เล็บเหยี่ยว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เล็บเหยี่ยว งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เล็บเหยี่ยว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะตันขอ, หนามเหยี่ยว (ภาคเหนือ) เล็บแมว, ยับเหยี่ยว (ภาคอีสาน), ยับยิ้ว, แสงคำ, สั่งคัน (ภาคใต้), พุทธาขอ (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus oenopolia (L.)Mill.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhamnus oenopolia Linn.
ชื่อสามัญ Wild Jujube, Jackal jujube, Small-fruited jujube
วงศ์ RHAMNACEAE


ถิ่นกำเนิดเล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยว จัดเป็นพืชในวงศ์ พุทรา (RHAMNACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ แล้วกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย รวมถึงจีนตอนใต้ และตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณชายป่าทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด และตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณเล็บเหยี่ยว

  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้โรคเบาหวาน
  • แก้มดลูกพิการ
  • แก้ไข้ทับระดู
  • ช่วยขับระดูขาว
  • แก้ฝีในมดลูก
  • แก้ตะคริว
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้อาการปวดเมื่อย
  • แก้ฝีมุตกิต
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้ฝี
  • แก้ไอ
  • แก้เสมหะ
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ใช้ฆ่าเชื้อ
  • ช่วยขับพยาธิตัวกลม
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยรักษาภาวะกรดเกิน
  • รักษาอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร

           มีการนำผลสุกของเล็บเหยี่ยว ที่มีรสเปรี้ยวอมหวานมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ โดยเฉพาะเด็กๆ ในชนบทจะนิยมเก็บมารับประทานเล่น ส่วนเปลือกต้นพบว่ามีสารแทนนินอยู่ถึง 12% จึงมีการนำมาใช้ในการฟอกหนัง

เล็บเหยี่ยว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน แก้มดลูกพิการ แก้ฝีมุตกิด ฝีในมดลูก แก้มดลูกพิการ โดยนำราก และเปลือกต้นเล็บเหยี่ยว มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
  • ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้ผลสุกของเล็บเหยี่ยวมารับประทานสด
  • ใช้บำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยโดยนำเปลือกต้น หรือ ลำต้นเล็บเหยี่ยวตากแห้ง ต้นฮ่อสะพานควาย เปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง ข้าวหลามดง ม้ากระทืบโรง จะค่าน แก่นฝาง โด่ไม่รู้ล้ม ตานเหลือง ไม้มะดูก และหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำรวมกันดื่ม
  • ใช้แก้ไอ โดยใช้รากเล็บเหยี่ยว รากหญ้าคา และรากหญ้าชันกาด ต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้ไข้ทับระดู โดยใช้รากเล็บเหยี่ยว แก่นจันทน์ขาว รากรางแดง รากสามสิบ แก่นจันทน์แดง รากชะอม และเขากวาง นำมาฝนใส่ข้าวจ้าวรับประทาน
  • ใช้แก้ตะคริวโดยใช้รากเล็บเหยี่ยว รากคนทา รากกำจาย รากมะแว้งต้น รากดังดีด รากทองกวาว ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว นำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาประคบ


ลักษณะทั่วไปของเล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยว จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง ยาว 3-10 เมตร เถาและกิ่งมีสีดำเทา หรือ สีน้ำตาล มีหนามสั้นแหลมโค้งตามลำต้น และกิ่งก้าน เปลือกเถาเรียบ หรือ ขรุขระเล็กน้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม และมีเปลือกด้านในสีแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบรี กว้าง 1-3 เซนติเมตร และยาว 2-6 เซนติเมตร โคนใบมน และเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบนุ่มอ่อนมีขนนุ่มสั้นๆ บริเวณผิวใบทั้งสองด้าน ใบมีเส้นใบที่เห็นได้ชัด 3 เส้น ออกจากฐานใบถึงปลายใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบโดยจะออกเป็นช่อกระจุก ขนาดเล็ก ประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยจำนวนมาก (ประมาณ 5-11 ดอก) ลักษณะกลีบดอกมีสีเขียวหรือเขียวอมเหลือง 5 กลีบ คล้ายรูปช้อน ปลายกลม กว้าง 0.2-0.5 มิลลิเมตร ยาว 0.8-1 มิลลิเมตร ออกสลับกับกลีบเลี้ยง และมีเกสรเพศผู้ มี 5 อัน สีเขียวอมเหลือง และมีก้านดอกย่อยยาว 1.0-2.5 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ผลเป็นผลสด ลักษณะทรงกลม หรือ รูปไข่ ผิวเนียนเกลี้ยงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อผลยังอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ก้านผลมีขนกระจายอยู่ทั่วไป ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ด้านในผลมีเมล็ดทรงกลม 1 เมล็ด ลักษณะค่อนข้างแข็ง มีขนาดกว้าง 5-8 มิลลิเมตร และยาว 6-9 มิลลิเมตร

เล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยว

การขยายพันธุ์เล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดก็สามารถทได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ แต่การเพาะเมล็ดเล็บเหยี่ยว ค่อนข้างจะใช้เวลานานกว่าพืชชนิดอื่น โดยอาจต้องรอถึง 3 เดือน กว่าที่ต้นกล้าจะงอก และมีความสมบูรณืพร้อมที่จะสามารถนำไปปลูกได้ ทั้งนี้ สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่จะชอบดินร่วนปนทรายมากกว่า และยังเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้ดีไม่ชอบน้ำขัง ชอบความร้อน ชอบแสงแดด ชอบดินที่ชุ่มชื้นเล็กน้อย แต่การปลูกช่วงแรกอาจต้องให้น้ำเพียงพอ  และหลังจากปลูกแล้วเล็บเหยี่ยวจะให้ผลผลิต ประมาณ 2-3 ปี หลังปลูก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของเล็บเหยี่ยว รวมถึงสารสกัดจากเปลือกต้น และใบของเล็บเหยี่ยว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนของผล ใบ เปลือกต้น และรากของเล็บเหยี่ยว พบสาร betulin, betulinic acid, betulinic aldehyde, alphitolic acid, zizyberenalic acid, euscaphic acid, β−sitosterol, scopoletin, quercitrin, kaempferol, afzelin, silvestrol และ combrestatin เป็นต้น สารสกัดจากเป็นต้น และใบของเล็บเหยี่ยว พบสารออกฤทธิ์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น flavones-Cglucosides-6”sinapoylspinosin, 6”-feruloylspinisin and 6-“p-coumaroylspinosin. และ 3-o-ziziyphus [2-α-L-fucopyrnosyl-3-o-β-Dglucopyranosyl-α-Larabinopyranosyl] jujubogenin. เป็นต้น

โครงสร้างเล็บเหยี่ยว

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเล็บเหยี่ยว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเล็บเหยี่ยว จากส่วนต่างๆ ในต่างประเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้

         สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคมีเรีย staphylococcus epidemidis staphylococcus aureus  Esherichia coli และ Pseudomonas aeruginosa และอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ถ่ายพยาธิ ส่วนสารสกัดเอทานอลจากรากมีฤทธิ์ปกป้องตับ ที่เกิดจากพิษของยาพาราเซตามอน และสารสกัดแอลกอฮอล์จากเมล็ด มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยระบุว่าสารจากเปลือก ต้น และราก ด้วยเอทานอลและน้ำ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเล็บเหยี่ยว

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้เล็บเหยี่ยวเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง เล็บเหยี่ยว
  1. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อม และแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 167–168
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เล็บเหยี่ยว ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [31 พ.ค. 2014].
  3. เล็บเหยี่ยว ศูนย์ข้อมูลพืช สำนักวิชาการ-วิจัย องค์การสวนพฤกษศาสตร์
  4. เล็บเหยี่ยว, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?actione=viewpage&pid=279
  5. Abdel-Zaher AO, Salim SY, Assaf MH, Abdel-Hady RH. 2005. Teucrium Polium Antidiabetic activity and toxicity of Zizyphus spina -christi leaves. Journal of Ethnopharmacology, 101(1-3):129-138.
  6. Kirtikar KR, Basu BD. 1991. Indian Medicinal Plants, 2nd Edition, 1:295-296.
  7. Kaur R, Kapoor K, Kaur H. 2011. Plants as a source of anticancer agents Scholars Research Library Journal of Natural Product and Plant Resource, 1(1): 119-124