ออกซีเรสเวอราทรอล
ออกซีเรสเวอราทรอล
ชื่อสามัญ Oxyresveratrol, 2, 4, 3’, 5’ –Tetrahydroxystilbene
ประเภทและข้อแตกต่างของสารออกซีเรสเวอราทรอล
สารออกซีเรสเวอราทรอลจัดเป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม สติลบินอยด์ (Sttilbenoids) ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ มีสูตรทางเคมี คือ C14 H12 O4 มีมวลโมเลกุล 244.24 g/mol มีลักษณะทางกายภาพเป็นผงสีเหลืองอ่อน ไวต่อแสง ละลายได้ในตัวทำละลายหลายชนิด สำหรับประเภทของสารออกซีเรสเวอราทรอลนั้น จากผลการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ทั้งนั้นหลายคนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล (Oxyresveratrol) กับสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) คือสารชนิดเดียวกันแต่ความจริงแล้ว เป็นสารต่างชนิดกัน แต่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญในการลดการสร้างเม็ดสีที่ผิวได้เช่นเดียวกัน กล่าว คือ สารออกซีเรสเวอราทรอล ช่วยในการยับยั้งเอนไซม์ ไทโรซิเนส (Tirosinase) ส่วนสารเรสเวอราทรอลจะช่วยยับยั้งการสังเคราะห์เอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase)
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารออกซีเรสเวอราทรอล
สารออกซีเรสเวอราทรอลนับเป็นสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งโดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล พบได้ในแก่นไม้ของมะหาด (Artocarpus lakoocha Roxb.) รวมถึงผลปอกหาด ซึ่งเป็นชื่อเรียก สารสกัดจากแก่นไม้มะหาด (โดยการนำเอาแก่นไม้มะหาดมาต้มกับน้ำแล้วเคี่ยว จนเกิดฟองจากนั้นช้อนฟองขึ้นมาตากให้แห้งจะได้ผงสีเหลืองแล้วนำมาบดให้ละเอียด) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พบสารออกซีเรสเวอราทรอลจากส่วนของลำต้น กิ่ง ก้าน และรากของต้นหม่อน (Morus alba Linn.) อีกด้วย
ปริมาณที่ควรได้รับสารออกซีเรสเวอราทรอล
สำหรับขนาด และปริมาณการใช้สารออกซีเรสเวอราทรอลนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้ที่ชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งขนาด และปริมาณการใช้ในปัจจุบันนั้นจะเป็นการใช้ตามลักษณะการนำสารดังกล่าวมาใช้งาน เช่น ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเครื่องสำอาง จะมีการใช้สารออกซีเรสเวอราทรอล ในขนาด 1-5% เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นต้น
ประโยชน์และโทษของสารออกซีเรสเวอราทรอล
ประโยชน์ของสารออกซีเรสเวอราทรอล ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน คือ การถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ อาทิเช่น ครีมทาหน้า โลชั่นทาผิว สบู่ และครีมอาบน้ำ เป็นต้น เพราะมีการค้นพบว่า สารออกซีเรสเวอราทรอลมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลองรวมถึงในอาสาสมัครได้ดีโดยสารที่ออกฤทธิ์นี้ สามารถยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้มากกว่าสาร resveratrol ถึง 20 เท่า ส่วนในทางการแพทย์นั้น ในปัจจุบัน มีการศึกษาคุณสมบัติ ของสารสกัดออกซิเรสเวอราทรอล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หลายประการ อาทิ เช่น ใช้ต้านการอักเสบ ใช้ต้านเชื้อไวรัส ใช้ต้านอนุมูลอิสระ ใช้ลดไขมันในเลือดและใช้ถ่ายพยาธิ เป็นต้น
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารออกซีเรสเวอราทรอล
มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารออกซีเรสเวอราทรอลหลายฉบับดังนี้
ฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี มีการศึกษาวิจัยโดยการนำสาร oxyresveratrol จากแก่นมะหาด (Artocarpus lakoocha Roxb.) มาทำเป็นโลชั่นสารสกัดมะหาดทาผิว (ความเข้มข้น 1% นน./ปริมาตร) แล้วนำโลชั่นสารสกัดมะหาดดังกล่าวไปทดสอบในอาสาสมัครหญิง อายุ 20 และ 23 ปี ที่มีสุขภาพผิวดี จำนวน 30 คน โดยทาที่แขนท่อนล่างวันละ 1 ครั้ง เปรียบเทียบกับแขนอีกข้างที่ทาโลชั่นที่ไม่มีสารสกัด (lotion base) นาน 6 สัปดาห์ แล้ววัดคะแนนผิวขาวด้วย skin-colors tone band โดยการวัดค่าเม็ดสี (melanin values) เปรียบเทียบก่อนใช้และหลังใช้โลชั่น พบว่าแขนข้างที่ทาโลชั่นมะหาดคะแนนผิวขาวเพิ่มขึ้น 2.84% ในสัปดาห์ที่ 4 และเพิ่มขึ้น 7.64% ในสัปดาห์ที่ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับแขนอีกข้างที่ทาโลชั่นที่ไม่มีสารสกัด จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า โลชั่นสารสกัดมะหาด 1% สามารถลดการสร้างเม็ดสีในอาสาสมัครที่มีสุขภาพผิวดีได้ ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งให้อาสาสมัครสตรี 20 คน ใช้สารสกัดจากแก่นไม้มะหาดความเข้มข้นร้อยละ 0.25 (น้ำหนัก/ปริมาตร) ในตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอล ทาต้นแขน 1 ข้าง และข้างที่เหลือทาตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอลเป็นข้างควบคุม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันเปรียบเทียบกับอาสาสมัครอีก 2 กลุ่ม ที่ใช้สารสกัดชะเอมเทศ (licorice) ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.25 และ kojic acid ที่ความเข้มข้นร้อยละ 3 พบว่าสารสกัดมะหาดมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำให้ผิวขาว ให้ผลเร็วภายหลังการใช้เพียง 4 สัปดาห์ ตามด้วย Kojic acid (6 สัปดาห์) และสารสกัดชะเอมเทศ (10 สัปดาห์) ตามลำดับ และเมื่อครบ 12 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดแก่นไม้มะหาดทำให้ผิวขาวมากสุด และเมื่อนำมาเตรียมเป็นอีมัลชั่น และให้อาสาสมัครที่ทาโลชั่นมะหาดความแรงร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ที่ต้นแขนและแก้มจะมีผิวขาวขึ้นภายในเวลา 2 และ 3 สัปดาห์ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดมะหาดและ oxyresveratrol ซึ่งเป็นสารหลักในสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งเอ็นไซม์ mushroom tyrosinase ในหลอดทดลองได้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งฤทธิ์เอ็นไซม์ได้ครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 0.76 และ 0.83 กรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ
ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส มีรายงานการศึกษาวิจัยสารออกซีเรสเวอราทรอลพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของ herpes simplex virus (HSV) ซึ่งเป็น DNA virus ที่มี 2 ชนิด คือ HSV1 และ HSV2 โดยสารดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการ viral replication ทั้งระยะแรกและระยะหลังของ HSV1 และ HSV2 โดยมีการศึกษาวิจัยในผัวหนังของหนูไมซ์ ที่ความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม ได้แก่ HSV-1 และ HSV-2 นอกจากนี้ หากใช้ oxyresveratrol ร่วมกับ acyclovir จะเสริมฤทธิ์กัน ทำให้มีฤทธิ์ยับยั้ง HSV-1 ได้ดีขึ้น และถ้าให้หนูกิน Oxyresveratrol500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยชะลอการเกิดรอยโรคได้ นอกจากนี้หากทาครีมที่มี oxyresveratrol ร้อยละ 30 บริเวณที่ติดเชื้อวันละ 5 ครั้ง จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันชีวิตหนูได้ ส่วนการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า Oxyresveratrol มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส HSV-1 และ HSV-2 และไวรัสเอสด์ (HIV-1/LAI) ได้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลสามารถยับยั้งการผลิต proinflammatory mediators: nitric oxide (NO) ใน lipopolysaccharide (LPS)-activated macrophage cell ในหนูทดลอง โดยยับยั้งการแสดงออก (expression ) ของเอนไซม์ iNOS (inducible nitric oxide synthase)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยในสารสกัด 80% เอทานอลจากต้นหม่อน ที่ความเข้มข้น 20, 40 มคก./มล. และสาร oxyresveratrol ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในหม่อน ความเข้มข้น 5, 10 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในร่างกาย เมื่อทดลองในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ โดยสารสกัดจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งดีกว่าสาร oxyresveratrol แสดงว่าในหม่อนยังมีสารอื่นนอกเหนือจาก oxyresveratrol ที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์และต้านการอักเสบได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของเอ็นยึดปริทันต์ที่แยกจากมนุษย์ โดยสามารถยับยั้งการแสดงออกของอินเตอร์ลิวคิน-6 อินเตอร์ลิวคิน-8 และอินเตอร์ลิวคิน-1 เบต้า 10 อีกทั้งยังพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล สามารถยับยั้งเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส และ แอกกรีเกติแบคเตอร์แอคติโนไมซีเตมโคมิแทนส์ ได้โดยเมื่อเทียบกับน้ำ ยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน (chlorhexidine) ร้อยละ 0.2 พบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารที่ยับยั้งเชื้อได้ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) ที่ต่ำ กว่าน้ำ ยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีนร้อยละ 0.2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลมีแนวโน้มที่ดีที่จะพัฒนาใช้ในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในอนาคตได้ในอนาคต
ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของ mulberroside A (MUL) สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากรากของหม่อน (Morus alba L.) และสาร oxyresveratrol (OXY) ซึ่งผลิตได้จากกระบวนการ enzymatic conversion ของ MUL ทำการศึกษาในหนูแรทที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยการฉีด Triton WR-1339 พบว่าการป้อน MUL และ OXY ขนาด 1, 2.5 และ 5 มก./กก./วัน ที่เวลา 1 ชั่วโมงก่อนการฉีด Triton WR-1339 ขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดได้และประสิทธิภาพขึ้นกับขนาดของสารที่ได้รับ ในขณะเดียวกันปริมาณ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาต่อมาทำการป้อน MUL และ OXY ขนาด 1, 2.5 และ 5 มก./กก./วัน ร่วมกับการป้อนอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง (high-cholesterol diet) ให้แก่หนูแรท เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าปริมาณไขมันในเลือด ดัชนีชี้วัดภาวะเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery risk index) และดัชนีชี้วัดภาวะเสี่ยงหลอดเลือดแข็งตัว (atherogenic index) ในหนูแรทที่ได้รับ MUL และ OXY มีค่าลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับ HDL นอกจากนี้พบว่า MUL และ OXY ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ตับที่เกิดจากการสะสมไขมันของเซลล์ตับ อีกทั้งไม่พบความแตกต่างของระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase และ alanine aminotransferase ระหว่างหนูแรทที่ป้อนน้ำเปล่า (กลุ่มควบคุม) และกลุ่มที่ได้รับ MUL และ OXY แสดงให้เห็นว่าไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสาร mulberroside A และ oxyresveratrol มีประสิทธิภาพในการลดไขมันในเลือดได้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลมีฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวของออกซิเจน หรือ สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และเป็น free radical scavenger ซึ่งประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นหากมีปริมาณกลุ่มไฮดรอกซิล (hydroxyl) ที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความเป็นพิษของสารออกซีเรสเวอราทรอลโดยป้อน สาร oxyresveratrol ขนาด 720 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับแมกเนเซียมซัลเฟต ให้กับหนูขาวและกระต่าย พบว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่ทำให้เกิดพิษหลังป้อนได้ 3 และ 7 วัน โดยที่ค่า blood urea nitrogen (BUN) ในเลือดเพิ่มขึ้นแต่จะกลับคืนสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
ในการใช้สารสกัดออกซีเรสเวอราทรอล ที่ในปัจจุบันนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องสำอางต่างๆ ควรคำนึงถึงความเข้มข้นของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะหากเป็นรูปแบบไขมันในน้ำ (Oil in water emultion) ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของสารดังกล่าวได้ดีกว่าครีมรูปแบบอื่น ส่วนในการใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการใช้กำหนดเกณฑ์การใช้ทั้งขนาดและปริมาณ และรูปแบบการใช้ดังนั้นการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง ออกซีเรสเวอราทรอล
- มะหาด. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. ฐานข้อมูลสมุนไพร สาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาร Oxyresveratrol จากมะหาดในการพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ดร. จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช. จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ของสารสกัดจากต้นหม่อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ. อำพล โพธิ์ศรี. อิทธิพลของวิธีการสกัดต่อสารออกซีเรสเวอราทรอล และฤทธิ์ต้านอนุมูลของแก่นมะหาด. รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ปี พ.ศ.2556. 55 หน้า
- หม่อนช่วยลดไขมัน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- จุฑาภรณ์ ศิริเพิ่มพูล, สรกนก วิมลมั่งคั่ง. สมุนไพรร่วมการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ. สงขลานครินทร์เวชสารปีที่ 32. ฉบับที่ 6. พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557. หน้า 417-425
- Sritularak, B., De-Eknamkul, W., Likhitwitayawuid, K. Tyrosinase inhibitors from Artocarpus lakoocha. Thai J. Pharm. Sci. 1998, 22, 149–155.
- Phoolcharoen W, Sooampon S, Sritularak B, et al. Anti- periodontal pathogen and anti-inflammatory activities of oxyresveratrol. Nat Prod Commun 2003; 8: 1 - 4.
- Tengamnuay, P., Pengrungruangwong, K., Pheansri, I., Likhitwitayawuid, K. Artocarpus lakoocha heartwood extract as a novel cosmetic ingredient: evaluation of the in vitro anti-tyrosinase and in vivo skin whitening activities. Int. J. Cosmet. Sci. 2006, 28, 269–276.
- Ngamwat W, Permpipat U, Sithisomwong N, et al. Toxicity of Puak-Haad extracts: The extracts from Artocarpus lakoocha Roxb. wood (Ma-haad). การประชุม PRINCESS CONGRESS I, 10-13 ธันวาคม ณ โรงแรม แชงเกอรีล่า กรุงเทพฯ, 1987. หน้า 80.
- Mongkolsuk, S., Robertson, A., Towers, R. 2,4,3´,5´-tetrahydroxystilbene from Artocarpus lakoocha. J. Chem. Soc. 1957, 2231–2233.
- Jagtap UB, Bapat VA. Artocarpus: a review of its traditional uses, phytochemistry and pharmacology. J Ethnopharmacology 2010;129:142–66.