มะปราง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะปราง งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะปราง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะผาง, บะผาง (ภาคเหนือ), บักปาง (ภาคอีสาน), ปราง (ภาคใต้) หมากผาง (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bouea macrophylla Griffith
ชื่อสามัญ Marian Plum, Plum Mango
วงศ์ Anacardiaceae
ถิ่นกำเนิดมะปราง
มะปราง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด และเป็นพืชพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียตุวันออกเฉียงใต้ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของมะปรางอยู่ในประเทศ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมักพบได้ทั่วไปตามแหล่งต่างๆ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะมีทั้งพันธุ์หวาน และพันธุ์เปรี้ยว
ประโยชน์และสรรพคุณมะปราง
- ใช้แก้ไข้ตัวร้อน
- แก้ไข้กลับ
- ใช้ถอนพิษสำแดง
- ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดศีรษะ
- ใช้ฟอกโลหิต
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว
- ช่วยกัดเสมหะในลำคอ
- แก้เสมหะ
- แก้เสลดหางวัว
- ใช้เป็นยาอมกลั้วคอ
- แก้ไอ
- ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
- ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ
- ช่วยบำรุงกระดูก
- ช่วยบำรุงฟัน
- ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
- ช่วยบำรุงสายตา
มะปรางจัดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีทั้งพันธุ์เปรี้ยว และพันธุ์หวาน จึงมีการนำมาใช้รับประทานกันหลายๆ รูปแบบ เช่น พันธุ์หวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่ให้ความหวาน และอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ หรือ นำมาแปรรูปเป็นของหวาน เช่น มะปรางเชื่อมมะปราง กวน ส่วนพันธุ์เปรี้ยวบางสายพันธุ์ (มะปริง หรือ มะปรางป่า ตะลิงปลิง ) ใช้มาประกอบเป็นน้ำพริก หรือ นำมาใส่ในแกงส้ม หรือ ในบางสายพันธุ์ก็นิยมนำมาดอง รับประทานเป็นต้น ส่วนเนื้อไม้ของมะปรางที่เป็นไม้เนื้อแข็งจึงมีการนำมาใช้ทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือ เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ฟอกโลหิต แก้น้ำลายเหนียว กัดเสมหะในลำคอ แก้เสมหะ แก้เสลดหางวัวโดยนำผลสุกของมะปราง มารับประทานสด
- ใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการไข้กลับ ถอนพิษสำแดง โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ปวดศีรษะโดยใช้ใบมาตำให้ละเอียดแล้วจำมาพอกแล้วพันด้วยผ้าตามบริเวณที่ปวดศีรษะ
ลักษณะทั่วไปของมะปราง
มะปรางจัดเป็นไม้ผลยืนต้นมีลักษณะทรงพุ่มค่อนข้างเป็นทรงกระบอกแหลม เนื่องจากแตกกิ่งในระดับต่ำ และมีทรงพุ่มค่อนข้างทึบ เพราะจำนวนกิ่งมาก โดยเฉพาะกิ่งแขนงที่แตกออกจากกิ่งหลัก และในแต่ละกิ่งจะมีใบติดตลอดจนถึงเรือนยอด ลำต้นมีความสูง 15-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาดำมียาง ส่วนเนื้อไม้จัดเป็นไม้เนื้อแข็ง ออกสีเหลืองส้ม หรือ เหลืองแดง
ใบออกเป็นใบเดี่ยว โดยแทงออกจากิ่งย่อยในลักษณะตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ ออกดกหนาทึบไม่ผลัดใบ และสามารถแตกใบใหม่ได้ตลอดปี ใบมีลักษณะคล้ายในมะม่วงแต่มีขนาดเล็กกว่า เนื้อใบเหนียว ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีม่วงแดง มองเห็นเส้นใบ ใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอกออกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่งแขนง ช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยเล็กๆ หลายช่อ ดอกมีสีเหลือง มีจำนวน 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง
ผลมีลักษณะเป็นรูปวงรี หรือ รูปไข่ ปลายผลเรียวเล็กน้อย เปลือกผลเรียบ เกลี้ยง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเหลืองทอง สีเหลืองอมส้ม หรือ อมส้มเข้ม เนื้อหนา หรือ บางมีรสหวาน รสหวานอมเปรี้ยว รสเปรี้ยว แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่นเดียวกันกับขนาดของผล
เมล็ดมี 1 เมล็ด ลักษณะเมล็ดค่อนข้างแบนยาวรีตามลักษณะทรงผล เปลือกหุ้มเมล็ดมีเส้นใยปกคลุมหนาแข็ง สีน้ำตาลอมเหลือง (ที่เรียกว่ากะลาเมล็ด) ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อมีสีชมพูอมม่วง มีรสขม และฝาด
การขยายพันธุ์มะปราง
มะปราง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง และการติดตา เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดเอาต้นพันธุ์แล้วทาบกิ่ง เนื่องจากเพาะง่าย รวดเร็ว และสะดวก ทำให้ได้จำนวนต้นพันธุ์จำนวนมาก ส่วนต้นพันธุ์ที่ได้ก็จะเหมือนต้นแม่พันธุ์ โดยต้นพันธุ์ที่พร้อมสำหรับย้ายปลูกควรมีอายุ 2-3 เดือน
สำหรับการนำต้นพันธุ์ลงปลูก ควรปลูกในช่วงฤดูฝนประมาณ เดือน พฤษภาคม-กันยายน โดยต้องเว้นระยะปลูกที่ 4-8x4-8 เมตร เมื่อปลูกเสร็จควรนำกิ่งไม้ไผ่เสียบข้างลำต้น และมัดด้วยเชือกฟางหลวมๆ เพื่อค้ำยันด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษา องค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะปราง พบว่ามีสารสำคัญๆตามส่วนต่างๆ ดังนี้ ในเมล็ดพบสาร ellagic acid anthocganin และ gallicacid ในเปลือกต้นพบ santonin ในเนื้อผลพบ β-carotene และ ascorbic acid เป็นต้น นอกจากนี้ผลสุกของมะปรางยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลสุกมะปราง (100 กรัม)
- พลังงาน 47 กิโลแคลอรีต่อลูกมะปราง
- โปรตีน 0.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 11.3 กรัม
- เส้นใย 1.5 กรัม
- วิตามินบี 1 0.11 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.5 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 100 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 9 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
- เบตาแครอทีน 230 ไมโครกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะปราง
ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอด มีการศึกษาวิจัยสารสกัดของเมล็ดมะปราง ที่สกัดด้วย คลอโรฟอร์ม อะซิโตไนไตร เอทานอล และน้ำ โดยนำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดที่ไว ดื้อต่อยาดอกโซรูบิซิน พบว่าสารสกัดเมล็ดมะปรางทั้ง 4 ส่วนสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง K562, K562/ adr, GLC4 และ GLC4/adr ได้ โดยสารสกัดเมล็ดมะปราง ที่สกัดด้วยเอทานอลออกฤทธิ์ดีที่สุด และมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ 50% (IC50) ต่อเชื้อ K562, K562/ adr, GLC4 และ GLC4/adr เท่ากับ 8.9 ± 2.6, 5.8 ± 2.2, 10.9 ± 2.2 และ 6.9 ± 1.0 มคก./มล. ตามลำดับ โดยฤทธิ์ดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการชักนำการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะปราง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ที่แพ้ยางของมะม่วง ควรระมัดระวังการสัมผัสน้ำยางของมะปรางด้วย เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน
- การรับประทานมะปรางมากเกินไปอาจทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานแต่พอดี
- ในการใช้มะปรางเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ตามตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เชียวเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นประจำ ก่อนจะใช้มะปราง เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง มะปราง
- วิภพ สุทธนะ, ณฐปกรน์ เดชสุภา, สำรี มั่นเขตต์กรน์. การเตรียมสารสกัดจากเมล็ดมะปราง และประเมินฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดชนิดที่ไว ดื้อต่อยา. นิพนธ์ต้นฉบับ. วารสารศรีนครินทร์เวชสารปีที่ 28 ฉบับที่ 1.มกราคม-มีนาคม 2556. หน้า 100-109
- ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดชนิดที่ไว ดื้อต่อยาของสารสกัดเมล็ดมะปราง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- มะปราง. กลุ่มยาแก้ไข้ ลดความร้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_09_12.htm
- มะปราง มะยงชิด และการปลูกมะปรางมะยงชิด.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com