สะเดาอินเดีย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สะเดาอินเดีย งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สะเดาอินเดีย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คินิน, ควินิน (ทั่วไป), นิมโพ, อริฎโฐ, ปุจิมันโท (มาลี, อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A.Juss.Var.indica
ชื่อสามัญ Neem tree, Holy Tree, Indian Margosa Tree, Margosa
วงศ์ MELIACAEA


ถิ่นกำเนิดสะเดาอินเดีย

สะเดาอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นวงศ์กระท้อน (MELIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเขตกระจายพันธุ์ใน อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และพม่า สำหรับในประเทศไทยสามารถพบสะเดาอินเดีย ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ป่าโปร่งทั่วไป และบริเวณริมถนนหนทางหรือที่รกร้างต่างๆ


ประโยชน์และสรรพคุณสะเดาอินเดีย

  1. ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้
  2. แก้ไข้จับสั่น
  3. แก้ไข้มาลาเรีย
  4. แก้ไข้ประจำฤดู
  5. ใช้เป็นยาช่วยเจริญอาหาร
  6. แก้บิด
  7. ใช้พอกฝี
  8. ใช้รักษาแผล ใช้ล้างบาดแผล
  9. รักษาโรคผิวหนัง
  10. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
  11. ใช้ถ่ายพยาธิ
  12. ใช้เป็นยาระบายท้อง

           สะเดาอินเดีย ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ น้ำมันสกัดได้จากเมล็ดสามารถถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ อีกทั้งมีการสกัดสารสำคัญในเมล็ดสะเดาอินเดียได้แก่สาร Azadirachtin มาใช้เป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช ทางการเกษตรได้หลายชนิดอาทิเช่น เพลี้ยชนิดต่างๆ มอดแป้ง ผีเสื้อข้าวเปลือก หนอนใยผัก และหนอนชอนใบ เป็นต้น

           ส่วนเนื้อไม้ก็มีการนำมาใช้ในการก่อสร้าง และนำมาทำเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ใช้ทำกระดาน ฝาบ้าน ไม้เครื่อง หีบ เฟอร์นิเจอร์ ตู้เก็บของ และเครื่องเรือนต่างๆ ส่วนในอินเดียมีการนำส่วนต่างๆ ของสะเดาอินเดีย มาใช้ทำสบู่ เยื่อกระดาษ ทำกาว และยาฆ่าแมลงอีกด้วย

สะเดาอินเดีย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือ ไข้ประจำฤดู โดยใช้เปลือกต้นสด 1 ฝ่ามือ หรือ ใบสด 2 กำมือ ต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้ว จากนั้นเคี้ยวให้เหลือ 2 ถ้วยแก้ว นำมาดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย
  • ใช้ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้บิด โดยนำเปลือกต้นสะเดาอินเดีย มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงธาตุ โดยนำดอกมาตากแห้งชงเป็นชาดื่ม
  • ใช้ยาถ่ายพยาธิ ระบายท้อง โดยนำผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • รักษาฝีหนอง โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็นฝี
  • น้ำมันจากเมล็ด ใช้ใส่แผล และรักษาโรคผิวหนัง


ลักษณะทั่วไปของสะเดาอินเดีย

สะเดาอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นทรงพุ่ม และมักจะแตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดจำนวนมาก ต้นสามารถสูงได้ 8-12 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล หรือ สีน้ำตาลแกมเทา และจะแตกเป็นร่องลึกตามยาว เนื้อไม้แข็งเป็นมันเลื่อมมีสีแดงปนน้ำตาล มีความแข็งแรงทนทานดี และในทุกส่วนของต้นจะมีรสขม

           ใบสะเดาอินเดีย เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ โดยจะออกแบบเรียงสลับหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ซึ่งใน 1 ช่อใบจะยาว 15-35 เซนติเมตร และจะมีใบย่อยเรียงตรงกันข้าม 5-9 คู่ ใบย่อยมีลักษณะรูปรี หรือ รูปเดียวมีขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร โคนใบมนเบี้ยว ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยงเป็นมัน ค่อนข้างหนา ใบอ่อนมีสีแดง ส่วนใบแก่สีเขียวเข้ม มีรสชาติขมกว่าสะเดาบ้าน (สะเดาไทย)

           ดอกสะเดาอินเดีย ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง พร้อมกับใบอ่อนโดยจะออกบริเวณส่วนยอดของลำต้น หรือ บริเวณซอกใบใกล้กับปลายยอด โดยช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีสีและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนดอกเรียวปลายกลีบดอกมน แยกจากกันเมื่อดอกบานกลีบดอกจะกางออกรูปทรงคล้ายกังหันลม มีเกสรเพศผู้เป็นเส้นอยู่กลางดอก

           ผลสะเดาอินเดีย เป็นแบบผลสด รูปทรงกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองภายในผลมีเมล็ดเดียวเมล็ดรูปทรงรี สีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล ผิวเมล็ดค่อนข้างเรียบ หรือ อาจแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว ด้านในเมล็ดมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45%

สะเดาอินเดีย

สะเดาอินเดีย

การขยายพันธุ์สะเดาอินเดีย

สะเดาอินเดียสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิเช่น การเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง เป็นต้น สำหรับวิธีการขยายพันธุ์สะเดาอินเดีย นั้น สามารถทำได้เช่นเดี่ยวกันกับการขยายพันธุ์สะเดาไทย หรือ สะเดาบ้าน ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความเรื่อง “สะเดา ” ก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบ เปลือกต้น ช่อดอก ผล และเมล็ด ของสะเดาอินเดีย ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น ในส่วนใบ และเปลือกต้นพบสาร nimbolide, nimbin, quercetin, gedunin เป็นต้น ในช่อดอกพบสาร nimbosterol, nimbosterin และ becetin ในผลพบสารขม bakayanin และในเมล็ดพบสาร margosic acid, meliantriol, azadirachtin, nimbin, nimbunin และ nimbidin อีกด้วย

โครงสร้างสะเดาอินเดีย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสะเดาอินเดีย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบ และน้ำมันหอมระเหยของสะเดาอินเดียพบว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพและต้านการเกิดไบโอฟิล์ม มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อรา และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดใบสะเดาอินเดียด้วยเอทาอล 70% และสารสกัดดอกแพงพวยฝรั่ง ด้วยเอทานอล 70% ที่ความเข้มข้น 10%, 20%, 40% โดยทดสอบในเชื้อ Candidaalbicans ที่ดื้อต่อยา fluconazoleจำนวน 4 สายพันธุ์ (CA 1-CA 4) และเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยา methicillin (methicillinresistant Staphylococcus aureus;MRSA) พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ต้านเชื้อ C. albicans และ MRSA ได้ ซึ่งฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น โดยสารสกัดจากใบสะเดาอินเดียมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรียได้ดีกว่าสารสกัดจากดอกแพงพวยฝรั่ง ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ (minimuminhibitory concentration: MIC) ของสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ต่อเชื้อ CA 1-CA 4 อยู่ในช่วง 0.1-4 มก./มล. และค่า MIC ของสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ต่อเชื้อ MRSA เท่ากับ 1 และ 1 มก./มล. ตามลำดับ ขณะที่ค่า MIC ของยา fluconazole และ voriconazole ซึ่งเป็นตัวควบคุมบวกของการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรา อยู่ในช่วง >64 มคก./มล. และ 4-16 มคก./มล. ตามลำดับ และค่า MIC ของยา tetracycline, ampicillin และ streptomycin ซึ่งเป็นตัวควบคุมบวกของการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เท่ากับ 32, 16 และ 8 มคก./มล. ตามลำดับจากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดทั้ง 2 ชนิด เมื่อให้ร่วมกับยาต้านเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียโดยประเมินผลจากค่าดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพร่วม (fractional inhibitory concentration index; FIC) พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ยา fluconazole และ voriconazole ออกฤทธิ์ร่วมกันทั้งแบบเสริมฤทธิ์ (synergy), เพิ่มฤทธิ์ (additive) ต้านฤทธิ์ (antagonism) และไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา (indifference) ต่อเชื้อ CA 1-CA 4 สารสกัดจากใบสะเดาอินเดีย มีผลเสริมฤทธิ์ของยา tetracycline และ ampicillin แต่ไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา streptomycin ขณะที่สารสกัดจากดอกแพงพวยฝรั่งมีผลเสริมฤทธิ์ของยา tetracycline แต่ต้านฤทธิ์ของยา ampicillin และไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา streptomycin นอกจากนี้สารสกัดทั้ง 2 ชนิด ยังมีผลยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์มของเชื้อ C. albicans และ MRSA ที่ทดสอบได้อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารสกัดสะเดาอินเดีย จากใบและน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินของสะเดาอินเดีย มีฤทธิ์ลดไข้ และฆ่าแมลงอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสะเดาอินเดีย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของสะเดาอินเดีย ด้วยเอทานอลระบุว่า เมื่อให้สารสกัดเอธานอลของสะเดาอินเดีย ( Azadirachta indica (L.) Juss.) แก่หนูถีบจักรทางปากในขนาด 5, 10 หรือ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 10 กรัม/วัน เป็นเวลานาน 7 วัน มีผลทำให้โครงสร้างของโครโมโซมของเซลล์ไขกระดูกเกิดการแตกหัก และรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์ไขกระดูกในขั้นเมตาเฟส (metaphase)


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สะเดาอินเดีย เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เนื่องจากมีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษววิทยาระบุว่ามีผลกระทบต่อเซลล์ไขกระดูกในหนูทดลอง ดังนั้นในการใช้ควรใช้โดยความระมัดระวัง โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สะเดาอินเดีย
  1. พร้อมจิต ศรลัมพ์ และคณะ. (2543). สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 : สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ :อัมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “สะเดาอินเดีย”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 764-765.
  3. เต็ม สมิตินันท์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “สะเดาอินเดีย (Sadao India)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 293.
  5. กรมวิชาการเกษตร. (2547). พรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  6. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สะเดาอินเดีย”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 59.
  7. สะเดาอินเดีย.กลุ่มยาแก้ไข้ ลดความร้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ
  8. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ และต้านการเกิดไบโอฟิล์มของสารสกัดจากสะเดาอินเดียและแพงพวยฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสหมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. ความเป็นพิษต่อยีนของสารสกัดสะเดาอินเดีย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.