พระจันทร์ครึ่งซีก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
พระจันทร์ครึ่งซีก งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พระจันทร์ครึ่งซีก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวครึ่งซีก(ภาคกลาง, ชัยนาท), ผักขี้ส้ม(สกลนคร), บ้านเปีอนเหลียน, ปัวปีไน้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lobelia chinensis Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lobelia radicans Thunb., Loblia caespitosa Blume, Dertmanna chinensis (Lour.) Kmtze
ชื่อสามัญ Chinese lobelia , Creeping lobelia
วงศ์ CAMPANULACEAE
ถิ่นกำเนิดพระจันทร์ครึ่งซีก
พระจันทร์ครึ่งซีกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยมักจะพบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศจีน จากนั้นจึงมีการกระจายพันธ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง อาทิเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย และลาว เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย สามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคตะวันออก โดยจะพบกระจายอยู่ห่างบริเวณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100 -300 เมตร
ประโยชน์และโทษพระจันทร์ครึ่งซีก
- ใช้เป็นยาดับพิษร้อน
- ถอนพิษพิษไข้
- บำรุงปอด
- แก้หอบหืด
- บำรุงปอด
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปอดพิการอักเสบ
- แก้เจ็บคอ
- รักษาไส้ติ่งอักเสบ
- แก้ท้องเสีย
- แก้ดีซ่าน
- แก้ข้ออักเสบ
- แก้บวม
- แก้ฝี
- แก้กลากเกลื้อน
- แก้คัดจมูก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้พระจันทร์ครึ่งซีก
- ใช้แก้ทอนซิลอักเสบ และคออักเสบ โดยใช้ต้นสดตำให้ละเอียด ปั้นเป็นก้อนขนาดไข่ไก่ ใส่ในถ้วย เติมเหล้าลงไป 90 มล. ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาน้ำ แบ่งอม 3 ครั้งๆ ละ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง
- ใช้แก้ บิด โดยใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มน้ำเติมน้ำตาลแดง(น้ำตาลอ้อย) กิน
- ใช้แก้ ท้องเสีย โดยใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน
- ใช้แก้ บวมน้ำ และท้องมาน โดยใช้ต้นสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
- ใช้แก้ ดีซ่าน ขัดเบา บวมน้ำ โดยใช้ต้นสด 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา 30 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย แบ่งกิน 2 ครั้ง เช้าและเย็น
- ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ต้นสดตำผสมเหล้าเล็กน้อยกิน
- ใช้แก้ เคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ โดยใช้ต้นสด 60 กรัม น้ำ 180 มล. ต้มให้เหลือ 90 มล. กรองเอาน้ำเก็บไว้นำกากที่เหลือไปต้มอีกครั้งตามอัตราส่วนเดิม นำน้ำกรองครั้งที่สองรวมกับครั้งแรก แล้วเคี่ยวให้เหลือ 60 มล. เทใส่ขวดเก็บไว้ เวลาใช้เอาสำลีชุบน้ำยาปิดตรงบริเวณที่ปวดบวม
- ใช้แก้ ฝี แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบ โดยใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือเล็กน้อย ตำให้แหลก พอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ เต้านมอักเสบ โดยใช้ต้นสดตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ ตาแดง โดยใช้ต้นสดจำนวนพอสมควรล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด น้ำมาพอกบนหนังตา เอาผ้าก๊อซที่สะอาดปิด เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
- ใช้แก้พยาธิใบไม้ในตับ โดยใช้ต้นยาแห้ง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน
- ใช้ ห้ามเลือด แก้ฝีตะมอย ฝีหนอง ดับพิษ แก้บวม โดยใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของพระจันทร์ครึ่งซีก
พระจันทร์ครึ่งซีกจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุหลายปีมีลักษณะคล้ายหญ้า โดยลำต้นมีสีเขียวหรือสีแดงอมเขียว มีลักษณะเรียวเล็กและมีข้อ ผิวเรียบเป็นมัน ถ้าหักลำต้นจะมีน้ำยางขาวขุ่นเหมือนน้ำนมไหลซึมออกมา มักทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ส่วนยอดชูขึ้น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-20 เซนติเมตร และตามข้อของลำต้นจะมีใบ หรือกิ่งออกสลับกัน และมีรากฝอยแตกออกมาตามข้อ ส่วนรากใต้ดินมีขนาดเล็กกลมสีเหลืองอ่อน ภายในเป็นสีขาว
ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับตามข้อของลำต้น ซึ่งใบมีลักษณะเป็นรูปรี รูปหอก หรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.2-0.6 ซม. และยาวประมาณ 1-2 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบตื้นๆ แผ่นใบเรียบมีสีเขียวเป็นมัน ไม่มีก้านใบ
ดอกเป็นดอกเดี่ยว ตามซอกใบ ดอกเป็นสีม่วงอ่อนหรือสีขาว มี 5 กลีบ โครนเชื่อกันเป็นหลอด รูป รียาว ปลายกลีบดอกแหลม แยกเป็น 5 กลีบ เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม เรียงตัวกันอยู่เพียงด้านเดียว เมื่อดอกบานกลีบดอกจะแยกไปทางเดียวดูคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก หลอดดอกด้านนอกมีขนสีขาว มีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน มีก้านดอกยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วง 5 กลีบ
ผลมีลักษณะเป็นผลแห้งขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-6 มม. และมักแตกออกเมื่อแห้ง ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ส่วนเมล็ดมีลักษณะรีแบน
การขยายพันธ์พระจันทร์ครึ่งซีก
พระจันทร์ครึ่งซีกเป็นพืชล้มลุกคล้ายกับหญ้า สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการใช้เมล็ดและการแยกต้นปักชำ ซึ่งในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์โดยเมล็ดจากผลแก่ที่แห้งแตกออก แต่สำหรับการขยายพันธุ์โดยมนุษย์นั้น ส่วนมากจะนิยมใช้วิธีการแยกต้นปักชำ เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ทั้งนี้พระจันทร์ครึ่งซีกเป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี อีกทั้งยังเป็นพืชที่ชอบความชื้นสูง โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้นแฉะอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของพระจันทร์ครึ่งซีกระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารกลุ่ม Alkaloid ได้แก่ สาร Lobeline, Lobelanine และ Lobclanidine อีกทั้งยังพบสาร 6,7-dimethoxycoumarin, apigenin, fraxinol, luteolin, linarin, 5-hydroxy-7-methoxycoumarin, tomentin, 3'-hydroxygenkwanin, quercetin, luteolin 3',4'-dimethylether-7-O-beta-D-glucoside, isoferulic acid , และ ethyl rosmarinate นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่าในส่วนรากและลำต้นของพระจันทร์ครึ่งซีกยังพบสารกลุ่ม flavone และ inulin อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก ระบุไว้ว่า พระจันทร์ครึ่งซีก มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งมีการศึกษาวิจัย โดยการฉีดสารสกัดทางเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วย แต่เมื่อกรอกสารสกัดเข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีฤทธิ์เฉพาะในการขับปัสสาวะ แต่ไม่ทำให้ความดันโลหิตลดลง และต้องใช้ในปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจึงจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต โดยฤทธิ์ในการขับปัสสาวะนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้าเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ต้นที่เก็บได้หลังการออกดอกจะมีฤทธิ์มากกว่าก่อนออกดอก, การต้มด้วยน้ำเดือดๆ หรือใช้ความร้อนสูง เช่น การอบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะถูกทำลายหมด, ถ้านำมาแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีรสเปรี้ยว และซึ่งไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ, ภายหลังการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะจะค่อยๆ ลดลง เป็นต้น แต่สำหรับคนปกติแล้ว ถ้ากินยาต้มนี้จะมีผลทำให้ขับปัสสาวะและเมื่อฉีดสารละลายที่ได้จากการต้มเข้าช่องท้องของหนูทดลอง พบว่าจะทำให้ระยะเวลาที่เลือดแข็งตัวลดลง ซึ่งสรุปได้ว่า สามารถห้ามเลือดได้
นอกจานี้ยังมีการนำสารสกัดที่ได้จากพระจันทร์ครึ่งซีกมาฉีดให้กับสุนัขที่ได้รับพิษงู พบว่าสามารถยับยั้งพิษงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจับพบว่าพระจันทร์ครึ่งซีก ยังมีฤทธิ์ต่อต้านและยับยั้งเชื้อไทฟอยด์, เชื้อบิด, ในลำไส้ใหญ่ และเชื้อ Staphelo coccus ได้อีกด้วย
ส่วนอีกการศึกษาหนึ่ง ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ในระยะท้าย ที่มีอาการตับแข็งและท้องมาน (โดยใช้ร่วมกับยาที่มีพลวง พวก antimony potassium tartrate ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้) พบว่ามีฤทธิ์แตกต่างกันไป แต่ฤทธิ์ที่ตรงกันคือ มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น และบางรายอาจทำให้ถ่ายท้อง ซึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบนี้ มีจำนวนมากที่ขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ปัสสาวะเป็นปกติ ระยะเวลาออกฤทธิ์ขับปัสสาวะไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลใน 1-5 วัน ในช่วงที่รักษาด้วยยานี้พบว่า อาการท้องมานลดลง กินอาหารได้มากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น ซึ่งจากการใช้กับผู้ป่วย 100 ราย พบว่าได้ผล 69 ราย
การศึกษาทางพิษวิทยาลของพระจันทร์ครึ่งซีก
มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิษวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก พบว่าเมื่อให้สารสกัดพระจันทร์ครึ่งซีกโดยการกรอกเข้าไปในกระเพาะอาหารหนูขาว ค่าที่ทำให้หนูทดลองตายได้ครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 75.1 ± 13.1 กรัม/กก.(น้ำหนักตัว) ส่วนปริมาณของสารละลายที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดของหนูถีบจักรทดลอง แล้วทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 6.10 ± 0.26 กรัม/กก.(น้ำหนักตัว) และเมื่อฉีดสารสกัดพระจันทร์ครึ่งซีกเข้าทางช่องท้องของหนูขาวทดลองในปริมาณ 0.1-1.0 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว วันละครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าน้ำหนักตัวของหนูทดลอง และอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว จึงทำการตรวจสอบทางพยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ ของหนูทดลอง พบว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงแค่ไตบางส่วนของหนูทดลองที่มีอาการบวมเล็กน้อย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในทางการแพทย์จีนถือว่าพระจันทร์ครึ่งซีกเป็นสมุนไพรที่มีความเป็นพิษเล็กน้อย โดยอาจมีผลข้างเคียง เช่น แสบร้อนกลางอก, อาเจียน, อาการสั่น, วิตกกังวล, อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น ดังนั้นในการใช้พระจันทร์ครึ่งซีกเป็นสมุนไพร จึงควรระมัดระวังในการใช้ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์คนที่มีภาวะม้ามพร่อง (มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระหยาบเหลว) ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ อีกทั้งในการใช้พระจันทร์ครึ่งซีกเป็นสมุนไพรในลักษณะยาต้ม ควรใช้ยาสดและใหม่ ไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะยาอาจจะเสื่อมคุณภาพได้ง่าย
เอกสารอ้างอิง พระจันทร์ครึ่งซีก
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม (1999). "พระจันทร์ครึ่งซีก". พจนานุกรมสมุนไพรไทย (5 ed.). กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. หน้า. 533–535.
- ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล.พระจันทร์ครึ่งซีก.คอลัมน์อื่นๆ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 37.พฤษภาคม 2525
- นิจศิริ เรืองรังษี; ธวัชชัย มังคละคุปต์ (2004). "พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)". สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บี เฮลท์ตี้. หน้า. 190.
- วิทยา บุญวรพัฒน์ (2011). "พระจันทร์ครึ่งซีก". สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย. หน้า. 366.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พระจันทร์ครึ่งซีก”.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 133.
- พระจันทร์ครึ่งซีก.กลุ่มยาแก้อาเจียน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_11_3.htm
- Han J, Zhang F, Li Z, Du G, Qin H (2009). "[Chemical constituents of Lobelia chinensis]". Zhongguo Zhong Yao Za Zhi . 34 (17): 2200–2.
- Chen JX, Huang SH, Wang Y, Shao M, Ye WC (2010). "Studies on the chemical constituents from Lobelia chinensis". Zhong Yao Cai. 33 (11): 1721–4.