ผักเบี้ยหิน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักเบี้ยหิน งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักเบี้ยหิน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักโขมหิน, ผักขมหิน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trianthema portulacastrum Linn.
ชื่อสามัญ Black pigweed, Horse purslane, Carpetweed, Giant pigweed.
วงศ์ AIZOACEAE
ถิ่นกำเนิดผักเบี้ยหิน
มีรายงานว่าผักเบี้ยหินมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย เช่นใน อินเดียศรีลังกา บังคลาเทศ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และพม่า เป็นต้น จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบผักเบี้ยหิน ได้โดยทั่วไปในบริเวณที่ชื้นแฉะ ที่รกร้างว่างเปล่า หรือ บริเวณแปลงผัก แปลงนา ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะพบผักเบี้ยหินในภาคกลางเป็นส่วนมาก เช่นในจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา ชัยนาท และกาญจนบุรี เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณผักเบี้ยหิน
- ช่วยเจริญธาตุไฟ
- แก้ลมอัณฑพฤกษ์
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยขับระดู ทำให้ประจำเดือนเป็นปกติ
- แก้โรคริดสีดวงทวาร
- ใช้เป็นยาถ่าย
- ช่วยแก้เจ็บปาก
- ช่วยแก้เหงือกบวม
- ช่วยขับระดูขาว
- แก้แผลอักเสบ
- ใช้บำรุงโลหิต
- ช่วยขับลม
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ช่องท้องอักเสบ
- แก้โรคไต
- แก้โรคท้องมาน
- แก้ฟกบวมช้ำ
ประโยชน์ของผักเบี้ยหิน สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ โดยนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกง, ต้ม หรือ ลวกจิ้มน้ำพริก และยังมีรายงานว่าบางประเทศในทวีปยุโรปนำผักเบี้ยหิน มาทำเป็นผักในสลัดอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
สำหรับวิธีการใช้ผักเบี้ยหิน เป็นสมุนไพรทำได้ดังนี้
- ใช้บำรุงโลหิต ขับลม แก้โรคท้องมาน แก้ท้องอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้โรคไต โดยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มใช้แก้ฟกบวมช้ำนำทั้งต้นมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้เจริญธาตุไฟ แก้ลมอัณฑพฤกษ์ ขับเสมหะ ทำให้ประจำเดือนเป็นปกติ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ใช้เป็นยาถ่าย โดยการทำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการเจ็บปาก แก้เหงือกบวม ช่วยขับระดูขาว โดยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้แผลอักเสบโดยการนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของผักเบี้ยหิน
ผักเบี้ยหิน จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูกาลเดียว ลำต้นทอดเลื้อยปกคลุมดินมีความยาว หรือ อาจตั้งตรงเล็กน้อยได้ถึง 1 เมตร ลักษณะของลำต้นกลมอวบน้ำ หรือ เป็นเหลี่ยมนิดหน่อย มีขนาดศูนย์กลาง 2-5 มิลลิเมตร ผิวลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นมัน มีสีเขียว หรือ สีม่วงอมแดง ตามกิ่งอ่อน และตามข้อต้นจะมีขนขึ้นปกคุมเล็กน้อย ใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้ามกันเป็นคู่ ใบมีลักษณะรูปไข่ หรือ รูปหัวใจโคนใบแหลมมน ปลายใบมนเว้า ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้าง 1-4.5 เซนติเมตร และยาว 1.5-5 เซนติเมตร ซึ่งแต่ละใบจะมีขนาดไม่เท่ากัน แผ่นใบมีสีเขียวริมขอบใบเป็นสีม่วง ผิวใบเรียบ หรือ อาจจะมีขนเล็กน้อย ส่วนก้านใบมีลักษณะเป็นร่องเล็กๆ ด้านบนยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ใบอ่อน และยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบทั้งสองด้านสลับกันในแต่ละข้อ โดยดอกจะอยู่ในหลอดกลีบบริเวณโคนก้านใบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีสีชมพูอ่อน หรือ สีชมพูแกมขาว กว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร และยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอกแยกจากกัน มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานปลายแหลม ปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสีม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดอยู่บนกลีบดอก และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน มีรังไข่ superior ovary มีก้านเกสรเพศเมียยาว 3 มิลลิเมตร ส่วนหลอดกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยมีสีม่วงแกมเขียว ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ผลออกเป็นฝักมีขนาดกว้าง 3-4 มิลลิเมตร และยาว 2-3 มิลลิเมตร ลักษณะของฝักเหมือนรูปถ้วย โดยโคนของฝักจะอยู่บริเวณซอกใบ เปลือกฝักค่อยข้างเหนียว เมื่อฝักอ่อนเป็นสีเขียวพอแก่เป็นสีแดง แล้วจะแห้งและแตก ด้านในมีเมล็ดกลมๆ สีดำประมาณ 3-4 เมล็ด
การขยายพันธุ์ผักเบี้ยหิน
ผักเบี้ยหินสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบความชื้นแต่ก็ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน ยังเป็นพืชที่มีการขยายพันธุ์รวดเร็วมาก จนกลางเป็นวัชพืชในไร่นา สำหรับการขยายพันธุ์ของผักเบี้ยหิน นั้น ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดตามธรรมชาติมากกว่าถูกนำมาปลูก และขยายพันธุ์โดยมนุษย์ แต่หากต้องการนำผักเบี้ยหินมาปลูกก็สามารถทำได้ โดยการนำเมล็ดมาเพาะปลูกเช่นเดียวกันกับการปลูกเมล็ดพันธุ์ของพืชต่างๆ
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของผักเบี้ยหิน ระบุว่า พบวารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Betacyanin, Oxalic acid, Vasicinone, 6, 7-Dimethoxy-3 6,4’trihydroxytlavonol, Vanillic caid, p-Hydroxybenzoic acid, Punarnavine, Ecdysterone และ 3,4-Dimethoxycinnamic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักเบี้ยหิน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักเบี้ยหิน จากส่วนของทั้งต้นระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยหิน โดยได้ทำการแบ่งหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin (STZ) ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว โดยแบ่งเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่รักษาด้วย glibenclamide (ยามาตรฐานซึ่งใช้ลดน้ำตาลในเลือด) ขนาด 1 มก./กก. และอีกสองกลุ่มให้สารสกัดเมทานอลของผักเบี้ยหิน ขนาด 100 และ 200 มก./กก ตามลำดับ พบว่าสารสกัดเมทานอลของผักเบี้ยหินช่วยลดน้ำตาลในเลือดของหนูแรทได้อย่างมีนัยสำคัญหลังได้กินเข้าไป 1 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ดีที่สุดหลังกินเข้าไป 4 ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมทานอลของผักเบี้ยหินมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้เทียบเท่ากับการรักษาโดยใช้ยามาตรฐาน glibenclamide และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ระงับอาการปวดของสารสกัดน้ำจากต้นผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacastrum L.) โดยทำการป้อนสารสกัดสกัดน้ำ ขนาด 10, 50 และ 250 มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์ ก่อนการทดสอบความทนต่อการเจ็บปวดด้วยการฉีดกรดอะซีติกเข้าทางช่องท้อง (Writhing Test) ความสามารถในการยืนบนแท่นร้อน (hot plate test) พบว่าสารสกัดจากผักเบี้ยหินมีฤทธิ์ระงับอาการปวด สามารถลดการงอตัวของสัตว์ทดลองได้ 41.10, 50.40 และ 67.10% ตามลำดับ รวมถึงยืดระยะเวลาการยืนบนแท่นร้อน โดยสารสกัดขนาด 250 มก./กก. ช่วยเพิ่มความทนต่ออาการปวด เพิ่มค่า peak maximum possible effect (MPE) ที่เวลา 30 นาที หลังการได้รับสารสกัดขึ้น 22.98% และฤทธิ์ระงับอาการปวดของสารสกัดน้ำจากผักเบี้ยหินสามารถถูกยับยั้งได้ด้วยการป้อน Nitro-L-arginine หรือ naloxone ซึ่งเป็นการยืนยันว่าผักเบี้ยหินระงับอาการปวดโดยอาศัยการยับยั้งกระบวนการ NO-cGMP pathway ในสัตว์ทดลอง ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่าสารสกัดจากผักเบี้ยหินขนาด 250 มก./กก. ยับยั้งการบวมในอุ้งเท้าหนูเม้าท์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการฉีดคาราจีแนนได้ตามระยะเวลาที่ได้รับ โดยลดอาการบวมสูงสุดได้ 50.60% ณ เวลา 6 ชั่วโมงหลังการได้รับสาร และการป้อนสารสกัดน้ำจากผักเบี้ยหิน วันละ 250 มก./กก. ติดต่อกัน 28 วัน มีผลลดการบวมของอุ้งเท้าจากการเหนี่ยวนำด้วยการฉีด Freund’s adjuvant ได้ 58.56% ลดดัชนีชี้วัดของข้ออักเสบ (arthritic index) ลง 26.84% รวมถึงลดการก่อตัวของ malondialdyhyde และป้องกันการลดลงของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากภาวะข้ออักเสบให้กลับสู่ค่าปกติ จากการตรวจสอบลักษณะทางจุลกายวิภาค พบว่าอาการบวม และการหนาตัวของเซลล์ synovial บริเวณข้อของสัตว์ทดลองลดลง และการแพร่ผ่านของเซลล์เม็ดเลือดขาว mononuclear ในบริเวณข้อเท้าลดลง ผลการศึกษาเหล่านี้ชี้ว่าสารสกัดน้ำจากผักเบี้ยหินสามารถต้านอาการปวดโดยอาศัยการส่งผ่านสัญญาณของของระบบ nitrergic และ opioidergic รวมถึงมีฤทธิ์บรรเทาอาการข้ออักเสบผ่านกลไกต้านอนุมูลอิสระร่วมกับการลดระดับสารก่อการอักเสบได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ โดยนำสารสกัดที่ได้จากผักเบี้ยหินทั้งต้นที่สกัดด้วยเอทานอลมาทดสอบ ซึ่งสารสกัดดังกล่าวได้แสดงฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แก้ไข้ ลดอุณหภูมิของร่างกาย ระงับความเจ็บปวด ฤทธิ์แก้อักเสบ ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียทั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแบคทีเรียแกรมลบหลายชนิดเช่น S. aureus, D. pneumoniae, S. pyrogenes, S. viridans, C. diphthenae, E. coli, S.paratyphi-B, S. typhi, Sh. Tlexneri, S. paratyphi-A
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักเบี้ยหิน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานผักเบี้ยหินทั้งในรูปแบบอาหาร และยาสมุนไพร เพราะมีฤทธิ์ขับระดูซึ่งอาจทำให้แท้งบุตรได้ ในส่วนของบุคคลอื่นก็ควรระมัดระวังในการใช้ผักเบี้ยหินเช่นกัน โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ผักเบี้ยหิน
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม พจนานุกรมสมุนไพร 1 โอเอส เพนติ้งเฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร 2531. หน้า 474
- บุศวรรณ ณ สงขลา สมุนไพรไทย ตอน 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ฟันนีพับบลิซซิ่ง, 2525.
- เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) กรุงเทพฯสำนักพิมพ์แฟนนี, 2523.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ผักโขมหิน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 474-475.
- ผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacastrum) ช่วยลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ระงับอาการปวด และบรรเทาอาการข้ออักเสบของสารสกัดน้ำจากผักเบี้ยหิน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- Rawson,J.E.Bath,S.J.chemical control of giant pigweed, sesbanai pea and fierce thornapple in sorghum in sorghum Queensl J Agrie Anim Sci 38(1)(1981):pp.13-19
- Balyan R.S., Malik, R.K., Control of horse purslane and barny and grass in mong bean Weed Sci 37(5) (1989) ;pp695-9
- Singh, B.P., Jha, O.P.,Ghosh, F.K, A study of wax alkanes of some Molluginaceae and Aizoaceae Plat Physiol Biochem, 9(1) (1982):pp 14-17
- Singh B.P., Singh R.P., Jha. O.P. Flavonoids of some Aizoaceae and molluginaceae of Bhagaipur Biol Bull India. 4(3) (1982) :pp 157-63
- Waker S.R., Hazard, W.H.Mike.A.F. Silver B.A. Effect of herbicides on black pigweed and sesbania pea and yield of five grain sorgum cultvars in central Queensl and.Aust J Exp Agric 28(3) (1988) :pp327-32.
- Darshika. P Daniel M change in the chemical content of Adhatoda and Trianthema due to tungal diseases Indian J of Pharm Sci 1991 pp 73-75
- Bharadwaj K Chandra V Trianthema portulacustrum Linn natural resourse of oxalic acid Res Ind 32(2) (1987):pp117-23
- Banerji A Chintalwar G.J. Joshi N.K. and Chadha M.S. isolation of ecdysterone from Indian Phytochemistry 10(1971) :pp2225-6