กระทุ่มบก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระทุ่มบก งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระทุ่มบก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระทุ่ม, กระทุ่มก้านยาว, กระทุ่มหูกวาง (ภาคกลาง), ตานควาย, ตับเต่าต้น, ละลาย, ตุ้มพราย, ตะโกส้ม (ภาคอีสาน), ตุ้มหลวง, ตุ้มโป่ง, ตุ้มก้านช่วง, ตับความ (ภาคเหนือ), ตุ้มขี้หมู, โกหว่า, กรองปะหยัน, หลุมปัง (ภาคใต้), ตะกู, ตะโกใหญ่, แคแสง (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Neonauclea purpurea(Roxb.)Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Neonauclea sessilifolia (Roxb.)Merr, Anthocephalus chinensis (Lam.) A. Rich. ex Walp.
ชื่อสามัญ Wild cinchona
วงศ์ RUBIACEAE


ถิ่นกำเนิดกระทุ่มบก

กระทุ่มบก เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบกระทุ่มบก ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือ ตามชายป่า และตามริมแม่น้ำลำคลอง ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณกระทุ่มบก

  1. ใช้แก้ไข้
  2. ช่วยลดความดันโลหิต
  3. แก้ปวดมดลูก
  4. แก้โรคลำไส้
  5. แก้อาการอักเสบของเยื่อเมือกในปาก
  6. ใช้เป็นยาเย็นดับพิษไข้ทั้งปวง
  7. แก้ตัวร้อน
  8. ช่วยดับพิษวัณโรค
  9. ช่วยดับพิษตานางของเด็ก
  10. แก้ท้องร่วง
  11. แก้ปวดมานในท้อง
  12. แก้อักเสบ

           เนื้อไม้กระทุ่มบก มีความละเอียด สีเหลือง หรือ สีขาว มีการนำมาใช้ทำพื้นกระดาน และฝาที่ต้องใช้งานร่ม และยังมีการนำมาใช้ทำกล่อง ทำไม้พาเลส ทำอุปกรณ์ หรือ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีน้ำหนักเบา และยังนำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษ และใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย

กระทุ่มบก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ ลดความดันโลหิต แก้ปวดมดลูก แก้โรคลำไส้ โดยนำใบ หรือ เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อักเสบของเยื่อเมือกในปาก โดยนำใบ หรือ เปลือกต้นมาต้มน้ำอมกลั้วปาก
  • ใช้แก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซางของเด็ก ดับพิษวัณโรค โดยนำรากกระทุ่มบก มาฝนกับน้ำดื่ม หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ท้องร่วง แก้ปวดมวนท้อง โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของกระทุ่มบก

กระทุ่มบก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่โดยสามารถถึงขนาดใหญ่โดยสามารถ สูงได้ 15-30 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งก้านมักจะตั้งฉากกับลำต้น โคนปลายกิ่งมักจะโน้มลง ส่วนเปลือกรากมีสีดำอ่อนๆ

           ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็น รูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 7-17 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร โคนใบกลมมน ปลายแหลม เป็นติ่งขอบใบเรียบ แผ่นใบบางและเหนียว หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่ม และมีเส้นแขนงของใบประมาณ 10 คู่ หูใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และมีก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร

           ดอกกระทุ่มบก ออกเป็นช่อกระจุกแน่น ลักษณะกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร และมีก้านช่อดอกยาว 1.5-4 เซนติเมตร ออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ อัดแน่นอนอยู่บนแกนช่อดอก เป็นสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ส่วนเกสรตัวเมียสีขาว

           ผลกระทุ่มบก เป็นผลรวมทรงกลม โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวขรุขระ อุ้มน้ำ ซึ่งผลจะเกิดจากวงกลีบเลี้ยงของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

กระทุ่มบก

กระทุ่มบก

การขยายพันธุ์กระทุ่มบก

กระทุมบกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยในอดีตไม่ค่อยมีความนิยมนำกระทุ่มบก มาปลูกเนื่องจากเป็นไม้ขนาดใหญ่ เนื้อค่อนข้างเปราะหักง่ายแต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นไม้ที่โตเร็วและมีการนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย จนกลายเป็นไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกกระทุ่มบก สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดกระทุ่มบก จากเปลือกต้น ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกลุ่ม indole alkaloids เช่น cadambine, α-dihydrocadambine และสารประกอบ Benzoquinone ได้แก่ 2,6-dimethoxy-1,4-benzoquinone และสารกลุ่ม triterpenoids ได้แก่ pololic acid และ rotundic acid อีกด้วย

โครงสร้างกระทุ่มบก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระทุ่มบก

มีรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นของกระทุ่มบก ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย โดยสาร α-dihydrocadambine และ 2,6-dimethoxy-1,4-benzoquinone แสดงฤทธิ์ต้านมาลาเรีย plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์ K1 ที่ต้านทานคลอโรควินที่มีค่า K1 ที่ต้านทานคลอโรควินที่มีค่า IC50 เท่ากับ 6.6 และ 11.3 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระทุ่มบก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระทุ่มบก ในรูปแบบสมุนไพร ควรระมัดระวันในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำราตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง กระทุ่มบก
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ. “กระทุ่ม”. หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 58.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “กระทุ่ม (Kra Thum)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 30.
  4. เดชา ศิริภัทร. กระทุ่ม:ดอกไม้แห่งทรงผมของสาวไทยสมัยก่อน. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 309. มกราคม 2548
  5. กระทุ่ม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=2
  6. Karaket N, Supaibulwatana K, Ounsuk S, Bultel-Ponce V, Pham VC, Bodo B.Chemical and bioactivity evaluation of the bark of Neonauclea purpurea , Nat Prod Commun 2012;7:169-70.