โคลีน
โคลีน
ชื่อสามัญ Choline
ประเภทและข้อแตกต่างสารโคลีน
สารโคลีนมีชื่อทางเคมีว่า 2-hydroxyethyl – trimethyl - ammonium เป็นสารประกอบที่คล้ายกับ วิตามินบี และถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ (Watersoluble vitamins) โดยจัดเป็นสารอาหารที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง ซึ่งโคลีนมีลักษณะเป็นผลึกแข็งไม่มีสี ละลายในน้ำ และแอลกอฮอล์ดูดความชื้นไม่คงตัวเมื่อถูกด่าง สำหรับในร่างกายจะอยู่ในรูป ฟอสโฟไลปิดหรือ Acetylcholine จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีนและฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และเป็นสารที่ให้กลุ่มเมธิลแก่สารอื่น เพื่อใช้สร้างสารฟอสโฟไลปิด ป้องกันไม่ใช้ไขมันสะสมในตับ (Lipotropic factors) และเป็นส่วนประกอบของ Acetylcholine ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของระบบประสาท
ส่วนประเภทของไคลีนนั้นจะมีเพียงประเภทเดียวแต่โคลีน จะเป็นสารต้นกำเนิดในการสังเคราะห์สารต่างๆที่สำคัญของร่างกาย เช่น อะเซตทิลโคลีน (acetylcholine) ฟอสโฟไลปิด (phospholipid) และบีเทน (betaine) เป็นต้น
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารโคลีน
ในอดีตโคลีนถูกจัดเป็นสารที่ไม่จำเป็นสำหรับร่างกายเนื่องจากร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์โคลีนได้ แต่ในระยะหลังมีข้อมูลจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าร่างกายสามารถสังเคราะห์โคลีนได้ในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จึงต้องได้รับจากอาหารด้วย ซึ่งแหล่งอาหารที่มีโคลีนอยู่จะมีทั้งอาหารที่ได้จากพืชและสัตว์ โดยอยู่ในรูปของโคลีนและเลซิติน โดยแหล่งอาหารที่มีโคลีนและเลซิตินมาก ได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว ถั่งเมล็ดแห้ง เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ กะหล่ำดอก กะหล่ำปี นอกจากนี้ยังพบในอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น นมผงที่มีการเติมโคลีนเข้าไป ไอศกรีม และเค้ก เป็นต้น
ปริมาณที่ควรได้รับสารโคลีน
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องปริมาณโคลีนที่ได้รับจากอาหารแต่มีการศึกษาวิจัยการหาค่า Dietry Referance Intake (DRI) ของโคลีนของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการเก็บข้อมูลการได้รับสารอาหารในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดีซึ่งเป็นค่าปริมาณโคลีนที่เพียงพอในแต่ละวัน {Adequate Intake (AI)} และมีการประเมินว่าผู้ใหญ่ปกติได้รับโคลีนจากอาหารประมาณ 700-1,100 มิลลิกรัมต่อวัน และในปัจจุบันจึงมีการกำหนดปริมาณของโคลีนที่ควรได้รับประจำวันดังตารางต่อไปนี้
ปริมาณโคลีนอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับกลุ่มบุคคลวัยต่างๆ
ประโยชน์และโทษสารโคลีน
โคลีนเป็นสารที่มีหมู่เมทิล 3 ตัวอยู่ในโครงสร้าง จึงทำหน้าที่เป็นหมู่เมทิล (methyl donor) แก่สารอื่นๆในร่างกาย เช่น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเยื่อหุ้มเซลสมองและสารเคมีในสมองดังอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) โดยเป็นสารสื่อสมอง หรือส่งสัญญาณประสาท ซึ่งจะช่วยควบคุมความจำและสติปัญญา เมื่อระดับอะเซทิลโคลีนลดลงจะทำให้หลงลืม และความสามารถในการคิดลดลง และยังเป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของฟอสโฟลิพิด(Phospholipids) ที่ชื่อว่า Phosphatidylcholine ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 50% ของส่วนประกอบในเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูก ซึ่ง Phosphatidylcholine มีความสามารถในการสังเคราะห์และหลั่ง ไลโปโปรตีน(Lipoproteins) ในรูปไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (Very Low Density Lipoprotein หรือ VLDL) ซึ่งในตับ VLDL มีหน้าที่จำเป็นในการขนส่งไขมันและป้องกันการสะสมไขมันในตับ รวมถึงยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สฟิงโกไมอีลิน (sphingomyelin) ซึ่งสฟิงโกไมอีลินเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์และปลอกไขมันที่หุ้มใยประสาท นอกจากนี้โคลีนยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ บีเทนอีกด้วย และโคลีนเกี่ยวข้องกับการควบคุม
สำหรับโทษของโคลีนนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะขาดโคลีน ซึ่งมีรายงานว่ามีการศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับอาหารที่ขาดโคลีน แต่มีเมทไธโอนีนโฟเลต และวิตามินบี 12 เพียงพอก็ยังไม่สามารถสังเคราะห์โคลีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ ทำให้ปริมาณโคลีนสะสมในร่างกายลดต่ำและมีภาวะการทำลายตับร่วมด้วย
ส่วนในผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำที่ไม่ให้โคลีนเสริมแต่ได้รับเมทไธโอนีนและโฟเลตจะเกิดภาวะไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากพิษของแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver) รวมทั้งมีการทำลายตับ ผู้ป่วยหลายรายที่มีการทำงานของตับผิดปกติสามารถรักษาได้ด้วยการให้โคลีนหรือเลซิติน นอกจากนี้ยังพบว่าคนและสัตว์ที่ขาดโคลีนจะมีระดับของเอนไซม์ alanine aminotransferase สูงกว่าปกติอีกด้วย ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ภาวะได้รับโคลีนมากเกินไป โดยมีรายงานการได้รับโคลีนในรูปยาเม็ดเลซิติน สูง 20 กรัม พบว่ามีอาการข้างเคียง คือ มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ มีกลิ่นตัวคล้ายกลิ่นปลา (เนื่องจากมีการขับสารเมตาบอไลต์ของโคลีนคือ trimethylamine ออกมา) มีอาการซึมเศร้า และคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารโคลีน
มีผลการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการดูดซึมและขนส่งโคลีนในร่างกาย ระบุว่าการดูดซึมโคลีนจะเกิดขึ้นที่ลำไส้เล็ก ส่วนเจจูนัม และอีเลี่ยม เป็นหลัก โดยอาศัยพลังงานและโปรตีนในการนำเข้าสู่เซลล์ ก็จะได้เป็นฟอลฟาทิดิลโคลีน และเมื่อสารดังกล่าวเข้าสู่เซลล์ตับ จะมีเอนไซม์ phophoipase ที่เยื่อหุ้มเซลล์ทำหน้าที่ปลดปล่อยโคลีนออกจากฟอสฟาทิดิลโคลีน และนำโคลีนเข้าสู่เซลล์ และจะถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์ฟอสฟาทิดิลโคลีนผ่านกลไก COD choline pathway หรือถูกเปลี่ยนเป็นบีเทนต่อไป
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของโคลีนระบุว่า จากการศึกษาตามเป็นพิษของการได้รับโคลีนในรูปคลีนคลอไรด์ในระดับที่สูงในสัตว์ทดลองพบว่าสัตว์ทดลองมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ชัก ตัวสั่น หลั่งน้ำลายมากขึ้น ผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ หายใจลำบาก โดยระดับของโคลีนที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 3.4-6.7 ก./อาหาร 1กก. ส่วนการศึกษาหนึ่งพบว่าการได้รับโคลีนในรูปยาเม็ดเลซิตินสูงถึง 10 กรัมต่อวัน ยังไม่พบอาการผิดปกติ ยกเว้นท้องเสียเล็กน้อย
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
สำหรับโคลีนนั้นจะพบว่าร่างกายจะเกิดภาวการณ์ขาดน้อยมากเพราะเป็นสารอาหารที่มีอยู่ในแหล่งอาหารที่มนุษย์ต้องบริโภคอยู่แล้ว และยังมีรายงานว่าหากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็จะไม่เกิดภาวะโคลีนและไม่ต้องรับประทานโคลีนเสริมอีกด้วย แต่ควรระมัดระวังในกรณีที่รับประทานโคลีนที่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือยาที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงดังที่กล่าวมาแล้วได้
อ้างอิงโคลีน
- ผศ.ดร.สุวลี โล่วิรกรณ์.กินอาหารอย่างไรจึงจะบำรุงสมอง.วารสารศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นปีที่15.ฉบับที่1-2ประจำเดือน มกราคม-มิถุนายน 2550.หน้า21-25
- ไมตรี สุทธิจิตต์ . 2548. ผลดีต่อสุขภาพของสารออกฤทธิ์ ชีวภาพในผักและผลไม้ไทย.ในเอกสารการประชุมวิชาการโภชนาการ 48. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล
- กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทยกรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2544;141-4
- ชนิดา ปโชติการ ศัลยา คงสมบูรณ์เวช อภิสิทธิ์ ฉัตราทนานนท์.2548.อาหารและสุขภาพ.กรุงเทพ.เสริมมิตร.ทวีทอง หงส์วิวัฒน์2546.กินต้านโรค.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงแดด.
- คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ.2563.กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี.โปรเกรสชีพ 2563
- Food and Nutrition Board, Institute of Medicine. DRI Dietary Reference Intake for thiamin, riboflavin, niacin, vitamin B6, folate, vitamin B12, pantothenic acid, biotin, and choline. Washington, D.C.: National Academies Press, 2000;390-421
- Linus Pauling Institute, Oreg on State University. Choline. http://lpi.oregonstate.edu/mic/othernutrients/choline. Accessed 8 August 2016.
- Mc Dowell LR 2000.Vitamins in animal and human nutrition.2ed.lowa State University Press:479-596
- United States Department of Agriculture, Agricultural Research Service, National Nutrient Database for Standard Reference Release 28. https://ndb.nal.usda.gov/ndb/nutrients/index. Accessed 8 August 2016
- Wartman RJ,Cansey M and Ulus IH 2007.Choline and its products acetylcholine and phosphate dylcholine. Spinger-Verlag Berlin Heidelberg.59PP.
- Garrow TA. Choline and carnitine. In: Bowman BA, Russell RM. eds. Present knowledge in nutrition. 8th ed. Washington, D.C.: ILSI Press, 2001;261-70.