ตะบูนดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะบูนดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะบูนดำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะบูน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus moluccensis (Lam.) M.Roem
วงศ์ MELIACEAE
ถิ่นกำเนิดตะบูนดำ
ตะบูนดำ จัดเป็นพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนอีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณชายฝั่งทะเล เขตร้อน ซึ่งมักจะพบกระจายพันธุ์อยู่ในชายฝั่งทะเลของทวีป แอฟริกา เอเชีย อเมริกา และออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทย สามารถพบตะบูนดำ ได้ตามป่าชายเลน หรือ ตามชายฝั่งทะเลของภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณตะบูนดำ
สำหรับสรรพคุณทางยาของตะบูนดำนั้น ในตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณว่ามีสรรพคุณคล้ายกับตะบูนขาว
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
- แก้อาการไอ
- แก้ท้องร่วง
- รักษาแผลภายใน
- แก้อาการท้องเสีย
- แก้อหิวาตกโรค
- แก้บิด
- รักษาแผลสด ใช้ชะล้างบาดแผล ทำความสะอาดแผล
- รักษาแผลบวม แผลฟกช้ำเป็นหนอง
- แก้มะเร็งผิวหนัง
- ใช้เป็นยาลดไข้
- แก้อาการอักเสบในลำไส้
- แก้อาการผิดปกติในช่องท้อง
ตะบูนดำเนื้อไม้ที่แข็งมีสี และลวดลายสวยงาม มีการนำมาใช้ตกแต่งทำเฟอร์นิเจอร์ และก่อสร้าง หรือ ใช้ทำไม้กระดานปูพื้น หรือ ใช้ทำฝาบ้านได้ ส่วนเปลือกไม้ตะบูนดำ สามารถนำมาใช้ในการฟองหนัง เพื่อใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) หรือ นำน้ำฝาด จากเปลือกต้นมาใช้ย้อมผ้าย้อมแห อวน โดยจะให้สีน้ำตาล
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาลดไข้ ใช้แก้อาการท้องเสีย อาการอักเสบในลำไส้ อาการผิดปกติในช่องท้อง โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้รักษาแผลภายใน แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้อหิวาตกโรค โดยนำเปลือกต้น และผลตะบูนดำ มาตากให้แห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มหากใช้พอกแผลสด แผลบวม พกช้ำ เป็นหนองให้นำเปลือก และผลมาต้มแล้วตำให้ละเอียดแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ไอ แก้ท้องร่วง โดยนำผลและเมล็ด มาสับให้ละเอียดตากแดดให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้มะเร็งผิวหนัง โดยนำผลแห้งตากแห้งมาเผาไฟร่วมกับเห็ดพังกาและน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาบริเวณที่เป็น
- ใช้ชะล้างบาดแผล ทำความสะอาดแผล โดยนำเปลือกผลมาต้มกับน้ำใช้น้ำที่ได้ชะล้างทำความสะอาดบาดแผล
ลักษณะทั่วไปของตะบูนดำ
ตะบูนดำ จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ มีทรงพุ่มเป็นพุ่มกลม ลำต้นมีความสูง 6-35 เมตร มีลักษณะของลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นหยาบมีความหนา 0.3-0.5 เซนติเมตร ขรุขระ มีสีเทา หรือ สีน้ำตาลเข้ม ต้นเมื่อแก่เปลือกจะลอกเป็นแถบ และแตกเป็นร่องตามยาว อีกทั้งมักจะเป็นโพรง ส่วนเนื้อไม้มีสีน้ำตาล โคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย ส่วนระบบราก มีรากหายใจ เป็นรูปกรวยคว่ำ หรือ แบบโผล่ขึ้น บริเวณผิวดิน ประมาณ 20-40 เซนติเมตร
ใบตะบูนดำ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ โดยจะออกแบบเรียงสลับบริเวณกิ่ง ช่อใบยาว 10 เซนติเมตร ซึ่งใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อย 1-3 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นใบหอก หรือ รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 2-6.5 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบค่อนข้างเบี้ยว ปลายใบแหลม หรือ มน ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และมีก้านใบสีเทาเข้มสั้นๆ
ดอกตะบูนดำ ออกเป็นช่อดอกแบบช่อแยกแขนงและเป็นแบบแยกเพศ โดยจะออกบริเวณง่ามใบ ยาว 7-17 เซนติเมตร ซึ่งใน 1 ช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะของดอกจะมีกลีบดอก รูปขอบสีขาว หรือ สีครีม จำนวน 4 กลีบ มีขนาด 0.4-0.8 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 8 อัน อยู่ตรงกลาง และมีกลีบเลี้ยงมีเขียว 4 กลีบ ยาว 1-1.5 เซนติเมตร
ผลตะบูนดำ เป็นผลเดี่ยว ลักษณะกลม มีขนาดประมาณเท่ากำปั้น โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 7-12 เซนติเมตร ผิวผลเกลี้ยงมีสีเขียวเมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง แต่ละผลมีร่องแบ่งเป็น 4 พู เมื่อผลแก่เต็มที่เปลือกหุ้มผลจะแตก และหลุดร่วงลงจากต้น ด้านในผลมีเมล็ด ลักษณะสามเหลี่ยมมีฐานโค้งนูน ประมาณ 7-11 เมล็ด
การขยายพันธุ์ตะบูนดำ
ตะบูนดำ สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด โดยนำเมล็ดเพาะไว้ในเรือนเพาะชำ ให้เป็นกล้าก่อน แล้วค่อยนำไปปลูกโดยเริ่มจากนำเมล็ดที่แก่จัดมาแช่น้ำ 2-3 คืน แล้วจึงมาเพาะชำในถุงเพาะขนาด 2.5x6 นิ้ว ที่เตรียมไว้ และใช้วัสดุเพาะที่ประกอบด้วยหน้าดินเลนผสมแกลบเผา ในอัตราส่วน 1:1 หรือ อาจจะใช้ดินทรายผสมเลนก็ได้ แล้วนำเมล็ดตะบูนดำ ที่เตรียมไว้มาวางในถุงเพาะ กดให้ฝังลงในดินเล็กน้อย โดยให้ส่วนที่จะแตกราก และลำต้นสัมผัสดิน หรือ จมลงระดับผิวดิน แล้วรดน้ำโดยใช้น้ำกร่อยรดให้ชุ่มอยู่เสมอจนกว่าจะแตกต้นอ่อนออกมา หลังจากต้นกล้าตะบูนดำ สูงประมาณ 30 ซม. ก็สามารถย้ายไปปลูกได้ สำหรับการปลูกตะบูนดำควรใช้ระยะปลูกประมาณ 1.5x1.5 เมตร อีกทั้งพื้นที่เหมาะสมกำหนับการปลูกตะบูนดำ ควรเป็นพื้นที่ป่าชายเลน หรือ พื้นที่เป็นดินเลนค่อนข้างแข็ง น้ำท่วมถึงสม่ำเสมอ หรือเป็นครั้งคราว
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเมล็ดและผลของตะบูนดำ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากผลตะบูนดำ ที่สกัดด้วยเอทานอล 95% ระบุว่าพบ สารออกฤทธิ์ 2 ชนิด คือ Xyloccensins X, Xyloccensins Y และมีการศึกษาวิจัยสารสกัดในเมล็ดของตะบูนดำ ที่สกัดด้วย เอทานอล 95% ที่อุณหภูมิห้อง พบว่าสามารถสกัดประเภทลิโมนอยด์ ซึ่งประกอบด้วย Godavarins A-J, Mexica nolide และ Fissinolide ส่วนสารสกัดหยาบเอทิลอะซิเตทของเมล็ดตะบูนดำ พบสาร Thaimoluccensis A, 7-deaeetyl gedunin, Thaimoluccensis B และ C เป็นต้น
นอกจากนนี้ยังมีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี สารสกัดหยาบเมทานอล จากเปลือกหุ้มเมล็ดตะบูนดำ พบสาร Moluccensin H, Moluccensin I และ Moluccensin J
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะบูนดำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดตะบูนดำ จากเมล็ดและผล ระบุว่าฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานการศึกษาวิจัย โดยนำสารสกัดเมทานอลจากเปลือกหุ้มเมล็ดตะบูนดำ มาทดสอบฤทธิ์ ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าสาร Moluccensins H ที่พบในสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus hominis และ Enterococcus faecalis อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยโดยนำสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากเมล็ดตะบูนดำไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยดูการยับยั้งการผลิตสารไนตริกออกไซต์จาก macrophage พบว่าสาร 7-deccetylgedunin ที่พบในสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ในการยับยั้งการผลิตสารไนตริกออกไซต์ดีที่สุดด้วยค่า IC50 น้อยกว่า 10 µM
นอกจากนี้ยังมีการนำสารที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอล 95% จากผลของตะบูนดำ มาทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งโรคกระเพาะในหนูทดลอง พบว่าสารผสมระหว่าง Xyloccensine X และ Xyloccensins Y ซึ่งเป็นสารที่พบนสารสกัดดังกล่าว แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งแผลในกระเพาะอาหารของหนูทดลองได้เป็นอย่างดี
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะบูนดำ
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ตะบูนดำมาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวัง ในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ตะบูนดำ
- สำนักงานหอพรรณไม้. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยเต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
- วิพักตร์ จินตนา.2528. การปรับตัวทางด้านสรีระและด้านอื่นๆของพันธุ์พืชในป่าชายเลน. เอกสารเสนอในการสัมมนาระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 จังหวัดภูเก็ต, 26-29 กรกฎาคม. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, กรุงเทพฯ
- มัณฑนา นวลเจริญ. 2552. สารานุกรมความหลากหลายทางชีวภาพตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. หน้า 43
- ก่องกานดา ชยามฤต และลีนา ผู้พัฒนพงศ์. (2545).สมุนไพรไทย ตอนที่ 7. กรุงเทพฯ: ประชาชน.
- ประมูล รักษาแก้ว, 2519. การปลูกสร้างสวนป่าไม้โกงกาง. วารสารวนสารปีที่ 34,3 : 275-283.
- รัตนา อินทรานุปกรณ์. (2550). การตรวจสอบ และการสกัดแยกสาระสำคัญจากสมุนไพร. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สนิท อักษรแก้ว, สนใจ หะวานนท์, ชาตรี มากนวล, คู่มือการปลุกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน. โครงการวิจัยป่าชายเลน ITTO/JAM/Ti NATMANCOM Development and Dissemination of Re-afforestation Techniques of Mangrove Forests.
- ศิริพร จิ๋วสุวรรณ. การศึกษาทางเคมี และฤทธิ์ชีวภาพจากพืชสกุล Xylocarpus.วิทยานิพนธ์สาขาวิชาเคมีศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลับรูรพา.ธันวาคม 2560. 80 หน้า
- ชุติมา จิตนิยม. (2554). ลิโมนอยด์จากเมล็ดตะบูนขาว และตะบูนดำ จังหวัดสุราษฎร์ ธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาเคมี, คณะวิทยาศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- Jun Li, Min-Yi Li, Gang Feng, Qiang Xiao, Jari Sinkkonen, Tirumani Satyanandamurty, & Jun Wua. (2010). Limonoids from the seeds of a Godavari mangrove, Xylocarpus moluccensis. Phytochemistry, 71, 1917-1924.
- Khanitha Pudhom, DamrongSommit, Paulwatt Nuclear, Nattaya Ngamrojanavanich, & Amorn Petsom. (2010). Moluccensins H-J, 30-Ketophragmalin Limonoids from Xylocarpus moluccensis. Journal of Natural Products,73,263–266.
- Vijai Lakshmi, Vaibhav Mishra, & Gautam Palit. (2014). A New Gastroprotective Effect of Limonoid Compounds Xyloccensins X and Y from Xylocarpus molluccensis in Rats. Natural Products and Bioprospecting, 4, 277–283.
- Warin Ravangpai, Damrong Sommit, Thapong Teerawatananond, Nuntawan Sinpranee, Taapat Palaga, Somchai Penpreecha, Nongnuj Muangsin, & Khanitha Pudhom. (2011). Limonoids from seeds of Thai Xylocarpus moluccensis. Bioorganic & Medicinal Chemistry Letters, 21, 4485-4489.