วิตามินบี 1
วิตามินบี 1
ชื่อสามัญ Thiamine
ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 1
วิตามินบี 1 (Thiamine) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ (Water solublevitamin) และร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่รับประทาน แต่สามารถสะสมในร่างกายได้ 30 วัน หลังจากนั้นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อนเมื่ออยู่ในสารละลายที่เป็นด่าง หรือ เป็นกลาง และยังทนความร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียส เมื่ออยู่ในสารละลายที่เป็นกรด
สำหรับวิตามินบี 1 จัดเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ให้เกิดเป็นพลังงานเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท
ส่วนประเภทของวิตามินบี 1 นั้น ในอดีตร่างกายได้รับวิตามินบี 1 จากอาหารที่รับประทานเพียงอย่างเดียวแต่ในปัจจุบันมีการผลิตวิตามินบี 1 ในรูปแบบอาหารเสริม โดยการสกัดพืชต่างๆ ที่เป็นแหล่งอาหารของวิตามินบี 1 ดังนั้น ในปัจจุบันจึงสามารถเลือกรับวิตามินบี 1 ได้สะดวกมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบี 1 หรือ จะเลือกรับประทานสารสกัดวิตามินบี 1 ในรูปแบบอาหารเสริมก็ได้
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 1
แหล่งอาหารของวิตามินบี 1 ในธรรมชาติมีอยู่หลายชนิด เช่น ปลา เนื้อหมู ตับ ไข่ เนื้อไก่ เนื้อวัว กุ้งกุลาดำ หอย ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวมันปู เป็นต้น
แหล่งอาหารของวิตามินบี 1
ปริมาณที่ควรได้รับวิตามินบี 1
สำหรับปริมาณของวิตามินบี 1 ที่มีการแนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) ระบุไว้ว่า ควรบริโภคประมาณ 1.5 มิลลิกรัม/วัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรบริโภค 1.6 มิลลิกรัม/วัน และสำหรับวิตามินบี 1 ในรูปแบบอาหารเสริมนั้น ขนาดที่แนะนำให้รับประทาน คือ 100-300 มิลลิกรัม/วัน
ประโยชน์และโทษวิตามินบี 1
วิตามินบี 1 มีประโยชน์ต่อร่างการของมนุษย์หลายประการ เช่น เป็นตัวเร่งในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันทำให้เกิดเป็นพลังงานนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท ป้องกัน และรักษาโรคเหน็บชา ตะคริว, เสริมสร้างการเจริญเติบโต, ช่วยบำรุงประสาท บำรุงสมอง, บำรุงกล้ามเนื้อ และหัวใจ ซึ่งวิตามินบี 1 ที่ได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไปส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ ไทอะมินอิสระ และไทอะมิน ไพโรฟอสเฟต (Thiamin Pyrophosphate, TPP) หรือ รวมอยู่กับโปรตีน-ฟอสเฟค เป็นสารเชิงซ้อน ซึ่งจะต้องถูกต่อยสลายในระบบทางเดินอาหารก่อนที่จะดูดซึมผ่านผนังลำไส้ และร่างกายจะสะสมไทอะมีนไว้ได้เพียงเล็กน้อย จะกระจายอยู่ตามเนื้อเยื้อต่างๆ ได้แก่ ตับ ไต หัวใจ สมอง และกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีความเข้มข้นสูงกว่าในเลือดเล็กน้อย จากนั้นไทอะมินจะถูกนำไปใช้จนหมดอย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับเพิ่มจากอาหารอีก
ส่วนโทษของวิตามินบี 1 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินบี 1 (Thiamine) ปริมาณสูง และโดยทั่วไปการรับประทานวิตามินบี 1 (Thiamine) ปริมาณสูงหรือการฉีดเข้าเส้นเลือดดำค่อนข้าง ปลอดภัยเพราะเป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในน้ำ และไม่สามารถเก็บสะสมได้ โดยหากได้รับวิตามินบี 1 (Thiamine) ในปริมาณที่สูงเกินความต้องการของร่างกายก็จะไม่ถูกดูดซึม และถูกขับออกมาใน ปัสสาวะเกือบหมดภายใน 4 ชั่วโมง
แต่หากร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดภาวะต่างๆ คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการขาดไทอามีน มีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า beriberi (เบอริ-เบอรี่) อาการ และอาการแสดงในผู้ที่ขาดไทอามีนมักเกี่ยวข้องกับระบบประสาท และหัวใจ 7 ซึ่งมีอาการดังนี้
- Dry (paralytic or nervous) beriberi คือ อาหารที่เกี่ยวกับระบบประสาทผิดปกติมีอาการเฉพาะระบบประสาทส่วนปลาย เส้นประสาทมีอาการขาปลายเท้า และถ้าเป็นมากมักจะชาที่ปลายมือลักษณะชาเท่ากันทั้ง 2 ข้าง กล้ามเนื้อแขนขาไม่มีแรง โดยเฉพาะส่วนปลายจนกล้ามเนื้อฝ่อ
- Wet (cardiac) beriberi คือ อาการเกี่ยวกับระบบหัวใจ และหลอดเลือดผิดปกติ จะมีอาการขาบวมมีน้ำคั่วในช่องท้อง และปอดโดยมีอาการหอบเหนื่อยใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะที่เรียกว่า HighoutputFailure เนื่องจากมีเส้นเลือดในร่างกายทั่วไปขยายตัว และเลือดไหลเวียนกลับมาที่หัวใจน้อยลง ในขณะที่หัวใจห้องซ้ายกลับต้องทำงานมากขึ้นในการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายจนกระทั่วหัวใจห้องซ้ายมีภาวะหัวใจ และเสียชีวิตได้
- อาการทางสมอง โดยอาการเฉียบพลัน คือ Wernicke’s encephalopathy และถ้ารอดชีวิตจะเกิดอาการทางจิต (Korsakoff’s psychosis) พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งโรค Wernicke’s encephalopathy จะมีอาการทางสมอง 3 อย่าง คือ การเคลื่อนไหวของลูกตากระดกผิดปกติ จนกระทั่งมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อลูกตา มีอาการซึมอาจรุนแรงจนไม่รู้ตัว เดินเซ ถ้ารอดชีวิตเมื่อฟี้นขึ้นมาจะมีสมองส่วนความจำในปัจจุบันผิดปกติเสียความจำระยะหลัง ทั้งหมดเป็นกลุ่มอาการ Wernicke-Korsakoff syndrome
สำหรับสาเหตุการขาดวิตามินบี 1 นั้น สามารถแยกได้ดังนี้
- กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดเรื่องชนิดของอาหารเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพ และชาวประมงที่ออกเรือเป็นเวลานานๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเลือกชนิดอาหารได้ตามต้องการเนื่องจากมีเหตุปัจจัยที่ไม่เป็นใจ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องอาหาร เช่น ผลไม้ และเนื้อสัตว์ จึงมักพบว่า อาหารที่กลุ่มคนเหล่านี้รับประทานจะเป็นอาหารจำพวกแป้งเป็นหลัก ซึ่งเป็นอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย แต่ร่างกายต้องใช้วิตามินบี 1 ในการเผาผลาญแป้งในปริมาณมาก สุดท้ายจึงทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสขาดวิตามินบี 1 เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 ที่บริเวณลำไส้เล็ก นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมักรับประทานอาหารโดยภาพรวมลดลง ทำให้ได้รับวิตามินบี 1 จากอาหารน้อยลงตามไปด้วย
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารต้านไธอามีน (anti-thiamine factors) โดยสารนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเมื่อเข้าไปในร่างกาย จะทำปฏิกิริยากับไธอามีน เกิดเป็นสารประกอบที่ไม่สามารถทำงานได้ ร่างกายจึงขาดไธอามีน ส่วนสารอีกชนิดหนึ่งนั้นสามารถทำลายไธอามีนได้โดยตรง ตัวอย่างอาหารที่มีสารต้านไธอามีนอยู่มาก ได้แก่ หมาก, ปลาดิบ, หอยดิบ และอาหารที่ผ่านการหมักแล้วมีการเจือปนของ mycotoxin ต่างๆ
- หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงดังกล่าวนี้เป็นสภาวะที่ร่างกายของแม่ต้องการใช้พลังงานสูงมาก จึงมีความต้องการใช้ไธอามีนซึ่งเป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาการสร้างพลังงานจากอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้นร่างกายจึงต้องการวิตามินบี 1 เพิ่มมากขึ้น และหากรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 เท่าเดิมก็จะมีโอกาสเกิดการขาดวิตามินบี 1 ได้
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินบี 1
มีการศึกษาวิจัยถึงกระบวนการทำงานของวิตามินบี 1 ในร่างกาย ระบุว่า วิตามินบี 1 หรือ Thiamine ในอาหารจะถูกดูดซึมในลำไส้เล็กบริเวณ jejunum และ ในร่างกายจะมีวิตามินบี 1 ( Thiamine) ประมาณ 30 มิลลิกรัม ครึ่งหนึ่งจะอยู่ในกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นจะกระจายอยู่ในตับ ไต หัวใจ สมอง และเนื้อเยื่อระบบประสาท โดยจะอยู่ในรูป Thiamine Pyrophosphate (TPP) ถึงร้อยละ 80 ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ หรือ เป็นตัวเร่งปฏิกิรกยาช่วยในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และกรดอะมิโนชนิดโซ่กิ่งทำให้สามารถนำไปสร้างพลังงานให้ร่างกายสามารถทำงานได้ และอีกร้อยละ 10 อยู่ในรูป Thiamine triphosphate (TTP) และที่เหลือร้อยละ 10 จะอยู่ในรูป Thiamine monophosphate (TMP) และ free Thiamine ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ประสาท (neural membrane)
สำหรับไทอะมินที่ออกฤทธิ์ภาย ในร่างกาย คือ TTP และ TMP โดยที่ TPP เป็นโคเอนไซม์ในขบวนการเมตาบอลิสมของคาร์โบไฮเดรต และกรดอะมิโนชนิดโซ่กิ่ง หน้าที่ของ TPP ที่ส าคัญมีดังนี้
- เป็นโคเอนไซม์ของเอนไซม์ pyruvate dehydrogenase ซึ่งมีความสำคัญโดยทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง glycolytic pathway และ citric acid cycle
- เป็นโคเอนไซม์ของ a - ketoglutarate dehydrogenase ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ citric acid cycle
- เป็นโคเอนไซม์ ของเอนไซม์ transketolase ซึ่งเกี่ยวข้องกับ pentose phosphate pathway
- เป็นโคเอนไซม์ของเอนไซม์ branched-chain keto acid dehydrogenase ในขบวนการเมตาบอลิสมของกรดอะมิโนชนิดโซ่กิ่ง
และสำหรับ TTP พบว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อประสาท (neural membrane) ถูกหลั่งออกจากสมอง ไขสันหลัง และ sciatic nerves เมื่อได้รับการกระตุ้นโดยสื่อไฟฟ้า มีหลักฐานบ่งชี้ว่า TTP เกี่ยวข้องกับ การทำงานของระบบประสาทการส่งผ่านกระแสความรู้สึก
นอกจากนี้ยังมี การศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่าผู้ใหญ่ปกติเมื่อได้รับไทอะมินต่ำกว่า 0.16 มิลลิกรัม ต่อพลังงาน 1,000 กิโลแคลอรี่ จะเกิดอาการทางคลินิกของโรคเหน็บชา คือ ตัวบวม และหัวใจล้มเหลว (wet beriberi) และชาปลายมือปลายเท้า (dry beriberi) เมื่ออาสาสมัครได้รับไทอะมินเพิ่มขึ้น 0.3 มิลลิกรัมต่อพลังงาน 1,000 กิโลแคลอรี่ อาการคลินิกนั้นจะหายไป รวมทั้งค่าไทอะมินในปัสสาวะ และเอนไซม์ transketolase ในเม็ดเลือดแดงจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติการกำหนดค่าปริมาณไทอะมินอ้างอิงที่ ควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intake, DRI)
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
- หญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตรควรรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินB 1 ให้มากกว่าปกติ หรือ รับประทานวิตามินในรูปแบบอาหารเสริม เพราะร่างกายต้องการวิตามินบี 1 มากขึ้น
- แอลกอฮอล์มีผลยับยั้งการดูดซึมวิตามินบี 1 บริเวณลำไส้เล็ก ดังนั้นผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินบี 1 ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด
- การรับประทานยาลดกรดในกระเพาะหลังอาหาร อาจมีผลทำให้ลดการดูดซึมวิตามินบี 1 ได้
- การเก็บวิตามินบี 1 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ควรเก็บในอุณหภูมิห้องโดยไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บในบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง หรือ ในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 1
- ภก.ญ.วิภารักษ์ บุญมาก.วิตามินB 1...ร่างกายขาดอาจถึงตาย. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- แนวทางการป้องกันอันตรายจากการทำงานของลูกเรือประมง “กรณีการขาดวิตามินบี 1”.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.32 หน้า
- Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL, et al. Drug Information Handbook with international trade names index.18th ed. Ohio: Lexi-comp, Inc;2009:1571.
- World Heath Organisation. Thiamine deficiency and its prevention and control in major emergencies. 1999;3:1-52.
- Attas M, Hanley HG, Stultz D, Jones MR, McAllister RG. Fulminant beriberi heart disease with lactic acidosis: presentation of a case with evaluation of left ventricular function and review of pathophysiologic mechanism. Circulation. 1978 Sep;58(3 Pt 1):566-72.
- Hoyumpa AM Jr. Mechanism of thiamine deficiency in chronic alcoholism. Am J Clin Nutr. 1980 Dec;33(12):2750-61.