สุพรรณิการ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สุพรรณิการ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สุพรรณิการ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฝ้ายคำ, ฝ้ายคำดอกซ้อน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cochlospermum regium (Mary.&Schrank) Pilg
ชื่อสามัญ Yellow zilk cotton, Butter cup (Sing, double), Torchwood
วงศ์ Cochlospermaceae

 

ถิ่นกำเนิดสุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์จัดเป็นไม้ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้โดยเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบทุ่งหญ้าเขตร้อนแซราดู (บริเวณประเทศบราซิล โบลิเวีย ปารากวัย) ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งพืชตระกูลนี้พบประมาณ 13 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์ มีความแตกต่างกันที่ลักษณะของดอกและใบสำหรับในประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ดอกเพื่อความสวยงาม โดยสามารถพบได้ 2 ชนิดคือ ฝ้ายคำ (cochlospermum religiosum (L.) Alston) และสุพรรณิการ์หรือฝ้ายคำซ้อน (cochlospermum religiosum (Mart.&schrank) Pilg ) นอกจากนี้สุพรรณิการ์ ยังมีทั้งหมด 2 ชนิด 3 สายพันธุ์ ดังนี้ ชนิดแรก คือ Cochlospermum regium (Mart&Schrank) Pilger เป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นมีชื่อสามัญที่นิยมใช้ คือ butter cup-tree หรือ yellow-cotton tree ในชนิดนี้จะมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์กลีบดอกซ้อน หรือสุพรรณิการ์ซ้อน (double butter-cup) เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ พันธุ์กลีบดอกชั้นเดียว สุพรรณิการ์ หรือ สุพรรณิการ์ดอกลา (singer butter cup) และอีกชนิดหนึ่ง คือ Cochlospermum religiosum (L.) Alston หรือ สายพันธุ์กอสไซเปียม (gossypium) เป็นสายพันธุ์จากทวีปอินเดีย

ประโยชน์และสรรพคุณสุพรรณิการ์

  1. เป็นยาระบาย
  2. เป็นยาทาบำรุงผิว
  3. เป็นยาบำรุงกำลัง
  4. รักษาอาการปวด
  5. แก้การอักเสบ
  6. รักษาการติดเชื้อ
  7. แก้ข้ออักเสบรูมาตอยด์
  8. รักษาโรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง
  9. บำรุงธาตุ

           สุพรรณิการ์ นั้นมีการนำดอกสีเหลืองไปใช้เป็นดอกบูชาพระ ใช้ประดับโต๊ะหรือห้องทำงาน ใช้เนื้อไม้มาทำสีย้อมผ้าโดยจะให้สีเหลืองไข่ ใบอ่อนนำมาใช้ต้มเอาน้ำที่ได้มาสระผม ส่วนยางจากต้น ที่มีชื่อว่า karaya gum หรือ ทางการค้าเรียกว่า Crystalgum ซึ่งเป็นก้อนผลึกสีเหลืองอ่อน หรือ น้ำตาลอมชมพู ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาเซทผม เป็นยาทาบำรุงผิว ใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าและการพิมพ์ และยังใช้ในอุตสาหกรรมอาการกระป๋อง และใช้ผสมไอศกรีมเพื่อทำให้ข้นขึ้นเป็นต้น

สุพรรณิการ์

ใบสุพรรณิการ์

รูปแบบขนาดวิธีใช้ของสุพรรณิการ์

ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ โดยใช้ดอกสุพรรณิการ์ แห้ง หรือ ใบแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้เช่นกัน ส่วนในประเทศบราซิลใช้รากแห้งผสมกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการปวดอักเสบ ติดเชื้อ แก้ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และรักษาอาการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปสุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์ จัดเป็นไม้ต้นขนาดกลางผลัดใบ มีขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม.สูงได้ 5-15 ซม. ทรงพุ่มค่อนข้างกลม โคนต้นมีขนาดใหญ่ ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ กิ่งก้าน มักจะคดงอ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ สีเทา หรืออาจเป็นปมขนาดเล็กสีน้ำตาล

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ เป็นรูปฝ่ามือมีสีเขียวสดเป็นมัน กว้าง 10-12 ซม. ยาว 20-22 ซม. โดยจะเป็นแฉกแหลมลึก 5 แฉก โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือจักเล็กน้อย แผ่นใบเหนียวและหนา มีก้านใบยาว 10-15 ซม. ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 20-40 ซม. ดอกมีสีเหลือง และจะทยอยบานโดยเมื่อบานจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 ซม. กลีบดอกมีทั้งแบบกลีบซอนและกลีบบางชั้นเดียวแล้วแต่สายพันธุ์ และมีเกสรสีเหลือง ผล เป็นผลแห้งสีเขียว ทรงไข่กลับมีลักษณะเป็นพู 5 พู ปลายผลบุ๋มกว้าง 6-8 ซม. ยาว 8-10 ซม. เมื่อผลสุกมีสีน้ำตาล โดยแตกกลางพู ส่วนเมล็ดมีปุยสีขาวคล้ายสำลีห่อหุ้ม เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปไต มีหลายเมล็ด

สุพรรณิการ์

ผลสุพรรณิการ์

การขยายพันธุ์สุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดการปักชำกิ่งและการตอนกิ่ง สำหรับการปักชำ กิ่งที่ใช้ปักชำควรมีสีน้ำตาล ใช้เวลาปักชำ 2-3 เดือน จึงสามารถนำไปปลูกได้ ส่วนการตอน ทำในฤดูฝน กิ่งที่ใช้ควรมีสีน้ำตาลอ่อน ใช้เวลา 1-2 เดือน จึงจะออกราก ทั้งนี้สุพรรณิการ์ เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งสามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดิน และมีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ เป็นอย่างดี

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของสุพรรณิการ์ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้
           น้ำมันหอมระเหยจากสุพรรณิการ์ พบสารกลุ่ม sesquiterpenes อาทิเช่น สาร Beta-copaen-4-α-ol, viridiflorol
           ส่วนรากพบสารกลุ่มฟีนอลิก เช่น ellagic acid, gallic acid, dihydrokaempferol-3-o-Beta-6-galloyl-glucopyranoside, dihydrokaempferol, dihydrokaempferol-3-o-Beta-glucopyranoside, penoresinol, excelsin เป็นต้น
           นอกจากนี้ยังมีการวิจัยแยกสารบริสุทธิ์จากดอกสุพรรณิการ์ พบว่าสารบริสุทธิ์ทั้งหมด 2 สาร เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ คือ Beta-sitoaterol และสารกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ คือ trilinolein อีกด้วย

 โครงสร้างสุพรรณิการ์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสุพรรณิการ์

มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสุพรรณิการ์ในต่างประเทศพบว่าสารสกัดจากสุพรรณิการ์ มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา ส่วนการศึกษาวิจัยในประเทศไทยพบว่า สารสกัดจากส่วนของกิ่ง ดอก และใบของต้นสุพรรณิการ์ มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิระ (Antioxidant) และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส (Antitirosinase) นอกจากนี้ยังศึกษาการทดสอบสารพฤกษเคมีเบื้องต้น (Phytochemical screening) จากสารสกัดหยาบ พบว่ามีสารกลุ่มฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์เป็นองค์ประกอบ อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของสุพรรณิการ์

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สุพรรณิการ์ เป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้สุพรรณิการ์เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ


เอกสารอ้างอิง สุพรรณิการ์

  1. เอื้อมพร วีสมหมายและปณิธาน แก้วดวงเทียน. 2547. ไม้ป่ายืนต้นของไทย 1. โรงพิมพ์ เอชเอ็น กรุ๊ป จำกัด กรุงเทพฯ. 652 น.
  2. ราชันย์ ภู่มา และสมราน สุดดี, บรรณาธิการ. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2557, หน้า 146.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2542.
  4. คณะกรรมการฝ่ายทุนมูลนิธิสวนหลวงพรรณไม้ในสวนหลวงร. 9 กรุงเทพฯ ด้านสุทธาการพิมพ์ 2531.
  5. จิตรลดา เศษจันทร์,เจนจิรา กวางเฮง, มัณดาเลย์ เลี่ยวกุล. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากดอกสุพรรณิกาณ์. โครงงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ปริญญาบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2563. 33 หน้า.
  6. Moreira DL, Guarim-Neto G. Los usos múltiples de las plantas de Sabana: un estudio de la comunidad" Sitio Pindura", Rosário Oeste, Mato Grosso, Brasil. Polibotánica 2009;(27):159-90.
  7. Nunes G, Silva M, Resende Ud, Siqueira J. Plantas medicinais comercializadas por raizeiros no Centro de Campo Grande. Revista Brasileira de Farmacognosia 2003;13(2):83-92.
  8. Paula Bicudo B, Rodrigues AB, Mendonça MM, Borges RR, Almeida AA, Oliveira KMP, editors. Evaluation of antibacterial and antifungal activity of ethanolic extract of Cochlospermum regium (Cochlospermaceae) leaf, a medicinal plant from the Cerrado of Brazil. BMC Proc 2014;8(Suppl 4):72.
  9. Inácio MC, Paz TA, Bertoni BW, Vieira MAR, Marques MOM, Pereira AMS, et al. Histochemical investigation of Cochlospermum regium leaves and chemical composition of its essential oil. Natural product research 2014;28(10):727-31.
  10. Tem samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p.
  11. Correa de Oliveira C, de Siqueira J, BORGES DE SOUZA K, Rezende U. Antibacterial activity of rhizomes from Cochlospermum regium: preliminary results. Fitoterapia (Milano) 1996;67(2):176-7
  12. Fangkrathok N, Deeharing S, Petshri W, Yahauyai J, Nontakham J, Siripong P, et al. Antioxidant and Antityrosinase Activities of Cochlospermum regium Twig, Petal and Leaf Extracts. TJPS 2017;41(5):13.
  13. . Carvalho RS, Carollo CA, de Magallhaes JC, Palumbo JMC, Boaretto AG, Nunes e Sa IC, et al. Antibacterial and antifungal activities of phenolic compound-enriched ethyl acetate fraction from Cochlospermum regium (mart.Et. Schr.) Pilger roots: Mechanisms of action and synergism with tannin and gallic acid. South African Journal of Botany 2018;114:181-7.
  14. Solon S, Carollo CA, Brandão LFG, Macedo CdSd, Klein A, Dias-Junior CA, et al. Phenolic derivatives and other chemical compounds from Cochlospermum regium. Química Nova 2012;35(6):1169-72.
  15. Souza CDd, Felfili JM. Uso de plantas medicinais na região de Alto Paraíso de Goiás. GO. Brasil: 2006.