ขี้ครอก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ขี้ครอก งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขี้ครอก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าผมยุ่ง, หญ้าหัวยุ่ง, ชบาป่า, ขมงดง (ภาคเหนือ), ขี้คาก, ขี้หมู (ภาคอีสาน), ปอเส็ง, ปอเศ้ง, เส้ง, ปูลู, ปูลุ (ภาคใต้), ปะเทาะ, บอเทอ (กะเหรี่ยง), ซั่วโบเท้า, ตี้เถาฮวา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Urena lobata Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Urena grandiflora DC., Urena americana L., Urena americana L. f., Urena diversifolia Schumach., Urena monopetala Lour., Urena trilobata, Urena reticulata Cav., Urena tomentosa Blume
ชื่อสามัญ Hibiscus burr, Caesar weed, Jute africain
วงศ์ MALVACEAE


ถิ่นกำเนิดขี้ครอก

ขี้ครอก จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยสันนิษฐานว่าจะอยู่ในบริเวณเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณชายป่า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่า แต่ในปัจจุบันมีการนำมาปลูกในสวนยาจีนหลายที่


ประโยชน์และสรรพคุณขี้ครอก

  • ใช้กระจายเลือดลม
  • แก้ไข้ ตัวร้อน
  • ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย
  • แก้ไอ
  • ช่วยดับพิษเสมหะ
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้นิ่ว
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้ไตพิการ
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้มุตกิด
  • แก้ตกขาวในสตรี
  • ใช้รับประทานดับพิษร้อน
  • ช่วยถอนพิษไข้
  • แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้บิด
  • แก้หนองใน
  • ช่วยห้ามเลือด สมานแผลสด
  • แก้ฟกช้ำดำเขียว
  • แก้ฝี
  • แก้ฝีเท้านม
  • แก้พิษงู

           ขี้ครอก จัดเป็นวัชพืชประเภทไม้พุ่มที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรเป็นหลัก

ขี้ครอก

ขี้ครอก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้กระจายเลือดลม แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไอ ขับเสมหะ ดับพิษเสมหะ ขับลมชื้นในร่างกายขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิดตกขาวในสตรี แก้ไตพิการ น้ำเหลืองเสีย แก้นิ่ว แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้ต้น และใบ มาตากแห้งใช้ประมาณ 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ไอเป็นเลือด โดยนำรากขี้ครอก แห้ง 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้บิด โดยใช้รากสด 500 กรัม  หั่นเป็นแว่นๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวจนเหลือน้ำ ครึ่งลิตร แล้วนำไปรับประทาน วันละ 2 ครั้ง โดยเด็กอายุ 1-3 ขวบ ให้รับประทานวันละ 80 ซีซี เด็กอายุ 4-9 ปี ให้รับประทานวันละ 200 ซีซี ส่วนเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ให้รับประทานวันละ 250 ซีซี โดยแบ่งรับประทาน
  • ใช้แก้หนองใน โดยนำรากขี้ครอกผสมกับรากพญาดง ในปริมาณเท่ากัน โดยนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มเคี่ยวแล้วใช้ดื่ม

ลักษณะทั่วไปของขี้ครอก

ขี้ครอก จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-2 เมตร แตกกิ่งในระดับต่ำ ลำต้นตั้งตรง สีเขียวแกมเทา เปลือกลำต้นเหนียว ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนลักษณะเป็นรูปดาวปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับตามกิ่งและลำต้น โดยใบที่อยู่บริเวณโคนต้นมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้าง 5-6 เซนติเมตร และยาว 4-5 เซนติเมตร โคนใบกลม หรือ เว้าคล้ายรูปหัวใจ ส่วนปลายใบหยักเป็นแฉกแยกออกเป็นแฉกตื้นๆ 3 แฉก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ส่วนใบที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของลำต้นเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้าง 3-6.5 เซนติเมตร และยาว 5-7 เซนติเมตร ใบที่อยู่ส่วนยอด หรือ ใกล้ยอดจะเป็นรูปใบหอก กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 4-7 เซนติเมตร ผิวใบเป็นคลื่น เป็นสีเขียวมีลักษณะด้านบนมีขนขึ้นปกคลุม ส่วนด้านล่างมีขนรูปดาวสีขาวอมเทา ท้องใบด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าหลังด้านบนใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวรูปไข่กลม ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ โดยดอกจะออกเป็นกระจุก ประมาณ 2-3 ดอก ลักษณะดอกจะมีริ้วประดับติดกัน คล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 6 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก เช่นกันแต่จะมีขนาดสั้นกว่าริ้วประดับ ซึ่งกลีบเลี้ยง และริ้วประดับจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ มี 5 กลีบ สีชมพู ด้านนอกมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ตรงกลางดอกเป็นสีชมพูเข้มถึงสีแดง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปทรงกระบอก และมีเรียวเล็ก ยาวพ้นหลอดเกสรเพศผู้ และจะแตกเป็น 10 แฉก เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตรผล เป็นผลแห้งมีลักษณะรูปกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ผิวผลมีหนามแข็งสั้น และมีน้ำเหนียวติด เมื่อผลแห้งจะแตกออกได้เป็นพู 5 พู โดยในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไตสีน้ำตาล มีขนาดกว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร และยาว 3-4 มิลลิเมตร

ขี้ครอก

ขี้ครอก

การขยายพันธุ์ขี้ครอก

ขี้ครอกจัดเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การเพาะเมล็ด ในอดีตไม่นิยมนำขี้ครอกมาเพาะปลูกเนื่องจากเป็นพืชที่มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว รวมถึงชื่อไม่เป็นมงคล และในบางพื้นที่จัดเป็นวัชพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำมาเพาะปลูกกันบ้างแล้ว โดยมีการนำมาปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร สำหรับวิธีการปลูกขี้ครอก นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูก ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดขี้ครอก จากส่วนต่างๆ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น ใบ พบสารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์ซาโปนิน ได้แก่ (−)-trachelogenin และ clemato-side-S ราก พบสาร imperatorin (furocoumarin) ส่วนเหนือดิน พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ mangiferin, quercetin และอนุพันธ์ของสาร kaempferol ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของขี้ครอก ด้วย n-hexan และ ethyl acetate β-sitosterol, β-sitosterol-3-O-β-D-glucopyranoside, a-acetylamino-phenylpropyl a-benzoylamino-phenylpropanoate, quercetin และ trans-tiliroside อีกด้วย

โครงสร้างขี้ครอก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขี้ครอก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดขี้ครอก จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัด methanol จากรากขี้ครอก พบฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation, ต้านอนุมูล hydroxyl (●OH) และ superoxide radicals (O2●-) โดยมีค่าการยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 470.60, 1627.35 และ 1109.24 µg/mLตามลำดับ นอกจากนี้ยังสามารถ ลดการเกิด lipid peroxidation, ลดปริมาณสาร malondialdehyde (MDA) ที่เกิดจากปฏิกิริยา lipid peroxidation  และลดการเกิดภาวะ oxidative stress ในตับของกระต่ายได้อีกด้วย

           ฤทธิ์แก้ท้องร่วง และลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัด ethanol จากส่วนเหนือดินของขี้ครอก ขนาด 250 และ 500 mg/kg พบว่ามีฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทำการทดสอบด้วยวิธี charcoal meal defecation ในหนูถีบจักร นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากเมล็ดขี้ครอกสามารถลดอาการท้องร่วงจากการเหนี่ยวนำด้วยน้ำมันละหุ่ง และ prostaglandin E2 (PGE2) ที่เหนี่ยวนำให้เกิดของเหลวในทางเดินอาหารของหนูทดลองได้

           ฤทธิ์รักษาแผลมีการทดสอบฤทธิ์รักษาแผลในหนูแรท โดยนำสารสกัด methanol ของขี้ครอก เปรียบเทียบกับสูตรยา povidone-iodine ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด methanol ของต้นขี้ครอกมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลผ่าตัด (excision wound) และแผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) แผลไฟไหม้ และบาดแผลที่มีเนื้อตายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

           ฤทธิ์ทางระบบประสาท มีรายงานผลการทดสอบโดยป้อนสารสกัด ethanol จากส่วนเหนือดินของขี้ครอก ขนาด 250 หรือ 500 mg/kg พบว่าแสดงฤทธิ์ลดปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทดสอบด้วยวิธี acetic acid-induced writhing test ในหนูถีบจักร สายพันธุ์ Swiss การศึกษายังพบว่าสารสกัด hexane, ethyl acetate, chloroform, acetone และ methanol ขนาด 400 mg/kg มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ในหนูถีบจักร สายพันธุ์ Swiss นอกจากนี้สารสกัด methanol จากใบขี้ครอก มีฤทธิ์ต้านการรับความรู้สึกเจ็บปวดในหนูถีบจักร สายพันธุ์ Swiss และยังพบว่าการป้อนสารสกัด ethanol จากใบขี้ครอก ขนาด 250 หรือ 500 mg/kg ในหนูถีบจักรสายพันธุ์ Swiss และหนูแรท สายพันธุ์ Sprague-Dawley เพศผู้ มีผลลดอาการวิตกกังวล, ต้านอาการซึมเศร้า และต้านการอักเสบได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของขี้ครอก

มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกดัจากใบขี้ครอก โดยป้อนสารสกัด ethanol จากใบขี้ครอก ขนาด 2,000 mg/kg เพียงครั้งเดียว แก่หนูถีบจักรสายพันธุ์ Swiss albino และหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley พบว่าไม่มีอาการทางคลินิกที่ผิดปกติ และไม่มีมีหนูตายในการทดสอบนี้ 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ขี้ครอก เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวได้ ทั้งนี้การใช้ขี้ครอกเป็นสมุนไพรควรใช้โดยผู้ที่มีความชำนาญเท่านั้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าทุกส่วนของลำต้นถ้ารับประทานเป็นพิษต่อหัวใจทำให้หมดความรู้สึก


เอกสารอ้างอิง ขี้ครอก
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ขี้ครอก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 137-138.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเดิม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.2544
  3. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ขี้ครอก”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 220.
  4. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล.ไม้มีพิษ.กทม.เศรษฐศิลป์.2552
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ขี้ครอก”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 136.
  6. ขี้ครอก.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=310
  7. Do Thi Xuyen, Nguyen Khac Khoi - Characteristics and distribution of plant species in the family Malvaceae in Viet Nam, Journal of Medicinal Materials 5 (7) (2012) 133-137.
  8. Islam MT, Uddin MA. A revision on Urena lobata L. International Journal of Medicine. 2017;5(1):126-31.
  9. Md. Sekendar Ali, Kazi Omar Faruq, Md. Aziz Abdur Rahman,  Md. Aslam Hossain  - Antioxidant and Cytotoxic Activities of Methanol Extract of Urena lobata (L) leaves, The pharma innovation – Journal 2 (2) (2013) 9-14.