หัสคุณ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หัสคุณ งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ


ชื่อสมุนไพร หัสคุณ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่ สหัสคุณ, หัสคุณไทย, สมัดน้อย (ภาคกลาง), กาจับลัก, หญ้าสามฮิ้น, คุมขุนหวด (ภาคเหนือ), ชะมุย, มุยขน, มุยขาม, หมุยช้าง, มรุยช้าง, สมุย, หมุยใหญ่ (ภาคใต้), สะมัด, สะแบก, สมัดดง (ภาคอีสาน), ลิ้นชี่, ชี, สางเช้งสาบกา (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Micromelum ninutum (Forst.f.)Wright&Arn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Glycosmis subvelutina F.Muell.
ชื่อสามัญ Lime berry
วงศ์ RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดหัสคุณ

หัสคุณ จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยพบการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมถึงในออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าโปร่งทั่วไป ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง หรือ ตามที่รกร้างบริเวณชายป่า


ประโยชน์และสรรพคุณหัสคุณ

  • แก้หืด
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้เสมหะ
  • แก้ลมทั้งปวง
  • ช่วยขับลม
  • แก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ
  • แก้ริดสีดวง
  • ช่วยขับเลือด
  • ช่วยขับหนอง
  • ใช้พอกแผลริดสีดวงจมูก
  • รักษาแผลคุดทะราด
  • แก้โลหิตในลำไส้
  • แก้ลมภายในให้กระจาย
  • แก้ไอ
  • แก้โลหิตในลำคอ
  • ช่วยลำไส้ให้กระจาย
  • แก้คุณอันกระทำด้วยผมให้ตกเสีย
  • ใช้เป็นยาถ่าย
  • แก้ลมอันเสียดแทง
  • แก้ยอกในข้อ
  • แก้ไข้อันผอมเหลือง
  • แก้ผื่นคันตามผิวหนัง
  • แก้กระจายเลือดลม ให้เดินสะดวก
  • แก้ลมอัมพฤกษ์
  • แก้อัมพาต
  • ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • แก้เสมหะให้ตก
  • ช่วยขับเสมหะลงสู่คูทวาร
  • ใช้รักษานิ่วในไต
  • ขับลมในท้อง
  • แก้ผอมแห้ง
  • ขับหนองให้ตก

         มีการนำหัสคุณ มาใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร โดยยอดและดอกสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้ ซึ่งดอกอ่อนและยอดอ่อนมีรสหวานมันส่วนมากนิยมนำมากินกับ ลาบ ยำ แกงไตปลา น้ำพริก ขนมจีน แกงเผ็ด

รูปแบบขนาดวิธีใช้หัสคุณ

  • ใช้บำรุงน้ำดี แก้ลมภายในให้กระจาย แก้ไอ ขับพยาธิไส้เดือน โดยนำลำต้นหัสคุณ มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โลหิตในลำคอ และลำไส้ให้กระจาย โดยนำเปลือกต้นต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โลหิตในลำไส้ โดยใช้กระพี้ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ลมอันเสียดแทง ขับลม ยอกในข้อ แก้ไข้อันผอมเหลือง หืดไอ โดยนำใบสดมาตำพอกหรือทาบริเวณที่เป็น หรือ ใช้พอกประคบหรืออบไอน้ำ กระจายเลือดลม ให้เดินสะดวก
  • แก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำใบมาต้มกับน้ำ หรือ นำมาชงเป็นชาดื่ม
  • ใช้รักษาริดสีดวงจมูก โดยใช้เป็นยารม
  • ใช้ฆ่าเชื้อโรค แก้เสมหะให้ตก ขับเสมหะลงสู่คูททวาร โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงเป็นชาดื่ม
  • ใช้รักษานิ่วในไต โดยใช้รากหัสคุณผสมกับรากปลาไหลเผือก ฝนกับน้ำซาวข้าวกิน


ลักษณะทั่วไปของหัสคุณ

หัสคุณ จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร ลำต้นเมื่อยังอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมเทา ผิวต้นแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวส่วนกิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ สีเทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกแบบเรียงสลับ ใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 7-15 ใบ โดยใบกว้าง 2-5 เซนติเมตร และยาว 3-7 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยมีสีเขียวเป็นรูปไข่ โคนใบนมไม่สมมาตรปลายใบแหลม ขอบใบเรียบถึงมีคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบบาง มีต่อมน้ำมันเล็กๆ จับแล้วจะรู้สึกเหนียว หลังใบเกือบเรียบปริอาจมีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุมส่วนท้องใบมีขนบางๆ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูร ดอกออกเป็นช่อรวมบริเวณปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกย่อยมีกลีบดอกเรียงยาวปลายกลีบโค้งมน ดอกสีเขียวอ่อน หรือสีขาวแกมเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะม้วนไปด้านหลัง ผลเป็นผลสด ออกเป็นพวงใน 1 พวงมีผลย่อยจำนวนมาก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย หรือ รูปไข่ขนาดเล็กมีขนขึ้นปกคลุม ผิวผลเรียบใส ฉ่ำน้ำ ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม หรือ สีแดง

หัสคุณ

 หัสคุณ

การขยายพันธุ์หัสคุณ

หัสคุณสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งการเพาะเมล็ดหัสคุณนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ และเมื่อต้นกล้าหัสคุณ อายุ 10 - 12 เดือน จึงย้ายไปปลูกลงหลุมได้ สำหรับวิธีการปลูกหัสคุณนั้นสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล โดยการปลูกก็สามารถปลูกเหมือนไม้ป่าทั่วไป โดยการขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก คลุกเคล้าก้นหลุมแล้วจึงนำต้นกล้าลงปลูกกลบดินให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม แล้วปักไม้ค้ำกันโยก และควรปลูกห่างกัน 4-5 เมตร


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของหัสคุณ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น

  • สารสกัดจากลำต้นและเปลือกต้นพบสาร Micromelin, Micropubescin, Leaves, Microminutin, Flindersine,  Micromarin-A , Micromarin-B, Microminutinin, Microminutin, Murrangatin, Phebalosin, Micromelin
  • สารสกัดจากใบพบสาร Stigmasterol, 5(6)-gluten-3-one, Micromarin-A,  Micromelin, Murralonginol isovalerate, Microminutinin, Minutin A, Minutin B, Clauslactone E
  • สารสกัดจากเมล็ดพบสาร Murralonginol, Murralonginol isovalerate, Murralongin, Micromarin-G, Microminutin, Micromarin-H, Murrangatin 
  • สารสกัดจากรากพบสาร Osthenon, Murrangatin, Minumicrolin, Murralongin, Umbelliferone, Murracarpin 
  • สารสกัดจากผลพบสาร Osthol, Phebalosin, Micromelin, Micromelin, Scopoletin, Microminutin, Murrangatin, Minumicrolin

โครงสร้างหัสคุณ

การศึกษาวิจับทางเภสัชวิทยาของหัสคุณ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหัสคุณ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น สารสกัดคลอโรฟอร์มของใบหัสคุณ และสารสกัดจากเปลือกต้นหัสคุณมีฤทธิ์ทำเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด T-lymphoblastic (CEM-SS) โดยมีค่า IC50ที่ 4.2 และ 13.7µg/ml ตามลำดับ

           ส่วนสาร 8-hydroxyisocapnolactone-2 ,3 -diol ที่แยกได้จากสารสกัดคลอโรฟอร์มของใบของหัสคุณ แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ต่อมะเร็งปากมดลูก (HeLa) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.9μg/ml และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งตับ (HepG2) โดยมีค่า IC 50เท่ากับ 5.9μg/ml   สาร Murralonginol ที่แยกได้จากผลของหัสคุณ พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์อย่างอ่อนต่อเซลล์อีพิเดอร์มอยด์ของมนุษย์ (KB) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 17.8µg/mL ส่วนสาร 7-demethylmurralonginol isovalerate และ murralonginol isovalerate ที่แยกได้จากผลหัสคุณ ยังมีพิษต่อเซลล์อย่างอ่อนด้วยค่า IC50 ที่ 41.1µg/mL และ 30.4µg/mL ตามลำดับ 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สาร Microminutin ที่สกัดได้จากใบหัสคุณ สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กกระต่าย ทั้งที่เกิดขึ้นเองและที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetylcholine, 5-hydroxytrypatamine, histamine และ barium chloride


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหัสคุณ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้หัสคุณ เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้หัสคุณเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ


เอกสารอ้างอิง หัสคุณ
  1. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หัสคุณ”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 153.
  2. หัสคุณ.คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทยเล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กันยายน 2558. หน้า 266-268
  3. คัชรินทร์ สมคุณา. การศึกษาเปรียบเทียบผลของคูมารินจากต้นหัสคุณและต้นชะลูดต่อกล้ามเนื้อเรียบที่แยกจากสัตว์ทดลองวิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. (สหสาขาวิชาเภสัชวิทยา) ปีการศึกษา 2534. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 103 หน้า
  4. สมัดน้อย, ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=114
  5. Croft KD, Toia RF. Coumarins from Micromelum minutum. Planta Med. 1989;55:401.
  6. Pongboonrod S. Mai Thed Muang Thai. Bangkok, Thailand: Kaseambunnakit Printing; 1950. 428‒429 p. (in Thailand).
  7. Swingle WT, rev. P. C. Reece. Chapter 3: The Botany of Citrus and its Wild Relatives. In: The Citrus Industry. vol 1. Webber HJ. (ed.). Berkeley: University of California Press; 1967.
  8. Lekphrom R, Kanokmedhakul S, Kukongviriyapan V, et al. C-7 Oxygenated Coumarins from the Fruits of Micromelum minutum. Arch Pharm Res. 2011;34(4):527‒531.
  9. Tan BK, Alitheen NB, Yeap SK, et al. Cytotoxic effect of 2’, 3’-epoxy isocapnolactone and 8- hydroxyisocapnolactone-2’3’-diol isolated from Micromelum minutum (G.Forst.) Wight and Arn. in human T-lymphocyte leukemia CEM-SS cells. African Journal of Biotechnology. 2009;8(18):4632‒4641.
  10. Susidarti RA, Rahmani M, Ismail HBM, et al. A new coumarin and triterpenes from Malaysian Micromelum minutum. Nat Prod Res. 2006;20(2):145–151.
  11. Huang S, Wang JH, Luo XM, et al. Research process on chemical constituents and pharmacological activities of Micromelum. Chin J Med Mat. 2011;34(10):1635‒1638.