พรวด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พรวด งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ


ชื่อสมุนไพร พรวด, กระทุ ทุ โทะ, กระทุ, โทะ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พรวดใหญ่, พรวดกินลูก, พรวดผี, ชวด, ง้าย (ภาคตะวันออก), โทะ, กาทุ, กระทุ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cynomyrtus tomentosa (Aiton) Scriv., Myrtus canescens Lour., Myrtus tomentosa
ชื่อสามัญ Hill gooseverry, Downy rose myrtle, Downy myrtle, Ceylohill cherry
วงศ์ MYRTACEAE


ถิ่นกำเนิดพรวด

พรวด จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้าง เช่น อินเดีย ศรีลังกาจีน พม่า ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะซูลาเวซี สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากทางภาคตะวันออก และภาคใต้ เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ภูเก็ต ชุมพร สงขลา พังงา กระบี่ นราธิวาส และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งจะพบบริเวณชายหาด ชายป่าพรุ และป่าดิบเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 ม.


ประโยชน์และสรรพคุณพรวด

  • รักษาอาการกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
  • ช่วยรักษาอาหารไม่ย่อย
  • แก้ตับอักเสบ
  • รักษาเลือดออกจากมดลูกในหญิงหลังคลอด (ราก)
  • ใช้รักษาโรคโลหิตจางในหญิงครรภ์ (ผล)
  • รักษาอาการปวดหลัง
  • รักษาอาการปวดข้อ
  • รักษาอาการปวดเอว
  • รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือ ผิวหนังพุพอง
  • ใช้รักษาฝี (ใบแปะฝี)
  • รักษาโรคตับอักเสบ
  • ใช้ทำความสะอาดแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • แก้แผลอักเสบสมานแผล
  • รักษาอาการท้องเสีย
  • แก้อาการแสบยอดอกจากกรดไหลย้อน
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • แก้ไข้
  • แก้บิด
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้อักเสบ

           มีการนำผลสุกของพรวดมารับประทานนเนื่องจากมีรสหวาน และยังมีข้อมูลว่าในเวียดนามมีการนำผลสุกของพรวด มาใช้หมักทำไวน์ผลไม้ หรือ ใช้ทำแยมเยลลี่ และผลไม้กวนอีกด้วย ส่วนยางเหนียวที่ได้จากเนื้อไม้มีสีดำคนสมัยโบราณใช้ทาฟันและคิ้วให้ดำ ส่วนเนื้อไม้ของพรวดมีคุณสมบัติค่อนข้างแข็ง มักจะนำยมใช้เป็นไม้แตะ ทำเป็นคอกสัตว์ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการประมงและใช้ทำฟืน  นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในอินโดนีเซีย มีการนำพรวดมาปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากดอกของต้นพรวดมีสีสันสดใสสวยงามอีกด้วย

พรวด 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ในมาเลเซียจะใช้เป็นยารักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเสีย และปวดท้อง โดยนำผลมาต้มกับน้ำดื่ม และใช้รากและใบต้มน้ำดื่ม รักษาอาการท้องเสีย แก้อาการแสบยอดอกจากกรดไหลย้อน
  • จีนและมาเลเซีย ใช้รากพรวด มาต้มน้ำดื่มรักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ หรือ ใช้ชำระล้างบาดแผล เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือ ผิวหนังพุพอง
  • จีนใช้ราก และใบพรวดมาต้มน้ำดื่มรักษาอาการกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง ใช้เป็นยาแก้อาการอาหารไม่ย่อย และโรคตับอักเสบ
  • อินโดนีเซียใช้รักษาแผล แก้แผลติดเชื้อโดยนำใบพรวดมาตำให้ละเอียดแล้วพอกที่แผล
  • ไทยใช้ทั้งต้น (ราก ลำต้น ดอก ใบ ผล) มาต้มกับน้ำดื่มใช้ บำรุงโลหิต แก้โลหิตจากในสตรีมีครรภ์ แก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย หรือ นำน้ำที่ต้มมาชำระล้าง บาดแผล เพื่อแก้แผลอักเสบสมานแผล


ลักษณะทั่วไปของพรวด

พรวด จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้น ทรงพุ่มกลมสูง 1-4 เมตร ทรงพุ่มกลม เปลือกต้นมักจะลอกเป็นแผ่นบางๆ ส่วนกิ่งอ่อนยอดอ่อน ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง กลีบดอกรวมถึงผล จะมีขนสั้นหนานุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามใบมีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปขอบขนานโคนใบสอบ หรือ เป็นรูปลิ่มกว้าง ปลายใบมน ทู่ หรือ เป็นติ่งแหลมเล็กๆ ส่วนขอบใบเรียบม้วนลงเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสีขาวเป็นปุย ใบด้านบนสามารถมองเห็นเส้นใบ 3 เส้น ลากจากโคนจรดปลายใบ และมีเส้นแขนงใบข้างละ 1 เส้น เรียงโค้งจากโคนใบจรดกันไปตามเส้นขอบใบ และมีก้านใบยาว 0.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ บางครั้งอาจเป็นช่อกระจุกซ้อน โดยจะออกบริเวณซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกมีสีม่วงแกมชมพู เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่กลับเกือบกลม ยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 3-4 เซนติเมตร ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ และมีเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ส่วนก้านชูอับเรณูสีแดง ยาว 0.7-1 เซนติเมตร มีก้านดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดทรงกลมแกมรีกลีบเลี้ยงติดทน และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวด้านๆ มีขนสั้นๆ หนานุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม เมื่อแก่ผลจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำถึงดำ ด้านในผลมีเนื้อผลสุกเป็นสีม่วง นุ่ม มีรสหวาน และมีเมล็ดมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไตสีน้ำตาล มีขนาดกว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 3 มิลลิเมตร มีปุ่มกระจาย

พรวด

พรวด

พรวด

การขยายพันธุ์พรวด

พรวดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของพรวด นั้น โดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากพรวดยังไม่เป็นที่นิยมนำมาปลูก ส่วนการนำมาใช้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการเก็บมาจากธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากกว่าการปลูกไว้ใช้ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกพรวดนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูกไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดพรวด จากส่วนต่างๆ ของพรวดในต่างประเทศระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม meroterpenoids เช่น Rhodomentone A, Tomentodione A , B , Rhodomyrtosone D, Endoperoxide G3, Watsonianone A,C, Tomentosenol A และ Rhodomyrtusials A สารกลุ่ม phenols เช่น Castanin, Pedunculagin, Rhodomyrtosone A,B,C , Progallin A, Gallic acid, α-Tocopherol, Rhodomyrtosone I, Methyl gallate, Tomentosone A,B , Resveratrol, Piceatannol, Astringin, Furosin, Protocatechuic acid, Syringic acid, Ferulaic acid, Trichocarpin และPhloroglucinol สารกลุ่ม triterpenoids เช่น Taraxerol, Betulin, Lupeol, β-Amyrin, Friedelin, Viminalol, β-Sitostenone, Maslinic acid, Urjinolic acid, Laevigatanoside A , β-Stigmasterol, Hederagenin, Myricitrin, Isomyricitrin, Betmidin, Combretol, Leucoside, Quercetin, Laricitrin, Kaempferol, Myricetin, Kaempferol, Vitexin, Dihydromyricetin, Naringenin และ Blumeatin A เป็นต้น โครงสร้างพรวด

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพรวด

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานการทดสอบเตรียมสารสกัดเอทานอลจากผลพรวด  (Rhodomyrtus tomentosa Hassk.) และวิเคราะห์สารสำคัญ พบสารประกอบ phenolics ในปริมาณสูง และทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมปกติ กลุ่มควบคุมที่ให้สารสกัดผลพรวดขนาดสูง 200 มก./กก.นน.ตัว/วัน กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงเพื่อทำให้การปกป้องตนเองของลำไส้ (intestinal barrier) เกิดความผิดปกติ และให้สารสกัดเอทานอลจากผลพรวดขนาดต่ำ 100 มก./กก.นน.ตัว/วัน และขนาดสูง 200 มก./กก.นน.ตัว/วัน และกลุ่มที่เหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงแต่ไม่ให้สารสกัดจากผลพรวด ทำการทดสอบ 12 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากผลพรวดมีผลในการปรับปรุงภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูง เพิ่มความหลากหลายของชนิดจุลินทรีย์ (alpha diversity) ยับยั้งอัตราส่วนของแบคทีเรีย Firmicutes/Bacteroidetes เพิ่มแบคทีเรียที่ผลิตกรดไขมันสายสั้น (Odoribacter, Parabacteroides, Blautia และ Akkermansia) และลดแบคทีเรียก่อโรค (Helicobacter, norank_f_ Desulfovibrionaceae และ Mucispirillum) สารสกัดจากผลพรวดมีฤทธิ์ในการบรรเทาความผิดปกติของลำไส้ และอาการอักเสบจากการกระตุ้นด้วยอาหารไขมันสูง โดยเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนโครงสร้างเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ (tight junction) ลดระดับไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และยับยั้งวิถี lipopolysaccharide-toll-like receptor 4-nuclear factor kappa-B (LPS-TLR4-NF-кB) จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดจากผลพรวด มีฤทธิ์ในการป้องกันความผิดปกติของลำไส้ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงได้และยังมีการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังหลอดลมในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคหอบหืดจากภูมิแพ้ด้วยการให้โปรตีนจากไข่ขาวร่วมกับการให้ผงถ่านหิน กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคหอบหืดและให้ยา salbutamol และกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคหอบหืด และให้สารสกัดเอทานอลจากใบพรวด (Rhodomyrtus tomentosa) ขนาด 200 มคก. ใน 0.9%NaCl ประเมินผลตัวชี้วัดการอักเสบ และยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังหลอดลม ด้วยการวัดจำนวนเซลล์ eosinophil, neutrophils และ lymphocytes ความหนาของเยื่อบุ กล้ามเนื้อเรียบ การเรียงตัวที่ผิดปกติใต้เซลล์เยื่อบุผิวหลอดลม และเซลล์กอบเลท (goblet cell) ผลการทดสอบพบว่าจำนวนเซลล์ eosinophil, neutrophils และ lymphocytes ในกลุ่มที่ให้ยา salbutamol และสารสกัดใบพรวดต่ำกว่ากลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคหอบหืดเพียงอย่างเดียว สารสกัดใบพรวดยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังหลอดลมโดยการลดความหนาของเยื่อบุ เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ การเรียงตัวที่ผิดปกติใต้เซลล์เยื่อบุผิวหลอดลม และจำนวนของเซลล์กอบเลทในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคหอบหืดจากภูมิแพ้ด้วยการให้โปรตีนจากไข่ขาวร่วมกับการให้ผงถ่านหิน

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคไขมันสะสมในตับ (ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์) มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ของผลพรวด (Rhodomyrtus tomentosa Hassk.) ต่อการป้องกันการเกิดโรคไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (non alcoholic fatty liver disease; NAFLD) ในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้อาหารปกติ กลุ่มที่ให้อาหารปกติ และให้สารสกัดเอทานอลจากผลพรวดขนาด 200 มก./กก.นน.ตัว/วัน กลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูง อีกทั้งกลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูงและให้สารสกัดผลพรวดขนาด 100 และ 200 มก./กก.นน.ตัว/วัน โดยได้ตามลำดับ ทำการทดสอบเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดผลพรวดทำให้การถูกทำลายของตับลดลง ลดการอักเสบในตับ ค่าการทำงานของตับที่บ่งชี้ความผิดปกติของตับ ภาวะเครียดออกซิเดชัน ค่าไขมัน และไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จากการวิเคราะห์เกี่ยวกับสารเมแทบอไลต์พบว่าสารสกัดผลพรวดมีผลต่อวิถีเมแทบอลิซึมของสาร tryptophan, alanine, aspartate, glutamate, D-glutamine, D-glutamate, cysteine, methionine, arginine และ proline ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาวะเครียดออกซิเดชันและการอักเสบ และจากการศึกษาเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนที่แตกต่างกัน (differentially expressed genes, DEGs) พบว่าตับของหนูเม้าส์ที่ได้รับอาหารไขมันสูงมีการแสดงออกของยีน Inhbb ลดลง และการแสดงออกของยีน Tnfrsf21, Ifit1, Mapk15 และ Gadd45g ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเพิ่มขึ้น และมีผลในการกระตุ้นการส่งสัญญาณของวิถีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ cytokine-cytokine receptor interaction, NF-кB, NOD-like receptor และ TNF ส่วนหนูเม้าส์ที่ได้รับสารสกัดผลพรวดมีผลในการควบคุมวิถีดังกล่าว จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดผลพรวด มีผลในการควบคุมการแสดงออกของยีน ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในเซลล์ตับของหนูเม้าส์ และยับยั้งวิถี TLR4-NF-кB ที่ทำให้เกิดความเป็นพิษในเซลล์ตับจากการได้รับอาหารไขมันสูง มีผลต่อการป้องกันการเกิดโรคไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในหนูเม้าส์ได้

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแข็ง มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ป้องกันการเกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแข็งของน้ำคั้นจากผลพรวด (Rhodomyrtus tomentosa Hassk.) ในหนูแรท โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุมปกติ กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูง กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงและให้น้ำคั้นจากผลพรวดขนาด 0.5, 1.0 และ 2 ก./กก.นน.ตัว/วัน ทางปาก และกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงและให้ยา simvastatin ขนาด 5 มก./กก.นน.ตัว โดยได้ทำการทดสอบเป็นระยะเวลา 75 วัน ผลการทดสอบจากการตรวจค่าทางชีวเคมีพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำคั้น จากผลพรวดมีผลในการป้องกันการเพิ่มระดับของไตรกลีเซอไรด์ทั้งหมด คอเลสเตอรอลทั้งหมด และคอเลสเตอรอลชนิด LDL และป้องกันการลดลงของคอเลสเตอรอลชนิด HDL ในเลือด และจากการตรวจดูเนื้อเยื่อหลอดเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่าน้ำคั้นจากผลพรวดมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดภาวะหลอดลือดแข็ง โดยการป้องกันความหนาตัวของผนังหลอดเลือด การสะสมของไขมัน การเกิดเซลล์แมคโครฟาจที่กลืนกินไขมันเข้าไป (foam cells) ในผนังชั้นในสุด (tunica intima) ของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) และหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าน้ำคั้นจากผลพรวดมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและภาวะหลอดเลือดแข็งในหนูแรทได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุว่าผลพรวดมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ โดยสาร piceatannol จากผลพรวดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบปกป้องการถูกทำลายของเซลล์ผิวหนังจากรังสี UV โดยทำการทดลองในเซลล์ normal human epidermal keratinocytes (NHEK) ส่วนสาร watsonianone A จากผลพรวดมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบของเซลล์ HEp-2 และ RAW264.7 จากการถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบด้วย respiratory syncytial virus (RSV) ในหลอดทดลอง และสาร myricetin จากผลพรวดยังมีฤทธิ์ต้านการแพ้ โดยทำการทดลองในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว RBL-2H3 อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพรวด

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ส่วนต่างๆ พรวดเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เนื่องจากยังไม่มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา รองรับโดยในการใช้พรวด เป็นสมุนไพรควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง พรวด
  1. Rhodomyrtus tomentosa Hassk. The world flora online [Internet]. 2023 [cited 2023 June 19]. Available from: http://www.worldfloraonline.org/taxon/wfo-0000296387.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 79
  3. วัฒนา ชยธวัช, จงรักษ์ จรัสโสภณวงศ์, อภิษฎา สุขฉนวน, สุวิมล ช่างทองสิริ, ซาวาณี วาจิ. การใช้ประโยชน์ต้นโทะ บ้านโคกสยา จังหวัดนราธิวาส. วารสารรัชต์ภาคย์. 2564;15(42):73-86.
  4. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ, สุนทร ดุริยะประพันธ์, ทักษิณ อาชวาคม, สายันต์ ตันพานิช, ชลธิชา นิวาสประกฤติ. “โทะ”. หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2: ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน. หน้า 390-392.
  5. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. พรวด. ผลไม้ป่าน่าสนใจ. บอกกล่าวเล่าเครื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ราชันย์ ภู่มา. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทธยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม; 2559.
  7. ฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังหลอดลมของสารสกัดจากใบพรวดในหนูเม้าส์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ก้นถ้วยใหญ่, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargaeden.com/main.php?action=viewpaye&pid=197
  9. Wu P, Deng Q, Ma G, Li N, Yin Y, Zhu B, et al. Spray drying of Rhodomyrtus tomentosa (Ait.) Hassk. flavonoids extract: optimization and physicochemical, morphological, and antioxidant properties. Int J Food Sci. 2014;2014:420908. doi: 10.1155/2014/420908
  10. Wang R, Yao L, Lin X, Hu X, Wang L. Exploring the potential mechanism of Rhodomyrtus tomentosa (Ait.) Hassk fruit phenolic rich extract on ameliorating nonalcoholic fatty liver disease by integration of transcriptomics and metabolomics profiling. Food Res Int. 2022;151:110824. doi: 10.1016/j.foodres.2021.110824
  11. Cui C, Zhang S, You L, Ren J, Luo W, Chen W, et al. Antioxidant capacity of anthocyanins from Rhodomyrtus tomentosa (Ait.) and identification of the major anthocyanins. Food Chem. 2013;139(1-4):1-8. doi: 10.1016/j.foodchem.2013.01.107.
  12. Zhuang L, Chen LF, Zhang YB, Liu Z, Xiao XH, Tang W, et al. Watsonianone A from Rhodomyrtus tomentosa fruit attenuates respiratory-syncytial-virus-induced inflammation in vitro. J Agric Food Chem. 2017;65(17):3481-9. doi: 10.1021/acs.jafc.7b00537
  13. Lai TN, Herent MF, Quetin-Leclercq J, Nguyen TB, Rogez H, Larondelle Y, et al. Piceatannol, a potent bioactive stilbene, as major phenolic component in Rhodomyrtus tomentosa. Food Chem. 2013;138(2-3):1421-30. doi: 10.1016/j.foodchem.2012.10.125
  14. Wang R, Yao L, Meng T, Li C, Wang L. Rhodomyrtus tomentosa (Ait.) Hassk fruit phenolic-rich extract mitigates intestinal barrier dysfunction and inflammation in mice. Food Chem. 2022;393:133438. doi: 10.1016/j.foodchem.2022.133438.
  15. Sinaga E, Suprihatin, Yenisbar, Iswahyudi M, Setyowati S, Prasasty VD. Effect of supplementation of Rhodomyrtus tomentosa fruit juice in preventing hypercholesterolemia and atherosclerosis development in rats fed with high fat high cholesterol diet. Biomed Pharmacother. 2021;142:111996. doi: 10.1016/j.biopha.2021.111996
  16. Shiratake S, Nakahara T, Iwahashi H, Onodera T, Mizushina Y. Rose myrtle (Rhodomyrtus tomentosa) extract and its component, piceatannol, enhance the activity of DNA polymerase and suppress the inflammatory response elicited by UVB-induced DNA damage in skin cells. Mol Med Rep. 2015;12(4):5857-64. doi: 10.3892/mmr.2015.4156
  17. Vo TS, Kim YS, Ngo DN, Ngo DH. The role of Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk. fruits in downregulation of mast cells-mediated allergic responses. Biomed Res Int. 2019;2019:3505034. doi: 10.1155/2019/3505034.