ว่านมหากาฬ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ว่านมหากาฬ งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ว่านมหากาฬ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดาวเรือง (ภาคกลาง), คำโคก (อีสาน, ขอนแก่น, เลย), หนาดแห้ง (โคราช), ผักกาดกบ (เพชรบูรณ์, เพชรบุรี), ผักกาดนกเขา (สุราษฎร์ธานี), หนิวเสอซันฉิ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura pseudochina  (L.) DC. var. hispida Thwaites
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura hispida Thw., Gynura bodinieri Levl.
ชื่อสามัญ -
วงศ์ COMPOSITAE (ASTERACEAE)

ถิ่นกำเนิดว่านมหากาฬ

สำหรับถิ่นกำเนิดของว่านมหากาฬนั้นยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าว่านมหากาฬ มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน เช่นในประเทศ อินโดนีเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เพราะมีการพบว่าว่านมหากาฬ ครั้งแรกบริเวณภูมิภาคนี้ และยังสามารถพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณในภูมิภาคนี้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยพบว่านมหากาฬได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบมากบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี และมักจะพบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-500 เมตร โดยพบในที่ร่มใต้ร่มไม้หรือที่โล่ง ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดล่อน ปลายมีขน


ประโยชน์และสรรพคุณว่านมหากาฬ

  • ใช้ดับพิษร้อน พิษกาฬ พิษอักเสบ พิษเซื่องซึม
  • แก้ไข้
  • แก้เพ้อ คลุ้มคลั่ง
  • แก้พิษตานซาง
  • แก้เริม
  • แก้งูสวัด
  • แก้อาการกระสับกระส่าย
  • รักษาแผลมดลูกในสตรี
  • ช่วยขับประจำเดือน
  • รักษาฝี 
  • ช่วยถอนพิษสัตว์ต่างๆ
  • แก้ปวดแสบปวดร้อน 
  • แก้อักเสบออกฤทธิ์ต่อตับ
  • แก้ไข้เซื่องซึม
  • ช่วยทำให้เลือดเย็น
  • ช่วยฟอกเลือด 
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • บำรุงหัวใจ
  • ช่วยใช้คลายเส้น
  • แก้ปวดเมื่อย
  • แก้ปวดบวม ฟกช้ำ
  • รักษาแผลพุพอง
  • ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก

           ในปัจจุบันมีการนำว่านมหากาฬ มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น นิยมใช้ปลูกลงแปลงประดับในสวน เพราะใบมีลวดลายสวยงาม ส่วนชาวลั้วะจะใช้ใบเพื่อนำไปประกอบอาหาร และชาวเมี่ยน ใช้ใบสดนำมารับประทานเป็นผักเครื่องเคียงร่วมกับลาบ นอกจากนี้ มีการศึกษาวิจัยพบว่าว่านมหากาฬเป็นพืชที่สามารถสะสมโลหะหนักสังกะสี และ แคดเมียมได้สูง ในอนาคตคาดว่าจะมีการนำมาใช้ปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพดินในเหมืองแร่ และฟื้นฟูสภาพดินที่ปนเปื้อนโลหะหนักเป็นต้น

ว่านมหากาฬ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ว่านมหากาฬ ใช้พอกแก้ฝี และแผลพุพอง โดยใช้ใบสดใช้โขลกผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น หรือ นำส่วนหัวใต้ดิน ล้างทำความสะอาด ตำพอก หรือ ฝนกับน้ำปูนใส ทาบริเวณที่เป็นฝีและแผลพุพอง วันละ 3-4 ครั้ง ใช้รักษาเริมและงูสวัดโดยใช้ใบสด 5-6 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะที่สะอาด ใส่พิมเสน เล็กน้อย หรือ ใช้ใบสด 5-6 ใบ โขลกผสมกับสุรา ใช้น้ำที่ได้ทา และพอกบริเวณที่เป็นด้วยก็ได้ ช่วยในการถอนพิษจากสัตว์ต่างๆ อาทิ แมงป่อง ตะขาบ ตัวต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ นำต้น หัว หรือ ใบสดมาบดประคบทาแผลบริเวณถูกต่อย หรือ นำส่วนตากแห้งบดผสมน้ำประทาประคบแผล จะช่วยบรรเทาอาการปวด และทำลายพิษได้ ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด นำต้นหัว หรือ ดอกตากแห้งแล้วบด นำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่ม ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ปวดบวม  ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของว่านมหากาฬ

ว่านมหากาฬ จัดเป็นไม้ล้มลุก เลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะของลำต้นสั้น และใหญ่อวบน้ำ มีตาอยู่โดยรอบ มีสีเขียวแกมม่วง สูง ประมาณ 40-60 เซนติเมตร ไม่แตกกิ่งด้านข้าง มีหัวอยู่ใต้ดิน รากเนื้อนิ่มอ่อน เปลือกรากเป็นสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อในเป็นสีขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเรียงสลับ สีเขียวแกมม่วง มีลักษณะรูปช้อนแกมรูปขอบขนาน หรือ เป็นรูปพิณ ยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบหยัก ใบแผ่ออกอยู่บนพื้นดิน แผ่นใบหนาและแข็ง ผิวใบทั้งด้านล่าง และด้านบนมีขนหนาแน่น มีก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แทงขึ้นมาจากพื้นดิน ดอกย่อยออกเป็นช่อกระจุกแน่นบนช่อเชิงหลั่น 3-9 ช่อ ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ก้านช่อดอกย่อยยาว 0.5-2 เซนติเมตร ดอกมีสีส้มเหลือง มีหนามเล็ก ลักษณะเป็นฝอยคล้ายดอกดาวเรือง แต่มีขนาดเล็กกว่า ผิวดอกมีขน โคนก้านมีใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 8.10 มิลลิเมตร


การขยายพันธุ์ว่านมหากาฬ

ว่านมหากาฬ สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยการงอกกอใหม่บริเวณรากที่แผ่ไปตามพื้นดิน หรือ ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อใหม่จากโคนต้นเดิม สำหรับการปลูกนิยมใช้ส่วนหัว หรือ เหง้าใหม่แบ่งปลูก และถึงการนำส่วนต้นอ่อนมาปักชำ สำหรับดินที่ใช้ควรเป็นดินร่วน หากเป็นดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดีอาจใช้เพียงดินเพียงส่วนเดียวก็ได้ แต่ก็ควรผสมปุ๋ยคอก หรือ วัสดุการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วนดิน : วัสดุ ที่ 1:1 หรือ 2:1หากเป็นดินชนิดอื่น ควรใช้อัตราส่วนที่ 1:1 หรือ 1:2 สำหรับการปลูกควรปลูกในทีร่ม เช่น ใต้ร่มไม้ใหญ่ ใต้สแลน หรือปลูกในที่ร่มที่ได้รับแสงเพียงพอ แต่ไม่มากนัก จะช่วยให้ดินไม่แห้ง และรักษาความชื้นได้ หลังการปลูกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 1-2ครั้ง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยส่วนต่างๆ ของว่านมหากาฬ ว่าพบสาร Flavonoid, Quercetin, Quinic acid นอกจากนี้ยังพบสารประกอบต่างๆ อีก เช่น Quercetin-rutinoside, 3,5-dicaffeoyl quinic acid (Isochlorogenic acid A), 4,5-dicaffeoyl quinic acid (Isochlorogenic acid C), 3-dicaffeoyl quinic acid, 5- dicaffeoyl quinic acid และสารกลุ่ม Alcaioid อีกด้วย

รูปองค์ประกอบทางเคมีของว่านมหากาฬ
โครงสร้างว่านมหากาฬ 
 

ที่มา: Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านมหากาฬ 

            ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร quercetin-rutinoside, 3,5-dicaffeoyl quinic acid, 4,5 dicaffeoyl quinic acid และ 3-, หรือ 5- caffeoyl quinic acid ที่สกัดได้จากส่วนใบว่านมหากาฬมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) คือ มีผลยับยั้ง nuclear factor kappa B (NF-kB) โดยมีค่าปริมาณของสารที่มีผลยับยั้งการทำงานของโปรตีนลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 25-83 มคก./มล.

           การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากใบว่านมหากาฬ ในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดเอทานอลใบว่านมหากาฬขนาด 0.16-20 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง interleukin-1-β (IL-1β) ในเซลล์เม็ดเลือดของมนุษย์ (human blood cells) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) 

           การศึกษาทางคลินิก การศึกษาฤทธิ์รักษาโรคสะเก็ดเงินของว่านมหากาฬ ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง (mild to moderate plaque psoriasis) จำนวน 25คน ทั้งเพศชาย และหญิง (อายุเฉลี่ย 48.6 ± 14 ปี) โดยทายาขี้ผึ้งที่มีสารสกัดเอทานอลจากใบว่านมหากาฬ สัดส่วนสารสกัดต่อตัวทำละลายเท่ากับ 1:10) บริเวณแผลของผู้ป่วยด้านหนึ่งของร่างกาย ส่วนอีกด้านตรงข้ามทายา triamcinolone 0.1% เพื่อเปรียบเทียบ วันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ วินิจฉัยอาการของโรคด้วยแบบประเมิน Targeted Area Score (TAS), Psoriasis Severity Index (PSI) และ Physician’s Global Assessment (PGA) scores และทำการเก็บตัวอย่างผิวหนังทั้งช่วงก่อน และหลังการทดลองเพื่อตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยาด้วยเทคนิค immunohistochemistry ผลการศึกษาพบว่า การทายาขี้ผึ้งสารสกัดว่านมหากาฬ มีผลช่วยบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงินได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการรักษา และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ยา triamcinolone 0.1% นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบของผิวหนังได้แก่ NF-κB p65 และ Ki-67 และมีผลช่วยลดความหนาของชั้นผิวหนังกำพร้า (epidermal) บริเวณแผลสะเก็ดเงินได้ 


การศึกษาทางพิษวิทยาของว่านมหากาฬ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
  2. ตามตำรายาแพทย์แผนจีนระบุว่าต้นและรากของว่านมหากาฬมีพิษเล็กน้อย โดยจะออกฤทธิ์ต่อตับ ดังนั้นจึงต้องระวังในการใช้
  3. ในการใช้ว่านมหากาฬ เพื่อหวังในสรรพคุณทางยา ควรใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง ว่านมหากาฬ
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มหากาฬ”. หน้า 416.
  2. ว่านมหากาฬ.สมุนไพรที่มีการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 275.
  4. นันทวัน บุณยะประภัศร และ อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พิ้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541:740 หน้า.
  5. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ, เอมอร โสมนะพันธุ์, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. การวิเคราะห์หาอัลคาลอยด์ในสมุนไพรไทย ภาค 1. วารสารเภสัชศาสตร์. 2524; 8(4): 109-15.
  6. หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 138.
  7. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541: 176 หน้า.
  8. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านมหากาฬ”. หน้า 726-727.
  9. ว่านมหากาฬ.กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs_02_10.htm
  10. ว่านมหากาฬ สรรพคุณและการปลูกว่านมหากาฬ.พืชเกษตร.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  11. Rerknimitr P, Nitinawarat J, Weschawalit S, Wititsuwannakul J, Wongtrakul P, Jutiviboonsuk A, et al. The Efficacy of Gynura pseudochina DC. var. hispida Thv. Ointment in treating chronic plaque psoriasis: A randomized controlled trial. J Altern Complement Med. 2016;22(8):669-75.
  12. Siriwatanametanon N, Prieto J, Heinrich M. Chemical and biological studies on the methanol extract of Gynura pseudochina var. hispida. Planta Med. 2010;76:DOI: 10.1055/s0030-1264584.
  13. Thamaree S, Rugrungtham K, Ruangrungsi N, Thaworn N, Kemsri W. The inhibitory effects of andrographolide and extracts of some herbal medicines on the production of proinflammatory cytokines by LPS-stimulated human blood cells. Chula Med J. 2001: 45(8): 661-70.