ปรู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ปรู งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ปรู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปลู, ผลู (ภาคกลาง), ตาปู๋, มะตาปู๋ (ภาคเหนือ), มะเกลือกา (ภาคตะวันออก, ปราจีนบุรี) ปรู๋, ปู๋ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alangium salvifolum (L.f.)Wangerin
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alangium salviifolium (L.f.) Wangerin. subsp. hexapetalum Wangerin
ชื่อสามัญ Ankota
วงศ์ ALANGIACEAE


ถิ่นกำเนิดปรู

ปรู จัดเป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก เช่นในเกาะคอโมโรส และบริเวณใกล้เคียงรวมถึงในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน และเนปาล จากนั้นจึงมีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ เช่น จีน พม่า ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี นอกจากนี้ยังพบในทวีปแอฟริกา เช่น เกาะมาดากัสการ์ แทนซาเนีย และในออสเตรเลียเขตร้อน รวมถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้บริเวณป่าเบญจพรรณป่าดิบเขา และป่าชายเลนทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยกเว้นทางภาคใต้ ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-500 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณปรู

  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้บิด
  • ช่วยลดไข้
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ช่วยทำให้อาเจียน
  • ช่วยบำรุงธาตุไฟ
  • ใช้ปิดธาตุ
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้หอบหืด
  • แก้พิษ
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้ไอ
  • ใช้ล้างแผล
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ริดสีดวงลำไส้
  • แก้ริดสีดวงทวารหนัก
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงน้ำเหลือง
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยฆ่าพยาธิ
  • แก้จุกเสียด

           มีการนำผลสุกที่มีสีดำ ของปรูมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ โดยมีรสหวานอมเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม ส่วนเนื้อไม้ของปรู มีความเหนียว และคงทน อีกทั้งยังมีลวดลายที่สวยงามจึงนิยมนำมาใช้ในงานแกะสลัก กลึงเป็นอุปกรณ์ หรือ เฟอร์นิเจอร์ สำหรับโชว์ อีกทั้งยังนิยมนำมาทำใช้เครื่องมือเครื่องใช้ หรือ เครื่องเรือนต่างๆ อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงกำลัง บำรุงน้ำเหลือง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ โดยนำ แก่น หรือ เนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ฝนกับน้ำดื่ม ใช้แก้ช่วยขับเหงื่อ แก้บิด ขับพยาธิ ทำให้อาเจียน แก้พิษ โดยใช้เปลือกรากนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงธาตุแก้อาการจุดเสียด แก้ท้องร่วง ลงท้อง ท้องเสีย ท้องเดิน ขับพยาธิ โดยใช้ผลสุกมารับประทานเป็นผลไม้ ใช้แก้จุดเสียด บำรุงธาตุไฟ แก้ไอ แก้หอบหืด และแก้ท้องร่วง ท้องเสีย ท้องเดิน ปิดธาตุ โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ล้างแผล แก้โรคผิวหนัง โดยใช้เปลือก ราก ปรู มาต้มกับน้ำใช้ชะล้างแผล หรือ ใช้เปลือกรากมาทุบให้ละเอียดพอกแก้โรคผิวหนัง

ลักษณะทั่วไปของปรู

ปรู จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 เมตร เรือนยอดโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลแดง แตกเป็นสะเก็ด แก่นมีสีน้ำตาล ส่วนกระพี้สีค่อนข้างเหลือง ลำต้นมักบิดงอบริเวณโคนต้นมีพูต่ำๆ กิ่งอ่อน และใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือ เป็นรูปหอกกลับกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร โคนใบแคบแหลมหรือสอบเรียว ปลายใบแหลมมีติ่งแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบด้านบน และด้านล่างมีสีเขียว ใต้ท้องใบจะมีเส้นใบที่เห็นได้ชัดประมาณ 3-6 คู่ วิ่งออกจากโคนใบ ส่วนเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได เนื้อใบบางเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร  ดอกออกเป็นช่อรวมเป็นกระจุกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ตามซอกใบ หรือ ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ โดยดอกย่อยเป็นสีขาวนวล หรือ เป็นสีเหลืองอ่อน มีขนขึ้นอยู่ประปราย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ส่วนกลีบดอกมีประมาณ 5-7 กลีบ เป็นรูปทรงกระบอกยาว แต่กลีบดอกจะม้วนตัวโค้งกลับมาทางโคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-18 ก้าน มีเกสรเพศเมียเกลี้ยง มีรังไข่เป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียว และมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันลักษณะเป็นท่อรูปกรวย กลีบรองกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานแคบๆ ด้านนอกมีขนสีน้ำตาล และแยกแผ่ออกเป็นรูปกังหันในระดับเดียวกันประมาณ 5-6 แฉก มีขนาดประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดออกเป็นกระจุก รูปกลมรี กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร ปลายผลมีกลีบเลี้ยง ติดอยู่ส่วนกลางผลมีสันแข็งตลอดความยาวของผล ผลเมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียวแต่เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และมีรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้  ภายในผลมีเมล็ดแบบ albuminous 1 เมล็ด และมีเนื้อเยื่อสีแดงๆ บางๆ หุ้มเมล็ดแข็งอยู่

ปรู

ปรู

การขยายพันธุ์ปรู

 ปรู สามารถขยายพันธุ์ได้เพาะเมล็ด ซึ่งปรูจัดเป็นพรรณไม้ป่าชนิดหนึ่ง ที่มีการแพร่กระจายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำปรูมาปลูกไว้ตามไร่นาเพื่อใช้ประโยชน์บ้างแล้ว โดยปรูจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน และยังเป็นพืชที่ต้องการน้ำปานกลางถึงมาก รวมถึงชอบแสงแดดตลอดทั้งวันอีกด้วย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดปรูนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะพันธุ์ไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของปรู ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ในส่วนรากพบสาร tubulosine, isotobulosine, cephaeline,  psychotrine และ alangiside ในเปลือกรากพบสาร Alangicine, marckine, dimethylpsychotrine, marckidine, lamarckinine ในส่วนผลพบสาร deoxytobulosine, Alangimarkine,  ankorine, alangiside, alangine, cepheline, N-methylcephaeline, deoxytobulosine และ alangiside ส่วนในเมล็ดพบสาร alangimarine, alangimaridine, emetine, alamanine, cephaeline และ psychotrine เป็นต้น

โครงสร้างปรู

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของปรู

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดปรู จากส่วนต่างๆ ของในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้ 

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดแอลกอฮอลล์จากรากของปรู โดยได้ทำการทดสอบโดยใช้วิธี DPPH และวิธียับยั้งอนุมูลไนตริกออกไซด์ พบว่าในวิธีการกำจัดอนุมูล DPPH ของสารสกัดแอลกอฮอล์ และน้ำของ รากปรูที่ขนาด 200 ไมโครกรัม/มล. แสดงฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ 76.4% และ 62.4% ส่วนกรดแอสคอร์บิก ของยามาตรฐาน แสดงฤทธิ์ยับยั้ง 88.6% และค่า EC 50 พบว่า มีค่า 120.48, 135.14 และ 96.15 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ส่วนวิธีการกำจัดอนุมูลของไนตริกออกไซด์ สารสกัดแอลกอฮอล์ สารสกัดน้ำ และกรดแอสคอร์บิกแสดงฤทธิ์การยับยั้ง 74.9%, 59.7% และ 83.5% และพบว่าค่า EC 50 อยู่ที่ 308.80, 450.8 และ 201.32 มก./มล. ตามลำดับ

           กิจกรรมต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเปลือกต้นของปรูในหนูวิสตาร์โดยใช้ให้หนูถูกเหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบ จากนั้นฉีดสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม เมทานอล เอทิลอะซีเตต และสารสกัดน้ำ ให้แก่หนูทดลองในขนาด 100 มก./กก. เป็นเวลา 21 วัน จากนั้นวัดปริมาตรอุ้งเท้า และความหนาของอุ้งเท้า พบว่าสารสกัดทั้งหมดของปรู มีฤทธิ์ต้านข้ออักเสบที่มีศักยภาพ และความแรงเรียงตามลำดับดังนี้ >คลอโรฟอร์ม> เอทิลอะซีเตต> น้ำ> ปิโตรเลียมอีเทอร์>เมทานอล โดยมีรายงานว่าสารสเตียรอยด์ที่มีอยู่ในสารสกัดจากพืชอาจมีหน้าที่ในการต้านการอักเสบโดยการยับยั้งการอักเสบ

            ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยโดยการให้สารสกัดด้วยเอทานอลของ ใบ และเปลือกของ ปรู ในขนาด 200 และ 400 มก./กก. (น้ำหนัก) ให้แก่หนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานโดยสเตรปโตโซโตซิน พบว่าสารสกัดดังกล่าวแสดงฤทธิ์ ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้ปกติอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งสารสกัดยังช่วยลดระดับ TC, TGL, LDL และเพิ่มระดับ HDL อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพบว่าต้านเชื้อราว่า สารสกัดน้ำจากใบของปรู มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตต่อ เชื้อ Trichotheciumroseum ซึ่งเป็นเชื้อราก่อโรค นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสารสกัดเอธานอลจากรากมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา Aspergillus niger, A.fumigatus, A.flavus, Fusariumoxysporum, Penicillumsps และ Rizopussps


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของปรู

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดของปรู ระบุว่ามีการประเมินสารสกัดจากส่วนรากของปรูในการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันตามแนวทาง OECD พบว่าค่า LD 50ของสารสกัดดังกล่าวมีค่าเท่ากับ 1,000  มก./กก. น้ำหนัก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การรับประทานผลสุกของปรู ควรรับประทานแต่พอดีเนื่องจากมีรสหวานอมเปรี้ยว ซึ่งหากรับประทานมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ส่วนการใช้ปรูในรูปแบบสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน กับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่วนผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสาร อ้างอิงปรู
  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ปรู”.  หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  หน้า 40.
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2541
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ปรู ”.   หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  หน้า 449-450.
  4. มะเกลือกา.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)   เข้าถึงได้จากhttp://www.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6863
  5. ปรู๋.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.phargar.den.com/main.php?action=viewpage&pid=70
  6. S. Ashish kumar, A. Vipin, K. Rajesh, A. Balasubramaniam, M. Anurag, G. Rajiv Pharmacological studies on seeds of Alangium salvifolium linn. Acta Pol. Pharm. Drug Res., 68 (2011), pp. 897-904
  1. B.S. Tanwer, V. Rekha Biological evaluation of Alangium salviifolium (L. F.) Wangerin J. Chem. Pharm. Res., 6 (2014), pp. 611-618
  1. G. Thippeswamy, S. Lokesh, V. RaiInfluence of some indigenous medicinal plants extracts on seed mycoflora and seedling growth of some oilseed crop species Adv. Plant Sci., 16 (2003), pp. 67-74
  1. P. Shivanand Arthritis an autoimmune disorder: demonstration of in-vivo antiarthritic activity Int. J. Pharm. Life Sci., 1 (2010), pp. 38-41
  2. S. Jain, A. Sinha, D.S. Bhakuni The biosynthesis of beta-carboline and quinolizidine alkaloids ofAlangium lamarckii Phytochemistry, 60 (2002), pp. 853-859
  3. R. Meenakshi, G. Rajesh Evaluation of antidiabetic activity of Alangium salviifolium in streptozotocin–induced diabetic rats UK J. Pharm. Biosci., 3 (2015), pp. 15-21
  4. R. Upadhyay, S. Trivedi, N.N. Mehrotra Phytochemical studies and antimicrobial activity of traditional medicinal plant Alangium salvifolium (L.f.) Wang Search Res., 2 (2011), pp. 183-184
  5. M. Bidhan, N. Rupashri, R. Remadevi  Pharmacognostical and pharmacological review on ayurvedic plant ankolah-[Alangium salvifolium (L.F) Wang (Alangiaceae)], World J. Pharm. Pharm. Sci., 4 (2015), pp. 516-526
  6. B.S. Tanwer, R. Vijayvergia Phytochemical evaluation and quantification of primary metabolites of Alangium salviifolium Int. J. Pharm. Biosci., 1 (2010), pp. 1-6