กระเช้าผีมด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กระเช้าผีมด งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระเช้าผีมด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเช้าสีดา (ภาคกลาง), ปุลิง, ห่ามป๋าย, ห่ามหนี (ภาคเหนือ), คอมูเด๊าะ (กะเหรี่ยง), มู่ฝังจี่, เจียต้าสู้, เฮยเมี่ยนฝังจี่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aristolochia tagala Cham.
ชื่อสามัญ Indian Birthwort, Dutchman pipe
วงศ์ ARISTOLOCHIACEAE
ถิ่นกำเนิดกระเช้าผีมด
มีการสันนิษฐานกันว่ากระเช้าผีมดมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ บริเวณอินเดีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย จนถึงหมู่เกาะต่างๆ ในออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่, ตาก, กาญจนบุรี, จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต และตรัง โดยส่วนมากจะพบบริเวณ ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ หรือ ตามที่โล่งแจ้งทั่วไป ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 5-1,000 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณกระเช้าผีมด
- ช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้
- ช่วยลดไข้
- แก้ปวดบวม
- แก้อักเสบ
- ไข้ข้อบวม
- แก้ประดง
- แก้ปวดเอว
- แก้กระเพาะอักเสบ
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
- แก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- แก้บวมน้ำ
- ช่วยให้ธาตุปกติ
- ยาแก้คออักเสบ เป็นไข้
มีการนำกระเช้าผีมด มาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ค่อนข้างหายากในธรรมชาติ และมีลักษณะดอกสวยแปลกตา ในส่วนของเปลือกต้นสามารถนำมาลอกออกแล้วนำเส้นใยมาสานสวิง นอกจากนี้ชาวเขาบนพื้นที่สูงยังนำผลสุกมารับประทาน ส่วนยอดอ่อน และใบอ่อน ใช้นึ่ง หรือ ลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือ ใช้ประกอบอาหารได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ลดไข้ขับพิษ แก้ปวดบวม แก้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้บวมน้ำ แก้ติดเชื้อโดยใช้ ใบ ต้น หรือ ราก 6-12 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ปรับธาตุให้ปกติ โดยใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดบวม โดยนำใบมาเผาให้ร้อน ใช้วางนาบไว้ตามแขมขาที่บวม ใช้แก้ไข้ แก้คออักเสบโดยใช้เมล็ดมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนัง ใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อยโดยใช้ใบมาทุบให้แหลกแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของกระเช้าผีมด
กระเช้าผีมดจัดเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเป็นเถากลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ผิวเป็นร่องไปตามยาว ลำต้นเมื่อยังอ่อนเป็นสีเขียว และจะมีขน จากนั้นจะค่อยๆ หลุดร่วงไปจนเกลี้ยงสีของเถาก็จะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลอมเขียวด้วย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบแตกต่างกันหลายแบบ มีตั้งแต่รูปไข่กลมไปจนถึงรูปไข่รีแกมรูปใบหอก โคนใบสอบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร และยาว 9-17 เซนติเมตร ผิวใบจะเกลี้ยงทั้งสองด้าน และมีต่อมเป็นจุดเล็กๆ ส่วนก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร ด้านบนเป็นร่อง และมีขนละเอียด ส่วนด้านล่างเกลี้ยง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศเป็นช่อ ซึ่งช่อดอกจะยาวประมาณ 6-14 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นหลอด มีกลีบดอกชั้นเดียว เชื่อมติดกันเป็นหลอด โดยบริเวณโคนหลอดจะมีลักษณะเป็นกระเปาะกลม มีขนาดกว้างและยาว 5-7 มิลลิเมตร เหนือขึ้นไปจะคอดเป็นหลอดเล็ก กว้าง 1-2 มิลลิเมตร ยาว 1 มิลลิเมตร ส่วนปลายกลีบดอกจะเบี้ยว และยื่นยาวไป ข้างหนึ่งเป็นรูปใบหอก กว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร และยาว 1.6-2.5 เซนติเมตร ยังมีใบประดับรูปไข่ ปลาย และโคนแหลม ขอบมีขน มีขนาดกว้าง 1-2 มิลลิเมตร และยาว 2-3 มิลลิเมตร ตามผิวมีขนสั้นๆ ทั้งสองด้าน สำหรับก้านดอกจะยาว 5-8 มิลลิเมตร ผลรูปไข่ลักษณะค่อนข้างกลม หรือ เป็นรูปรีแกมขอบขนานมีสีเขียว กว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะแตกออกตามร่องจากขั้วไปยังโคน และก้านผลก็จะแตกแยกออกเป็น 6 เส้น เช่นกัน แต่โคนก้าน และปลายผลยังติดกันอยู่ จนมีลักษณะรูปร่างคล้ายกระเช้า ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ดส่วนก้านผลยาวได้ประมาณ 3.3-5.8 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ดที่มีลักษณะรูปไข่หัวกลับ หรือ รูปหัวใจกลับค่อนข้างป้อมสีน้ำตาลอ่อน มีปีก โดยมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ผิวด้านหนึ่งเรียบ ส่วนอีกด้านมีตุ่มขนาดเล็กกระจัดกระจาย
การขยายพันธุ์ของกระเช้าผีมด
กระเช้าผีมดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของกระเช้าผีมดนั้น จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเป็นส่วนมาก แต่ในปัจจุบันได้มีการนิยมนำกระเช้าผีมดมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับกันมากขึ้น สำหรับวิธีการขยายพันธุ์กระเช้าผีมดนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดไม้เถาชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดกระเช้าผีมด จากส่วนใบของระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดเช่น Dodecane, Phytol, Dichloroacetic acid, Myristic acid, Nonadecene, Oleic Acid, Palmitoleic acid, Palmitic acid, β-Tocopherol, Sitostenone, Squalene, Tetrapentacontane, Hexacontane, Aristolochic acid, Magnoorine, Phthalic acid, Stigmasterol, Ethyl oleate และ Octadecanoic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระเช้าผีมด
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระเช้าผีมดระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเอาไว้ดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาสารสกัดกระเช้าสีดา (กระเช้าผีมด) ต่อยาขับปัสสาวะที่ก่อให้เกิดโรคเกาท์เนื่องจากการสะสมของกรดยูริก โดยได้ทำการทดลองในหนูขาวพันธุ์ Wistar ailbino 24 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สอง ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และป้อนยาขับกรดยูริก Probenecid ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สาม ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์กระเช้าสีดาขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สี่ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว และป้อนสารสกัดน้ำของกระเช้าสีดาขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ทำการป้อนเช่นนี้จนครบ 15 วัน และเก็บปัสสาวะเพื่อนำมาตรวจหาปริมาณกรดยูริก ในวันที่ 3 6 9 12 และ 15 ของการทดลอง ผลการตรวจพบว่าสารสกัดกระเช้าสีดาทั้งแบบสารสกัดน้ำ และสารสกัดแอลกอฮอล์ สามารถยับยั้งภาวะการสะสมกรดยูริก (antihyperuricemic) ของยาขับปัสสาวะ โดยการปรับปริมาณของกรดยูริกให้อยู่ในระดับใกล้เคียงมาตรฐานได้ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์ของกระเช้าผีมดระบุว่าแสดงฤทธิ์ต้านแบคทีเรียสูงสุด ที่ความเข้มข้น 750 ไมโครกรัม/มล. โดยแสดงฤทธิ์ต่อต้านต่อแบคทีเรีย, P. valgaris (26.3 มม.), P. aeruginosa (21.30 มม.) และ S. typhi (18.3 มม.) ส่วนสารสกัดเมทานอลิกควบคุมการเจริญเติบโตของ B. subtilis และ R. equi ที่ความเข้มข้น 750 μg/mL concentraiton ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีโซนการยับยั้ง 21.3 ± 1.5 และ 21.0 ± 1.0 มม. ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสารสกัดด้วยเมทานอล และน้ำจากส่วนรากของกระเช้าผีมดพบว่าแสดงคุณสมบัติต้านมะเร็งต่อเซลล์ HeLa ด้วยค่า IC 50 ที่ 0.320 มก./มล. ส่วนประสิทธิภาพทางชีวภาพของสารสกัดจากใบ และรากของกระเช้าผีมด (สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ เอทิลอะซีเตต และเอทานอล) พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างมีนัยสำคัญที่ 200 และ 400 มก./กก. ในแบบจำลองอาการบวมน้ำของหนูที่ชักนำด้วยคาราจีแนน และสารสกัดเอทิลอะซิเตต ยังสามารถยับยั้งการเหนี่ยวนำของ PGE2 ด้วยค่า IC 50 ที่ 39.1 มก./มล. และ LTB4 ที่มีค่า IC 50ที่ 29.5 มก./มล. อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระเช้าผีมด
มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดจากกระเช้าผีมดระบุว่า สาร aristolochic acid ที่พบในกระเช้าผีมดมีความเป็นพิษต่อใจ และก่อให้เกิดมะเร็ง
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้กระเช้าผีมดเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่กำหนด ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้การใช้กระเช้าผีมดก็ควรใช้ และเตรียมยาโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะมีรายงานว่ากระเช้าผีมดมีสาร aristolochic acid ที่เป็นพิษต่อหัวใจ
เอกสารอ้างอิง กระเช้าผีมด
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “กระเช้าผีมด”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 206.
- ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กระเช้าผีมด”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 120-124.
- ผลของสารสกัดกระเช้าสีดาต่อยาขับปัสสาวะ. ที่ก่อให้เกิดโรคเกาท์.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- K. Baskar, S. Sasikumar, C. Muthu, S. Kingsley, S. Ignacimuthu Bioefficacy of Aristolochia tagala Cham. Against Spodoptera litura Fab. (Lepidoptera: Noctuidae)Saudi J. Biol. Sci., 18 (1) (2011), pp. 23-27
- T.C. Huang, S.M. Chen, Y.C. Li, J.A. LeeIncreased renal semicarbazide-sensitive amine oxidase activity and methylglyoxal levels in aristolochic acid-induced nephrotoxicityLife Sci., 114 (2014), pp. 4-11
- G.S.S. Sharma, L. RajannaGC-MS phytochemical profiling of leaf extracts of Aristolochia tagala Cham., a rare and important ethnomedicinal plantIndian J. Nat. Prod. Resour., 12 (1) (2021), pp. 145-152
- Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1987. Flora of Thailand (Vol.5: 1). Bangkok: Chutima Press.
- K.L.H. Hadem, A. SenIdentification of compounds of Aristolochia tagala and apoptotic activity in HeLa cellsPhcog. Mag., 14 (59) (2018), pp. 571-577
- S. Amalraj, V. Mariyammal, R. Murugan, S.S. Gurav, J. Krupa, M. AyyanarComparative evaluation on chemical composition, in vitro antioxidant, antidiabetic and antibacterial activities of various solvent extracts of Dregea volubilis leavesSouth Afr. J. Bot., 138 (2021), pp. 115-123