สนทราย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สนทราย งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สนทราย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สนดง, สนหิน, เสี้ยวน้อย, สนหางสิงห์ (ภาคอีสาน), สนหอม (ภาคตะวันออก), สนขี้ไก่ (ภาคกลาง), สนเล็ก, สนสร้อย, สนนา, สนเทศ, ก้านถินแดง, ปอโฮงรุห์ (ภาคใต้), ซือหลิ่ว, กังซง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Baeckea frutescens Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baeckea chinensis, Baeckea cumingiana, Baeckea ericoides, Baeckea cochinchinensis, Baeckae sumatrana, Baeckea stenophylla F. Muell, Cedrela Rosmarinus, Drosodendron Rosmarinus.
ชื่อสามัญ dwarf mountain pine, Shrubby baeckea weeping coast myrtle
วงศ์ MYRTACEAE
ถิ่นกำเนิดสนทราย
สนทราย จัดเป็นพืชในวงศ์ ชมพู่ (MYRTACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณริมชายฝั่งทะเลของทวีปเอเชียโดยคาดกันว่าอยู่บริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกอาทิเช่น ในแถบชายฝั่งของจีน ฟิลิปปินส์ เกาะสุมาตรา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย (นิวเซาท์เวล และควีนส์แลนด์) และชายฝั่งด้านตะวันออกของไทย สำหรับสนทราย ในประเทศไทย พบได้บริเวณป่าไม้ผลัดใบ ป่าหญ้า หรือ ยอดเขาที่เป็นหินทราย ทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางภาคใต้ พบได้ตามป่าชายหาด และป่าเสม็ดที่เป็นทุ่งหญ้า หรือ บริเวณที่โล่งบนยอดเขาตามแนวชายฝั่งทั่วไป ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,800 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณสนทราย
- ใช้บำรุงธาตุ
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- แก้ไข้ ลดไข้
- แก้ไข้หวัด ตัวร้อน
- แก้พิษร้อนภายใน
- แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
- ช่วยขับลม
- แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
- แก้ไอ
- แก้ปวด
- แก้บวมช้ำ
- แก้ฟกช้ำ ดำเขียว
- แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยขับนิ่ว
- แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- แก้หน้ามืด วิงเวียน
- แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ใช้แก้ปวดกระเพาะ
- แก้ปัสสาวะ กระปริกระปรอย
- ช่วยขับลมขึ้น
- แก้อาการลมแดด
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้กลากเกลื้อน
- แก้ผดผื่นคัน
- แก้หัด
น้ำมันหอมระเหยจากใบของสนทราย มีสีเหลืองอ่อน และยังมีกลิ่นคล้ายกับลาเวนเดอร์ จึงมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมด้านความงาม เช่น ใช้ทำน้ำหอม โลชั่นทาผิว และสบู่ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนิยมนำสนทรายมาทำบอนไซ ซึ่งสามารถเพิ่มคุณค่าและราคาให้กับต้นสนทราย ได้เป็นอย่างดี ส่วนในเวียดนามมีการนำกิ่งของสนทรายมาทำไม้กวาดไว้ใช้ในครัวเรือนอีกด้วย
ส่วนในประเทศมาเลเซียและชาวเกาะสุมาตรา ใช้ใบและลำต้นในการอยู่ไฟ หลังการคลอดบุตร
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้ไข้หวัดตัวร้อน ลดไข้ แก้อาการไอ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการลมแดด ขับลม แก้ปวดเมื่อตามร่างกาย โดยนำใบสนทราย 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
- แก้ปวดหลัง ปวดเอว หน้ามืด วิงเวียน ขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นแห้ง 10-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ปวดกระเพาะ แก้ปัสสาวะกระปริกระปรอย ขับนิ่ว ขับลมขึ้น แก้ปวดข้อโดยนำรากสนทราย สด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
- แก้ปวด แก้บวมช้ำ ฟกช้ำดำเขียว โดยนำใบสนทรายสด 30 กรัม นำมาตำพอแหลก นำมาชงกับน้ำร้อน กรองเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลเล็กน้อยใช้รับประทาน
- แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน แก้หัด โดยนำใบสนทรายสดๆ มาตำพอกบริเวณที่เป็น
- แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสนทรายแห้ง 10-30 กรัม มาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันใบชา ใช้ทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของสนทราย
สนทราย จัดเป็นไม้พุ่ม สูงของลำต้นประมาณ 5 เมตร ลำต้นมีสีเทาอมน้ำตาล เปลือกต้นแตกเป็นขุย ส่วนเนื้อไม้มีสีน้ำตาล แข็งแรงทนทาน สนทรายมักแตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก โดยกิ่งที่แตกจะมีขนสีน้ำตาลแดง ขึ้นปกคลุมเล็กน้อย และมักลู่ลงกิ่งมีสีน้ำตาลอ่อน เรียวยาว เปลือกของกิ่งแตกเป็นขุย เช่นเดียวกับลำต้น
ใบสนทราย เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะเป็นเส้นพุ่มห้อย รูปเข็มแบนหนาคล้ายกับใบสนเข็ม อยู่รวมกันเป็นกระจุก ใบมีขนาดกว้าง 0.4-0.6 มิลลิเมตร ยาว 5-8 มิลลิเมตร โคนใบลักษณะเป็นครีบปลายใบกลมมนทู่ หลังใบเป็นร่อง ส่วนท้องใบงอเล็กน้อย มีกลุ่มหอม ก้านใยสั้น หรือ ไม่มีก้านใบ
ดอกสนทราย เป็นดอกเดี่ยวเล็กๆ หรือ อาจจะออกเป็นกระจุกสั้นๆ บริเวณง่ามใบ โดยใน 1 กระจุก จะดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวไม่เกิน 2 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายกลีบมนแยกออกเป็น 2 แฉก หุ้มติดโคนกลีบดอก เกสรเพศผู้ของดอกมี 8-10 อัน มีรยางค์ ปลายเป็นต่อม ส่วนเกสรเพศเมียมีก้านเกสรยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายเกสรกลม รังไข่ 3 อัน ส่วนจานฐานดอกเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
ผลสนทราย มีขนาดเล็กสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะแตกกลางพู มีลักษณะเป็นรูปถ้วยขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มักจะมีกลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดด้วย ด้านในผลมีเมล็ดขนาดเล็กและมีจำนวนมาก รูปเหลี่ยม หรือ เป็นรูปโตขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์สนทราย
สนทราย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดเช่นเดียวกับสนชนิดอื่นๆ ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกสนทราย นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูก “สนทะเล ” ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนเหนือดินและใบ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากใบของสนทราย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนเหนือดินพบสารกลุ่ม Chromone หลายชนิด เช่น 5-hydroxy-7-methoxy-2-methyl -cromone 2, 5-dihydroxy-7-methoxy-2, 6-dimethylchromanone ส่วนในใบพบสาร 8-β-C-glucopyranosyl-5, 7-dihydroxy-2-isopropylchromone, 6-β-C-glucopyranosyl-5, 7-dihydroxy-2-methylchromone และ 8-β-C-(2 ′-galloylglucopyranosyl) -5,7-dihydroxy-2-isopropylchromone เป็นต้น และในใบสนทรายยังพบน้ำมันระเหย ที่ประกอบไปด้วย สารหลายชนิด เช่น a-Pinene, Limonene, Cineole, Linalool, Fenchol, p-cymene, a-B-pinene, a-Terpineol, L-Borneol และ Baeckeol เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสนทราย
จากการศึกษาค้นคว้ารายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสนทราย ถึงในไทย และต่างประเทศนั้น ไม่พบรายงานการศึกษาวิจัยเลย มีเพียงแต่รายงานฤทธิ์ลดการอักเสบของการศึกษาวิจัยตำรับยาริดสีดวงมหากาฬ ซึ่งมีการใช้สนทรายเป็นส่วนประกอบ โดยมีรายงานการศึกษาดังนี้
ยาริดสีดวงมหากาฬ เป็นตำรับยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก ประกอบด้วยสมุนไพรต่างๆ รวม 22 ชนิด ได้แก่ มดยอบ, ขอบชะนางแดง, ขอบชะนางขาว, โกฐกักกรา, โกฐสอ, โกฐจุฬาลำพา, โกฐก้านพร้าว, โกฐพุงปลา, เทียนดำ, เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนข้าวเปลือก, เทียนตาตั๊กแตน “สนเทศ”, ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, สะค้าน, สมุลแว้ง, ดีปลี, พริกไทย, ขิง และอบเชยเทศ จึงได้มีการศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของสารสกัด 80% เอทานอลของยาริดสีดวงมหากาฬในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยวิธี cotton pellet-induced granuloma formation โดยป้อนสารสกัดขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก./วัน เป็นเวลา 14 วัน เปรียบเทียบผลกับยาต้านการอักเสบอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 5 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ โดยที่ขนาด 50 มก./กก. จะให้ผลดีที่สุด และดีกว่ายา indomethacin สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80% เอทานอลของยาริดสีดวงมหากาฬ และสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาด้วยวิธี DPPH และ lipid peroxidation inhibition พบว่าตำรับยาริดสีดวงมหากาฬ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ต้านการเกิดอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) = 70.2 มคก./มล. เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH และ IC50 = 5.3 มคก./มล. เมื่อทดสอบด้วยวิธี lipid peroxidation inhibition ในส่วนของสมุนไพรเดี่ยว พบว่าโกฐพุงปลา สมุลแว้ง และอบเชยเทศ มีฤทธิ์ดีสุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH (IC50 4.4, 5.2 และ 8.0 มคก./มล. ตามลำดับ) และในวิธี lipid peroxidation inhibition ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, โกฐพุงปลา, สมุลแว้ง และขิง จะมีฤทธิ์ดีสุดในการต้านอนุมูลอิสระ (IC50 = 1.3, 1.7, 1.8, 2.1, และ 2.7 มคก./มล. ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ดีกว่าสารมาตราฐาน trolox และ rutin เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสมุนไพร จะพบว่าโกฐพุงปลามีปริมาณของสารฟีนอลิกรวมสูงสุด รองลงมาคือ สมุลแว้ง และอบเชยเทศ
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสนทราย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้สนทราย เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้แต่พอดีตามขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง สนทราย
- วิทยา บุญวรพัฒน์, สนสร้อย. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า 522.
- สมุนไพร ในตำรับยาแผนไทย ที่ประกาศกำหนดให้เป็นตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่อนุญาติให้เสพเพื่อรักษาโรค หรือ การศึกษาวิจัยได้ ตามแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.2562 สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์ แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารษสุข. หน้า 257-261
- ฤทธิ์ลดการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของยาริดสีดวงมหากาฬ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.สนทราย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=110