มะขามเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะขามเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะขามเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะขามข้อง (แพร่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.
ชื่อสามัญ Manila Tamarind, Manila tamarind
วงศ์ FABACEAE

ถิ่นกำเนิดมะขามเทศ 

มะขามเทศเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด และจัดเป็นพืชพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง แต่ก็มีแหล่งข้อมูลบางที่ระบุว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งรถร้างทั่วไป หรือ ที่สาธารณะต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะเป็นพืชที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โรค และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการปลูกมะขามเทศ พันธุ์ที่มีรสหวานเพื่อการค้าอีกด้วย โดยแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศไทย คือ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี, จ.สมุทรสงคราม, จ.สมุทรสาคร, จ.สระบุรี เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณมะขามเทศ

  1. เป็นยาระบาย
  2. ช่วยรักษาบาดแผล
  3. แก้พิษแมลงป่อง
  4. ช่วยในการขับถ่าย
  5. แก้ท้องผูก
  6. ช่วยบำรุงผม
  7. ช่วยบำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม
  8. ช่วยในการบำรุงประสาท และสมอง
  9. ช่วยแก้ไอ
  10. ช่วยขับเสมหะในลำไส้
  11. ช่วยขับพยาธิ
  12. ช่วยสมานแผล
  13. ช่วยห้ามเลือด
  14. รักษาโรคปากเปื่อย
  15. โรคปากนกกระจอก 
  16. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
  17. ช่วยเสริมสร้างกระดูก
  18. ช่วยเสริมสร้างฟัน
  19. ช่วยในการเจริญเติบโต
  20. ช่วยในการป้องกันอาการอ่อนเพลีย
  21. รักษาโรคโลหิตจาง
  22. ช่วยป้องกันฟันผุ
  23. แก้ปวดฟัน
  24. แก้ปากเปื่อย แผลในปาก
  25. ใช้ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก
  26. แก้ท้องร่วง
  27. ช่วยขับโลหิต
  28. ช่วยขับน้ำเหลือง
  29. แก้อาเจียน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ถ่ายพยาธิ แก้ท้องผูก บำรุงประสาทและสมอง บำรุงผม เล็บและฟัน แก้ปากนกกระจอก ขับเสมหะในลำไส้ ลดคลอเรสเตอรอล โดยรับประทานเนื้อผลสุกของมะขามเทศ เป็นประจำ ใช้แก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้อาเจียน โดยใช้เปลือกต้น นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องร่วง ขับโลหิต และน้ำเหลือง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก โดยใช้เมล็ดแก้มาคั่วกะเทาะเปลือกกิน ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการอาหารไม่ย่อย โดยใช้ใบมากินกันเกลือ แก้โรคปากเปื่อย หรือ โรคปาก โดยนำเปลือกต้นมะขามเทศมาแล้วขูด เปลือกชั้นนอกออก เหลือแต่เปลือกชั้นในประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำใส่เกลือป่น 1 ช้อนชา รอจนน้ำอุ่นแล้วนำมาอมหลังจากแปรงฟันทุกครั้ง

ลักษณะทั่วไปของมะขามเทศ 

มะขามเทศจัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง ไม้ผลัดใบ มีอายุนานหลายปี ลำต้นสูงได้ถึง 15 เมตร กิ่งมักจะแตกออกมากในระดับต่ำ ลำต้นค่อนข้างกลมเปลือกเรียบ เปลือกมีสีเทาแกมขาว หรือ เทาดำเป็นร่องเล็ก ตามลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมคม ในตำแหน่งรอยก้านใบ ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับ แบบขนนก 2 ชั้น ใบย่อยรูปไข่กลับ หรือ รูปรี กว้าง 0.5-2.5 ซม. ยาว 1.5-4.5 ซม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบมนขอบใบเรียบ ขอบใบ 2 ข้างโค้งไม่เท่ากัน ผิวใบมีสีเขียวลักษณะเรียบถึงมีขนเล็กน้อย ก้านใบอ่อนมีขนปกคลุม โคนก้านใบมีหูใบคล้ายหนาม โดยจะแทงออกบริเวณหนามของกิ่ง ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ที่บริเวณข้อติดกับก้านใบ และปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะยาวได้ถึง 10 ซม. ส่วนก้านช่อดอกยาว 1-2 ซม. มีขนละเอียดปกคลุม ดอกย่อยสมบูรณ์เพศรวมเป็นกลุ่ม 15-20 ดอกในแต่ละช่อย่อย 

           ในแต่ละดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบ ดอก 5 กลีบ สีเขียวแกมขาว ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อม ติดกันเป็นหลอด เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลมะขามเทศ มีลักษณะเป็นฝักค่อนข้างแบนถึงทรงกระบอกมีรอยคอดตามแนวสัน และเปลือกนูนตามจำนวนเมล็ด ผลขดเป็นวง หรือ เป็นเกลียวกว้าง 1-2 ซม. ยาว 5-15 ซม. ฝักอ่อนมีสีเขียว และเมื่อแก่จัดจะมีสีชมพู หรือ สีแดง โดยในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 2-10 เมล็ด เมล็ดมะขามเทศมีลักษณะแบน และนูนตรงกลาง มีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร  ยาว 9 มิลลิเมตร หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมื่อฝักแก่ เมล็ดจะมีสีดำ

มะขามเทศ

การขยายพันธุ์มะขามเทศ 

มะขามเทศ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการทาบกิ่ง ส่วนวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง โดยมีวิธีการดังนี้

           การเตรียมดิน สำหรับการเพาะกล้า วัสดุที่ใช้เพาะมะขามเทศ ควรเป็นดินผสมระหว่างดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบดำ ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก โดยมีอัตราส่วนผสมประมาณ 1:2  และวิธีการเพาะ จะนิยมเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำ เมื่อเมล็ดงอก และต้นกล้าโตประมาณ 20-30 ซม. ก็สามารถแยกปลูกในแปลงได้ 

           ส่วนการตอนกิ่ง ควรเลือกกิ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 ซม. และเลือกตำแหน่งควั่นกิ่งที่ให้กิ่งตอนยาวประมาณ 50-100 ซม. ไม่ควรยาวมากกว่านี้ จากนั้นควั่นกิ่งใต้ตา และเอาเปลือกออก ให้ควั่นยาวประมาณ 1 นิ้ว โดยต้องขุดเยื่อเปลือกออกให้หมด หลังจากนั้น ใช้ขุยมะพร้าว ที่บดละเอียด และผสมน้ำพอหมาดๆ ปั้นประกอบให้รอบรอยควั่น หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้ถุงพลาสติกหุ้ม และรัดด้วยเชือกทั้งด้านบน ด้านล่างให้แน่น ปล่อยทิ้งไว้ไม่ต้องรดน้ำ หลังจากนั้นประมาณ 20-30 วัน จะมีรากงอกออกมาจนรากมีสีน้ำตาลจึงค่อยตัดกิ่งลงปลูกในแปลง

          สำหรับการปลูกก็สามารถทำการปลูกได้เหมือนไม้ยืนต้นทั่วๆ ไป โดยควรเว้นระยะปลูก สำหรับกล้าที่เพาะจากเมล็ดที่ 8-10x8-10 เมตร ส่วนระยะปลูกกล้าจากกิ่งตอนที่ 5-8x5-8 เมตร

มะขามเทศ

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของมะขามเทศ พบว่าในเมล็ดประกอบไปด้วยสาร saponins, polysaccharides, oleanolic acid, steroids, lipids, echinocystic acid glycosides, phospholipids, triterpene oligoglycosides, glycosides, glycolipids และส่วนใบประกอบไปด้วย quercetin, dulcitol, kaempferol และนอกจากนี้มะขามเทศยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของมะขามเทศ (100 กรัม)

-           พลังงาน                                          78                                แคลลอรี่

-           คาร์โบไฮเดรต                                 18.2                            กรัม

-           ใยอาหาร                                        1.2                               กรัม

-           ไขมัน                                              0.4                                กรัม

-           โปรตีน                                             3                                  กรัม

-           แคลเซียม                                        5.6                               มิลลิกรัม

-           ธาตุเหล็ก                                        1.3                               มิลลิกรัม

-           เบต้าแคโรทีน                                  15                                มิลลิกรัม

-           โคลีน                                              5.6                               มิลลิกรัม

-           แมกนีเซียม                                      7                                  มิลลิกรัม

-           ฟอสฟอรัส                                      42                                มิลลิกรัม

-           โพแทสเซียม                                   222                              มิลลิกรัม

-           โซเดียม                                         19                                มิลลกรัม

-           วิตามิน B1                                      0.24                             มิลลิกรัม

-           วิตามิน B2                                     0.1                               มิลลิกรัม

-           วิตามิน B3                                      0.6                               มิลลิกรัม

-           วิตามิน E                                       0.19                             มิลลิกรัม

-          วิตามิน C                                        133                              มิลลิกรัม

-          วิตามิน K                                       14.6                             มิลลิกรัม

โครงสร้างมะขามเทศ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะขามเทศ

ฤทธิ์ฆ่าพยาธิตืดแคระ มีการศึกษาวิจัย และการทดสอบฤทธิ์ต้านพยาธิตืดแคระ (Hymenolepis nana) ในหลอดทดลองของสารสกัดเมทานอลของผลมะขามเทศ (Pithecellobium dulce (Roxb.)) และสารสำคัญที่แยกได้ คือ สาร N-malonyl-(+)-tryptophan (NMT) พบว่าสารสกัดเมทานอล และสาร NMT มีประสิทธิภาพดีกว่ายาฆ่าพยาธิ praziquantel (PZQ) เมื่อให้ในขนาดที่เท่ากันคือ 20 มก./มล. โดยพยาธิที่ได้รับสารสกัดเมทานอลเกิดภาวะอัมพาต และตายใช้เวลา 10 และ 25 นาที ตามลำดับ และพยาธิที่ได้รับสาร NMT เกิดภาวะอัมพาตและตายใช้เวลา 5 และ 7 นาที ตามลำดับ ในขณะที่พยาธิที่ได้รับยา PZQ เกิดภาวะอัมพาต และตายใช้เวลา 15 และ 30 นาที ตามลำดับ การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเมทานอลของผลมะขามเทศและสาร NMT พบว่ามีความปลอดภัย 

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมะขามเทศ อีกหลายฉบับพบว่า afzelin ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ วัณโรค ฤทธิ์ยับยั้งน้ำย่อย ฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร ต้านพิษงู (Anti-venom) และ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้ออสุจิ

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะขามเทศ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื้อมะขามเทศให้ความเป็นด่าง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการบริโภค ซึ่งหากรับประทานมากจะทำให้เกิดท้องอืด เพราะด่างจะไปขัดขวางการย่อยอาหารของกรดในกระเพาะอาหาร
  2. ในการใช้มะขามเทศ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในขนาดที่พอดี ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้มะขามเทศ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง มะขามเทศ
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์.มะขามเทศ, มะขาม ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 144
  2. ฤทธิ์ฆ่าพยาธิตืดแคระจากผลมะขามเทศ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. กิตติศักดิ์ แคล้ว จันทร์สุข. รายงานการวิจัยเรื่องข้อกำหนดทางเภสัชเวท และการประเทศฤทธิ์ทางชีวภาพของตำรับยาตรีธารทิพย์. วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 55 หน้า
  4. มะขามเทศ สรรพคุณ และการปลูกมะขามเทศ.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  5. Samina, K. K., Amina, K. K., Wazir, S. and Syed, A. A. Phytochemical studies on Pithecellobium dulce Benth. a medicinal plant of Sindh, Pakistan. 2013.Pak. J. Bot. 45(2): 557-561.
  6. Dnyaneshwar, M. N. andArchana, R. J. In vitro inhibitory effects of Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth. seeds onintestinal α-glucosidase and pancreatic α-amylase. 2013. J BiochemTech 4(3): 616-621.
  7. Pradeepa, S., Subramanian, S. and Kaviyarasan, V. Biochemical evaluation of antidiabetic properties of Pithecellobium dulce fruits studied in streptozotocin induced experimental diabetic rats. 2013. International Journal of Herbal Medicine 1 (4): 21-28.
  8. Mukesh, K., Kiran, N. and Duhan, J.S. Phytochemical analysis and antimicrobial efficacy of leaf extracts of Pithecellobium dulce. 2013. Asian J Pharm Clin Res 6(1): 70-76.