เซอซิลินีออล

เซอซิลินีออล

 

ชื่อสามัญ Cirsilineol, 4’, 5’- Dihydroxy-3’, 6, 7-trimethoxyflavone

ประเภทและข้อแตกต่างของสารเซอซิลินีออล

เซอซิลินีออล (Cirsilineol) จัดเป็นสารประกอบ ฟินอลิก (Phenolic compounds) ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) มีสูตรทางเคมี คือ C18H16O7 มีมวลโมเลกุล 344.319 g/mol ซึ่งลักษณะของสารเซอซิลินีออลนั้นจะพบในลักษณะของน้ำมันหอมระเหยจากพืชต่างๆในธรรมชาติ

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารเซอซิลินีออล

แหล่งของสารเซอซิลินีออล (Cirsilineol) นั้นพบได้ในน้ำมันหอมระเหยจากพืชในธรรมชาติหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่จะพบในพืชวงศ์ Lamiaceae อาทิเช่น กะเพรา ยี่หร่า โหระพา และ แมงลัก เป็นต้น โดยจะพบได้มากในส่วนของใบ ช่อดอก และกิ่งก้าน (พบในส่วนใบมากที่สุด) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบสารเซอซิลินีออลใน โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua L.) อีกด้วย

เซอซิลินีออล

เซอซิลินีออล

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารเซอซิลินีออล

สำหรับขนาด และปริมาณ ในการใช้สารเซอซิลินีออล (Cirsilineol) ที่มีความปลอดภัยในหนึ่งวันนั้น พบว่าในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้สารดังกล่าวอย่างชัดเจน อีกทั้งในการใช้และการได้รับสารเซอซิลินีออลส่วนมากก็ยังเป็นการใช้ในรูปแบบของการรับประทานส่วนใบของกะเพราะ โหระพา ยี่หร่า และแมงลัก ในรูปแบบอาหารรวมถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยของสารดังกล่าวมากกว่าการสกัดเอาสารเซอซิลินีออล มาใช้เป็นสารเดี่ยว อีกด้วย

ประโยชน์และโทษของสารเซอซิลินีออล

ประโยชน์ของสารเซอซิลินีออล (Cirsilineol) ที่มีผลการวิจัยรองรับ คือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจึงทำให้สามารถลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งจะมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงตับไขมันในเลือด อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รักษาอาการจุกเสียดแน่นในกระเพาะอาหาร เป็นต้น แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการสกัดเอาสารเซอซิลินีออลมาใช้ในรูปแบบของสารเดี่ยว เนื่องจากยังขาดข้อมูลการศึกษาวิจัยอีกหลายด้าน แต่ก็ยังมีการใช้สารดังกล่าวในรูปแบบของอาหาร (ใบกะเพราะ โหระพา ยี่หร่า แมงลัก) ซึ่งก็มีรายงานการวิจัยระบุว่าสามารถทำงานร่วมกับสารอื่นๆ ในการช่วยป้องกันและรักษาอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาได้เช่นกัน

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารเซอซิลินีออล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของเซอซิลินีออล (Cirsilineol) เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้

           ฤทธิ์ลดการอักเสบของสารเซอซิลินีออล มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบ ลำต้นของกะเพรา และสารที่แยกได้จากกะเพราได้แก่ cirsilineol, cirsimaritin, isothymonin, apigenin, rosmaric acid และ eugenol ที่ความเข้มข้น 1 มิลลิโมล/ลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบได้ โดยมีฤทธิ์ยับยั้ง cox-1 และ cox-2 (เมื่อทดสอบที่ความเข้มข้น 1 มิลลิโมล) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาเนื่องจากเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารเซอซิลินีออล มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารฟีนอลิกในใบกะเพรา เช่น cirsilineol, cirsimaritin, isothymusin, apigenin, rosmarinic acid และ eugenol ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถลดการเกิดออกซิเดชันของไขมันที่เกิดจากการฉายแสงในตับหนูเม้าส์ อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่า ascorbic acid (วิตามินซี) อีกด้วย

           ส่วนอีกการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าสาร eugenol, cisilineol, isohymusin, isothymonin และ rosmarinic acid มีฤทธิ์แอนติออกซิแดนซ์ได้ดีเมื่อใช้ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครโมล

โครงสร้างเซอซิลินีออล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

สำหรับการใช้สารเซอซิลินีออล (cirsilineol) ในปัจจุบันนี้เป็นการได้รับในรูปแบบอาหาร ผ่าน ใบกะเพรา โหระพา ยี่หร่า และแมงลัก ถือว่าเป็นการใช้ที่ปลอดภัยแต่ทั้งนี้ในการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของสารเซอซิลินีออลดังกล่าว ก็ควรระมัดระวังในการรับประทานเช่นกัน เพราะหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปแล้วอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาจเกิดอาการร้อนในระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือ แสบร้อนทางเดินอาหารได้ เพราะ พืชที่เป็นแหล่งของสารเซอซิลินีออล เป็นพืชที่มีรสเผ็ดร้อน

เอกสารอ้างอิง เซอซิลินีออล
  1. สุวรา วัฒนพิทยากุล. กะเพรากับสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 22. ฉบับที่ 4 กรกฎาคม 2548. หน้า 17-21
  2. สุกัญญา เขียวสะอาด. กะเพรากับการต้านอนุมูลอิสระ. วารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง.2555;21(2) :54-65.
  3. กะเพรา.ฐานข้อมูลสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4.  Joseph JC. Phytotherapeutic Management of Endocrine Dysfunctions. Nutri News 2006;8(1):1-8.
  5.  Lertsatitthanakorn P, Taweechaisupapong S, Aromdee C, Khunkitti W. In vitro bioactivities of essential oils used for acne control. Int J Aromatherapy 2006;16(1):43-8.
  6.  Burstein S, Taylor P, EL-Feraly FS, Tumer C. Prostaglandins and cannabis V. Identification of p-vinylphenol as a potent inhibitor of prostaglandin synthesis. Biochem Pharmacol 1976;25(17):2003-4.
  7. Sheng, X; Sun, Y; Yin, Y; Chen, T; Xu, Q (2008). "Cirsilineol inhibits proliferation of cancer cells by inducing apoptosis via mitochondrial pathway". The Journal of Pharmacy and Pharmacology. 60 (11): 1523–9.
  8.  Singh S, Majumdar DK, Rehan HMS. Evaluation of anti-inflammatory potential of fixed oil of Ocimum sanctum (Holybasil) and its possible mechanism of action. J Ethnopharmacol 1996;54:19-26.
  9.  Mary NK, Babu BH, Padikkala J. Antiatherogenic effect of CAPS HT2, a herbal Ayurvedic medicine formulation. Phytomedicine 2003;10:454-82.
  10.  Kelm, M.A., Nair, M.G., Strasbury, G.M. and Dewitt, P.L., 2000. Antioxidant and cyclcoxgerase inhibitory phenolic compounds from Ocimum sanctum Linn. Phytomed., 7(1), 7-13.
  11.  Pandey G, Madhuri S. Pharmacological activities of Ocimum sanctum (Tulsi): a review. Int J Pharm Sci Rev Res 2010;5(1):61-6.