บ๊วย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บ๊วย งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บ๊วย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เหมย (จีน), อุเมะ (ญี่ปุ่น)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus mume Siebold & Zucc.
ชื่อสามัญ Japanese plum, Japanese apricot, Chinese plum
วงศ์ ROSACEAE


ถิ่นกำเนิดบ๊วย

บ๊วย มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศจีน โดยมีการปลูกมานานกว่า 2,000 ปี แล้วซึ่งมีแหล่งปลูกที่สำคัญ คือ เมืองซุซวน (แสฉวน) และยวนนาน (ยูนนาน) ในบริเวณพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-800 เมตร และมีอุณหภูมิเฉลี่ย 13-15 องศาเซลเซียส ต่อมาได้แพร่กระจายไปทางทิศตะวันออกแถบเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และได้แพร่ ไปยังส่วนต่างๆ ของโลก สำหรับการปลูกบ๊วย ในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าอาจจะแพร่เข้ามาทางภาคเหนือของประเทศที่ติดกับประเทศพม่า และจีน อีกทั้งในปัจจุบันมีการปลูกกันมากที่อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และโป่งแยง ดอกปุย ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-1,800 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณบ๊วย

  1. ช่วยเพิ่มกำลัง
  2. ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย
  3. ช่วยปรับสมดุลความเป็นด่างในเลือด
  4. แก้กระหายน้ำ
  5. แก้ระบบการย่อยอาหาร
  6. แก้อาการท้องร่วง
  7. แก้จุกเสียดแน่นท้อง
  8. แก้โรคถุงน้ำดี
  9. แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  10. แก้โรคบวมน้ำ
  11. รักษาโรคไต
  12. ช่วยปรับสมดุลในกระเพาะอาหาร
  13. แก้เหงือกอักเสบ
  14. รักษาโรคฟัน
  15. แก้การมีกลิ่นปาก
  16. ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
  17. รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ในสตรี
  18. แก้อาการแพ้ท้อง ของสตรที่กําลังตั้งครรภ์
  19. ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด (บ๊วยดำ)
  20. ช่วยระงับอาการไอ เช่น ไอแห้ง และไอเรื้อรัง (บ๊วยดำ)
  21. ช่วยแก้ไข้ (บ๊วยดำ)
  22. ช่วยเสริมธาตุน้ำ (บ๊วยดำ)
  23. ช่วยแก้ร้อนแบบพร่อง (บ๊วยดำ)
  24. แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (บ๊วยดำ)
  25. ช่วยสมานลำไส้ (บ๊วยดำ)
  26. ใช้ฆ่าพยาธิ (บ๊วยดำ)
  27. ช่วยห้ามเลือด (บ๊วยดำ)

           ผลบ๊วย สดจะมีรสเปรี้ยวจัด และออกขม ดังนั้นจึงมีการนำบ๊วย ไปแปรรูปเป็นบ๊วยดอง บ๊วยหวาน บ๊วยเค็ม บ๊วยแช่อิ่ม แยม ยาอมรสบ๊วย หรือ นำไปเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น น้ำจิ้มบ๊วย ซอสบ๊วย หรือปลานึ่งบ๊วย เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีการนำผลบ๊วยที่ใกล้จะสุกมาทำเป็นยา ในชื่อของเครื่องยา Fructus Mume หรือ ที่เรียกว่า โอวบ๊วย หรือ บ๊วยดำ ซึ่งมีสรรพคุณ ดังนี้ โอวบ๊วยมีรสเปรี้ยว ฝาด และสุขุม มีฤทธิ์ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ช่วยระงับอาการไอ เช่น ไอแห้ง และไอเรื้อรัง ช่วยแก้ไข้ ช่วยเสริมธาตุน้ำ ช่วยแก้ร้อนแบบพร่อง แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยสมานลำไส้ ระงับอาการท้องร่วง ฆ่าพยาธิ และช่วยห้ามเลือด

บ๊วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้บ๊วย เป็นยาสมุนไพรในตำรายาจีนนั้น จะเป็นการนำผลมารับประทานทั้งในรูปแบบผลสด หรือ ผลสุกตากแห้ง หรือ อาจนำมาแปรรูป เช่น การทำบ๊วยดอง บ๊วยดำ หรือ นำมาใช้ประกอบอาหารต่างๆ เพื่อใช้สรรพคุณของบ๊วยเสริมกับสรรพคุณของสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในอาหารนั้นๆ หรือ นำผลแห้งของบ๊วยมาเข้ากับเครื่องยาชนิดต่างๆ เพื่อใช้ในตำรายาจีน หรือ ตำรายาตามภูมิภาคต่างๆ ของจีน เป็นต้น ส่วนการใช้บ๊วยดำ หรือ โอวบ๊วยตามสรรพคุณที่ได้กล่าวมานั้น ให้ใช้ประมาณ 6-12 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของบ๊วย

บ๊วย จัดเป็นไม้ผลยืนต้นเมืองหนาว ที่มีระบบรากแก้วและรากแขนงหยั่งลึก ลำต้นแข็งแรงมีสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ เปลือกต้นขรุขระแตกกิ่งแขนงบริเวณโคนต้นกิ่งก้าน ค่อนข้างยาว แผ่ออกด้านข้างมาก ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดค่อนข้างเล็กกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาว 5-8 เซนติเมตร โคนใบกลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยขนาดเล็ก หลังใบเรียบ ท้องใบสีอ่อนกว่าหลังใบ สีเขียวมีนวลสีเทา และมีขนปกคลุม ก้านใบมีตุ่ม ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว แต่ดอกเป็นกลุ่มมีกลิ่นหอม มีสีขาว หรือ สีชมพู กลีบดอกซ้อน หรือ อาจมีกลีบดอกชั้นเดียว ก้านดอกมีลักษณะคล้ายหนามสั้น ผลเป็นผลเดี่ยวมีขนาดเล็กมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร ลักษณะกลม หรือ รูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่มีสีเหลือง หรือ เหลืองอบเขียว หรือ อาจแต้มแดง ผิวผลมีขนอ่อนละเอียด เนื้อผลมีรสเปรี้ยว แต่มีกลิ่นหอม และมีเมล็ดในแข็งผิวเมล็ดเรียบกว่า

บ๊วย

บ๊วย

การขยายพันธุ์บ๊วย

บ๊วย สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำ และการเสียบกิ่ง แต่ในปัจจุบันนิยมใช้วิธีเสียบกิ่งพันธุ์มากกว่าการปักชำ โดยมีสายพันธุ์ที่นิยมนำมาเสียบกิ่ง ได้แก่ พันธุ์แม่สาย พันธุ์ปิงติง พันธุ์เจียนโถ พันธุ์ขุนวาง พันธุ์ขุนวาง เป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลจากส่วนผลของบ๊วย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น prunasin, 5-hydroxymethyl-2-furaldehyde, 4-O-caffeoylquinic acid methyl ester, 5-Ocaffeoylquinic acid methyl ester, benzyl-O-β-Dglucopyranoside, 3-O-Feruloylsucrose, Kaempferol, Isoquercitrin, (-)-Epicatechin, Leucocyanido, Eugenol, Propanedioic acid, Syringic acid, p-Tyroso สารสกัดจากส่วนดอกพบสาร Mumeose A, Prunose I, Rutin, quercetin, hypericin, benzoic acid และ chtorogenic acid เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากลำต้นบ๊วย พบสาร Muminin และ Prudomenin เป็นต้น

โครงสร้างบ๊วย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของบ๊วย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผลบ๊วย ระบุว่า มีการศึกษาทางคลินิกแบบ double-blind, placebo-controlled ในอาสาสมัครสุขภาพดี 45 คน อายุ 56.0±11.6 ปี ที่มีค่าการทำงานของตับ transaminase ระหว่าง 20-40 UI/L โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 และ 2 ให้รับประทานสารสกัดมาตรฐานของบ๊วย (Prunus mume) ขนาด 150 และ 300 มก./วัน ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เป็นเวลา 3 เดือน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดบ๊วย มีฤทธิ์ปกป้องตับโดยลดปริมาณของ alanine aminotransferase (ALT) ร้อยละ 47 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นทำการทดสอบ, ลด aspartate aminotransferase (AST) ร้อยละ 7 และลด gamma-glutamyl transpeptidase ร้อยละ 15 นอกจากนี้สารสกัดบ๊วยยังมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (glycemia) ร้อยละ 11 และมีผลในการเปลี่ยนแปลงระดับไขมันโดยเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลชนิด HDL ร้อยละ 13, ลดอัตราส่วนของ LDL/HDL ร้อยละ 12 และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ร้อยละ 8 สารสกัดบ๊วย ยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยพบว่ามีผลลดปริมาณของ oxidized glutathione, ลดอัตราส่วนของ reduced/oxidized cysteine-glycine, ลดระดับ oxidized cysteine (intracellular pro-oxidant) และเพิ่มปริมาณของ reduced glutathione รวมทั้งลดระดับของ neopterin ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าสารสกัดมาตรฐานของบ๊วย มีฤทธิ์ปกป้องการทำงานของตับ และอาจช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม และการอักเสบ 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ในต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากผลบ๊วยมีฤทธิ์ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดจากผลบ๊วยสามารถยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก เช่น Porphyromonas gingivalis, Aggregatibacter actinomycetemcomitans และแบคทีเรียที่ก่อมะเร็ง เช่น Streptococcus mitis, S. sanguis และ S. mutans ในหลอดทดลองได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของบ๊วย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การรับประทานบ๊วย เค็มในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียม จากเกลือสูงกว่าปกติ ทำใหมีอาการร้อนในกระหายน้ำ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง รวมถึงทำให้ไต และหัวใจทำงานหนักขึ้น ส่วนใบบ๊วยหวานในบางพื้นที่พบว่ามีสารซัคคาริน (ขัณฑสกร) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานในอาหารแห้ง ซึ่งหากร่างกายได้รับสารชนิดนี้มากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร  ส่วนผู้ที่ใช้บ๊วยดำ หรือ โอวบ๊วย เป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้และร้อนแกว่ง


เอกสารอ้างอิง บ๊วย
  1. พิชิต ดุลพงษ์.2539. ไม้ผลเขตหนาว. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยแม่โจ้.177 น.
  2. กัญจนา ดีวิเศษ.2543. น้ำสมุนไพร 108. กรุงเทพฯ : สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข. 224 น.
  3. นพดล จรัสสัมฤทธิ์ 2537. ไม้ผลเมืองหนาว. กรุงเทพฯ : สหมิตรออฟเซท.105 น.
  4. สถาบันวิจัยพืชสวน.2540. เอกสารวิชาการที่ 19 เรื่องพลับและบ๊วย. กรุงเทพฯ:สถาบันวิจัยพืชสวน. 69 น.
  5. ปริณ ปุรศรี, โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์, ธีระ จารุจินดา, นุชนารถ ลงเลขา, จิตติ ปิ่นทอง, พูนสุข ธัญญาภา, สมโภชน์ ป้านสุวรรณ์ และอัจฉรา วาสิกานนท์ 2537. คู่มือการปลูกไม้ผลเขตหนาวที่สำคัญ 5 ชนิด. กรุงเพทฯ : กองพัฒนาเกษตรที่สูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 85 น.
  6. ณัฐรีพร  จันทพันธ์. การผลิตน้ำบ๊วย ผงโดยวีการอบแห้งแบบฝอย. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้.พ.ศ.2549. 119 หน้า
  7. ประสิทธิภาพของสารสกัดบ๊วยต่อการปกป้องตับ การต้านออกซิเดชั่น และการต้านการอักเสบ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. Jeong, J.T., Moon, J.H., Park, K.H., and Shin, C.S., Isolation and characterization of a new compound from Prunus mume fruit that inhibits cancer cells. J. Agric. Food Chem., 54, 2123-2128 (2006)
  9. Wong, R. W. K., Hägg, U., Samaranayake, L., Yuen, M. K. Z., Seneviratne, C. J., and Kao, R. (2010). Antimicrobial Activity of Chinese Medicine Herbs against Common Bacteria in Oral Biofilm. A Pilot Study. Int. J. Oral Maxillofac. Surg. 39, 599–605.
  10. Chuda, Y., Ono, H., Ohnishi-Kameyama, M., Matsumoto, K., Nagata, T., and Kikuchi, Y. Mumefural, citric acid derivative improving blood fluidity from fruit-juice concentrate of Japanese apricot (Prunus mume Sieb. et Zucc). J. Agric. Food Chem., 47, 828-831 (1999)
  11. Poonam, V., Raunak, Kumar, G., S. Reddy L.Kumar, C. C. S., Jain, R., K. Sharma, S., et al. (2011). Chemical Constituents of the Genus Prunus and Their Medicinal Properties. Cmc 18, 3758–3824.
  12. Xia, D., Wu, X., Shi, J., Yang, Q., and Zhang, Y., Phenolic compounds from the edible seeds extract of Chinese Mei (Prunus mume Sieb. et Zucc) and their antimicrobial activity. LWT-Food Sci. Technol., 44, 347-349 (2011).
  13. Seneviratne, C. J., Wong, R. W. K., Hägg, U., Chen, Y., Herath, T. D. K., Lakshman Samaranayake, P., et al. (2011). Prunus Mume Extract Exhibits Antimicrobial Activity against Pathogenic Oral Bacteria. Int. J. Paediatric Dentistry 21, 299–305.
  14. Tsuji, R., Koizumi, H., and Fujiwara, D., Effects of a plum (Prunus mume Siebold and Zucc.) ethanol extract on the immune system in vivo and in vitro. Biosci. Biotechnol. Biochem., 75, 2011-2013 (2011).