รักใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

รักใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร รักใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฮัก, ฮักหลวง, มะเรี๊ยะ (ภาคเหนือ), รัก, รักเทศ (ภาคกลาง), น้ำเกลี้ยง (ภาคอีสาน), สู่, ชู้, ซู่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gluta usitata (Wall.) Ding Hou
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melanorrhoea usitata (Wall.)
ชื่อสามัญ Vanish tree, Burmese lacquer tree, Black lacquer tree, Red zebra wood, Thai vanish wood
วงศ์ ANACARDIACEAE


ถิ่นกำเนิด รักใหญ่

รักใหญ่จัดเป็นไม้ประจำถิ่นของเขตร้อนในทวีปเอเชีย ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา พม่า บังคลาเทศ อินเดีย รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบรักใหญ่ ได้บริเวณ ป่าดิบเขา ป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ รวมถึงบริเวณเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,000 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณรักใหญ่

  • ใช้บำรุงกำลัง
  • ใช้แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้กามโรค
  • แก้ปวดข้อเรื้อรัง
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยให้อาเจียน
  • ใช้แก้ไอ
  • แก้ท้องมาน
  • ขับพยาธิลำไส้
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้ปากคอเปื่อย
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้คุดทะราด
  • แก้ริดสีดวง ริดสีดวงทวาร
  • แก้อักเสบ
  • แก้ปวดไส้เลื่อน
  • รักษาโรคตับ
  • ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • แก้โรคที่ปาก
  • แก้ฟันที่เป็นรู
  • แก้ปวด
  • ใช้แก้กุฎฐโรค (โรคเรื้อน)
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้ผื่นคน
  • แก้น้ำเหลืองเสีย มีแผลเปื่อยทั้งตัว
  • ใช้แก้โลหิตพิการ
  • หนังเปื่อยพุพอง

           ส่วนของรักใหญ่ ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ “ยางรัก” ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาตที่ได้จากยางของต้นรักใหญ่ที่มีประวัติการใช้ในสังคมไทยเป็นเวลานาน คือ “การลงรักปิดทอง” โดยมีมาตั้งแต่สมัยทวาราวดีมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การใช้ยางรักทาพื้นผิวของวัตถุ นอกจากนี้ให้พื้นสีดำแล้วยังมีประโยชน์ในการเคลือบผิววัตถุเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อวัตถุผุกร่อน นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ทาไม้ เพื่อจะได้ลวดลายเครื่องเขิน ทากระดาษกันน้ำซึม ทำงานประดับมุก และงานเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น ส่วนเนื้อไม้ของต้นรักใหญ่จะมีเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้ม เป็นมันเลื่อม มีริ้วสีแก่แทรก เสี้ยนสน เนื้อไม้ค่อนข้างเหนียวละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน ชักเงาได้ดี แต่ไสกบตบแต่งยาก สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องกลึง เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร และเครื่องเรือน เสา คาน กระสวย รางปืน และรางรถไฟ เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีการใช้รักใหญ่ในตำรับยาแผนโบราณ โดยได้มีการระบุการใช้ยางรักดำใน พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัต) ในรูปยาดอง หรือ ยาต้ม เพื่อแก้โลหิตพิการเนื้อหนังเปื่อย และพุพอง โดยมีสมุนไพรอื่นๆ เป็นส่วนผสมด้วย ส่วนในคัมภีร์โยคสารระบุการใช้ส่วนของต้นรักใหญ่ (ภาษาโบราณ เรียก รักเทศ) คือ ส่วนผลที่เรียกว่า ผลรักเทศ โดยระบุเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสูตรตำรับสมุนไพรที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายขนาน ที่มีชื่อเรียกว่า “ทิปนิยคะณะ” ซึ่งได้ระบุสรรพคุณเพื่อจำเริญไฟธาตุ

รักใหญ่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้บิด ท้องร่วง แก้กามโรค ปวดข้อเรื้อรัง โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคตับ แก้ไอ แก้ท้องมาน แก้พยาธิในลำไส้ โดยนำเปลือกรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ลำต้น หรือ รากรักใหญ่ ผสมกับลำต้น หรือ รากมะค่าโมง นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้น้ำเหลืองเสีย โดยนำเปลือกต้น หรือ ใบรักใหญ่ ผสมกับรากหนวดหม่อน รากสะแอะ แก่นฝาง เปลือกต้นกันแสง เปลือกต้น หรือ ใบแจง และต้นสังวาลพระอินทร์ ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โลหิตพิการ แก้หนังเปื่อยพุพอง โดยนำยางรักดำ พริกไทย ดีปลี ขิง แห้ง รากกุ่มบก รากมะรุม ข้าวเย็น และดอกบุนนาค มาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้กลาก แก้โรคผิวหนัง โดยนำ ยางรักผสมกับยางสลัดไดทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้ยากรักผสมน้ำผึ้งใช้สำลีชุบแล้วอุดฟันที่เป็นรู แก้ปวดฟัน
  • ใช้เป็นยาพอกแผล โดยนำใบและรากมาทุบให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน โดยนำแก่นต้มกับน้ำอาบ


ลักษณะทั่วไปของรักใหญ่

รักใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร ทรงพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลคล้ำมีรอยแตกเป็นร่องยาว และจะหลุดลอกเป็นสะเก็ดบางๆ เปลือกชั้นในเป็นสีชมพูอ่อนมียางใส เมื่อถูกอากาศจะเข้มขึ้นจนเป็นสีดำ กิ่งอ่อน และยอดจะมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม แต่กิ่งแก่จะเกลี้ยง หรือ อาจมีขนสั้นๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ เป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลม หรือ กลม ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมหนาแน่น หลังใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนท้องใบมีขนหนาแน่นแต่จะหลุดไปเมื่อใบแก่ ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม และมีไขปกคลุม ตามผิวใบมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้าน อีกทั้งมีใบมีเส้นแขนงใบที่มีลักษณะนูนชัดเจนข้างละ 15-25 เส้น และมีก้านใบยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง ออกบริเวณปลายกิ่ง หรือ ซอกใบ ซึ่งมักจะทิ้งใบก่อนออกดอกเสมอ กลุ่มช่อดอกจะออกหนาแน่น และข่อดอกจะยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกตูมเป็นรูปขอบขนาน กว้าง 2.5 มิลลิเมตร ยาว 5 มิลลิเมตร มีขนประปราย ที่ปลายมีขนเป็นกระจุก เมื่อดอกบานจะมีกลีบดอก 5-6 กลีบ กลีบดอกจะมีสีเหลืองแกมเขียวตรงกลาง แผ่กว้างปลายแคบแหลม ด้านหลังกลีบมีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก ส่วนก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม สีน้ำตาลปกคลุมดอก โดยเริ่มบานจากสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงสด ผลเป็นผลแบบผนังชั้นในแข็ง (drup) มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีส่วนของกลีบดอกที่ขยายเป็นปีกที่โคนก้านผล เป็นรูปขอบขนานสีแดง 5 ปีก ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร และมีก้านผลยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด

รักใหญ่

รักใหญ่

การขยายพันธุ์รักใหญ่

รักใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของรักใหญ่นั้นส่วนมากจะเป็นการกระจายพันธุ์เองในธรรมชาติ โดยการอาศัยเมล็ดที่ร่วงหล่นบนพื้นเจริญขึ้นมาเป็นต้นใหม่ ไม่ปรากฎว่ามีการนิยมนำรักใหญ่ มาปลูกไว้บริเวณรอบบ้าน หรือ ตามไร้นาทั่วไป เนื่องจากน้ำยาง และขนของรักใหญ่มีความเป็นพิษต่อมนุษย์


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากราก และดอก รวมถึงน้ำยางของรักใหญ่ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากราก และดอกพบสาร Agathisflavone, Glutacoside, Fustin, Fisetin, β-Sitosterol-3-O-β-d-Glucoside,(-)-eriodictyol,(-)-dihydroquercetin และ 8,4,5-Trimethoxyphenol-1-O-β-d Glucopyranoside น้ำยางพบสารกลุ่ม catechol ได้แก่ heptadecadienyl catechol และ 4-heptadecanyl catechol

โครงสร้างรักใหญ่

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของรักใหญ่

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดรักใหญ่ จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีรายงานการศึกษาทดลองระบุว่า จากการสกัดและแยกสารจากดอกของรักใหญ่ พบว่าได้สาร agthisflavone ซึ่งเป็นสารกลุ่มไบฟลาโวน และได้มีการทดสอบฤทธิ์การต้านเอนไซม์ histone deacetylase และฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ histone deacetylase ที่ดีโดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 67 μM แต่มีฤทธิ์การยับยั้งอนุมูลอิสระที่อ่อนโดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 182 μM นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของรักใหญ่ มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน และต้านมะเร็ง อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของรักใหญ่

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของรักใหญ่ระบุว่า ส่วนที่เป็นพิษของต้นรักใหญ่ คือ ขนใบแก่ และน้ำยางจากต้น ทำให้เกิดผื่นคัน และบวมพองตามบริเวณผิวหนัง ซึ่งจากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของยางรักใหญ่ จะประกอบด้วย แคทีคอล (catechol) และอนุพันธ์ฟีนอล (phenol derivatives) เป็นองค์ประกอบหลัก ส่วนองค์ประกอบย่อยที่เหลือ คือ เอนไซม์แลคเคส (laccase) กัม และไกลโคโปรตีนที่ละลายน้ำได้ ซึ่งสารพิษที่อยู่ในยางของรักใหญ่ คือ Phenol  


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ขนจากใบแก่ของรักใหญ่เป็นพิษต่อผิวหนัง เมื่อถูกผิวหนังทำให้คันทั่วตัว และอาจทำให้คันอยู่นานเป็นเดือน และทำให้ผิวหนังอาจบวมพอง ซึ่งมีการแก้พิษหลายวิธี เช่น เอาเปลือกและใบสักมาต้มน้ำอาบ ใช้ใบเหงือกปลาหมอ สับต้มน้ำอาบ ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง ใช้เปลือกพะยอมต้มน้ำอาบ ชงชาจีนให้แก่จัด ใช้เตรียมเป็นน้ำอาบ ส่วนน้ำยางสดมีสารพิษ ซึ่งออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบ มีอาการคัน และมีผื่นคัน บวมพองตามผิวหนัง หรือ ทำให้เกิดอาการบวมแดง พองเป็นตุ่มน้ำใส และอาจลุกลามรุนแรงจนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังได้


เอกสารอ้างอิง รักใหญ่
  1. แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว 2542 หน้า 388, 472-474, 479.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “รักใหญ่ (Rug Yai)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 260.
  3. จำลอง เพ็งคล้าง วงศ์ไม้มะม่วง Anacardiaceae. ใน:เต็ม สมิตินันทน์ (บรรณาธิการ).ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 2. 2518. หน้า 89-90.
  4. ธนัสร์ ปทุมานนท์, ชยันต์ พิเชียรสุนทร. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของรักใหญ่ และภูมิปัญญาไทยในการแก้พิษจากยางรัก. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกปีที่ 8. ฉบับที่ 2-3. พฤษภาคม-ธันวาคม 2553.หน้า 121-129
  5. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย-สรรพคุณยาเทศและยาไทย. กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์ไชยวัฒน์; 2519.หน้า 467-8.
  6. สารานุกรมสมุนไพรเล่ม 4 กกยาอีสาน. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพมหานคร.อมรินทร์พรินติ้งพับลิชชิ่ง: 2543. หน้า 122-123.
  7. การลงรักปิดทอง เอกสารหมายเลข 17.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ห้างหุ้นส่วนจำกัดไอคอนพริ้นติ้ง; 2551. หน้า 2-14.
  8. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ), ราชันย์ ภู่มา และคณะ, หน้า 373, พ.ศ.2559.โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรุงเทพฯ
  9. เต็ม สมิตินันทน์.ชื่อพรรณไม้ในประเทศไทย (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) กรุงเทพมหานคร. กรมป่าไม้; 2544.หน้า 169, 196, 248.
  10. ประกิต คำบุญมาและคณะ. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ฮิสโทนดีอะเซทิลเลสของไบโอฟลาโวน อะเททิสฟลาโวนจากดอกรักใหญ่. วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 47. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-กันยายน 2562. หน้า 225-232.
  11. รักใหญ่. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid276
  12. Bartling, B., Hofmann, H.S., Boettger, T., Hansen, G., Burdach, S., Silber, R.E. and Simm, A. (2005). Comparative application of antibody and gene array for expression profiling in human squamous cell lung carcinoma. Lung Cancer 49: 145-154
  13. Stephan E, Siripon K,Kitiya S. Forest restoration research in Northern Thailand: 2 The fruits,seeds and seedings of Gluta usitata (Wall.) Hou (Anacaediaceae). Nat Hist Bull Siam Soc 1997;45:205-15.
  14. Smitinand, T. (2014). Thai plant names. Revised edition 2014. Bangkok: Forest herbarium, Royal forest department. pp. 271-371.
  15. Kumboonma, P., Senawong, T., Saenglee, S., Yenjai, C. and Phaosiri, C. (2018). New histone deacetylase inhibitors from the twigs of Melanorrhoea usitata. Medicinal Chemistry Research 27: 2004-2015