาที่แตกต่างกัน

ประโยชน์และโทษของสาร L-dopa

สำหรับประโยชน์ของสาร L-dopa นั้น มีผลการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของสารดังกล่าว ในเมล็ดหมามุ่ยพบว่ามีสรรพคุณเด่นๆ คือ ช่วยรักษาอาการของโรคพาร์กินสัน จึงถูกนํามาผลิตเพื่อการค่าในการรักษาโรคพาร์กินสัน โดยสาร L-dopa นี้ จะเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ ในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้อาการของโรคดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า สาร L-dopa ยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย ช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิและเสปิร์ม อีกทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างและเคลื่อนไหวของตัวอสุจิช่วยให้ผู้ที่มีตัวอสุจิน้อยมีโอกาสมีลูกได้มากขึ้น และยังมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลองได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสาร L-dopa

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร L-dopa มากมายหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศแต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการศึกษาสาร L-dopa ที่สกัดได้จากเมล็ดหมามุ่ยซึ่งมีผลการศึกษาวิจัย ดังนี้

           ฤทธิ์รักษาโรคพาร์กินสัน เนื่องจากในเมล็ดของหมามุ่ยจะมีสาร L-dopa อยู่ปริมาณสูง จึงมีการนำมาศึกษาฤทธิ์ในการรักษาโรคพาร์กินสัน ซึ่งพบว่าเมื่อให้ผงเมล็ดหมามุ่ยขนาด 2.5 มก. หรือ 5.0 มก. เพียงอย่างเดียวหรือป้อนร่วมกับยา carbidopa ขนาด 50 มก./กก.น้ำหนักตัวและการป้อนเมล็ดหมามุ่ย ขนาด 3.0 มก. (มี L-dopa ขนาด 100 มก.) หรือผงเมล็ดหมามุ่ย 3.0 มก. ร่วมกับ L-dopa ชนิดสังเคราะห์ ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักตัว ให้แก่หนูแรทเป็นโรคพาร์กินสัน ทั้งสองผลการทดลองพบว่าเมล็ดหมามุ่ยช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวร่างกาย ลดอาการสั่นและลดอุณหภูมิร่างกายได้ดี และให้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อให้ร่วมกับการป้อนยา carbidopa หรือ L-dopa ชนิดสังเคราะห์ ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่าการให้ผงเมล็ดหมามุ่ยขนาด 30 กรัม (เทียบเท่ากับ L-dopa 1,000 มก.) ละลายน้ำดื่ม กับผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยให้ครั้งเดียวต่อสัปดาห์ พบว่ายาจากเมล็ดหมามุ่ยมีประสิทธิภาพดีกว่ายามาตรฐาน L-dopa/carbidopa โดยยาจากเมล็ดหมามุ่ยออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า และยาวนานกว่า โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ dyskinesia เพิ่มขึ้นเหมือนการใช้ยาสังเคราะห์ (อาการ dyskinesia คืออาการหยุกหยิก หมายถึง การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เนื่องมาจากการได้รับยาในกลุ่ม dopaminergics โดยเฉพาะยา levodopa) และยังมีการศึกษาทางคลินิกโดยใช้เมล็ดหมามุ่ยกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เช่น มีการศึกษาในคนไข้พาร์กินสัน จำนวน 8 คน เป็นการศึกษาแบบสุ่ม ข้ามสลับและปกปิด 2 ด้าน โดยเปรียบเทียบผลของยา 3 ชนิด ได้แก่ ยามาตรฐาน (200 มิลลิกรัม ของ L-Dopa/50 มิลลิกรัม Carbidopa) เมล็ดหมามุ่ย (ผง) ขนาด 15 กรัม (มีแอล-โดปา 500 มิลลิกรัม) และเมล็ดหมามุ่ย (ผง) ขนาด 30 กรัม (มีแอล-โดปา 1,000 มิลลิกรัม) ผู้ป่วยได้รับยาครั้งเดียวต่อสัปดาห์ระยะห่างของการได้รับยาแต่ละชนิดคือ 1 สัปดาห์ พบว่าเมล็ดหมามุ่ยขนาด 30 กรัม มีระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์นานกว่า ค่าความเข้มข้นของยาในพลาสมาของ L-Dopa สูงกว่าเมื่อเทียบกับยามาตรฐาน ไม่พบความแตกต่างในแง่ของการมีอาการยุกยิก (dyskinesia) และการทนได้ต่อยาระหว่างเมล็ดหมามุ่ยและยามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม พบผู้ป่วย 1 คน ที่ต้องหยุดยาเมื่อได้รับเมล็ดหมามุ่ย 30 กรัม เนื่องจากมีการอาเจียน อาการข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ พบในผู้ป่วยที่ได้รับยามาตรฐาน และเมล็ดหมามุ่ย (ผง) 30 กรัม อย่างละ 2 คน ปวดท้อง 1 คน ในผู้ป่วยที่ได้รับยามาตรฐาน และมึนงงในผู้ป่วยที่ได้รับยามาตรฐานและเมล็ดหมามุ่ย 15 กรัม อย่างละ 1 คน แต่ไม่พบความผิดปกติทางด้านโลหิตวิทยาและชีวเคมี

           ฤทธิ์ต่อสมรรถภาพทางเพศ มีการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของสาร L-dopa ในเมล็ดหมามุ่ยต่อสมรรถภาพทางเพศในสัตว์ทดลองพบว่า การป้อนหนูแรทเพศผู้ด้วยสารสกัดเอทานอลเมล็ดหมามุ่ยที่ความเข้มข้น 200 มก./กก.ของน้ำหนักตัว วันละครั้ง เป็นเวลา 21 - 45 วัน สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหนูได้กล่าวคือมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของหนูเปลี่ยนไป โดยมีพฤติกรรมการจับคู่และการขึ้นคร่อมตัวเมียถี่ขึ้น และมีระยะเวลาในการเริ่มสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรกจนหลั่งน้ำเชื้อนานขึ้น  ส่วนการศึกษาทางคลินิกในประเทศอินเดียกับอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะจำนวนสเปิร์มน้อย และสเปิร์มมีการเคลื่อนไหวผิดปกติโดยให้อาสาสมัครดื่มนมที่ผสมกับผงบดเมล็ดหมามุ่ยขนาด 5 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือนพบว่า ค่าความเข้มข้นของสเปิร์ม และการเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ และมีค่าเกือบเทียบเท่ากับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี และมีการศึกษาผลของเมล็ดหมามุ่ยต่อคุณภาพของอสุจิและระดับของฮอร์โมนที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชายในน้ำอสุจิ และพลาสมาของชายที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศผ่านการทำงานของแกน hypothalamuspituitary-gonadal axis โดยได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสุขภาพดี และกลุ่มที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ กลุ่มละ 75 คน เฉพาะกลุ่มที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะได้รับประทานผงเมล็ดหมามุ่ยปริมาณ 5 กรัม พร้อมกับนมเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งก่อนรับประทานได้ตรวจระดับฮอร์โมนในน้ำอสุจิและพลาสมาของชายที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ พบว่า ฮอร์โมน testosterone (T), luteinizing hormone (LH), adrenaline และ nor-adrenaline ลดลง และ มีระดับของฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) และ prolactin (PRL) เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มชายสุขภาพดี ซึ่งเมื่อได้รับประทานผงเมล็ดหมามุ่ยพบว่า ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นอกจากนี้ความเข้มข้นและความสามารถในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของตัวอสุจิดีขึ้น จากการศึกษาทางคลินิกข้างต้น พบว่ามีการตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับฤทธิ์ที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศชายของเมล็ดหมามุ่ย คือ สาร L-DOPA เป็นสารสำคัญในเมล็ดหมามุ่ย ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ dopamine ในสมอง จากนั้น dopamineจะไปกระตุ้นสมองส่วนไฮโปทาลามัสให้หลั่ง gonadotropin releasing hormone ซึ่งไปกระตุ้นต่อม anterior pituitary ให้หลั่ง FSH และ LH ซึ่ง LH จะจับกับตัวรับ LH receptor ใน Leydig cell ที่อัณฑะ ทำให้ระบบ cyclic adenosine monophosphate (cAMP) second messenger ทำงาน ซึ่งเมื่อระดับของ cAMP เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการสร้างสารในกลุ่มสเตอรอยด์รวมถึงฮอร์โมน testosterone ใน Leydig cell ทำให้มีผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศชาย ความรู้สึกทางเพศและสมรรถภาพทางเพศเพิ่มขึ้น

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำจากเมล็ดหมามุ่ย (Mucuna pruriens L.) ในหลอดทดลองด้วยวิธี 1, 1-diphenyl -2-picryl hydrazyl (DPPH), nitric oxide และ lipid peroxide model พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ส่วนการทดสอบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ด้วยการให้กินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นเวลา 7 วัน ที่ส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล VLDL และ LDL ในเลือดสูงขึ้น ในขณะที่ระดับ HDL-C ลดลง โดยให้หนูได้รับสารสกัดเมล็ดหมามุ่ยในขนาด 200 มก./กก. และ 400 มก./กก. พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล VLDL และ LDL ในเลือดลดลง และมีระดับ HDL-C สูงขึ้น อัตราส่วนระหว่าง HDL และผลรวมคอเลสเตอรอล (HDL/total cholesterol ratio) และ ค่าดัชนีการเกิดภาวะไขมันสะสมในเส้นเลือด (atherogenic index) มีค่าลดลง นอกจากนี้ยังยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีไขมันสูงด้วยซึ่งคาดว่าฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากสาร L-dopa ในสารสกัด นอกจากนี้ยังมีรายงาน การได้รับพิษของสาร L-dopa จากการรับประทานเมล็ดหมามุ่ย (M.pruriens) ในประเทศโมซัมบิก ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัวรุนแรงหัวในเต้นเร็วผิดปกติ สับสน กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน นอกจากนี้ยังมีรายงานการเกิดพิษหลังรับประทานเมล็ดของหมามุ่ยช้าง (M.gigantea) จากการเข้าใจผิดในมลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ได้รับประทานมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง เวียนศีรษะและสับสน

โครงสร้าง สาร L-DOPA

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการรับประทานเมล็ดหมามุ่ยเพื่อให้ได้สาร L-dopa นั้น ควรคำนึงถึงขนาดและปริมาณและอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับสารดังกล่าว เช่น สับสน ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หรือไม่มีแรง รวมถึงอาจทำให้มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย เป็นต้น นอกจากนี้ สาร L-dopa เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ ในหลายเส้นทาง ดังนั้นในการรับประทานในปริมาณที่มากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจมีผลเสียต่อร่างกาย และควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคพาร์คินสัน ยาที่ใช้รักษาอาการทางจิต ยาในกลุ่ม anticholinogic ยาลดความดันโลหิต และวิตามิน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ รวมทั้งไม่ควรกินร่วมกับยาหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น กระเทียม แป๊ะก๊วย เป็นต้น เพราะอาจทำให้เลือดไหลหยุดยาก โดยเฉพาะในช่วงเข้ารับการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตอื่นๆ และโรคทางระบบฮอร์โมน ควรระมัดระวังในการรับประทาน เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง L-dopa
  1. ผศ.ดร.สุดารัตน์ หอมหวล. มหัศจรรย์ยาจากเมล็ดหมามุ่ย. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 6 หน้า
  2. รุจิรา หวังธีระประเสริฐ, มยุรี ดิษฐ์เมธาโรจน์. ข้อเท็จจริงในปัจจุบันของหมามุ่ยสำหรับการใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ. วารสารอาหารและยาปีที่ 23. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2559. หน้า 4-6
  3. พิชานันท์ ลีแก้ว. โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. 2553:28;2-17.
  4. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือดจากเมล็ดหมามุ่ย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. เอกลักษณ์ อินทรักษา, อรพรรณ ใจอุตม์, ศศิพงค์ ทิพย์รัชดาพร. ผลิตภัณฑ์หมามุ่ยกับฤทธิ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย. วารสารอาหารและยาปีที่ 26. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2562. หน้า 4-10
  6. นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (5). กรุงเทพฯ : คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล, 2543: 508 หน้า
  7. ฤทธิ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหมามุ่ย. บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. Levodopa (เลโวโดปา). พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  9. การใช้สมุนไพรหมามุ่ยรักษาโรค. กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id= 592322:497-501.