ว่านนางคำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ว่านนางคำ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ว่านนางคำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พญาว่าน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aromatica Salisb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Curcuma zedoaria Roxb.
ชื่อสามัญ Wild Turmeric
วงศ์ ZINGIBERACEAE
ถิ่นกำเนิดว่านนางคำ
ว่านนางคำเป็นพืชล้มลุกมีเหง้าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีถิ่นกระจายพันธุ์อยู่บริเวณประเทศไทย พม่า อินเดีย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมักจะพบตามบริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบ รวมถึงบริเวณชายป่าทั่วๆ ไปด้วย สำหรับในประเทศไทยพบว่านนางคำ มากทางภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ พบได้ประปราย
ประโยชน์และสรรพคุณว่านนางคำ
- ช่วยลดกรดในกระเพาะ
- ช่วยควบคุมธาตุในร่างกาย
- ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้
- ช่วยรักษาโรคหนองใน
- แก้อาการฟกช้ำ
- ช่วยขับลม
- เป็นยาสมานแผล
- แก้อาการปวด
- แก้ท้องร่วง
- แก้ไอ
- แก้ท้องเสีย
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้ปวดบวมในร่างกาย
- แก้ปวดท้องแน่นท้อง
- ช่วยลดกรดในกระเพาะ
- แก้มะเร็ง
- แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ
- ใช้แก้พิษผื่นคัน
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้แผลติดเชื้อ
- ช่วยขับเสมหะ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้คุมธาตุในร่างกาย แก้ท้องเสีย ขับเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร แก้หนองใน ช่วยสมานแผล โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่มใช้แก้ปวดบวมในร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร แก้ปวดท้องแน่นท้อง ลดกรดในกระเพาะ แก้มะเร็ง โดยใช้เหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ถ่ายท้อง แก้ปวดท้อง ท้องเดิน โดยใช้เหง้าว่านนางคำ สดมาฝนกับน้ำปูนใส กิน หรือ จะใช้เหล้าขาวแทนน้ำปูนใสได้ ใช้แก้พิษผื่นคัน จากโรคผิวหนัง แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำโดยใช้เหง้าสดมาตำผสมกับเหล้าขาวแล้วนำมาพอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้โรคผิวหนัง แก้แผลติดเชื้อ แผลหนอง โดยใช้เหง้าสดมาตำให้แหลกแล้วนำมาประคบ หรือ ทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของว่านนางคำ
ว่านนางคำจัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นแท้เป็นหัวใต้ดินแตกออกเป็นแง่ง ส่วนลำต้นเหนือดินที่มองเห็นจะเป็นลำต้นเทียมซึ่งเป็นส่วนของกาบใบ และใบ ที่โอบซ้อนกันจนแน่น ทำให้เข้าใจกันทั่วไปว่า ลำต้น โดยหัว หรือ ลำต้นแท้มีลักษณะค่อนข้างกลมเป็นแง่งยาว มีเปลือกหุ้มสีน้ำตาลอมเทา เนื้อด้านในมีเหลืองเข้ม หรือ เหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม รสฝาด โดยหัวว่านนางคำมักจะแตกแง่งออก 2-5 แง่ง เพื่อเติบโตเป็นลำต้นใหม่ในฤดูฝนของปีถัดไป ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว แตกออกจากหัวใต้ดินใน 1 ต้น จะแตกออกมา โดยมี 5-8 ใบ มีสีเขียวสด กาบที่ใบยาวประมาณ 20-30 ซม. เรียงซ้อนกันแน่นเป็นลำต้นเทียม มีสีเขียวอมขาว ส่วนใบมีลักษณะเป็นรูปหอก กว้างประมาณ 10-15 ซม. ยาวประมาณ 40-70 ซม. แผ่นใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบขมิ้นชัน และ ใบขมิ้นอ้อย แต่จะใหญ่กว่า ท้องใบด้านล่างมีขนปกคลุม มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ส่วนมีเส้นกลางใบ และขอบใบออกสีแดงมองเห็นชัดเจนเช่นกัน ดอกออกเป็นช่อเชิงลดคล้ายดอกกระเจียว ช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มักมี ดอกงอกจากเหง้าก่อนใบ กลีบดอกมีสีขาวแกมชมพู แฉกกลางเป็นรูปไข่กว้าง แฉกข้างเป็นรูปขอบขนาน กลีบปากเป็นรูปโล่แยกเป็น 3 แฉก สีเหลืองเข้ม ในประดับที่รองรับมีดอกสีขาวแกมสีเขียว ส่วนในประดับที่ปลายช่อมีสีชมพู ใบประดับย่อยมีสีขาว ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงยาว 2 เซนติเมตร ทั้งนี้ดอกว่านนางคำ จะเริ่มแทงออกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากแทงดอกออกแล้ว ส่วนของใบก็จะเริ่มแทงขึ้นมาแทน ก่อนดอกจะเหี่ยวลง และใบเริ่มแทงออกมาจำนวนมากขึ้นแทนแล้วใบจะเหี่ยวลงในฤดูแล้ง
การขยายพันธุ์ว่านนางคำ
ว่านนางคำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกเหง้าปลูกโดยเลือกเหง้าพันธุ์จากต้นที่มีความสมบูรณ์ มีขนาดเหง้าที่ใหญ่ ส่วนการเตรียมดินก่อนปลูกจะเตรียมดิน ดังนี้
ต้องทำการไถพรวนดิน 2 ครั้ง ก่อนไถครั้งที่ 2 ให้รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 2-4 ตัน/ไร่ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่ จากนั้นไถขุดร่องตามแนวยาวของแปลง ลึก 8-12 ซม. ระยะห่างระหว่างแถว 60 ซม. สำหรับวิธีการปลูกให้ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยนำแง่งวางเรียงในร่อง ให้มีระยะห่างระหว่างหัว ประมาณ 30-40 ซม. จากนั้นเกลี่ยกลบดินด้วยจอบให้คลุมทั่วหัว แล้วรดน้ำตามแนวปลูกให้ชุ่ม ทั้งนี้หัวว่านนางคำ จะสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน หรือ จะเก็บเกี่ยวหัวได้เมื่อใบเริ่มเหี่ยวแล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงหน้าแล้งประมาณเดือน ธันวาคม-มีนาคม
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางของเคมีของเหง้าว่านนางคำพบสาระสำคัญหลายชนิด เช่น germacrone, curzerenone, furanodienone, sirtlin, curcumenone, curcumalactone, curdione, (1R,10R)-epoxycurdione, zederone, curcumolide, procurcumenol, zedoarondiol, epiprocurcumenol, isoprocurcumenol, neoprocurcumenol, acetoxyneocurdione, β-elemene, curcumadione และ isocurcumadione
นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยของว่านนางคำ ยังพบสารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น Curcumene, Sabinene, Linalool, Caryophyllene, α-phellandrene, 1,8-cineole, Methyl hatanone, Cucuminoid, Camphor, Borneol และ Isoborneol, Geranoil, Curzerenone, Myrcene, Xanthorrhizol
ที่มา : wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านนางคำ
ฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์ และแบคทีเรีย มีรายงานผลการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่าสารสกัดจากว่านนางคำ สามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียแกรมบวก Staphylococccus aureus, แบคทีเรียแกรมลบ Escherichia coli, ยีสต์ Candida albicans และเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งจุลินทรีย์บางตัวเป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนัง โรคท้องเสีย และเป็นเชื้อที่ฉวยโอกาสในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูซิเดส มีผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดจากเหง้าว่านนางคำ โดย นำมาทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส พบว่า 1,5-bis(4-hydroxy-3-methoxyphenyl)-1,4-pentadien-3-one แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งได้ดี โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.20±0.01 mM ซึ่งดีกว่า acarbose (IC50=2.52±0.12 mM) ถึง 12.6 เท่า ส่วนสาร furanodienone และ zedoarondiol แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งในระดับดี คือ มีค่า IC50 เท่ากับ 0.87±0.01 และ 0.89±0.03 mM. และสาร germorone, (R,10R) –epoxycuurdione และ curcumenone แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งในระดับปานกลางคือมีค่า IC50 เท่ากับ 1.53±0.08, 1.60±0.08 และ 1.68±0.13 mM ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆของว่านนางคำระบุไว้ว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ช่วยชะลอวัยได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของว่านนางคำ
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าการใช้ว่านนางคำ เพื่อเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ จะมีมาตั้งแต่อดีตและยังไม่เคยพบอันตรายจากการใช้ แต่อย่างไรก็ตามในการใช้ว่านนางคำเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ว่านนางคำเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ว่านนางคำ
- บุญชู ธรรมทัศนานนท์. ว่านรักษาโรค.คอลัมน์ การรักษาพื้นบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 20. ธันวาคม 2523
- วิชยา ไตรบุญ. การศึกษาโครงสร้าง และฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสจากองค์ประกอบทางเคมีของเหง้าว่านนางคำ. วิทยานิพนธ์ปรัญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีศึกษา ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยศิลปกร ปีการศึกษา 2558. 95 หน้า
- ว่านนางคำ และสรรพคุณว่านนางคำ. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Chokchaisiri, R.; Chaneiam, N.; Svasti, S.; Fucharoen, S.; Vadolas, J.; Suksamrarn, A. J. Nat. Prod. 2010, 73, 724–728
- Kuroyanagi, M.; Ueno, A.; Koyama, K.; Natori, S. Chem.Pharm.Bull. 1990, 38, 55–58.