จำปา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จำปา งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จำปา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จุ๋มป๋า, จุมปา (ภาคเหนือ), จำปากอ (ภาคใต้), จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี), จำปาทอง (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia champaca  Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Magnolia champaca (L.) Baillon ex Pierre var. champaca
ชื่อสามัญ champac, champak, orange champaka, champakam, sonchampa
วงศ์ MAGNOLIACEAE
 

ถิ่นกำเนิดจำปา 

เชื่อกันว่าจำปามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เพราะชื่อวิทยาศาสตร์ของจำปามีคำลงท้ายว่า champaca ซึ่งเป็นชื่อของจำปาในประเทศอินเดีย ภาษาฮินดีเรียกจำปาว่า จัมปา ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงคงเรียกชื่อจำปาตามคนอินเดีย ส่วนการแพร่กระจายพันธุ์นั้นเชื่อว่ามีการแพร่กระจายพันธุ์จากอินเดียไปยังบริเวณเขตร้อนที่อยู่ใกล้เคียงเช่นในประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับจำปา ในประเทศไทยเชื่อกันว่าคนอินเดียคงนำจำปามาเมืองไทยพร้อมๆ กับการติดต่อค้าขาย และเผยแพร่อารยธรรม ศาสนา ภาษา ศาสนา การปกครอง มานับพันปีแล้ว และในปัจจุบันสามารถพบเห็นจำปาได้มากทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ตามป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ที่สูงในระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณจำปา

  1. ใช้ปรุงยาหอมผสมกับการบูร
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ
  3. ช่วยบำรุงโลหิต
  4. ช่วยบำรุงประสาท
  5. ช่วยบำรุงน้ำดี
  6. แก้คลื่นไส้อาเจียน
  7. แก้ขับปัสสาวะ
  8. แก้ไข้ 
  9. ช่วยทำให้เลือดเย็น
  10. ช่วยกระจายโลหิตอันร้อน
  11. แก้อ่อนเพลีย
  12. แก้วิงเวียน
  13. แก้เส้นกระตุก
  14. แก้โรคเส้นประสาทพิการ
  15. แก้ป่วงของทารก
  16. เป็นยาถ่าย
  17. รักษาโรคปวดตามข้อ
  18. ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ
  19. แก้ปวดศีรษะ
  20. แก้ตาบวม
  21. แก้คอแห้ง
  22. แก้เสมหะในลำคอ
  23. แก้ริดสีดวงพลวก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ดอกจำปา ใช้ปรุงเป็นยาหอม ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงประสาท บำรุงน้ำดี  แก้คลื่นไส้ คลื่นเหียนอาเจียน แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ทำให้เลือดเย็น แก้เส้นกระตุก เนื้อไม้ใช้ต้นกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงโลหิต รากต้มกับน้ำดื่มช่วยขับโลหิตในสตรีที่อยู่ไฟ และใช้รักษาโรคปวดตามข้อ ใช้เป็นยาถ่าย เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ แก้เสมหะในลำคอ


ลักษณะทั่วไปของจำปา
 

ลักษณะทั่วไปของจำปานั้น คล้ายคลึงกับจำปีมาก จะมีรายละเอียดต่างกันไม่มากนัก เช่น ใบจำปีจะเขียวเข้ม และเป็นมันกว่าใบจำปา ดอกจำปามีกลีบใหญ่ ยาวแต่บางกว่ากลีบดอกจำปี และสีกลีบดอกจำปามีสีเหลืองอมส้ม เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนดอกจำปี เป็นต้น

           ทั้งนี้ลักษณะทั่วไปของจำปา สามารถสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ จำปาจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่มีลักษณะเปลาตรง สูงใหญ่ โดยสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกเรียบ มีสีเทาปนน้ำตาล หรือ สีเทาอมขาว ตากเป็นร่องตามยาว เปลือกในสีขาว มีรูระบายอากาศทั่วไป มักมีรอยตาของกิ่งที่หลุดร่วงไปแล้ว เรือนยอดเป็นพุ่มกลม หรือ รูปกรวยคว่ำ เนื้อไม้สีเหลือง หรือ น้ำตาลอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับรูปรี รูปไข่ หรือ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร ปลายแหลม และมีติ่งแหลม โคนมน หรือ แหลมขอบเรียบ ก้านใบยาว 2-3.5 เซนติเมตร แผ่นใบลักษณะค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนเล็กน้อย ด้านล่างมีขนนุ่มเส้นแขนงใบข้างละ 10-22 เส้น มีขนนุ่ม มีรอยแผลหลุดร่วงของหูใบ หูใบ หุ้มยอดอ่อน ร่วงง่าย เห็นเป็นรอยแผลชัดเจนที่ข้อ และก้านใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบมีกาบหุ้มดอกสีเขียวอ่อน มี 1 แผ่น ดอกบานตั้งขึ้นเป็นสีเหลืองอมส้ม และส่งกลิ่นหอมแรง กลีบดอกมี 12-15 กลีบ กลีบนอกรูปใบหอก ค่อนข้างกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 4-4.5 ซม. ก้านดอกยาว 0.7-1.2 เซนติเมตร กลีบชั้นในเรียวแคบ และสั้นกว่ากลีบชั้นนอก ฐานดอกรูปทรงกระบอกยาว เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เรียงเวียนรอบบริเวณโคนฐานดอก ก้านชูอับเรณูยาว 1.5-2 มิลลิเมตร อับเรณูรูปขอบขนานยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ปลายมีรยางค์ รังไข่เหนือวงกลีบมีคาร์เพลได้ถึง 30 คาร์เพล เรียงเวียนรอบแกนกลาง แต่ละคาร์เพลมีออวุล 2-6 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นโค้ง ผลออกเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 10-40 ผล เป็นช่อยาว 10-20 เซนติเมตร ก้านช่อยาว 1-3 เซนติเมตร แต่ละผลค่อนข้างกลม หรือ กลมรี เปลือกผลหนา และแข็ง ผลอ่อนมีสีเขียวขระขระโดยรอบผลย่อยกว้าง 7-15 เซนติเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร ผลแก่แห้งแตกแนวเดียวในหนึ่งผลมี 1-7 เมล็ด เมล็ด รูปค่อนข้างกลม หรือ รูปรี กว้างประมาณ 7 มิลลิเมตร ยาว 0.8-1 เซนติเมตร มีเนื้อหุ้ม รูปเสี่ยววงกลม เมล็ดอ่อนมีเนื้อหุ้มสีขาว เมล็ดแก่เนื้อหุ้มสีแดงในผลย่อยผลจะมี 1-6 เมล็ด

จำปา

การขยายพันธุ์จำปา

จำปา สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งแต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดมากกว่า โดยนำผลสุกที่มีสีดำ มาแช่น้ำ 2-3 วัน แล้วล้างเนื้อเยื่อของผลออกเหลือแต่เมล็ดนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วนำไปเพาะในถุงเพาะในถุงเพาะชำที่มีดินผสมอยู่ถุงละ 1-2 เมล็ด ประมาณ 30-45 วัน จะงอกเป็นต้นกล้าอายุประมาณ 10-20 เดือน จึงสามารถเองลงปลูกได้ โดยก่อนปลูกจะต้องขุดหลุม ขนาดประมาณ 30x30x30 เซนติเมตร หรือ ขนาดเหมาะสมกับกล้าไม้แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดิน หรือ อาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 1 ช้อนโต๊ะ และยาป้องกันแมลง เช่น ฟูราดาน 5-10 กรัม คลุกเคล้ากับดิน และสำหรับกลบหลุมด้วยก็จะทำให้กล้าไม้มีอัตราการอดตายสูง และเจริญเติบโตดี

           จากนั้นนำต้นกล้าที่เพาะได้ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินให้พูนโคนต้นไม่ให้น้ำขัง ปักไม้ผูกเชือกโดยการคลุมด้วยฟาง หรือ หญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ สำหรับระยะปลูกจะไม่แน่นอนตายตัว แล้วแต่วัตถุประสงค์ของเกษตรกร เช่น ปลูกในเชิงพาณิชย์ และเป็นการปลูกไม้ชนิดเดียวก็จะใช้ระยะปลูก 2x4 หรือ 4x4 เมตรเป็นต้น

จำปา

จำปา

องค์ประกอบทางเคมีจำปา

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของจำปา พบว่า จำปามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณร้อยละ 0.2 ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นสารกลุ่ม esters เช่น benzyl acetate และ methyl และยังประกอบด้วยสารกลุ่ม terpenes เช่น eucalyptolcaryophyllene α-terpinoleneβ-terpinene และ สารกลุ่ม flavonoids quercetin สารกลุ่ม phenylpropanoids เช่นmethyl eugenol isoeugenol รวมทั้งสารกลุ่ม aldehydes tannins  ketones alkaloids  เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ ในน้ำมันหอมระเหยอีก เช่น ß-linalool, ß-elemene, germacreneA A, germacrene B, germacrene D, indole, linalool, pyranoid

  โครงจำปา

ที่มา : Wikidia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของจำปา

ฤทธิ์รักษาแผลเบาหวาน มีการศึกษาในหนูแรทที่เป็นเบาหวาน และมีแผลแบบรอยเชือด (incision) และแผลถูกตัด (excision) โดยการป้อนยาแขวนตะกอนที่มีส่วนผสมของสารสกัด 95% เอทานอลจากดอกจำปาในปริมาณ 100, 200 และ 400 มก./กก. ให้แก่หนูแรท ติดต่อกัน 16 วัน พบว่าในแผลรอยเชือดมีการเพิ่มความยือหยุ่นของบาดแผลอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันที่ 10 ของการรักษา ส่วนแผลถูกตัด จะกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อปิดแผล และเพิ่มปริมาณ hydroxyprolineใน granuloma cell ทำให้อัตราการหายของแผลเร็วกว่า และยังมีการศึกษาในหนูแรทที่เป็นเบาหวาน และมีแผลไฟไหม้ โดยป้อนสานสกัด 95% เอทานอลจากดอกจำปา ขนาด 100 มก./ กก. น้ำหนักตัว และทาครีมที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากดอกจำปา 10% บริเวณที่เป็นแผล ติดต่อกัน 16 วัน พบว่าอัตราการหายของแผลเร็วขึ้นใกล้เคียงกับการใช้ยา sliver sulphadiazine 0.5 กรัม และยังกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวบริเวณแผล ได้ทั้งหนูแรทที่เป็นเบาหวานและหนูแรทที่ได้รับยา Dexamethasone เพื่อกดการสร้างเนื้อเยื่อบุผิว

            ฤทธิ์คุมกำเนิด มีการศึกษาฤทธิ์คุมกำเนิดของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์จากใบจำปา (hydroalcoholic leaves extract of Michelia champaca ) โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก โดยทดลองป้อนสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาขนาดวันละ 100 และ 200 มก./กก. นาน 7 วัน ให้แก่หนูแรทเพศเมียที่ผ่านการเข้าคู่ผสมพันธุ์กับตัวผู้ไม่เกินหนึ่งวันเมื่อเลี้ยงครบ 10 วัน ทำการผ่าตัดเพื่อตรวจการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก การศึกษาส่วนที่สอง เป็นการทดสอบฤทธิ์การเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยทดลองในหนูแรทเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ 6 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ที่เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับสารละลาย 5%Tween-80 กลุ่มที่ 2 ได้รับ 17α-ethinyl estradio lโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงอย่างเดียว เปรียบเทียบกับ กลุ่มที่ 3 และ 4 ที่ได้รับสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาโดยการป้อนให้ขนาดวันละ 100 และ 200 มก./กก.และกลุ่มที่ 5 และ 6 ได้รับสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาร่วมกับการฉีด 17α-ethinyl estradiol (ขนาดวันละ 1 มคล.) ทำการเลี้ยงต่อเนื่องนาน 7 วัน ในวันที่ 8 ของการทดลองทำการชั่งน้ำหนัก และเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี (biochemical parameters) จากนั้น ทำการฆ่า และเก็บอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ผลจากการทดลองพบว่าการป้อนสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาทั้งขนาดวันละ 100 และ 200 มก./กก. มีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูกของหนูแรทอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมโดยคิดเป็นร้อยละ 49.95 และ 71.03 ตามลำดับ พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปา มีผลเพิ่มน้ำหนักตัวของหนูแรท น้ำหนักมดลูก ความหนาของเยื่อบุมดลูก และช่องคลอด อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่าระดับ เอสโตรเจน คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ alkaline phosphatase ในเลือดหนูที่ถูกป้อนด้วยสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปามีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์จากใบจำปามีฤทธิ์คุมกำเนิด โดยอาจมีผลจากการยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก และมีฤทธิ์การเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน

           ฤทธิ์ขับปัสสาวะและขับนิ่ว  มีการศึกษาวิจัยในหนูแรทปกติและหนูแรทที่เกิดนิ่วจาการได้รับ ethylene glycol ผ่านทางน้ำดื่ม โดยใช้สารสกัดเอทานอลจากดอกจำปา 250 และ 500 มก./กก. พบว่าในหนูแรทปกติสารสกัดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเพิ่มการขับออกของ electrolytes โดยให้ผลเทียบเท่ากับการให้ยา furosemide ส่วนในหนูแรทที่ทำให้เกิดนิ่วสารสกัดมีฤทธิ์สลายนิ่ว ผ่านการรับ  phosphate, oxalate และ calcium ในปัสสาวะซึ่งให้ผลเท่ากับยา cystone

        นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชอื่นของจำปาพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ลดไข้ ในหนูทดลอง และยังมีฤทธิ์ต้านเบาหวานอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของจำปา

มีการศึกษาทางพิษวิทยาของดอกจำปา โดยการกรอกทางปากให้หนูถีบจักรในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 45, 455 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน พบว่าไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด และเมื่อทดสอบโดยการฉีดสารสกัดดังกล่าวเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักรในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปรากฏว่าไม่พบอาการเป็นพิษเช่นเดียวกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของดอกจำปาระบุว่ามีความเป็นพิษต่ำ แต่ในการนำมาใช้เป็นสุมนไพบำบัดรักษาโรคต่างๆนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้จำปาเป็นสุมไนพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง จำปา
  1. จำปา .พระยาแห่งดอกไม้ของคนไทยสมัยก่อน. คอลัมน์ พืช-ผัก-ผลไม้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 251.มีนาคม 2543
  2. จำปาป่า.แผ่นพับประชาสัมพันธ์. สวนปลูกป่าเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ก ระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  3. กนกพร อาทะวงษา,พิชานันท์ ลีแก้ว.จำปาดอกไม้ในยาไทย.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ฤทธิ์คุมกำเนิดของสารสกัดน้ำ-แอลกฮอลล์ใบจำปา.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. มงคล โมกขะสมิต,กมล สวัสดีมงคล,ประยุทธ สาคราวหะ.การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 13.ฉบับที่ 1. 2514
  6. จำปา.กลุ่มยาถ่าย.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_05_2.htm